มรดกของ รัชกาลที่ 1 ยุคเริ่มต้นแห่งการปฏิรูปตัวเองของสถาบันพระมหากษัตริย์
ที่มาของ วันจักรี หรือ วันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ มาจากเมื่อครั้งในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงพระราชอนุสรณ์คำนึงถึงพระคุณแห่งบูรพกษัตริยาธิราชเจ้าในอดีต เมื่อพระองค์ได้ทรงพระราชพิธิบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมรูปของในหลวงรัชกาลต่างๆ เพื่อที่จะได้ทรงสักการะ แล้วตั้งประเพณีถวายบังคมครั้งแรกในวันฉัตรมงคลปี พ.ศ. 2416
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ประเทศสยามเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 1 และได้รับชัยชนะ ในหลวงรัชกาลที่ 6 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ อัญเชิญพระบรมรูป 5 รัชกาล ประดิษฐาน ณ ปราสาทพระเทพบิดร ในปี พ.ศ. 2461 ตามฤกษ์ที่ในหลวงรัชกาลที่ 1 เสด็จกรีฑาทัพเข้าพระนคร คือวันที่ 6 เมษายน และในปีถัดมา ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งวันที่ 6 เมษายน ของทุกปี เป็นวันมหาจักรีบรมราชวงศ์ และเปิดให้ประชาชนเข้าถวายบังคมได้ทั่วกัน ไม่เฉพาะแต่พระบรมวงศานุวงศ์กับข้าราชการเท่านั้น
วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หรือในขณะนั้น คือ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้ยกทัพกลับจากการทำสงครามที่เขมร มาถึงพระนครเพื่อยุติความวุ่นวายจากการจลาจลในกรุงธนบุรี
ความวุ่นวายในครั้งนั้น มีมูลเหตุมาจาก ขุนแก้ว นายบุนนาค และขุนสุระ ได้ร่วมมือกันก่อการจลาจลในเมืองกรุงเก่า (อยุธยา) โดยหวังที่จะจับพระยาอินทรอภัย ผู้รักษากรุงเก่าประหาร เมื่อข่าวการก่อจลาจลในอยุธยาได้ไปถึงกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงได้รับสั่งให้พระยาสรรค์เป็นแม่ทัพไปปราบจลาจลที่กรุงเก่า
ทว่าพระยาสรรค์ ซึ่งเป็นพี่ชายแท้ๆ ของ ขุนแก้ว 1 ใน 3 แกนนำผู้ก่อจลาจล เมื่อไปถึงกรุงเก่าก็กลับเข้าเป็นพวกผู้ก่อจลาจลนำกำลังทัพกลับเข้ามาโจมตีกรุงธนบุรี แล้วยึดอำนาจพระเจ้าตากสิน ในวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2325
และเมื่อพระยาสุริยอภัย เจ้าเมืองนครราชสีมา ซึ่งเป็นหลานของในหลวงรัชกาลที่ 1 ทราบข่าวว่าพระยาสรรค์ก่อการกบฏและยึดกรุงธนบุรีได้แล้ว จึงได้นำกำลังจากเมืองนครราชสีมา มาถึงกรุงธนบุรีในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2325 ซึ่งในขณะนั้นพระยาสรรค์ควบคุมสถานการณ์ไว้ได้หมดแล้ว ทำให้พระยาสุริยอภัยซึ่งมีกำลังพลเพียงพันคนเศษ ต้องตรึงกำลังอยู่ในเขตของตน
ในจุดนี้เองที่มีนักวิชาการบางคนได้ออกมากล่าวหาว่า การจลาจลในกรุงธนบุรีเป็นแผนของในหลวงรัชกาลที่ 1 เพราะกลุ่มคนที่เป็นแกนนำในการก่อจลาจลเป็นข้าหลวงเดิมของในหลวงรัชกาลที่ 1 ซึ่งความจริงแล้วคำว่า “ข้าหลวงเดิม” หมายถึงข้าราชการที่รับใช้มาตั้งแต่ก่อนที่ในหลวงรัชกาลที่ 1 จะได้ขึ้นครองราชย์ต่างหาก
การที่ในเอกสารประวัติศาสตร์บ่งบอกว่ากลุ่มแกนนำที่ก่อจลาจลในกรุงเก่าเป็นข้าหลวงเดิมของในหลวงรัชกาลที่ 1 เพราะว่าคนเหล่านั้นทั้ง ขุนแก้ว นายบุนนาค และขุนสุระ ต่อมาได้เปลี่ยนใจไปเข้าร่วมกับพระยาสุริยอภัยแทน ภายหลังจากพระยาสรรค์ยึดอำนาจพระเจ้าตากและได้ร่วมมือกับกรมขุนอนุรักษ์สงคราม (เจ้ารามลักษณ์) ซึ่งเป็นหลานพระเจ้าตากสิน ควบคุมกรุงธนบุรีไว้
ถ้าหากการยึดอำนาจพระเจ้าตากสินเป็นแผนของในหลวงรัชกาลที่ 1 เมื่อพระยาสุริยอภัยยกทัพมาถึงกรุงธนบุรีแล้ว พระยาสรรค์ก็ต้องเชื้อเชิญเข้ามาในพระราชวังหลวงแล้ว แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่าพระยาสรรค์ระแวงว่าพระยาสุริยอภัยอาจจะไม่ยอมสวามิภักดิ์กับตน จึงได้หยั่งเชิงกันอยู่ถึง 11 วัน จนกระทั่งในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2325 พระยาสรรค์จึงได้เปิดไพ่ลับด้วยการปล่อยตัว กรมขุนอนุรักษ์สงคราม (เจ้ารามลักษณ์) ออกมา ซึ่งโดยปกติแล้วการที่พระเจ้าตากสินถูกยึดอำนาจ บรรดาไพร่โดยเฉพาะพระญาติคนสำคัญ ย่อมตกเป็นเชลย การที่พระยาสรรค์ปล่อยตัวกรมขุนอนุรักษ์สงครามโดยง่าย และมีอำนาจนำกำลังพลไปโจมตีพระยาสุริยอภัย แสดงให้เห็นว่าจริงๆ แล้วกรมขุนอนุรักษ์สงคราม (เจ้ารามลักษณ์) คือ ผู้อยู่เบื้องหลังการยึดอำนาจพระเจ้าตากสินเสียด้วยซ้ำ
เมื่อพระยาสรรค์ได้เปิดเผยผู้อยู่เบื้องหลังการยึดอำนาจพระเจ้าตากสิน อาจจะส่งผลให้ขุนแก้ว นายบุนนาค และขุนสุระ เกิดความเกรงกลัวว่าต่อไปลูกหลานของพระเจ้าตากสินน่าจะกลับมามีอำนาจอีกครั้ง และการที่ขุนนางต่างๆ ได้เข้ายึดอำนาจเป็นการลบหลู่พระบรมเดชานุภาพ ต่อไปอาจจะถูกลงโทษได้ จึงได้พากันเปลี่ยนใจย้ายข้างกลับมาเข้ากับพระยาสุริยอภัยแทน แม้แต่ขุนแก้วซึ่งเป็นน้องชายของพระยาสรรค์แท้ๆ ก็เปลี่ยนใจไม่อยู่ฝ่ายเดียวกับพี่ชาย
ประกอบกับพระยาสรรค์ ได้พระยารามัญวงศ์ ซึ่งเป็นขุนนางชาวมอญที่เข้ามาสวามิภักดิ์กับกรุงธนบุรีมาเป็นพวก และเผอิญว่าตัวพระยารามัญวงศ์เองมีความขัดแย้งกับคนมอญด้วยกัน ซึ่งก็คือพระยาเจ่ง ด้วยเหตุนี้ทำให้พระยาเจ่งตัดสินใจ นำกำลังชาวมอญในปกครองของตนเข้าร่วมกับพระยาสุริยอภัย เมื่อกรมขุนอนุรักษ์สงคราม ยกกำลังเข้าโจมตีพระยาสุริยอภัย ระหว่างวันที่ 2-3 เมษายน พ.ศ. 2325 แม้จะมีกำลังพลมากกว่า แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะพระยาสุริยอภัยได้
ในที่สุดพระยาสุริยอภัยก็สามารถพลิกสถานการณ์เข้าควบคุมกรุงธนบุรีเอาไว้ได้ ก่อนที่ในหลวงรัชกาลที่ 1 จะเสด็จมาถึงพระนครในวันที่ 6 เมษายน
จะเห็นได้ว่าการจลาจลในกรุงธนบุรี ไม่ได้มีคู่ขัดแย้งแค่ 2 ฝ่าย หากแต่มีมิติความขัดแย้งระหว่างคนหลายกลุ่มที่มีการชิงไหวชิงพริบกันอยู่ตลอดเวลา และการที่ในหลวงรัชกาลที่ 1 ตอบรับคำเชิญของเหล่าไพร่ฟ้าเสนาบดีขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ก็เพื่อยุติสงครามกลางเมืองและเหตุความวุ่นวาย ที่คุกรุ่นมานานก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นการจับพระสงฆ์ทำโทษ หรือการถอดถอนตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ตลอดจนกระทั่งการลงโทษขุนนาง ทำให้กรุงธนบุรีในระยะหลังตกอยู่ในยุคสมัยที่ผู้คนต่างหวาดระแวง เพราะแม้แต่พระมาตุจฉาเจ้าของในหลวงรัชกาลที่ 1 ก็ยังถูกสมเด็จพระเจ้าตากสินสั่งกักบริเวณ
เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 1 เสด็จขึ้นครองราชย์นับแต่วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 เหตุการณ์จลาจลก็ยุติลงอย่างน่าอัศจรรย์และไม่ปรากฏว่ามีขุนนางคนใดริอ่านที่จะเข้ายึดอำนาจเหมือนดังในสมัยกรุงธนบุรีอีก และแม้ในสมัยของรัชกาลที่ 1 จะมีความระหองระแหงระหว่างวังหลวงและวังหน้า แต่ก็เป็นแค่ความผิดใจเล็กๆ น้อยๆ ของพี่น้อง ที่ไม่ได้มีความขัดแย้งรุนแรงจนถึงการต่อสู้ใช้กำลังเหมือนสมัยกรุงธนบุรี
สมัยของในหลวงรัชกาลที่ 1 จึงถือเป็นยุคทองของการเริ่มต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ดังจะเห็นได้จากผลงานที่ประสบความสำเร็จแทบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการรวบรวมใจผู้คนเข้าต่อสู้ในสงคราม 9 ทัพ ที่พม่ามีกำลังพลมากกว่าเป็นเท่าตัว จนได้รับชัยชนะอย่างน่าอัศจรรย์ และการที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการชำระกฎหมายตราสามดวง ชำระพระไตรปิฎก ตลอดจนกระทั่งทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรม เช่น รามเกียรติ์ รวมถึงโปรดเกล้าฯ ให้แปลวรรณกรรมต่างๆ เช่น สามก๊ก
สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงยุคเริ่มต้นแห่งการปฏิรูปตัวเองของสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อบ้านเมืองอย่างแท้จริง จากการที่ทรงจัดระเบียบสังคมใหม่ วางรากฐานระบบกฎหมาย บำรุงพระศาสนา ตลอดจนถึงการส่งเสริมวรรณกรรมอันมีค่าสืบทอดแก่คนรุ่นหลัง มรดกของในหลวงรัชกาลที่ 1 จึงเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และส่งผลต่อค่านิยมประเพณีของสังคมไทยต่อมาอีกนับร้อยๆ ปี
อ้างอิง :
[1] พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา, กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2548
[2] ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 65 พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
[3] นิธิ เอียวศรีวงศ์ (2550). การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. มติชน