มองพม่าผ่านสายตา ‘ธูซีดิดีส’ นักปรัชญากรีก

บทความโดย : ไกอุส

“ท่านเป็นคนที่มองโลกในแง่ดีเกินไป… ในความเป็นจริงแล้ว หากกลับมาสู่เรื่องธรรมชาติของมนุษย์ที่เราเคยบอกท่าน มนุษย์แต่ละคนย่อมคิดถึงผลประโยชน์ของตัวเองทั้งนั้น และในช่วงที่ท่านคิดว่าคนอื่นจะใจดีกับท่าน หรือเห็นว่าท่านเป็นคนมีศีลธรรมนำใจ กลับกัน คนอื่นเหล่านั้นกำลังหาทางจะแทงท่านจากข้างหลังทันทีเมื่อมีโอกาส ไม่มีใครสนใจศีลธรรมที่ท่านทึกทักเอาเองฝ่ายเดียวดอก

เอาล่ะ.. ท่านจงระวังตัวเองไว้ให้ดีเถิด”

จากสถานการณ์สงครามกลางเมืองของพม่าที่เข้มข้นในปัจจุบันนี้ ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราในฐานะคนไทยอีกต่อไป จากการที่รัฐบาลทหารพม่ากำลังพ่ายแพ้และเสียเขตอำนาจรัฐมากขึ้นเรื่อย ๆ ย่อมเป็นเหตุให้ทางฝ่ายความมั่นคงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกิจการชายแดนและต่างประเทศของไทย จำจะต้องคอยสดับฟังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะต่อให้คนไทยทั่วไปมองประเด็นนี้ว่าเป็นเรื่องภายในประเทศของพม่า (อธิปไตยต้องไม่แทรกแซง) หรือ เป็นเรื่องของอุดมการณ์สิทธิมนุษยชน (ต้องสนับสนุนประชาธิปไตยชนกลุ่มน้อยสู้กับเผด็จการทหารพม่า)

หากแต่สิ่งที่ต้องพึงระวังเป็นสำคัญคือท่าทีระหว่างประเทศที่เราในฐานะรัฐเพื่อนบ้านที่มีพื้นที่ชายแดนติดต่อกับพม่าทั้งภาคเหนือจรดภาคตะวันออก และติดกับพื้นที่ทางทะเลในภาคใต้

กล่าวให้ชัด เพราะเราไม่สามารถ ‘ย้ายบ้านหนี’ หรือ ‘เปลี่ยนเพื่อนบ้าน’ ได้นี่เอง

การที่มีสภาพภูมิรัฐศาสตร์ (Geo-Body) รั้วชิดติดกันขนาดนี้ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ท่าทีระหว่างประเทศระหว่างเรากับเขามีความเปราะบางอย่างมาก

และถึงกระนั้น หากตัดประเด็นท่าทีของเราทิ้งไปเสีย อย่างไรก็ย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จะไม่ได้รับผลกระทบหากเกิดเหตุการณ์ความเป็นไปในพม่าที่อาจขยายลามข้ามเขตแดนมาฝั่งเราไม่ได้ ดังที่เห็นจากข่าวทุกวี่ทุกวันแล้วว่า มีการข้ามเขตแดนมาฝั่งไทยไม่ว่าจะทั้งฝ่ายต่อต้านรัฐบาลพม่าและกองกำลังของพม่าเอง เพื่อลี้ภัยหรือเข้ามารับการรักษาตามหลักสิทธิมนุษยชนอยู่แทบทุกวัน

และในฐานะ ‘เพื่อนบ้านที่ดี’ ไทยเราควรกระทำตัวอย่างไร ? เราควรหยิบยืมมุมมองการเมืองระหว่างประเทศของใครมาใช้ในกรณีสงครามกลางเมืองของพม่านี้ ?

ทำความรู้จักกับสำนักคิดแนวสัจนิยมคลาสสิค (Classical Realism)

สำนักสัจนิยมคลาสสิค ถือเป็นแนวคิดหนึ่งในมุมมองและทฤษฎีการเมืองระหว่างประเทศมาช้านาน กล่าวกันว่าแรกเริ่มเดิมทีนั้น งานเขียนอันทรงคุณค่าของมนุษยชาติที่ริเริ่มและใช้มุมมองนี้วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยยึดอยู่กับ ‘สภาพความเป็นจริง’ ก่อนใครเพื่อน คือ ‘ธูซีดิดีส’ (Thucydides) นักการทหารและนักประวัติศาสตร์ชาวกรีกจากเมืองเอเธนส์

เขามีอายุอยู่ในช่วง 400 ปีก่อนคริสตกาล ปัจจุบัน ธูซีดิดีสได้รับฉายาจากนักรัฐศาสตร์สมัยใหม่ว่าเป็นบิดาของสำนักคิดแนวสัจนิยม อันเป็นผลมาจากผลงานอันเลื่องชื่อของเขา ที่คนในอดีตและปัจจุบันยังอ่านกันไม่รู้จบสิ้น คือ ‘History of Peloponnesian War’ ซึ่งมีเนื้อหาหลัก ๆ เล่าถึงสงครามระหว่าง 2 นครรัฐกรีกที่ยิ่งใหญ่คือ เอเธนส์ (Athens) กับ สปาร์ต้า (Sparta) พร้อมด้วยตัวแสดงอื่น ๆ อันเป็นรัฐพันมิตรของนครรัฐทั้ง 2

หัวใจอันเป็นข้อคิดสำคัญของ ‘History of Peloponnesian War’ ที่ธูซีดิดีสพยายาม ‘ส่งสาส์น’ ย้ำเตือนคนในรุ่นหลัง นั่นคือ ‘ธรรมชาติของมนุษย์เห็นแก่ตัว’

มนุษย์ทุกคนสนใจแต่ประโยชน์ส่วนตัว การเอาตัวรอด และมุ่งเน้นการสั่งสมอำนาจจึงเป็นหนทางที่จะทำให้เราปลอดภัย และเมื่อมองภาพขยายมาในฐานะรัฐหรือประเทศชาติแล้ว รัฐแต่ละรัฐก็ย่อมเอาประโยชน์ของตนเองเป็นใหญ่ จึงกล่าวได้ว่าในสายตาของธูซีดิดีส การเอาตัวรอด (Survival) และ การช่วยเหลือตนเอง (Self-help) ซึ่งองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้รัฐรักษาตัวรอดไว้ได้ก็คือการมี‘อำนาจอธิปไตย’ (Sovereignty) เพราะถ้าไม่มีอำนาจชนิดนี้ดำรงอยู่ รัฐนั้นก็คือรัฐที่ไร้ประโยชน์ ปกป้องประชาชนของตนไม่ได้ เพราะไร้ซึ่งอำนาจและเสียงของตนเอง รัฐเช่นนี้จะเรียกตนเองว่าเป็นรัฐเลยก็ไม่ได้

ด้วยเหตุนี้ ท้ายที่สุดรัฐแต่ละรัฐควรมุ่งสนใจแต่ประโยชน์ของตนเองเพื่อเสริมสร้างความมั่นคง (Security) แนวคิดนี้ต่อมาได้ถูกส่งทอดมายังนักปรัชญเมณีคนสำคัญอีกหลายคนในยุคหลัง เช่น แมคเคียวิอาลี และ โทมัส ฮอบส์ เป็นต้น นักวิชาการเรียกแนวคิดที่สนใจ ‘การที่รัฐสนใจเอาตัวรอด’ เป็นหลักนี้ว่า ‘สัจนิยมคลาสสิค’ หรือ ‘Classical Realism’ ซึ่งถืออำนาจอันเด็ดขาดของรัฐเป็นสรณะ

หากธูซีดิดีสเป็นคนไทย เขาจะมองสถานการณ์ในพม่าเช่นไร ?

เมื่อนำแนวคิดสัจนิยมคลาสสิคของธูซีดิดีสมาเป็น ‘แว่น’ ในการวิเคราะห์และมองสถานการณ์พม่าที่จำต้องมีผลกระทบไม่ว่าทางใดทางหนึ่งมายังประเทศไทย หรือกล่าวให้ชัด ๆ ว่าหากเราลองสมมติเล่น ๆ ว่าหากผู้นำในหน่วยงานความมั่นคงไทยหน่วยงานหนึ่งได้ปรึกษาหารือกับธูซีดิดีส เขาจะมีความเห็นต่อกรณีพม่าอย่างไร ? และความเห็นเหล่านี้จะไปกำหนดท่าทีและนโยบายทางความมั่นคงและการต่างประเทศอย่างไร ? เหล่านี้คือความน่าจะเป็นไปได้ที่ ธูซีดิดีส จะบอกหรือแนะนำคนไทยได้

ให้เรื่องพม่าเป็นเรื่องของพม่า

ธูซีดิดีสจะบอกเราเช่นนี้ และไม่มีวันเปลี่ยนเป็นอื่น เพราะหัวใจของแนวคิดสัจนิยมคือการมีอยู่ของอำนาจอธิปไตยภายในรัฐ ด้วยเหตุนี้ ท่าทีทางการของเรา (ประเทศไทย) ในฐานะรัฐเพื่อนบ้าน (ที่เลือกจะย้ายบ้านไม่ได้) ย่อมต้องเคารพอธิปไตยของรัฐบาลพม่า

ไม่ว่าสถานการณ์ของรัฐบาลพม่าจะเลวร้ายเพียงใดก็ตาม แต่ถ้าหากรัฐบาลพม่ายังเป็นชุดเดิม ท่าทีของไทยก็ควรจะเคารพต่ออธิปไตยของพม่า หลีกเลี่ยงที่จะแสดงท่าทีสนับสนุนการต่อสู้ของชนกลุ่มน้อย (เนื่องจากในสายตาของรัฐบาลพม่า คนเหล่านี้คือกบฏ) เพราะเช่นกัน เราไม่สามารถคาดการณ์ได้แน่ชัดในอนาคตว่า อะไรจะเกิดขึ้น จะมีอะไรแทรกซ้อนขึ้นมาอันเป็นปัจจัยให้ฝ่ายรัฐบาลพม่าเข้มแข็งขึ้นและฝ่ายต่อต้านอ่อนแอได้หรือไม่

ลองจินตนาการว่า หากเราในฐานะรัฐไทยได้เอาใจช่วยอย่างชัดเจนต่อชนกลุ่มน้อยฝ่ายต่อต้าน และลงท้ายเป็นรัฐบาลพม่าที่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ณ เวลานั้น เราจะห้ามมิให้พม่ารู้สึกไม่ดี หรือ ‘ไม่ไว้วางใจเพื่อนบ้าน’ อย่างเราได้อย่างไร ? คำตอบสำหรับท่าทีอันเป็นทางการของรัฐไทยในสายตาของธูซีดิดีส คือ ‘ให้เรื่องพม่าเป็นเรื่องของพม่าเสียเถิด’

ท่าทีของไทยต่อภายนอก

เมื่อได้ท่าทีอันเป็นทางการว่า ‘ให้เรื่องพม่าเป็นเรื่องของพม่า’ แล้ว ต่อสมาชิกชุมชนนานาชาติ ไทยเราควรจะสำแดงท่าทีอย่างไร ? คำตอบในประเด็นนี้คงชัดเจนไม่ต่างจากข้อ A. นั่นคือ ไทยควรวางตัวเป็นกลางในสภานการณ์ความขัดแย้งนี้ และต่อให้มีชาติมหาอำนาจอื่นใดหรือสถาบันระหว่างประเทศใด เรียกร้องให้ไทยกระทำการอื่นใดอันเป็นละเมิดอธิปไตยของรัฐบาลพม่า

ไทยเราควรวางตัวนิ่งเฉยเสีย ปัจจัยด้านอุดมการณ์ตามที่ลัทธิเสรีนิยม (Liberalism) ซึ่งเป็นคนละแนวคิดกับสัจนิยม พยายามป่าวประกาศว่าจะเป็นยารักษาโรคและหนทางแก้ไขปัญหายุ่ง ๆ ในพม่าตาม ‘วิถีมนุษยชนและประชาธิปไตย’ ได้นั้น ธูซีดิดีสจะเตือนเราว่าต้องชั่งใจให้ดี ๆ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในพม่า ซึ่งจะต้องกระทบกับไทยไม่ว่าทางหนึ่งแน่ ๆ

แม้ว่าปัจจัยในการสู้รบอาจเป็นเรื่องของความคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองต่อต้านเผด็จการทหารพม่า หากแต่ผลกระทบนั้นเป็น ‘สิ่งที่เกิดขึ้นจริง’ ต่อไทย ทั้งปัญหาผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย ลูกหลง การไล่ล่า การเคลือรนไหวทางการเมืองที่ใช้ไทยเป็นฐาน หรือความไม่สงบอาจขยายเข้ามาในพื้นที่ที่ตกลงกันว่าอยู่ภายใต้อธิปไตยของไทย เหล่านี้ธูซิดิดีสจะบอกกับคนไทยว่า

‘เป็นเรื่องเหลวไหลเลอะเทอะ ที่จะเอามุมมองแบบเสรีนิยมหรืออุดมการณ์มาใช้กับชีวิตและความเป็นความตายชองคนไทยที่รับผลกระทบจากการสู้รบของเพื่อนบ้าน’

กล่าวให้ชัด ธูซีดิดีสกำลังย้ำเตือนกับคนไทยว่า ‘จงหยุดมองโลกในแง่ดี’

เพราะทราบใดที่สถานการณ์ภายในของพม่าไม่สงบ ก็อย่างหวังใจว่าชายแดนของไทยจะสงบด้วย ผลกระทบทุกอย่างเกิดขึ้นเป็นเงาตามตัว ไทยเราต้องทำทุกวิถีทางที่จะทำให้ปัญญาของพม่าไม่ลามเข้าสู่เขตแดนของเรา

ดังนั้น ไทยจึงต้องสำแดงความเป็นกลางอย่างเคร่งครัดในกรณีนี้ จนกว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปจนมั่นใจว่าสมควรที่จะเปลี่ยนท่าทีหรือทัศนะดังกล่าว หรือได้รับการ ‘ร้องขอ’ ให้ช่วยเหลือจัดการไกล่เกลี่ยทั้งจากฝ่ายรัฐบาลพม่าเองและฝ่ายต่อต้าน ทั้งนี้ เรื่องเหล่านี้ยังเป็นสิ่งที่ยากจะคาดเดา เรื่องของเขายังจะเป็นเรื่องของเขาตราบเท่าที่เขายังไม่ต้องการให้ช่วย

การเตรียมรับมือกับสถานการณ์อย่างปัจจุบันทันด่วนของไทยจึงเป็นทางออกที่สำคัญที่สุด

ท่าทีของไทยต่อภายใน

‘คนไทยทั้งหลาย ท่านจะแน่ใจได้อย่างไรว่า สมมติเหตุการณ์ในพม่าจบลงด้วยชัยชนะของชนกลุ่มน้อยฝ่ายต่อต้านแล้วเหตุการณ์จะสงบลง ?’

ธูซีดิดีสอาจจะกล่าวประโยคนี้กับคนไทยคนใดก็ตามที่กำลังส่งแรงใจแรงเชียร์แก่กลุ่มชาติพันธุ์ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลพม่า เพราะตามประวัติศาสตร์แล้ว พื้นที่ของประเทศพม่าประกอบไปด้วยความแตกต่างของชาติพันธุ์สูงมาก หากแต่ชนกลุ่มที่ครองอำนาจอธิปไตยกลับเป็นชนชาติพม่าเป็นพื้น ดังนั้น สมมติว่าท้ายที่สุดรัฐบาลทหารพม่าเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แต่ทว่า

C.1 รัฐบาลเก่าแพ้แต่ยังไม่หมดอำนาจ แต่กลับไปรวบรวมกำลังผลมาใหม่ ต่อต้านกับรัฐบาลพม่าใหม่ที่ก่อตั้งด้วยชาติพันธุ์ต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้ สงครามจะดำรงอยู่ต่อไป เพียงแต่เปลี่ยนฝ่ายรัฐบาบเท่านั้น

C.2 รัฐบาลเก่าพ่ายแพ้หมดรูป และไม่คิดสู้อีก กลุ่มชาติพันธุ์สถาปนารัฐบาลใหม่ได้สำเร็จ หากแต่สุดท้ายก็ไม่ลงตัวกันในเรื่องการปกครอง การสู้รบยังมีอยู่ต่ไปไม่จบสิ้น เพราะสังคมพม่าในอดีตก็เป็นการต่อสู้ของชาติพันธุ์ต่าง ๆ เพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่ เผลอ ๆ ชนกลุ่มน้อยอาจมีมนุษยธรรมน้อยกว่ารัฐบาลทหารพม่า (ที่สั่งสมประสบการณ์มานานนม) ก็เป็นได้

C.3 รัฐบาลเก่าพ่ายแพ้หมดรูป และไม่คิดสู้อีก กลุ่มชาติพันธุ์สถาปนารัฐบาลใหม่ได้สำเร็จ และมีความเห็นว่า ดินแดนของไทยบางส่วนเคยเป็นเขตของชนกลุ่มน้อยในสมัยโบราณ ดังนั้น จึงต้องทวงคืนดินแดน (ที่ปัจจุบันนี้เป็นของไทย) มาจากไทย สงครามไม่ยุติ หากแต่เปลี่ยนจากความขัดแย้งระหว่างภายในของพม่า มาเป็นสงครามระหว่างไทยกับพม่า

สถานการณ์เหล่านี้ย่อมมีความเป็นไปได้ว่าจะเกิด เพราะ ‘รัฐ’ กับ ‘ชาติ’ ใช่ว่าจะแนบสนิทกันในทุกกรณีไป ภาพฝันของประเทศใหม่ของบางกลุ่มชาติพันธุ์อาจหมายรวมถึงการรวมเอาดินแดนที่เขา ‘จินตนาการ-เห็นว่า’ ไทยเอาดินแดนของเขาไปผ่านการปักปันเขตแดนกับรัฐบาลพม่า โดยที่เขาไม่ยินยอมและสมัครใจ ดังนั้น จึงจะต้องทวงดินแดนเหล่านั้นคืน (เช่น รัฐไทใหญ่ รัฐมอญ) ใครมองว่าเป็นเรื่องเหลวไหลนั้น ธูซีดิดีสจะบอกส่งท้ายว่า

“ท่านเป็นคนที่มองโลกในแง่ดีเกินไป… ในความเป็นจริงแล้ว หากกลับมาสู่เรื่องธรรมชาติของมนุษย์ที่เราเคยบอกท่าน มนุษย์แต่ละคนย่อมคิดถึงผลประโยชน์ของตัวเองทั้งนั้น และในช่วงที่ท่านคิดว่าคนอื่นจะใจดีกับท่าน หรือเห็นว่าท่านเป็นคนมีศีลธรรมนำใจ กลับกัน คนอื่นเหล่านั้นกำลังหาทางจะแทงท่านจากข้างหลังทันทีเมื่อมีโอกาส ไม่มีใครสนใจศีลธรรมที่ท่านทึกทักเอาเองฝ่ายเดียวดอก

เอาล่ะ.. ท่านจงระวังตัวเองไว้ให้ดีเถิด”

อ้างอิง :

[1] นรุตม์ เจริญศรี. ทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ. คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
[2] ศิวพล ชมพูพันธุ์. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ : ทฤษฎี และการศึกษาในโลกร่วมสมัย.
[3] Thucydides. History of Peloponnesian War.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า