พิธีคล้องช้างครั้งสุดท้าย ที่แปลกสมชื่อผู้จัด จนไม่มีใครอยากจำ
“พิธีคล้องช้าง” อันเป็นพิธีที่มีมาแต่โบราณของสยาม ถูกจัดขึ้นครั้งสุดท้ายในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งนั่นเป็นประวัติศาสตร์แต่เดิมที่ได้ถูกบันทึกไว้
แต่รู้ไหมว่า “พิธีคล้องช้าง” ครั้งสุดท้ายจริง ๆ ของสยามเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2481 อันเป็นช่วงเรืองอำนาจของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้ก่อการคณะราษฎรสายทหารรุ่นหนุ่มไฟแรง
ในอดีต “การคล้องช้าง” เกิดขึ้นเพื่อจุดประสงค์ในการจับช้างป่ามาใช้งาน ซึ่งจะนำมาใช้ทั้งในยามปกติทั่วไปและในยามศึกสงคราม เพราะช้างเป็นสัตว์ที่มีความแข็งแรง สามารถบุกป่าฝ่าดงไปได้ทุกที่
โดยวิธีการคล้องช้างครั้งสุดท้ายที่จะกล่าวถึงนี้ เรียกว่าวิธี “คล้องช้างในเพนียด” เป็นการสร้างเพนียดขนาดใหญ่ขึ้นมา แล้วต้อนช้างป่าให้เข้าไป จากนั้นหมอช้างจะขี่ช้างฝึกซึ่งเรียกว่า “ช้างต่อ” ไล่จับช้างป่านั้นทีละเชือกจนหมด
ในยุคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีการสร้างฐานกำลังของกองทัพบกอยู่ที่จังหวัดลพบุรี มาตั้งแต่หลังเหตุการณ์กบฏบวรเดชในปี พ.ศ. 2476 โดยจอมพล ป. ต้องการสร้างเมืองลพบุรีให้เป็นเสมือนเมืองป้อมปราการ เนื่องจากมีสภาพภูมิประเทศเอื้ออำนวยในการตั้งรับข้าศึกยามเกิดเหตุสงคราม
อนึ่ง ในเวลานั้นลพบุรีและจังหวัดใกล้เคียงล้วนมีช้างป่าชุกชุม ชนิดที่ว่าบางครั้งพบตัวจ่าโขลงออกมายืนขวางทางรถไฟอยู่บ่อย ๆ และจากการที่เส้นทางคมนาคมตอนนั้นมีแค่ทางรถไฟ จอมพล ป. จึงเสนอรัฐบาลให้สร้างถนนจากกรุงเทพฯ ไปยังลพบุรีอีกทางหนึ่ง จนแล้วเสร็จในปี 2481 และตั้งชื่อว่าถนนพหลโยธิน
เมื่อการสร้างเมืองทหารที่ลพบุรีสำเร็จเรียบร้อย ก็ต้องมีการเฉลิมฉลองให้ยิ่งใหญ่ระดับชาติ และจากการที่มีโขลงช้างป่าชุกชุมในละแวกนั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงได้จัดให้มีพิธีคล้องช้างขึ้นเสียเลย โดยเพนียดคล้องช้างที่จะสร้างขึ้นใหม่ ก็ให้ใช้พื้นที่เดิมสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งยังปรากฏร่องรอยอยู่ที่เชิงเขาสำมะลึงในกรมทหารลพบุรี
จอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศว่า จะต้องสร้างเพนียดให้ยิ่งใหญ่กว่าคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้มีการคล้องช้างเพื่อรับรองซาร์เรวิช มกุฎราชกุมารแห่งรัสเซีย และจะต้องสร้างพลับพลาให้ครบรูปแบบ ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่า ในยุคนั้น ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จำต้องสนองนโยบายรัฐบาลทุกเรื่องอยู่แล้ว
พิธีคล้องช้างในครั้งนี้ กำหนดให้มีงานถึง 12 วัน 12 คืน ตั้งแต่วันที่ 10 – 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2481 ประมาณกันว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานถึงสองหมื่นคน รวมทั้งอาหารการกินเครื่องดื่มเพียบพร้อม สมกับที่เรียกได้ว่าเป็น “งานช้าง” จริง ๆ
ส่วนเพนียดสำหรับขังช้างป่านั้น ก็ใหญ่โตกว่าสมัยอยุธยาหลายเท่า มีเสาไม้ขนาดเล็กมาเสี้ยมปลาย ทำเป็นงาแซงวางซ้อนกันเป็นแผง โดยเพนียดนั้นตั้งอยู่ระหว่างเชิงเขาสำมะลึงและเขามอ ลาดเขาทั้งสองใช้รถแทรกเตอร์ปรับพื้นลดหลั่นเป็นขั้นบันได ให้ประชาชนตีตั๋วขึ้นไปดูการคล้องช้างได้ถนัดตา
สำหรับหมอช้างและผู้รู้พิธีกรรมต่าง ๆ มาจากสุรินทร์และบุรีรัมย์ พร้อมช้างต่อมากถึง 80 เชือก เพื่อคอยต้อนช้างป่าจากดงชุมพวง ให้เข้ามาในเพนียด อีกทั้งยังมีราษฎรจากหลายจังหวัดมาช่วยขับต้อนมากถึงสามสี่ร้อยคน
อนึ่ง เป็นที่น่าแปลกใจว่าทำไมต้องต้อนช้างมาจากดงชุมพวง ซึ่งอยู่ไกลเกินความจำเป็น ทั้ง ๆ ที่โขลงช้างป่าแถบลพบุรีและละแวกใกล้เคียงนั้นมีจำนวนมากมาย จึงเกิดความสงสัยกันว่าจอมพล ป. คงต้องการสร้างกองทัพช้างขึ้นมาใหม่กระมัง
ตามกำหนดการคล้องช้างนั้น จะมีงานหลักที่กระทำตามพิธีหลวงถึง 3 วัน คือ
- วันแรกเป็นพิธีทอดเชือก รำขอ รำดาบ ในตอนกลางคืน
- วันที่สองคือวันที่นำช้างป่าเข้าเพนียด จะมีการกล่อมช้างทำนองหลวงเป็นคำฉันท์ และการแสดงต่าง ๆ เกี่ยวกับช้าง
- วันที่สามคือวันคล้องช้าง มีการแสดงเกี่ยวกับตำนานเมืองลพบุรี
ปรากฏว่าในวันต้อนช้างป่าเข้าเพนียดนั้น ช้างต่อขนาดใหญ่ได้เดินล้อมวง นำช้างป่ามากมายเข้าเพนียดอย่างสงบเสงี่ยม ถ้อยทีถ้อยอาศัยราวกับช้างเชื่องที่รู้งาน ผิดวิสัยช้างป่าที่เมื่อเข้ามาในเพนียดจะต้องอาละวาดแผลงฤทธิ์ให้เป็นที่สะใจ ทำให้บรรยากาศงานวันนั้นหงอยเหงาลงมากทีเดียว
เมื่อดูจากภาพถ่ายซึ่งถือเป็นพยานหลักฐานได้ดีที่สุด พบว่าช้างในเพนียดวันนั้นมีประมาณ 20 เชือก หลายเชือกยังเป็นช้างขนาดเล็ก ส่วนช้างพลายตัวใหญ่ก็ผ่ายผอมจนเห็นกระดูก น่าเวทนามากกว่าน่าเกรงขาม อีกทั้งระหว่างที่ต้อนโขลงช้างมาจากดงชุมพวง ก็ไม่ปรากฏข่าวคราวใด ๆ ทั้งที่การต้อนโขลงช้างจำนวนมากจากระยะทางไกลขนาดนั้น จำต้องสร้างความโกลาหลให้กับพื้นที่ต่าง ๆ พอสมควร
จึงเป็นที่เชื่อกันว่าโขลงช้างเหล่านั้น น่าจะไม่ใช่ช้างป่า หากแต่เป็นช้างบ้านที่ถูกฝึกมาแล้ว
พิธีคล้องช้างอันยิ่งใหญ่ครั้งสุดท้าย จึงเต็มไปด้วยคำถามชวนสงสัย ว่าช้างป่าเหล่านั้นมาจากดงชุมพวงจริงหรือไม่ หลังเสร็จพิธีการแล้วทางทหารเอาพวกมันไปทำอะไร และงานคล้องช้างที่จัดอย่างใหญ่โตมโหฬาร แต่ทว่าหงอยเหงานี้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีความปลาบปลื้มใจมากน้อยแค่ไหน ทุกอย่างยังคงเป็นความลับดำมืด และไม่มีการกล่าวขวัญถึงอีกเลยจวบจนปัจจุบัน
เครดิตภาพจาก Facebook Fanpage ม.ล. ชัยนิมิตร นวรัตน