“พระราชพิธีสังเวยพระป้าย” ประเพณีแห่งความกตัญญู ที่สืบทอดจากอดีตจนถึงรัชกาลที่ 10

ในบ้านของชาวไทยเชื้อสายจีนแทบทุกบ้าน สิ่งหนึ่งซึ่งเราจะพบเห็นเป็นอันดับแรกๆ คือ ป้ายชื่อของบรรพบุรุษ บุพการี ที่ตั้งไว้บนโต๊ะหมู่หรือบนหิ้งสำหรับบูชาประจำบ้าน และในวาระสำคัญต่างๆ บรรดาลูกหลาน จะทำการเซ่นไหว้บวงสรวงด้วยอาหารคาวหวานมากมาย เพื่อเป็นการรำลึกถึงบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ

คนจีนเรียกประเพณีนี้ว่า “การแต้มป้ายชื่อ” หรือ “เกสิน” ที่หมายถึง การเชิญดวงวิญญาณบรรพบุรุษมาสถิตยังป้ายชื่อ และมีการจัดพิธีไหว้เซ่นสรวงในทุกช่วงเทศกาลสำคัญ ทั้งวันตรุษจีน และวันสารทจีน ซึ่งถือเป็นประเพณีสำคัญของชาวจีนที่สืบทอดมาแต่อดีต และเป็นการแสดงถึงความกตัญญูของลูกหลาน อันจะส่งผลให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองแก่ผู้ปฏิบัติต่อไปในภายภาคหน้า

ธรรมเนียมของชาวจีนอันดีงามนี้เอง ได้กลายเป็นที่มาของพระราชพิธีสำคัญในช่วงตรุษจีนอย่าง “พระราชพิธีสังเวยพระป้าย”

พระราชพิธีสังเวยพระป้าย เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 จากการที่พระองค์มีพระราชประสงค์ในการจัดพระราชพิธีตรุษจีนให้มีความเป็นจีนมากขึ้น ทรงมีพระราชดำริว่า การแต้มป้าย เป็นธรรมเนียมของชนชาติจีน ผู้ซึ่งนับถือบรรพบุรุษเป็นที่พึ่ง การเคารพบูชาบรรพบุรุษนั้นถือเป็นสิ่งสำคัญ และเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญู ซึ่งจะส่งผลนำความเจริญมาสู่ตัวผู้ปฏิบัติได้จริง

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการเปลี่ยนแปลง พระราชพิธีสังเวยพระป้าย ให้มีความสำคัญมากขึ้น คือการแต้มพระป้ายพระนามพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับพระนามสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ณ พระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัย จากนั้นจึงทรงโปรดฯ ให้เชิญพระป้ายทั้ง 2 ขึ้นไปพระราชวังบางปะอิน เพื่อจะได้จัดให้มีการพระราชกุศลอุทิศถวายเป็นการฉลองพระเดชพระคุณต่อไป

โดยในปัจจุบัน “พระป้าย” สำหรับประกอบพระราชพิธีนี้ มีอยู่ 2 ป้าย

ป้ายแรก คือพระป้ายที่เป็นพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ซึ่งจารึกไว้เป็นภาษาจีน บนแผ่นไม้จันทน์ปิดทอง ขอบไม้จันทน์จำหลักลายจีน โดยพระป้ายทั้ง 2 คู่ ประดิษฐานอยู่ในซุ้มเรือนแก้วแบบเก๋งจีน ทำด้วยไม้จันทน์จำหลักลาย ลงรักปิดทอง ตั้งอยู่ ณ ท้องพระโรงกลางพระที่นั่ง เวหาศน์จำรูญ พระราชวังบางปะอิน

ส่วนอีกแห่งนั้น เป็นพระป้ายที่ในหลวง ร.5 ทรงโปรดฯ ให้สร้างขึ้นสำหรับประดิษฐาน ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต มีลักษณะเป็นเทวรูปหล่อทรงเครื่องกษัตริยาธิราช พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายจีบเสมอพระอุระ เหมือนกับองค์พระสยามเทวาธิราชเกือบทุกประการ แต่พระพักตร์จะมีลักษณะเหมือนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานในซุ้มเรือนแก้วแบบเก๋งจีน ทำด้วยไม้จันทน์จำหลักลงรักปิดทอง มีฉัตรทอง 5 ชั้น ตั้งอยู่ 2 ข้าง และจารึกพระปรมาภิไธยด้านหลังซุ้มเรือนแก้วเป็นภาษาจีน

เหตุที่พระป้าย ณ พระราชวังดุสิต มีลักษณะตามอย่างพระสยามเทวาธิราช เนื่องด้วยความเชื่อของในหลวง ร.5 ที่ว่า นอกจากเทพยดาผู้ปกปักษ์รักษาบ้านเมืองแล้ว ยังมีพระมหากษัตริย์ที่คอยปกป้องนำพาบ้านเมืองให้ผ่านพ้นวิกฤติต่างๆ มาได้ จึงทรงโปรดฯ ให้สร้างพระป้ายนี้ สำหรับสักการะบูชา และเป็นการแสดงความกตัญญูของลูกหลานที่มีต่อบรรพชนอีกด้วย ซึ่งประชาชนที่เคารพศรัทธาก็นิยมเรียกพระบรมรูปองค์นี้ว่าเป็น พระสยามเทวาธิราชองค์ที่ 2

สำหรับกำหนดการพระราชพิธีสังเวยพระป้าย ได้จัดกันต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งมีกำหนดการเปลี่ยนแปลงใหม่ คือจะสังเวยที่พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญก่อน 1 วัน ซึ่งตรงกับวันไหว้ของจีน ส่วนที่พระที่นั่งอัมพรสถาน จะสังเวยในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 1 ของจีน ซึ่งเป็นวันตรุษจีน

โดยเครื่องสังเวยจะเป็นเครื่องคู่ ประกอบด้วย หัวหมู เป็ด ไก่ ขนมเข่ง ขนมเปี๊ยะ ซาลาเปา ผลไม้ กระดาษเงิน กระดาษทอง วิมานเทวดาทำด้วยกระดาษผ้าสีชมพู ประทัด ดอกไม้ ธูป เทียนเงิน เทียนทอง

กำหนดการพระราชพิธีนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินถึง จะทรงจุดธูปเทียน เครื่องราชสักการะ และธูปหางปักที่เครื่องสังเวย พนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร ดุริยางค์ ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับ จะทรงเผากระดาษเงิน กระดาษทอง เมื่อธูปที่เครื่องสังเวยหมดดอก เจ้าหน้าที่จึงถอนเครื่องสังเวยและนำวิมานเทวดาไปปักในแจกันที่ใต้เครื่อง บูชาพร้อมทั้งผูกผ้าสีชมพู เป็นเสร็จพิธี

พระราชพิธีสังเวยพระป้าย เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน เป็นการรำลึกถึงคุณงามความดี และแสดงถึงความกตัญญูกตเวทีของลูกหลานที่มีต่อบรรพบุรุษ ซึ่งในหลวง ร.10 ได้ทรงยึดถือปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอตลอดมา ทรงประกอบพิธีสังเวยพระป้าย ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์ไปประกอบพระราชพิธี ณ พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ พระราชวังบางปะอิน ในช่วงเทศกาลตรุษจีนของทุกๆ ปีด้วยเช่นกัน

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า