มหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกของสยาม ‘จารึกวัดพระเชตุพน’ แผ่นบันทึกภูมิปัญญาตั้งแต่สมัยพระนั่งเกล้าฯ ที่ UNESCO ต้องยกย่อง

บทความโดย จิตรากร ตันโห

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นยุคที่สยามพบเจอกับความเปลี่ยนแปลงที่กระทบกับสังคมในยุคจารีตอย่างใหญ่หลวง จากการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจและกระบวนการทางสังคมที่มีความซับซ้อนมากขึ้น จนเรียกได้ว่าอาจเกิดความแตกต่างที่เห็นได้ชัดระหว่างสิ่งที่มีในสยามและสิ่งที่จะต้องตามให้ทันซึ่งได้หลั่งไหลเข้ามา เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมีการเปิดพื้นที่ใหม่ขึ้นอีกพื้นที่หนึ่งในการรองรับการเปลี่ยนแปลงและทุเลาผลกระทบที่อาจจะรุนแรงขึ้นด้วยการศึกษา

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญกับความรู้หนังสือโดยพระราชโอรสพระราชธิดาจะต้องรู้หนังสือ ดังนั้นเมื่อทรงทราบว่าพระองค์เจ้าจินดาพระราชโอรสไม่รู้หนังสือ พระองค์จึงกริ้วและเป็นที่เกรงกันโดยทั่วไป พระบรมราโชบายในการส่งเสริมการศึกษาของพระองค์นั้นทรงได้โปรดเกล้าให้ตั้งโรงเรียนสอนหนังสือที่โรงทานเป็นครั้งแรก โดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้กล่าวว่า [1]

ที่มีเด็กสวดตามศาลารายในวัดพระแก้ว หม่อมฉันสันนิษฐานว่าเพิ่งจัดขึ้นในรัชกาลที่ 3 ด้วยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงตั้งโรงเรียนสอนหนังสือไทยขึ้นเป็นปฐมที่โรงทานจ้างประตูต้นสนถึงเทศกาลที่ขุนทินชุนทานสวดมหาชาติคำหลวงที่โบสถ์วัดพระแก้ว จึงได้โปรดให้จัดเด็กนักเรียนที่โรงทานมาสวด โอ้เอ้วิหารราย [เป็นการฝึกอ่านของเด็กไปในตัว] อย่างโบราณที่ศาลาราย เลยเป็นธรรมเนียมมาจนถึงรัชกาลที่ 4 และที่ 5 หม่อมฉันเคยเห็นสวดอยู่ตามศาลารายด้านเหนือในทางเสด็จพระราชดำเนินถือว่าสวดถวายตัว เป็นเช่นนั้นมาจนตั้งกรมศึกษาธิการ เมื่อเลิกโรงเรียนที่โรงทาน หม่อมฉันจึงได้สั่งให้โรงเรียนชั้นประถมของหลวงที่ตั้งขึ้น ณ ที่ต่างๆ ให้จัดเด็กมาสวดโอ้เอ้วิหารรายแทนเด็กโรงทาน โรงเรียนละศาลาจึงมีเด็กสวดทุกศาลารอบพระอุโบสถมาแต่นั้น

จากการที่พระองค์ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษานี้ทำให้มีแบบเรียนมากมายเกิดขึ้น เช่น ทศมูลเสือโค ประถม ก กา จนต่อมาพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงวงษาธิราชสนิทแต่งแบบเรียนจินดามณีขึ้น โดยมีพระราชประสงค์ให้ใช้เป็นตำราในการแต่งคำประพันธ์ ในยุคสมัยนี้จึงเรียกได้ว่าเกิดการตื่นตัวทางวิชาความรู้ขึ้น และการตื่นตัวนี้ได้ยกระดับไปอีกขั้นโดยการยกฐานะของ “วัด” ให้เปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยเปิด

วัดในอดีตนั้นเรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางและเป็นสถาบันหลักสำคัญของไทยเพราะเป็นศูนย์รวมของความคิดความเชื่อและประเพณีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้คน ในรัชสมัยรัชกาลที่ 3 นี้พระองค์ได้สร้างและปฏิสังขรณ์วัดเป็นจำนวนมมาก รวมไปถึงคนกลุ่มอื่นในสังคมก็มีส่วนร่วมด้วย เช่น คหบดีพ่อค้าต่างๆ โดยวัดหนึ่งที่พระองค์ได้ปฏิสังขรณ์เนื่องจากความทรุดโทรมนั้นก็คือวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม โดยโปรดเกล้าฯ ให้ทั้งพระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทเป็นแม่กองและนายด้าน (หัวหน้า) โดยพระบรมวงศานุวงศ์ที่พระองค์ให้เป็นแม่กองนั้นมีทั้งหมด 13 พระองค์ คือ

  1. กรมหมื่นไกรสรวิชิต และกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ (กำกับการทั่วไป)
  2. กรมหมื่นวงษาสนิท และพระองค์เจ้ามรกต (กรมขุนสถิตย์สถาพร)
  3. พระองค์เจ้ากลาง (กำกับการสร้างพระวิหารทิศ 4)
  4. กรมหมื่นอมเรนทรบดินทร (กำกับการสร้างพระอุโบสถ)
  5. พระองค์เจ้าชุมสาย (กำกับการสร้างพระมหาเจดีย์ 3 องค์ หอไตร และซุ้มประตูทั้งหมด)
  6. กรมหมื่นศรี (กำกับการสร้างพระวิหารน้อย 4 ห้อง สองหลังหอระฆังการเปรียญ)
  7. พระองค์เจ้างอนรถ และพระองค์เจ้าโกเมนทร (กำกับการสร้างพระระเบียง 4 ทิศ)
  8. พระองค์เจ้าอรรณพ (กำกับการสร้างสระ เก๋ง สวนต่อ และการเกณฑ์ทั่วไป)
  9. พระองค์เจ้าอุไร (กำกับการสร้างพระเจดีย์รายรอบพระระเบียง พระเจดีย์ย่อม)
  10. พระองค์เจ้าลดาวัลย์ (กำกับการสร้างพระวิหารพระพุทธไสยาส)

พระบรมวงศานุวงศ์ทั้ง 13 พระองค์นี้ล้วนแล้วแต่เป็นปราชญ์ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไว้วางพระราชหฤทัย และหลายพระองค์นั้นก็สันนิษฐานว่าอาจเคยเป็นศิษย์ที่เคยศึกษาที่วัดพระเชตุพนนี้เพราะกรมพระปรมานุชิตชิโนรสนั้นเป็นพระอาจารย์ของพระบรมวงศนุวงศ์หลายพระองค์ ดังนั้นจึงเข้าใจได้ว่าทำไมรัชกาลที่ 3 จึงทรงให้ช่วยกันตรวจสอบชำระตำราสรรพวิชาวิทยาการต่างๆ เช่น ตำราแพทย์แผนไทยแล้วให้จารึกไว้บนแผ่นศิลาประดับไว้ตามอาคารในพระอาราม

ในการปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนนี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้เป็นแหล่งวิชาความรู้ให้คนทั่วไปสามารถศึกษาได้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ทำศิลาจารึกตำราต่างๆ ติดไว้ตามศาลาและมีรูปประกอบให้เรียกว่า “บทเรียนด้วยของ” หรือเป็นการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยสรรพวิชาต่างๆ นี้จารึกเป็นภาษาไทย ส่วนขอมและบาลีนั้นเป็นเพียงส่วนน้อย โดยประเด็นที่จารึกนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 6 หมวดใหญ่ คือ พระพุทธศาสนา (310 แผ่น) เวชศาสตร์ (608 แผ่น) วรรณคดีและสุภาษิต (341 แผ่น) ทำเนียบ (124 แผ่น; ทำเนียบนี้คือทำเนียบหัวเมือง ผู้ครองเมือง ทำเนียบสมณศักดิ์ และโคลงภาพคนต่างภาษา) ประวัติการบูรณะปฏิสังขรณ์ (21 แผ่น) ประเพณี (36 แผ่น) ซึ่งแผ่นที่จารึกนี้มีทั้งทำตามจารีตที่สืบกันมาภายในวัด เช่น การเขียนภาพ แต่ก็มีรูปแบบใหม่ที่เพิ่มเข้ามา คือ จารึกตำรับยา กาพย์กลอน และสังเกตได้ว่าสรรพวิชาที่จารึกนี้มีความรู้ที่สอดคล้องกับโลกสมัยใหม่อยู่ทั้งเรื่องการแพทย์ ภูมิศาสตร์โลก และตำราว่าด้วยบทบาทและหน้าที่ของคนในสังคม แม้กระทั่งหมวดเวชศาสตร์นั้ก็มีถึง 608 แผ่น มากกว่าเรื่องศาสนาถึงสองเท่าตัว

การเข้ามาค้าขายของตะวันตกนั้นได้นำวิทยาการใหม่ๆ เข้ามา และทำให้พระองค์ตระหนักดีว่าบางอย่างจะหมดความสำคัญลงไป เช่น กรณีที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างสำเภาวัดยานนาวา เพราะทรงตระหนักว่าต่อไปเรือสำเภาจีนจะไม่มีใครใช้อีกต่อไป ความรู้ที่จารึกลงวัดพระเชตุพนนี้ก็เช่นเดียวกันที่มีทั้งจุดมุ่งหมายในการกระจายการศึกษาออกไป และในขณะเดียวกันก็จารึกไว้ด้วยว่าสยามประเทศนั้นเคยมีความรู้อะไรที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ด้วยเหตุเช่นนี้เอง UNESCO จึงได้ประกาศรับรองและจดทะเบียนขึ้นเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกเมื่อ พ.ศ. 2554 ในที่สุด

อ้างอิง :

[1] เรียบเรียงจาก อภิชยา อุกฤษฎาพัชร, “จารึกวัดพระเชตุพน: การศึกษาและการแสวงหาความรู้ พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า,” ใน บุรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์กับประชาชน (กรุวงเทพฯ: สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, 2566), หน้า 133-156.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า