พระราชินีสุทิดา จากสามัญชนคนธรรมดา สู่ Soft Power Queen
วันที่พสกนิกรชาวไทย ใจหายใจคว่ำอย่างที่สุด คือวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ที่ปรากฎภาพผู้ชุมนุมกลุ่มคณะราษฎร 2563 รายหนึ่งชูนิ้วกลางให้ของลับ ระหว่างขบวนเสด็จฯ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ ผ่านถนนพิษณุโลก [1]
ท่ามกลางความสับสนว่าเกิดอะไรขึ้นในสังคมไทยกันแน่ ?
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ก็เพิ่งจัดขึ้นเมื่อปีก่อน มนต์ขลังของสถาบันอันเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติได้สูญหายไปแล้วหรือ ?
ภายใต้ภาวะวิกฤติศรัทธาครั้งยิ่งใหญ่ที่ไม่เคยมีพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลไหนเคยประสบ
แต่แล้ว วันที่ 24 ตุลาคม [2] หรืออีก 10 วันถัดมา ก็ได้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทยเช่นกัน
“แถวราชองค์รักษ์” กลับถูกสั่งให้ถอยออกไป สร้างความงุนงงให้แก่ผู้คน ไม่ว่าจะเป็นตัวทหารราชองค์รักษ์เอง และประชาชนที่มาเฝ้ารับสเด็จในวันนั้น
และวันนั้นเอง ภาพพระเจ้าอยู่หัว ที่เคยเป็นเหมือนสิ่งต้องห้าม ที่ประชาชนคนทั่วไปยากจะเข้าถึง กลับกลายเป็นเสมือนสิ่งที่จับต้องได้อย่างใกล้ชิด [4]
พสกนิกรหลายคน ได้ถ่ายในหลวงและพระราชินี โดยไม่ถูกสั่งห้าม หลายคนโชคดี ได้เซลฟี โดยที่พระองค์ท่านมิได้ทรงถือพระองค์ [4] บางคนได้ลายพระปรมาภิไท ป้ายไฟถวายพระพร [4] มีปรากฎให้เห็น ซึ่งนี่ไม่เคยมีปรากฏมาก่อนในแผ่นดินไทย
ประชาชนชาวไทย ได้แสดงความรักษ์และภักดี โดยเสรี ไม่มีกฎมณเฑียรบาลใด ๆ มาขวางกั้นความรักที่ประชาชนชาวไทยมีให้สถาบันอันเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยทั้งประเทศ
ถึงแม้วันนี้ เหตุการณ์ “ในหลวงฟีเวอร์” ในวันนั้น จะจบลงไปได้ 2 ปีแล้ว แต่คำถามที่ยังไม่เคยมีใครตอบได้เลยก็คือ “ใครกันนะ ที่เป็นผู้ริเริ่มความคิดอันสุดแสนจะแยบคายและแปลกใหม่ เหนือความคาดหมายของทุกผู้คนนี้กัน ?”
แต่ที่แน่ ๆ ในทุก ๆ ภาพเหตุการณ์ในหลวงฟีเวอร์นั้น ข้างพระวรกายของในหลวงจะมี พระราชินีสุทิดา ประทับอยู่เคียงพระองค์ด้วยเสมอมา
—
พระราชินีสุทิดา เป็นสามัญชนคนที่สองในประวัติศาสตร์ราชวงศ์จักรี ที่ได้รับการโปรดเกล้า ฯ ขึ้นเป็นพระบรมสานุวงศ์ชั้นสูง โดยพระองค์แรกนั้นคือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ สมเด็จย่า นั่นเอง
พระราชินีสุทิดา พระนามเดิมของพระองค์ คือ สุทิดา ติดใจ [5] ทรงเป็นชาวเมืองหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และทรงสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยสมบูรณ์กุลกันยา [6] จากนั้น ทรงสำเร็จศึกษาหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต ณ คณะนิเทศศาสตร์มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ โดยหัวข้อวิทยานิพนธ์ของพระองค์คือ “รายงานการวิจัยการโฆษณาและการทำแคมเปญของยาคูลท์ (A report on a proposed advertising research and campaign of Yakult)” [7]
การทรงงานของพระองค์เมื่อครั้งยังเป็นสามัญชนนั้น ทรงเป็น “เจ้าพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน” มาตลอด โดยเริ่มจากการเป็นพนักงานของสายการบินญี่ปุ่น (JAL) ก่อนที่จะย้ายมาทรงงานให้กับสายการบินไทย รวมทรงมีประสบการณ์ทำงานในสายการบินทั้งหมด 8 ปี [8] ก่อนที่จะทรงย้ายงานไปเป็นข้าราชการในพระองค์
—
ถึงแม้พระชาติกำเนิดของพระราชินีสุทิดา จะมาจากสามัญชน แต่พระจริยวัตรของพระองค์กลับทรงอ่อนน้อมถ่อมตน และสง่างดงามยิ่ง
ทั้งที่โดยพระเกียรติและพระอิสรยศ จะทรงสูงกว่ากรมสมเด็จพระเทพ แต่ทุกครั้งที่กรมสมเด็จพระเทพทรงเข้าเฝ้าในหลวง พระราชินี จะทรงลงประทับบนพื้น มิวางพระองค์สูงส่งกว่ากรมสมเด็จพระเทพ ฯ เสมอ [9]
ซึ่งภาพนี้นั้น ไม่แปลกที่จะมีคนนำไปเปรียบกับ “สมเด็จย่า” “สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” ซึ่งแต่เดิม ก็ทรงมาจากสามัญชนด้วยเช่นกัน
โดยเหตุการณ์ดังกล่าวที่ สมเด็จย่า ต้องทรงสเด็จทรงงานร่วมกับ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ซึ่ง ณ เวลานั้น ไม่เคยมีใครนึกถึงเลยว่า พระอิสริยศของทั้ง 2 พระองค์ นั้น ใครจะสูงกว่าใคร
ด้วยความที่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีเสด็จมาถึงงานก่อน จึงทรงตัดสินพระทัยก่อนด้วยการให้พระเก้าอี้ของพระองค์ เยื้องมาทางข้างหลังพระเก้าอี้ของสมเด็จพระศรีนครินทรา ฯ แต่เมื่อสมเด็จพระศรีนครินทรา ฯ ทรงสเด็จมาถึง กลับทรงทรุดพระองค์ลงกับพื้น หมอบกราบประท้วง แม้สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีจะเสนอให้ประทับเสมอกันก็มิทรงยอม
สุดท้ายพระนางเจ้ารำไพพรรณีจึงทรงยินยอม ประทับเยื้องมาข้างหน้า สมเด็จย่าจึงยอมประทับบนพระเก้าอี้แต่โดยดี [10]
ไม่เพียงต่อพระบรมสานุวงศ์เท่านั้น แม้เมื่อคณะบุคคลเข้าเฝ้า และหมอบกราบถวายความเคารพ พระราชินีสุทิดา มักจะทรงน้อมพระองค์ลงคุกเข่าเพื่อรับการถวายความเคารพเสมอ [11]
นี่คือ พระจริยวัตรอันอ่อนน้อม ที่ชนะใจประชาชนของพระองค์
—
นอกจากนี้ พระราชกรณียกิจของพระองค์ ทรงสานต่อพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งครอบคลุมไปถึง กองศิลปาชีพ, สถาบันสิริกิติ์ และ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ [12]
ในรัชกาลก่อน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ฯ ทรงมีพระวิริยะอย่างยิ่งในการส่งเสริมฟื้นฟูศิลปาชีพของชาวบ้าน โดยเฉพาะในกิจการผ้าไหม ในรัชกาลปัจจุบัน คงจะไม่เกิดเลยไปเลย หากจะกล่าวว่า สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา ทรงรับช่วงต่อในกิจการ สืบสานพระราชกรณียกิจได้อย่างสมบูรณ์ จากการที่พระองค์ทรงเป็นต้นแบบในการใช้ “ชุดไทยพระราชนิยม” ในพระราชวโรกาสต่าง ๆ อย่างสร้างสรรค์ [13]
นอกจากนี้ ยังทรงเป็น ผู้นำเทรนด์แฟชั่น “กระเป๋าทรงถือสไตล์รักษ์โลก” ซึ่งทรงตัดเย็บจากเศษผ้าไหมที่เหลือจากการตัดฉลองพระองค์ [13] เพื่อส่งเสริมแนวคิด “ประโยชน์สูงสุด” ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง และแนวคิด “ลดขยะให้เป็นศูนย์ (Zero Waste)” เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม [13]
และศิลปะไทยที่ทรงอนุรักษ์เอาไว้นั้น มิได้จำกัดเพียงศิลปะของชาติไทย ซึ่งเป็นชนชาติใหญ่ของประเทศเราเอาไว้เท่านั้น หากแต่ยังทรงอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขา ชนเผ่าชาติพันธุ์ ซึ่งถือว่าเป็นพสกนิกรชาวไทยใต้ร่มจักรีวงศ์ด้วยเช่นกัน [13]
และไม่เพียงด้านแฟชั่น ศิลปวัฒนธรรมเท่านั้น แม้แต่เรื่องอาหารการกินของพสกนิกร ในช่วงวิกฤติโควิด-19 โดยในหลวงและพระราชินีทรงโปรด ฯ ให้มี “โครงการฟาร์มตัวอย่างฯ ต้านภัยโควิด—19” และโปรดเกล้าฯให้ใช้พื้นที่ในโครงการฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จำนวน 30 ฟาร์ม ในพื้นที่ 17 จังหวัดทั่วประเทศ
โดยทรงมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นแหล่งสร้างอาหารที่ปลอดภัย แหล่งสร้างรายได้ และแหล่งสร้างอาชีพที่ยั่งยืน ให้แก่พสกนิกรของพระองค์ [13]
จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจ ถ้าหากจะมีการถวายพระสมัญญาแด่พระราชินีสุทิดา ว่า “Thai’s Soft Power Queen” จากพระราชกรณียกิจตลอดเวลาที่ผ่านมาของพระองค์
ที่สำคัญ พระองค์ทรงกลายเป็นไอดอลของเด็กรุ่นใหม่บางกลุ่ม ทรงกลายเป็นศูนย์รวมจิตใจของเยาวชนไทยยุคใหม่ ซึ่งคนพวกนี้แหละที่ต่อไปจะกลายเป็น Neo-Royalist สมัยใหม่ ที่จะพาประเทศไทยให้เดินไปข้างหน้าสู่ความเป็นยุคสมัยใหม่
—
หากพิจารณาถึงการพัฒนาปรับปรุงของราชวงศ์จักรีให้ทันต่อยุคสมัยนั้น มีมาตลอด ไม่ว่าจะการปูรากฐานด้านการศึกษาของพระราชโอรสธิดา ในรัชกาลที่ 4 จนกลายมาเป็นแรงขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยในรัชกาลที่ 5
รวมไปถึงการพัฒนาปูพื้นฐานการเมืองและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ในรัชกาลที่ 6 และ 7
นี่แสดงให้เห็นว่า ราชวงศ์จักรี มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเองให้ทันยุคสมัยมาตลอด
จึงเป็นความน่าสนใจว่า “สายลมแห่งความเปลี่ยนแปลง” ในรัชกาลที่ 10 ที่กำลังพัดโบกภายใต้ร่มธงของกษัตริย์นักรบ กับ ราชินี ซอฟ์ท พาเวอร์ ของไทย จะสร้างความเป็นไทยสมัยใหม่แบบไหน ให้ชาวโลกทั้งใบได้ชื่นชม
อ้างอิง :
[1] “ชูสามนิ้ว” ว่าหนักแล้ว หนักกว่านี้ก็มี สะพัดภาพย่ำยีหัวใจคนไทย “ชูนิ้วกลาง” ใส่ขบวนเสด็จฯ
[2] ปีติ ‘ร.10’ ตรัสกับพสกนิกรเปล่งเสียง ‘ในหลวงสู้ๆ’ ใกล้ชิด ‘พวกเราต้องไปด้วยกัน เพื่อประเทศชาติ’
[3] ในหลวงสู้ๆๆ
[4] ร. 10: เซลฟี ป้ายไฟ ขอลายพระหัตถ์ ธรรมเนียมที่เปลี่ยนไปของการเฝ้ารับเสด็จฯ
[5] พระราชประวัติ สมเด็จพระราชินีสุทิดา
[6] พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี
[7] A report on a proposed advertising research and campaign of Yakult
[8] พระราชประวัติ สมเด็จพระราชินี ทรงงานแห่งกองทัพไทย
[9] ทรงอ่อนน้อม สง่างาม พระราชินีสุทิดา ทรงประทับนั่งกับพื้น เมื่อ “กรมสมเด็จพระเทพ” เข้าเฝ้า
[10] อ่อนกันไว้ก่อนดีกว่า!! พระจริยวัตรของ “สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี” ที่ทำให้ “สมเด็จย่า” ทรงทรุดพระองค์ลงประทับกับพื้นและหมอบกราบทันที !!
[11] พระกิริยาสุดนอบน้อม! สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงทรุดองค์คุกเข่า เมื่อเจ้าสัวธนินทร์หมอบกราบ
[12] ประกาศ เรื่องการบังคับบัญชาหน่วยราชการในพระองค์ ข้าราชการและข้าราชบริพารในกรมกิจการในพระบรมวงศานุวงศ์
[13] ต้นแบบ “พระราชินียุคนิวนอร์มอล”