
หลายคนไม่เคยรู้! ‘ฟื้นชาติด้วยการค้า’ งานพลิกวิกฤตครั้งใหญ่ ด้วยฝีมือและมันสมองของพระเจ้าตากสิน
นับตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาได้ล่มสลายลงไปก็นับได้ว่าเป็นโจทย์ที่สำคัญยิ่งของผู้ปกครองรุ่นถัดมาว่าจะทำอย่างไรในการฟื้นฟูความเจริญรุ่งเรืองในอดีต หรือการกลับสู่ “วันคืนอันดี” ในอดีต ซึ่งความพยายามนี้ปรากฏออกมาผ่านความคิดและการกระทำหลายประการ ทั้งที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม หากเป็นนามธรรมนั้นเราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงความคิดเป็นสำคัญที่มีรอยแตกจากอยุธยาอย่างน่าสังเกต [1] ส่วนรูปธรรมนั้นก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นเพราะนอกจากเรื่องความชอบธรรมต่างๆ แล้ว ก็ยังเป็นเรื่องของปัญหาที่ปรากฏจริงของทุกคนในสังคมด้วย
วิธีในการฟื้นฟูราชธานีของพระมหากษัตริย์หลังจากที่กรุงศรีอยุธยาแตก [2] นั้น วิธีการหนึ่งที่สำคัญคือการเร่งเครื่องในทางเศรษฐกิจซึ่งบริเวณราชธานีนี้ได้รับประโยชน์จากเส้นทางการเดินเรือและการเกษตรเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ประกอบกับการมีอยู่ของประชากรโดยเฉพาะชาวจีนจึงทำให้การฟื้นฟูราชธานีสามารถกระทำได้โดยที่ทำให้ “วันคืนอันดี” นั้นสามารถกลับมาได้อย่างรวดเร็วในเชิงเปรียบเทียบกับรัฐอื่นๆ ในขณะนั้น ซึ่งหากไม่แตกสลายลงไปอย่างสิ้นเชิงก็ฟื้นฟูกลับมาด้วยความลำบากอย่างยิ่ง การฟื้นกลับมาในนามของกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์จึงเป็นสิ่งที่ยืนยันได้อย่างดีในความสามารถของผู้เป็นพระมหากษัตริย์ แต่คำถามนั้นก็คือว่าการฟื้นฟูราชธานีด้วยเศรษฐกิจนั้นทำอย่างไร เพราะถึงแม้เราจะเห็นผลลัพธ์สุดท้าย แต่สิ่งที่มาก่อนผลลัพธ์นั้นไม่ง่ายเลย
ที่ตั้งของกรุงธนบุรีนั้นอยู่ไม่ไกลจากทะเลและมีความเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว การเป็นชุมชนเก่าแก่และมีวัดวาอารามอยู่ในพื้นที่จึงเหมาะกับการฟื้นฟูศูนย์กลางอำนาจขึ้นมาอีกครั้งซึ่งขณะนั้นขาดแคลนทั้งทุนทรัพย์และกำลังคน การฟื้นฟูการค้านั้นเป็นประเด็นสำคัญอย่างมากซึ่งมีหลักฐานชัดเจนว่าขุนนางตำแหน่งพิพัทธโกษาได้เขียนจดหมายไปถึง Governer-General ของบริษัทอินเดียตะวันออกโดยต้องการให้กลับเข้ามาตั้งสำนักงานในสยามอีกครั้งหลังออกไปจากกรุงศรีอยุธยาก่อนเสียกรุง นอกจากนี้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้นทรงมีเชื้อสายจีนทำให้ชาวจีนเข้ามาร่วมมือกับพระองค์ในการฟื้นฟูราชธานีด้วยซึ่งส่วนหนึ่งเป็นพ่อค้าและสืบเชื้อสายเศรษฐีมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าท้ายสระ [3]
ความพยายามของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีตั้งแต่ต้นคือการค้าในระบบบรรณาการหรือจิ้มก้องซึ่งให้ผลตอบแทนอย่างมหาศาลอย่างมาก เนื่องจากจีนถือว่าตนเป็นชาติมีอารยธรรมซึ่งจีนจะตอบแทนการยอมรับอำนาจของจีนด้วยการแจกจ่ายผลประโยชน์กลับคืนมาหลายเท่า ซึ่งจีนแม้จะยังไม่ยอมรับสยามเพราะสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีถูกมองว่าเป็นกบฏต่อราชสำนักสยาม อย่างไรก็ดีจีนภายหลังจะขอซื้อดินประสิวและกระทะเหล็กไปหล่อเป็นปืนใหญ่เพื่อทำสงครามกับพม่า แต่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้นมิได้จบแต่เพียงเรื่องบรรณาการ แต่ได้พยายามดำเนินการค้าขาย เช่น มีพระราชสาสน์ส่งถวายจักพรรดิจีนในการส่งเรือเข้ามาอีกเพื่อขายข้าวและไม้ หรือแนะนำคนให้นำทางเรือสยามไปญี่ปุ่นโดยสยามยินดีจ่ายเงินเท่าใดก็ได้ และการขออนุญาตซื้อภาชนะทองแดงและเงินอีกกว่าหนึ่งพันรายการ แสดงให้เห็นว่าราชธานีนั้นได้ฟื้นตัวขึ้นและมีศักยภาพอย่างมากในการส่งออกข้าวจำนวนมาก และพยายามจะออกเดินทางไปญี่ปุ่นอีกด้วย
บรรยากาศทางการค้าสมัยกรุงธนบุรีนั้นจึงกลับมาคึกคักหลังจากที่พยายามอย่างมากในระยะเวลาสั้นๆ ดังนั้นเมื่อเข้าสู่ช่วงสมัยรัตนโกสินทร์จึงปรากฏให้เห็นว่าผู้คนมีความเข้าใจในหลักการประกอบการค้าอย่างมาก ซึ่งจุดนี้ทำให้คนในสังคมนั้นผูกพันอยู่กับโลกความเป็นจริงมากขึ้น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงประสบความสำเร็จในการวางรากฐานให้กับกรุงรัตนโกสินทร์ต่อมาในด้านการค้าและการหลุดพ้นจากสภาวะแห่งการไร้เสถียรภาพแบบที่เคยเกิดขึ้นหลังกรุงแตก
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงได้สืบทอดมรดกของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีในการแก้ไขปัญหาความวุ่นวายของสังคมให้มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้นไม่ว่าจะเป็นการตีความพระพุทธศาสนาโดยเน้นเหตุผลนิยม การมองโลกตามความเป็นจริงมากขึ้นในยุคนั้นทำให้คนได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการค้ามากขึ้นและลงทุนมากขึ้นแทนการพึ่งแต่ส่วยเท่านั้น เพราะทั้งส่วยและการเก็บภาษีนั้นไม่ได้รับผลดีเท่าที่ควร ดังนั้นรัชกาลที่ 1 จึงทรงใช้การค้ากับต่างประเทศเป็นรายได้สำคัญ รวมไปถึงการจ้างแรงงานโดยเฉพาะชาวจีนเพื่อเข้ามาเติมกำลังทรัพยากรมนุษย์และทำให้การค้านั้นเริ่มมีสินค้าที่มีความซับซ้อนในการผลิตมากขึ้นมากกว่าของป่าแต่เพียงอย่างเดียว
การค้าที่เฟื่องฟูยิ่งขึ้นไปอีกในยุคนี้นำมาสู่การเติบโตของภาคเอกชนซึ่งการมาของภาคเอกชนนี้ได้ขัดแย้งกับเรื่องระบบมูลนายแบบเดิมที่ต้องแข่งขันและต้องทำให้ธุรกิจของตนมั่นคงขึ้นด้วยโลกทัศน์แบบพ่อค้า ดังนั้นเราจึงเห็นว่ามีการค้าเสรีมากขึ้นในยุคนี้เพราะขุนนางหรือผู้มีเงินสามารถส่งเรือไปค้าขายได้ไม่จำกัดเฉพาะแต่พระคลังแบบในสมัยอยุธยาอีกต่อไป ดังนั้นแล้วผลกระทบที่ตามมาอีกประการหนึ่งคือไพร่ก็เปลี่ยนด้วย เพราะไพร่เริ่มมีชีวิตที่ดีขึ้นจนสามารถซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยได้ แม้แต่เชลยทาสก็ได้รับโอกาสในการไถ่ตัวออกไปทำมาหากิน สะท้อนให้เห็นว่าการค้าขายนั้นได้พลิกแผ่นดินสยามให้รุ่งเรืองยิ่งกว่าสมัยอยุธยาแล้ว
ความรุ่งเรืองนี้ได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงให้เพิ่มการเก็บภาษีถึง 38 ชนิด ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีการขยายตัวทางการค้ามากกว่าที่จะลดลงและประชากรต้องมากขึ้นด้วย และภาษีทั้ง 38 ชนิดนี้ไม่ใช่ภาษีเพื่อการบริโภคภายในเป็นสำคัญแต่เป็นภาษีที่เก็บจากการส่งออกสะท้อนให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของปริมาณสินค้า
กล่าวได้ว่า “คืนวันอันดี” ที่เหมือนจะไม่มีวันกลับมาให้เห็นได้อีก ก็กลับมาได้อีกครั้งด้วยความสามารถของผู้นำอย่างพระมหากษัตริย์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อการล่มสลายของแผ่นดินและฝ่า “จะลับรัศมีแก้วเจ้าทั้งสาม” มาได้อย่างงดงาม เพราะถึงแม้กรุงศรีอยุธยาในโลกแห่งความเป็นจริงจะล่มสลายลงไปแล้ว แต่ “กรุงศรีอยุธยาเขษมสุข” ในโลกที่ควรจะเป็นนั้นมิเคยเสื่อม และเป็นเป้าหมายของพระมหากษัตริย์ตลอดมาในการรังสรรค์สวรรค์บนผืนดิน
อ้างอิง :
[1] รายละเอียดใน นิธิ เอียวศรีวงศ์, ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์: ในพระราชพงศาวดารอยุธยา, พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพฯ: มติชน, 2543).
[2] รายละเอียดสภาพเศรษฐกิจของกรุงศรีอยุธยาและสภาพช่วงกรุงแตกดูใน Chris Baker and Pasuk Phongpaichit, A History of Ayutthaya (Cambridge and other places: Cambridge University Press, 2017), chapter 4-6.
[3] เรียบเรียงจาก วรางคณา นิพัทธ์สุขกิจ, “เศรษฐกิจการค้าในสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น,” วารสารอักษรศาสตร์ มหาวิยาลัยศิลปากร ปีที่ 38 ฉบับที่ 2 (ก.ค.-ธ.ค. 2559): 65-89.