‘พระราชทานปริญญาบัตร’ มงคลชีวิตที่สถาบันกษัตริย์ไม่เคยคิด ‘ค่าตอบแทน’
พิธีพระราชทานปริญญาบัตร เกิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2473 โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่เวชบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2 รุ่น ซึ่งสำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2471 และปีการศึกษา 2472 จำนวน 34 คน
ต่อมาสภากรรมการจัดการ ได้เสนอให้กระทรวงธรรมการ กราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาต ขอสงวนธรรมเนียมการพระราชทานปริญญาบัตรนี้ไว้ และถือว่าการพระราชทานปริญญาบัตรเป็นการหน้าที่นั่ง หากเสด็จไม่ได้ก็จะเป็นการถวายปฏิญญาต่อพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ และรับพระราชทานปริญญาบัตรจากผู้แทนพระองค์ เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงทราบก็ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตตามที่มหาวิทยาลัยกราบบังคมทูล
นับแต่นั้นจึงเป็นธรรมเนียมสืบต่อมาที่พระมหากษัตริย์จะทรงดำรงพระสถานะเป็นองค์อุปถัมภ์สถาบันอุดมศึกษาของรัฐทุกแห่ง ไม่จำกัดแต่เพียงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงสถาปนาด้วยพระราชทรัพย์ที่ผสกนิกรทุกหมู่เหล่าน้อมเกล้าฯ ถวาย เพื่อแสดงความจงรักภักดี เพื่อเป็นพระอนุสาวรีย์ระลึกถึงพระคุณแห่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ถือเป็นพระราชกรณียกิจส่วนพระองค์ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับราชการแผ่นดิน ดังนั้น ค่าใช้จ่ายในพิธีการจึงไม่ได้อาศัยเงินงบประมาณแผ่นดิน ในอดีตการพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตที่สำเร็จการศึกษามีจำนวนไม่กี่สิบคนในแต่ละปี ค่าใช้จ่ายทั้งหมดจึงอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์
แต่ต่อมาหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระมหากษัตริย์ถูกลดบทบาทลงจนไม่มีพระราชอำนาจในการบริหารประเทศ ประกอบกับมีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น จำนวนนิสิตและนักศึกษาเพิ่มจากหลักร้อยสู่หลักหมื่นคนในแต่ละปี ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการพิธีตลอดจนค่าใช้จ่ายในการจัดทำใบปริญญาบัตรกรณีนักศึกษาที่ไม่ได้เข้าร่วมพิธี จึงเป็นส่วนที่นักศึกษาต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง โดยที่รัฐไม่ได้ออกค่าใช้จ่ายให้ และการเสด็จฯ พระราชทานปริญญาบัตร ก็เป็นพระราชกรณียกิจที่ทรงตอบรับคำกราบบังคมทูลเชิญจากมหาวิทยาลัยในฐานะที่ยังทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ในการศึกษาอยู่
สถาบันอุดมศึกษาของรัฐในประเทศไทย ในปัจจุบันมี 2 แบบ คือ มหาวิทยาลัยรัฐที่มีฐานะเป็นส่วนราชการที่อาศัยเงินงบประมาณแผ่นดิน กับมหาวิทยาลัยรัฐที่มีฐานะเป็นองค์กรอิสระที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลแต่ไม่ได้สังกัดส่วนราชการใด (autonomous university) หรือที่เรียกว่า มหาวิทยาลัยนอกระบบ โดยจะรับเงินงบประมาณแผ่นดินเป็นเงินอุดหนุน
อย่างไรก็ตาม แม้นิติฐานะของมหาวิทยาลัยรัฐทั้ง 2 แบบ จะแตกต่างกัน แต่เนื่องจากเป็นมหาวิทยาลัยที่ก่อตั้งโดยรัฐและมีการออกกฎหมายจัดตั้งเหมือนกันๆ ทำให้ระเบียบเกี่ยวกับการรับและจ่ายเงินต้องมีหลักเกณฑ์ที่แน่นอนเหมือนหน่วยงานราชการ แม้ว่ามหาวิทยาลัยนอกระบบจะมีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการมากกว่าหน่วยงานราชการทั่วไปก็ตาม แต่ก็มีแนวทางด้านกฎระเบียบที่ไม่แตกต่างกันมากนัก
สำหรับนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษานั้น ทางมหาวิทยาลัยจะมีการเก็บ “ค่าขึ้นทะเบียนบัณฑิต” ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดำเนินการด้านเอกสาร ตั้งแต่เอกสารแสดงผลการศึกษา หนังสือรับรองต่างๆ ตลอดจนถึงการจัดทำใบปริญญาบัตร และรวมถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพิธีพระราชทานปริญญาบัตรด้วย
ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ไม่ว่าจะของรัฐหรือเอกชนทั่วโลกจะคล้ายๆ กันหมด กล่าวคือ ไม่ว่านักศึกษาจะเข้าพิธีรับปริญญาบัตรหรือไม่ เงินค่าขึ้นทะเบียนบัณฑิตก็จะถูกเรียกเก็บโดยมีการรวมค่าใช้จ่ายในพิธีการแจกปริญญาบัตรไว้อยู่แล้ว จะมีเพียงบางมหาวิทยาลัยเท่านั้น เช่น วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่หากนักศึกษาเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร จะต้องจ่ายค่าขึ้นทะเบียนบัณฑิต 1,000 บาท แต่ถ้าไม่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ก็จะจ่ายค่าขึ้นทะเบียนบัณฑิต 500 บาท
สำหรับมหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะมีการเรียกเก็บค่าขึ้นทะเบียนบัณฑิตรวมในค่าเทอมไว้อยู่แล้ว และบางมหาวิทยาลัยจะเรียกเก็บตั้งแต่แรกเข้าเลยทีเดียว แต่สำหรับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือมหาวิทยาลัยขอนแก่น จะเก็บค่าขึ้นทะเบียนบัณฑิต ก็ต่อเมื่อนักศึกษาแจ้งจบการศึกษาในเทอมสุดท้าย
จากรายงานผลงานวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประจำปี พ.ศ. 2558 – 2560 โดยหน่วยคลังและพัสดุ สำนักบริหารและพัฒนาวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประจำปี พ.ศ. 2562 ได้แสดงให้เห็นถึงที่มาของเงิน และการใช้จ่ายเงินสำหรับพิธีพระราชทานปริญญาบัตรว่า เงินสำหรับการนำมาใช้จ่ายดำเนินการพิธีพระราชทานปริญญาบัตรส่วนใหญ่ มาจากค่าธรรมเนียมการขึ้นทะเบียนบัณฑิตของผู้สำเร็จการศึกษา
มหาวิทยาลัยขอนแก่น จะแบ่งค่าใช้จ่ายเป็น 25 ด้าน โดยค่าใช้จ่ายที่มากที่สุดคือ ด้านดำเนินการกลาง 49.43% ด้านจัดการร้านค้าสิทธิประโยชน์และสวัสดิการ 13.43% และด้านสถานที่ แสง ถนน และบริเวณทั่วไป 12.82% โดยที่การจัดการตอนรับส่งเสด็จ มีค่าใช้จ่าย 8,000 บาท หรือคิดเป็น 0.12% และด้านการอำนวยการประสานงานสำนักพระราชวัง ค่าใช้จ่าย 84,380.98 บาท ซึ่งเป็นค่าตอบแทนบุคลากร 2,880 บาท และเป็นค่าใช้สอย 81,500.98 บาท หรือคิดเป็น 1.13% ของค่าใช้จ่ายรวม
จะเห็นได้ว่า ค่าใช้จ่ายด้านดำเนินการกลางของมหาวิทยาลัยขอนแก่น สำหรับพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปี พ.ศ. 2558 – 2560 เป็นจำนวน 3,181,540.50 บาท หรือ 49.43% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดนั้น เป็นการใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการติดต่อประสานงานกับฝ่ายอื่นๆ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดพิมพ์ปริญญาบัตรและปกปริญญาบัตร การจัดทำโล่และเข็มกลัดให้กับผู้ได้รับรางวัลพระธาตุพนมทองคำ การจัดทำโล่ศิษย์เก่าดีเด่น และการจัดทำเหรียญทองเกียรตินิยมอันดับหนึ่งสูงสุดให้กับบัณฑิตทุกคณะ ตลอดจนการจัดเตรียมอาหารและเครื่องดื่มสำหรับเจ้าหน้าที่ และการจัดการทั่วๆ ไปในด้านอื่นๆ
นอกจากนี้ ก่อนที่มหาวิทยาลัยต่างๆ จะมีการนำเงินมาใช้จ่ายสำหรับพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ย่อมจะต้องมีการออกระเบียบเกี่ยวกับการใช้เงินเสียก่อน ดังเห็นได้จาก ประกาศมหาวิทยาลัยนเรศวร เรื่อง กำหนดอัตราการจ่ายเงินในพระราชพิธีพระราชทานปริญญาบัตร หรือระเบียบมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ว่าด้วยการรับ-จ่ายเงินในการจัดงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตร พ.ศ. 2550 เป็นต้น
ซึ่งการออกระเบียบดังกล่าว ทางมหาวิทยาลัยจะต้องกำหนดว่าในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแต่ละครั้งนั้น จะใช้จ่ายเงินในลักษณะใดบ้าง อย่างมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้กำหนดค่าเครื่องดื่ม ผู้ติดตาม ทหารราชองครักษ์ และบุคลากร ไม่เกิน คนละ 50 บาทต่อมื้อ และค่าตอบแทนการปฏิบัติงานสำหรับบุคคลภายนอก อาทิ ตำรวจ ทหาร หรือเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานอื่น คนละไม่เกิน 200 บาท/วัน และค่าตอบแทนบุคลากร (ของมหาวิทยาลัยนเรศวร) นอกเวลาราชการ หรือค่าตอบแทนทำงานล่วงเวลาคนงานรายวัน คนละไม่เกิน 50 บาท/ชั่วโมง เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า มหาวิทยาลัยทุกแห่งในประเทศไทยทั้งของรัฐและเอกชน ไม่มีที่ใดเลยที่ออกระเบียบด้านการเงิน เพื่อนำเงินทูลเกล้าถวายพระมหากษัตริย์หรือผู้แทนพระองค์ ซึ่งเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตร พระมหากษัตริย์หรือผู้แทนพระองค์จึงเป็นบุคคลเดียวในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ที่ไม่ได้รับเบี้ยเลี้ยงหรือค่าตอบแทนเป็นเงินแม้แต่บาทเดียว
นอกจากพระมหากษัตริย์หรือผู้แทนพระองค์ จะไม่เคยได้รับการทูลเกล้าถวายเงินที่เรียกเก็บจากค่าธรรมเนียมการขึ้นบัณฑิตแล้ว ยังไม่เคยมีระเบียบของมหาวิทยาลัยไหนทำแบบนั้นอีกด้วย
ดังนั้น ข่าวเท็จที่กล่าวหาว่าค่าธรรมเนียมการขึ้นทะเบียนบัณฑิต เป็นเงินที่จะถวายเพื่อตอบแทนในการเสด็จพระราชดำเนินจึงไม่เป็นความจริง
การก่อตั้งสถาบันอุดมศึกษาเพื่อให้ความรู้แก่คนไทย เป็นความท้าทายอย่างยิ่งของในหลวงรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ซึ่งทรงต้องเผชิญกับความไม่พร้อมด้านต่างๆ ทั้งเรื่องของ ความไม่พร้อมด้านบุคลากร ด้านทรัพยากร และด้านการจัดการหลักสูตร อีกทั้งเสียงคัดค้านของขุนนางบางคนที่เห็นว่าการก่อตั้งสถาบันการศึกษาระดับสูงอาจก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา
แต่ในที่สุด ด้วยความพยายามของในหลวงรัชกาลที่ 5 สถาบันอุดมศึกษาของคนไทยก็ได้ริเริ่มก่อร่างขึ้น จนกระทั่งสำเร็จในสมัยรัชกาลที่ 6 และเจริญเติบโตออกดอกผลในรัชกาลต่อๆ มา
ด้วยความสำเร็จของการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษานี้เอง ทำให้จากแต่ก่อนที่ต้องไปเรียนถึงในยุโรป ประชาชนคนไทยก็สามารถร่ำเรียนศึกษาในระดับสูงในเมืองไทยได้แล้ว ความสำเร็จเหล่านี้ จึงถือเป็นความภาคภูมิใจของสถาบันพระมหากษัตริย์ในการวางรากฐานด้านการศึกษาของคนไทย และการเสด็จฯ พระราชทานปริญญาบัตร ถือเป็นพระราชกรณียกิจสำคัญเพื่อแสดงความยินดีกับบัณฑิตทุกคนที่พากเพียรจนสำเร็จการศึกษา
ในสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งทรงครองสิริราชสมบัติถึง 70 ปี พระองค์ได้เสด็จฯ พระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตนักศึกษานับล้านคน มากกว่า 50 ปี สิ่งเหล่านี้เป็นพระราชกรณียกิจที่ไม่มีกฎหมายบังคับว่าจะต้องเป็นหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ แต่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงยินดีตอบรับคำกราบบังคมทูลเชิญจากสภามหาวิทยาลัยต่างๆ ตลอดมา เพราะทรงถือว่า สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก เป็นผู้ให้กำเนิดหลักสูตรการศึกษาในระดับปริญญาจนสำเร็จ รวมถึงพระวิริยอุตสาหะของในหลวงรัชกาลก่อนๆ ที่ได้ทรงทุ่มเทพระสติปัญญาและพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนมาก จนทำให้คนไทยได้เข้าถึงการศึกษาขั้นสูงในระดับปริญญา
ทั้งหมดนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่า พระมหากษัตริย์ไทยทุกรัชกาลทรงให้ความสำคัญกับความสำเร็จของบัณฑิตทุกคน และประเพณีการพระราชทานปริญญาบัตรโดยพระประมุขของรัฐ ก็เป็นวัฒนธรรมหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความผูกพันระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชน
อ้างอิง :
[1] พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกแห่งกรุงสยาม
[2] ประกาศมหาวิทยาลัยนเรศวร เรื่อง กำหนดอัตราการจ่ายเงินในพระราชพิธีพระราชทานปริญญาบัตร
[3] ประกาศมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร เรื่อง การรายงานตัวของบัณฑิตที่จะเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปี 2563
[4] ผลงานวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประจำปี พ.ศ.2558-2560 โดยหน่วยคลังและพัสดุ สำนักบริหารและพัฒนาวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประจำปี พ.ศ.2562
[5] ระเบียบมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ว่าด้วยการรับ-จ่ายเงินในการจัดงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตร พ.ศ.2550
[6] [สาระ+ภาพ] ต้องจ่ายกันไป ‘อีก’ เท่าไหร่ กว่าจะได้ใบปริญญา
[7] จ่ายเท่าไหร่เพื่อให้ได้รับใบปริญญา? สำรวจค่าใช้จ่ายการขึ้นทะเบียนบัณฑิต 9 มหาวิทยาลัย