พัฒนาการของสุโขทัยอาจไกลกว่า “พ่อขุนศรีอินทราทิตย์”

แต่เดิม เรามักจะพบเนื้อหาในเว็บไซต์ หรือ หนังสือ สำหรับเด็กในช่วงวัยประถมฯ หรือ มัธยมฯ และมีการท่องจำกันต่อ ๆ มาว่า อาณาจักรแรก หรือ จุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ไทยมีจุดเริ่มต้นที่ “อาณาจักรสุโขทัย” โดยมีผู้ก่อตั้งอาณาจักรคือ “พ่อขุนศรีอินทราทิตย์”

โดยให้รายละเอียดว่า คนไทยอพยพมาจากเทือกเขาอัลไตบ้าง มาจากน่านเจ้าบ้าง อพยพลงมาทางใต้แล้วมารบกับขอม และค่อยมีการก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัยขึ้นในที่สุด ( แต่ปัจจุบันอาจมีการเพิ่มประวัติศาสตร์ในยุคสมัยรัฐโบราณ – ยุคสมัยก่อนสุโขทัย ลงไปในหนังสือเรียนในบางส่วน )

แต่บทความนี้เราจะมาเสนออีกมุมของประวัติศาสตร์ยุคสุโขทัยว่าจริง ๆ แล้ว ประชากรคนพื้นเมืองของรัฐสุโขทัยอาจไม่ได้มาจากทาง น่านเจ้า หรือ อัลไตแต่อย่างใด รัฐสุโขทัยอาจไม่ได้ก่อตั้งขึ้นมาแล้วเจริญรุ่งเรืองในทันทีทันใด จนเป็นอาณาจักรแรกของคนไท ดั่งในหนังสือที่เราเคยอ่านกันตอนประถมฯ หากแต่อาจจะมีพัฒนาการมาอย่างยาวนานตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์เรื่อยมา

ก่อนอื่นเราต้องมาทราบกันก่อนว่าในจังหวัดสุโขทัยนั้นมีแหล่งโบราณคดีก่อนยุคประวัติศาสตร์ไหม จึงค่อยไปเจาะลึกลงรายละเอียดในด้านของศิลาจารึก

เราพบว่าในจังหวัดสุโขทัยนั้นมีแหล่งโบราณคดีที่สามารถช่วยบ่งบอกได้ว่าในบริเวณจังหวัดสุโขทัยในอดีตมีชุมชนอาศัยอยู่แล้วตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่เป็นการก่อตัวรวมกันอยู่ในลักษณะของชุมชน เช่น แหล่งโบราณคดีชุมชนบ้านวังหาด ที่ตั้งอยู่ภายในวัดจอมศรีรัตนมงคล (บ้านวังหาด) ที่มีการจัดแสดงโบราณวัตถุ เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชม เข้าไปศึกษากัน ไม่ว่าจะเป็น เครื่องประดับที่ทำจากทองคำหรือเงิน  ลูกปัดที่ทำจากแร่หิน carnelian ขวานหินขัด เครื่องปั้นดินเผา กลองมโหระทึก ฯลฯ ซึ่งเป็นหลักฐานที่ช่วยยืนยันได้ว่าบริเวณจังหวัดสุโขทัยเคยมีชุมชนมาแล้วไม่ต่ำกว่า  2,500 ปี มาแล้ว ซึ่งผู้เขียนสันนิษฐานว่าอาจมีชุมชนอื่น ๆ ไม่ว่าจากทางเหนือ หรือทางบริเวณชุมชนใกล้เคียงที่ตั้งอยู่ไม่ห่างกันนัก ที่เข้ามาติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับชุมชนที่อยู่บริเวณบ้านวังหาดและชุมชนใกล้เคียง

อีกทั้งยังมีอีกหนึ่งหลักฐานสำคัญที่อาจทำให้เราสามารถยืนยันได้ว่าจังหวัดสุโขทัยนั้นเคยมีชุมชนโบราณก่อนยุคประวัติศาสตร์นั่นก็คือ บริเวณวัดตะพานหิน หรือ วัดสะพานหิน ซึ่งอยู่นอกเมืองสุโขทัยทางทิศตะวันตก มีการพบแหล่งหินธรรมชาติทอดยาวไปเหมือนกับเป็นสะพาน ซึ่ง ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม ( นักวิชาการด้านโบราณคดีและมานุษยวิทยาชาวไทย ) อธิบายเพิ่มเติมว่า แหล่งหินนี้คือวัฒนธรรมสืบเนื่องหินตั้งมาตั้งแต่ราว 2,500 ปีก่อน เมื่อครั้งตั้งแต่ชุมชนในบริเวณนี้ยังนับถือศาสนาผีอยู่

อย่างไรก็ดีหลักฐานต่าง ๆ ที่พูดมานี้อาจทำให้เราทราบว่าประชากรของรัฐสุโขทัยอาจไม่ได้มาจากไหน แต่อาจอยู่ที่นี้มาแต่เดิมอยู่แล้วก่อนที่จะพัฒนาจากชุมชนมาเป็นเมือง และ รัฐ โดยแต่ก่อนที่จะพัฒนามาเป็นรัฐนั้น อาจจะมีประชากรเคลื่อนย้ายอพยพจากหลากหลายสารทิศ จากบริเวณชุมชนบริเวณ ละโว้ ( ลพบุรี ) บ้าง ชุมชนจากทางเหนือบ้าง เข้ามาผสมปนเปกับคนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่บริเวณสุโขทัยแต่เดิม

และในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ก็พบหลักฐานที่เป็นโบราณวัตถุที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนากระจายอยู่ตามเมืองสุโขทัยและใกล้เคียง

ในช่วงระยะเวลาต่อมา มีการพบหลักฐานว่าอาจมีผู้มีอำนาจที่มาจากภายนอกเข้ามาปกครองเมืองสุโขทัย

โดยพบหลักฐานในศิลาจารึก หลักที่ ๒ หรือ จารึกวัดศรีชุม สันนิษฐานว่าผู้สร้างคือ “มหาเถรศรีศรัทธา” สร้างขึ้นราว พุทธศตวรรษที่ ๑๙ ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๘ -๑๐ ได้กล่าวถึงถิ่นฐานชาติกำเนิดของมหาเถรศรีศรัทธา และ “พ่อขุนศรีนาวนำถุม” ที่เข้ามาเป็นกษัตริย์ของสุโขทัย ถอดเป็นคำอ่านเข้าใจง่าย ๆ ในปัจจุบัน จากอักษรเดิม ได้ความว่า

“… (ง) พระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนี เกิดในนครสรลวงสองแควสองแคว ปู่ชื่อพระยาศรีนาวนำถุม เป็นขุน เป็นพ่อ… ” ( บรรทัดที่ ๘ )

“… เสวยราชไนนครสองอัน อันหนึ่งชื่อ นครสุโขทัย อันหนึ่งชื่อนครศรีเส …” ( บรรทัดที่ ๙ )

“… -ชนาไล …” ( บรรทัดที่ ๑๐ – มีต่อ หากสนใจรายละเอียดเนื้อหาเพิ่มเติม สามารถกดอ่านได้ใน Link อ้างอิง )

แสดงว่ามีผู้มีอำนาจจากแถบเมืองสรหลวงสองแคว ( บริเวณจังหวัด พิษณุโลก – ปัจจุบัน ) และในศิลาจารึกวัดศรีชุมยังได้กล่าวถึงเหตุการณ์ก่อนการเข้ามาครองเมืองสุโขทัยของ พ่อขุนศรีนาวนำถุม ในบรรทัดที่ ๑๗ – ๑๙ ความว่า

“… เขาแทงพ่อขุน…นำถุม…๐ พ่อขุนนำถุมต่อหัวช้าง ด้วย  อีแดง พุะเลิง …” ( บรรทัดที่ ๑๗ )

“…ได้เมืองแก่พ่อขุนนำถุม…พ่อขุนนำถุมใส่อีแดงพุะเลิง ใหญ่ประมาณเท่าบาตรเวน…เมือ …” ( บรรทัดที่ ๑๘ )

“.. องแหงเมืองสุโขทัย ( บรรทัดที่ ๑๙ – มีต่อ หากสนใจรายละเอียดเนื้อหาเพิ่มเติม สามารถกดอ่านได้ใน Link อ้างอิง )

แสดงให้เห็นว่าก่อนที่ พ่อขุนศรีนาวนำถุม จะเข้ามามีอำนาจในดินแดนบริเวณเมืองแหง และ เมืองสุโขทัย มีผู้มีอำนาจในบริเวณนี้มาก่อนแล้ว ซึ่งในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้บันทึกนามของเขาว่า “อีแดงเพลิง” ( ในตัวจารึกเขียน “อีแดงพุะเลิง – ซึ่งตัวของอีแดงเพลิงในที่นี้ยังเป็นข้อถกเถียงทางประวัติศาสตร์อยู่ว่าคือใครกันแน่ และมีบทบาทสำคัญ หรือ เป็นผู้นำของคนกลุ่มใด )

แล้วในภายหลังพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ค่อยขยายอำนาจมาในบริเวณนี้อีกที

ซึ่งกล่าวโดยสรุปว่า บริเวณที่เป็นจังหวัดสุโขทัยปัจจุบัน มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนานตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในลักษณะของการเป็นชุมชน

แล้วก่อตัวมีบทบาทและความสำคัญมาเรื่อย ๆ ในที่สุดก็เห็นชัดในการก่อตัวเป็นลักษณะเมืองของสุโขทัย แล้วก็มีการพบหลักฐานว่ามีนามของ “อีแดงเพลิง” ที่เป็นกษัตริย์ที่มาปกครองเมืองสุโขทัย และในระยะเวลานี้เองก็มี “พ่อขุนศรีนาวนำถุม” ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในบริเวณใกล้เคียง ขึ้นมามีอำนาจในแถบสุโขทัย

ซึ่งหลังจากรัชสมัยของพ่อขุนศรีนาวนำถุม สุโขทัยก็โดนแย่งชิงจาก “ขอมสบาดโขลญลำพง” จึงทำให้พ่อขุนผาเมือง ( บุตรของพ่อขุนศรีนาวนำถุม ) และ พ่อขุนบางกลางหาว จำเป็นต้องลงมาชิงสุโขทัยคืน และในภายหลังพ่อขุนผาเมืองก็ยกบัลลังค์ให้พ่อขุนบางกลางหาว ( ส่วนสาเหตุก็ยังเป็นข้อถกเถียง ยังหาสาเหตุที่แน่ชัดไม่ได้ )

และในสมัยของพ่อขุนบางกลางหาว ( พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ) นี้เองที่สุโขทัยเริ่มที่จะมีเสถียรภาพที่ค่อนข้างจะลงตัวและรุ่งเรืองมากขึ้นกว่าที่มีมาแต่เดิม เนื่องด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่าง จึงทำให้ในระยะเวลาต่อมา กรุงศรีอยุธยา รัฐที่ขึ้นมามีอำนาจในบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีความพยายามในการผนวกดินแดนสุโขทัยแต่เดิมให้เป็นส่วนหนึ่งของตนนั่นเอง

เพราะฉะนั้น เรื่องที่ว่า รัฐสุโขทัยมีผู้ก่อตั้งคือ “พ่อขุนศรีอินทราทิตย์” จึงน่าจะเป็นเรื่องที่เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจใหม่อีกที

อ้างอิง :

[1] สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดสุโขทัย,พิพิธภัณฑ์โบราณคดีชุมชนบ้านวังหาด,สืบค้นเมื่อวันอาทิตย์ ที่ 31 เดือนกรกฎาคม พ.ศ 2565
[2] รายการประวัติศาสตร์นอกตำรา , ราชธานีแห่งแรกของไทย ? เบ้าหลอมแห่งความหลากหลาย สู่การเป็นรัฐในอุดมคติ ( นาทีที่ 9:48 – 10:03 ) , สืบค้นเมื่อวันอาทิตย์ ที่ 31 เดือนกรกฎาคม พ.ศ 2565
[3] หนังสือเรียน รายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.๑ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ , กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ , สืบค้นเมื่อวันอาทิตย์ ที่ 31 เดือนกรกฎาคม พ.ศ 2565 ( อ้างในเรื่องของปัจจุบันการมีการเพิ่มเนื้อหาในยุคสมัยรัฐโบราณลงในหนังสือเรียน )
[4] ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร , ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย | จารึกวัดศรีชุม , สืบค้นเมื่อวันอาทิตย์ ที่ 31 เดือนกรกฎาคม พ.ศ 2565

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า