อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไม่ใช่จุดเริ่มต้นของทุกสิ่งในจักรวาล ฟันธง! หลักกิโลเมตรที่ 0 ทางหลวงแผ่นดิน เริ่มต้นที่ไหน

หลักกิโลเมตรที่ 0 ของประเทศ เริ่มจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นมายาคติที่สร้างขึ้นมาลอยๆ จากคนที่ไม่รู้ที่มาที่ไป เลยประกอบสร้างให้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาล จากการอ้างคำกล่าวของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งได้กล่าวไว้ตอนพิธีเปิดที่ว่า …

“เพื่อเชิดชูคุณค่าของประชาธิปไตย และมีเครื่องเตือนใจ ให้พยายามผดุงรักษาระบอบนี้ให้สถิตสถาพรอยู่ตลอดกาล คณะรัฐบาลจึงมีมติให้สร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยนี้ จะเป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญก้าวหน้าทั้งมวล เป็นต้นว่า ถนนสายต่างๆ ที่จะออกจากกรุงเทพฯ ไปยังหัวเมือง ก็จะนับจากต้นทางอนุสาวรีย์นี้”

ซึ่งคำกล่าวข้างต้นไม่มีมูลความจริง เพราะจอมพล ป. ไม่เคยพูดอะไรอย่างนั้น

คำกล่าวสุนทรพจน์จริงๆ ของ จอมพล ป. ในพิธีเปิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีประกาศลงราชกิจจานุเบกษา วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 เล่ม 57 หน้า 876 มีใจความตอนหนึ่งว่า …

“บัดนี้ได้อุดมฤกษ์แล้ว ข้าพเจ้าขอเชิญชวนพี่น้องชาวไทยทั้งมวลร่วมกับข้าพเจ้ากระทำพิธีเปิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ขอให้อนุสาวรีย์นี้สถิตสถาพรเป็นอนุสรณ์สถานอันศักดิ์สิทธิ์ ทรงไว้ซึ่งอิทธานุภาพด้วยประการทั้งปวง เป็นปัจจัยใหญ่หลวงโน้มนำชีวิตจิตต์ใจของพี่น้องชาวไทยให้สมัครสมานสามัคคีกันในการสร้างชาติที่รักของเรายิ่งด้วยอารยธรรม ขอตั้งปณิธานอัญเชิญคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อันเป็นนิรัติศัยปุญญเขตต์ จงได้ปกปักรักษาประเทศชาติที่รัก ให้อยู่สวัสดีชั่วกัลปาวสานเทอญ”

จะเห็นได้ว่า ไม่มีความตอนไหนเลยที่บอกถึงความเป็นศูนย์กลางความเจริญที่จะแผ่จากกรุงเทพฯ ออกไปยังหัวเมือง

การที่มีหลักกิโลเมตรที่ 0 ตั้งอยู่ ณ ใกล้กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เนื่องมาจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นหนึ่งในโครงการสร้างถาวรวัตถุเพื่อฉลองวันชาติต่างหาก ซึ่งประกอบไปด้วย การสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกลางถนนราชดำเนิน และการตัดถนนประชาธิปไตย (เดิมคือ ถนนเทวียุรยาตร) ซึ่งตั้งต้นจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปจนถึงสะพานวิศสุกรรมนฤมาณเพื่อเชื่อมเข้ากับถนนนครราชสีมา รวมถึงการสร้างสะพานข้ามคลองรอบกรุงบริเวณหัวมุมวัดบวรนิเวศตัดกับถนนพระสุเมรุ

การที่หลักกิโลเมตรที่ 0 ตั้งอยู่ริมถนนราชดำเนินฝั่งเหนือ ก็แสดงชัดว่ามีจุดมุ่งหมายเป็นหลักเริ่มต้นการวัดระยะทางของถนนประชาธิปไตย ไม่ใช่หลักกิโลเมตรที่ 0 ของถนนทางหลวงของประเทศ เพราะถ้าจะนับหลักกิโลเมตรที่ 0 ก็น่าจะเริ่มนับจากจุดศูนย์กลางของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เหมือนอย่างที่นับหลักกิโลเมตรที่ 0 จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิซึ่งเป็นจุดตั้งต้นของถนนพหลโยธิน

อีกประการต่อมาคือ ถนนราชดำเนิน แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ถนนราชดำเนินใน เริ่มจากถนนหน้าพระลานที่บริเวณศาลหลักเมืองไปถึงสะพานผ่านพิภพลีลา ถนนราชดำเนินกลาง เริ่มจากสะพานผ่านพิภพลีลาไปถึงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ และ ถนนราชดำเนินนอก เริ่มจากสะพานผ่านฟ้าลีลาศไปถึงลานพระราชวังดุสิต (ลานพระบรมรูปทรงม้า)

ทั้งนี้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอยู่กึ่งกลางถนนราชดำเนินกลาง แล้วจะเป็นที่ซึ่งเริ่มนับระยะหลักกิโลเมตรเพื่อวัดระยะทางได้อย่างไร

ดังนั้น หลักกิโลเมตรที่ 0 บริเวณริมถนนราชดำเนินกลาง ข้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จึงไม่ได้เกี่ยวอะไรกับทางหลวงแผ่นดิน

แม้ว่าโครงการทางหลวงแผ่นดินซึ่งมีจุดประสงค์เป็นถนนเชื่อมระหว่างเมือง จะเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7 ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองนานหลายปี แต่เนื่องจากเป็นช่วงรอยต่อระหว่างโครงการระยะสุดท้ายของการขยายโครงข่ายทางรถไฟให้ครอบคลุมทั่วประเทศก่อน จึงทำให้การสร้างถนนสายหลักเพิ่งสามารถเริ่มสร้างได้จริงจังหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองไปแล้วเกือบสิบปี

สำหรับ ถนนพหลโยธิน หรือชื่อเดิมคือถนนประชาธิปัตย์ เป็นโครงการถนนทางหลวงแผ่นดินสายแรกที่มีจุดหมายปลายทางมุ่งสู่จังหวัดในตอนเหนือ และด้วยความเจริญของเมืองกรุงเทพฯ ที่ขยายตัวตลอดเวลาเรื่อยมาในสมัยรัชกาลก่อนๆ ทำให้การจัดสร้างถนนสำหรับเป็นถนนสายหลักเชื่อมระหว่างเมืองไม่สามารถเข้ามาถึงใจกลางเมืองเก่าอย่างเขตพระบรมมหาราชวังได้ ดังนั้น โครงการถนนพหลโยธินจึงถูกเลือกให้ตั้งต้นที่จุดตัดของถนนราชวิถีและถนนพญาไท ประกอบกับในเวลาเดียวกันเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลให้ไทยเข้าผนวกดินแดนที่ฝรั่งเศสเคยยึดไปกลับคืนมาได้ จึงทำให้หลักกิโลเมตรที่ 0 ของถนนพหลโยธิน ซึ่งเป็นถนนทางหลวงหมายเลขหนึ่ง ถูกตั้งต้นจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

ความจริงแล้วถนนทางหลวงสายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) หมายเลข 3 (ถนนสุขุมวิท) และหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ต่างมีหลักกิโลเมตรที่ 0 ตั้งต้นจากต่างที่กัน โดยเฉพาะถนนมิตรภาพนับหลักกิโลเมตรที่ 0 ที่จังหวัดสระบุรีด้วยซ้ำ

ไม่เพียงเท่านั้น ถนนแต่ละสายต่างล้วนมีจุดตั้งต้นที่หลักกิโลเมตรที่ 0 เหมือนกันหมด ซึ่งแล้วแต่ว่าหัวถนนจะตั้งต้นจากที่ใด ยกตัวอย่างเช่น

  • ถนนทางหลวงสายนนทบุรี-ปากเกล็ด นับหลักกิโลเมตรที่ 0 ที่ตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี [1]
  • ถนนทางหลวงประชาธิปัตย์ (ถนนพหลโยธิน) ช่วง ขาณุ-กำแพงเพชร-ตาก นับหลักกิโลเมตรที่ 0 ที่ตำบลหนองหลวง อำเภอเมือง จังหวัดตาก [2]
  • ถนนทางหลวงสายฉะเชิงเทรา-ปราจีนบุรี ตอนอำเภอเมืองปราจีนบุรีถึงบ้านโคกมอญ นับหลักกิโลเมตรที่ 0 ที่ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองจังหวัดปราจีนบุรี [3]
  • ถนนทางหลวงสายอยุธยา-นครนายก-ปราจีนบุรี ตอนปราจีนบุรี-นครนายก-หนองแค นับหลักกิโลเมตรที่ 0 ที่ตำบลบ้านพระ อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี [4]
  • ถนนทางหลวงสายชุมพร-ระนอง ตอนกระบุรี-ระนอง นับหลักกิโลเมตรที่ 0 ที่ตำบลน้ำจืน อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง [5]
  • ถนนทางหลวงสายลพบุรี-สิงห์บุรี-ชัยนาท-อุทัยธานี นับหลักกิโลเมตรที่ 0 ที่ตำบลขันหมากใต้ อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี [6]

สิ่งที่ยืนยันชัดเจนว่าหลักกิโลเมตรที่ 0 ไม่ได้เริ่มต้นจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็คือ หลักกิโลเมตรที่ 0 ของ ถนนทางหลวงสายชุมพร-ระนอง ตอนกระบุรี-ระนอง เริ่มลงหลักเขตปักตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482 ก่อนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่เพิ่งทำพิธีเปิดในปี พ.ศ.2483 เป็นเวลากว่าหนึ่งปี

ทั้งหมดนี้คือข้อมูลของหลักกิโลเมตรที่ 0 ของทางหลวงแผ่นดิน ซึ่งชัดเจนว่าไม่ได้เริ่มต้นจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า