พระกระยาหารที่รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดปราน ล้วนเป็นอาหารแบบไทย
ช่วงปฏิรูปประเทศในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงส่งพระราชโอรสทุกพระองค์ไปร่ำเรียนศึกษาในแขนงวิชาต่าง ๆ ณ ประเทศยุโรป เพื่อนำความรู้กลับมาพัฒนาบ้านเมือง โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ซึ่งได้ทรงไปศึกษายังประเทศอังกฤษตั้งแต่พระชนมายุ 12 พรรษา และทรงศึกษาวิชาการในหลายแขนง กระทั่งสำเร็จการศึกษาและเสด็จนิวัติพระนครเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2445
ด้วยความที่ทรงร่ำเรียนศึกษายังต่างประเทศตั้งแต่พระชนมายุยังน้อย ผู้คนทั่วไปจึงมักคิดว่าในหลวงรัชกาลที่ 6 ซึมซับเอา “ความเป็นอังกฤษ” กลับมาเต็มที่ และมักจะโปรดปรานอะไรที่เป็น “อังกฤษ” ไปเสียทุกอย่าง โดยเฉพาะพระกระยาหารทรงโปรด คงจะไม่พ้นอาหารฝรั่งเป็นแน่แท้
แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่เลย อาหารที่ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดปรานนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นอาหาร “อย่างไทย” แทบทั้งสิ้น และหลายเมนูก็เป็นอาหารที่พวกเราคนไทยคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี
พระกระยาหารคาวซึ่งชาวพนักงานพระเครื่องต้นจัดถวายในแต่ละวันนั้นจัดเป็นชุด มีพร้อมทั้งแกงเผ็ด แกงจืด ปลาสำหรับแนม เครื่องจิ้ม ผักสดหรือผักชนิดอื่น ๆ (เช่น ผักดองและผักต้ม) พร้อมเครื่องเคียงต่าง ๆ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป
แต่สิ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเสวยมากจนเป็นที่รู้กันว่า ชาวพนักงานพระเครื่องต้นจะพยายามจัดหาไม่ค่อยขาดนั้นมีอยู่ 2 – 3 อย่าง คือ
- ยำไข่ปลาดุก เป็นเครื่องเคียงของประจำที่พนักงานในวังมักต้องเสิร์ฟในทุก ๆ โอกาสมิได้ขาด อนึ่ง ยำไข่ปลาดุกนี้เป็นอาหารที่มีทั่วไป เพราะสามารถหาทานได้ทุกฤดูกาล
- ด้วงโสนทอดกรอบ อาหารชนิดนี้ไม่ได้มีเสิร์ฟทุกฤดูกาล เพราะนาน ๆ จะมีครั้ง และกรรมวิธีในการปรุงที่ละเอียดหลายขั้นตอน ด้วงโสนทอดกรอบนี้จัดเป็นอาหารพิเศษที่ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงโปรด ตามพระราชบุพการีที่โปรดอาหารชนิดนี้เช่นกัน
- ผักสด/ผักแนมชนิดต่าง ๆ พนักงานในวังจะต้องจัดจานผักไว้เสมอ โดยจะประกอบไปด้วยผักที่ทำให้สดกรอบด้วยการโรยด้วยน้ำแข็งขูดฝอยไว้ในจานและบนผัก โดยผักแช่น้ำแข็งนี้ถือเป็นของที่ขาดไม่ได้เลยในสำรับใด ๆ เพราะเป็นอาหารที่ทรงโปรดมากเป็นพิเศษ โดยทรงโปรดนำมาเสวยกับเครื่องจิ้มชนิดต่าง ๆ
- น้ำพริก เป็นเครื่องเสวยประเภทเครื่องจิ้มที่ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดปรานเป็นอย่างมาก น้ำพริกเป็นสิ่งที่จะต้องเสิร์ฟพร้อมกับผักสด/ผักแนมแช่น้ำแข็ง โดยทรงโปรดใช้พระหัตถ์หยิบจับคลุกน้ำพริกเวลาเสวย แต่หากวันใดมีเสด็จออกขุนนางต่อ (เสด็จออกว่าราชการแผ่นดิน) ก็ทรงเลี่ยงการใช้พระหัตถ์เสวยไปใช้ช้อนส้อมแทนแบบฝรั่ง เพราะเกรงว่าจะมีกลิ่น (น้ำพริก) ติดพระหัตถ์นั่นเอง
มีเกร็ดว่า เมื่อเสวยเครื่องคาว (อาหารคาว) เรียบร้อยแล้ว ต่อมาก็จะต้องทรงชำระพระหัตถ์เพื่อชำระกลิ่นเสียก่อน เพราะแม้ในหลวงรัชกาลที่ 6 จะชินกับวัฒนธรรมอังกฤษ แต่ก็ทรงยึดประเพณีการเสวยคาวด้วยพระหัตถ์ “เปิบ” ข้าวอย่างชาวบ้าน มิได้ใช้ช้อนส้อมรับประทานอย่างฝรั่งแต่อย่างใด
โดยเริ่มจากการล้างด้วยน้ำสะอาดเสียก่อน เพื่อชำระล้างเมล็ดข้าวหรือเศษอาหารที่ติดพระหัตถ์อยู่ ต่อมาพนักงานก็จะถวายสบู่เปียโซป (Pear soup) ให้ทรงฟอก หลังจากนั้นก็จะชำระล้างด้วยน้ำหอมกลิ่นลาเวนเดอร์จนกระทั่งหมดฟองสบู่ ต่อมาก็ทรงชำระพระหัตถ์ด้วยน้ำลอยดอกไม้หอมนานาชนิด อาทิ มะลิ กุหลาบ หลังจากนั้นก็ถวายส้มป่อยให้ทรงขยำ แล้วใช้ผิดมะกรูดถู จากนั้นจึงล้างออกด้วยน้ำดอกไม้เทศ
สุดท้าย พนักงานจะถวายผ้าเช็ดพระหัตถ์เพื่อให้ทรงเช็ดจนกระทั่งแห้งดี เป็นอันจบพิธีทานคาว ก่อนเริ่มทานเครื่องหวานซึ่งมักจะใช้ช้อนส้อมในการเสวย โดยเครื่องหวานที่จัดถวายนั้นจะมีขนมไทยขนานดั้งเดิม ตลอดจนผลไม้ต่าง ๆ เช่น ลูกตาลสดน้ำเชื่อม มะตูมสดกับน้ำกะทิ สะท้อน (กระท้อน) ลอยแก้ว และผลไม้ปอกคว้านต่าง ๆ เช่น มะปราง เงาะ น้อยหน่า
เหล่านี้คือมุมเกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่แสดงให้เห็นว่า แม้ในหลวงรัชกาลที่ 6 จะทรงศึกษาร่ำเรียนที่อังกฤษมาตั้งแต่พระชนมายุยังน้อย แต่ก็มิได้ทรงโปรดปราน “ความเป็นอังกฤษ” ไปเสียหมดทุกอย่าง ดังจะเห็นได้จากพระกระยาหารที่พระองค์ทรงโปรด ล้วนเป็นอาหารแบบไทย และเป็นอาหารพื้น ๆ ที่ปรุงขึ้นจากเนื้อสัตว์ ผักสด ไขมัน แป้งและเครื่องปรุงรสนานาชนิด ดังเช่นที่คนไทยเรานิยมรับประทานกันทั่วไปนั่นเอง
อ้างอิง :
วรชาติ มีชูบท, ราชสำนักรัชกาลที่ 6 (กรุงเทพ : 2561) สำนักพิมพ์มติชน.