ผ่าแนวคิดอันตราย ‘สิทธิในการกำหนดใจตนเอง’ คำสวยหรูที่ปูทางสู่การ ‘แยกดินแดน’ ชายแดนใต้
จริงๆ แล้ว “สิทธิในการกำหนดใจตนเอง” (self-determination) เป็นแนวคิดที่มีความหมายค่อนข้างคลุมเครือ และเป็นเรื่องเชิงเทคนิคอยู่มาก แต่ถ้าจะพูดแบบสรุป แนวคิดนี้คือการ “อนุญาตให้ปูทางไปสู่การแยกตัวเป็นรัฐเอกราชได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายระหว่างประเทศ” แถมได้รับการยอมรับโดยสหประชาชาติ หรือ UN อีกด้วย
ใครนึกไม่ออกให้มองกรณีของ ติมอร์-เลสเต ที่ได้รับเอกราชตามแนวทางนี้ จากการช่วยเหลือของ UN เมื่อปี 2542 ซึ่งโมเดลของติมอร์-เลสเต นี่แหละครับคือรูปแบบที่ขบวนการ BRN อยากจะให้เป็น และนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน 3 จังหวัดชายแดนใต้ของไทยในที่สุด
อันที่จริงแนวคิด “สิทธิในการกำหนดใจตนเอง” เป็นสิ่งที่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนเอามาอ้างเพื่อจะได้รับเอกราชมานานแล้ว แต่ต่างชาติเขาไม่เล่นด้วย เพราะเขามองพวกนี้เป็นแค่พวกก่อการร้ายหรือผู้ก่อความไม่สงบ
แต่หลังจากปี พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา สถานการณ์ก็เริ่มเปลี่ยนไป เพราะการก่อเหตุความรุนแรงเหมือนจะมีแนวโน้มลดลงจากการแตกกันเองของกลุ่ม BRN ทำให้กลุ่มขบวนการนี้เริ่มคิดที่จะเอาเรื่อง “สิทธิในการกำหนดใจตน” มาเจรจาต่อรองกับรัฐบาลไทยโดยตรง
ทว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 รัฐบาลไทยก็ยืนยันหนักแน่นว่าจะให้สถานะการต่อรองเป็นแค่ “การพูดคุยสันติสุข” (Peace Talk) เท่านั้น ไม่ใช่ “เจรจาสันติภาพ” เพราะในมุมมองความมั่นคง การใช้คำว่า “เจรจาสันติภาพ” เท่ากับว่าเป็นการยอมรับสภาวะสงครามภายในประเทศ พูดง่ายๆ ก็คือ มี “สงคราม” จึงต้องมี “การเจรจา” แถมยังเป็นการไปยกขบวนการ BRN ให้มีสถานะ “เทียบเท่ากับรัฐ”
ซึ่งเรื่องนี้คนไทยยอมไม่ได้หรอกครับ จะไปยอมให้โจรก่อการร้ายที่ก่ออาชญากรรมฆ่าคนเป็นหมื่นๆ มีสถานะเทียบเท่ากับรัฐบาลไทยในฐานะคู่เจรจาได้ยังไง ซึ่งการใช้คำผิดเพี้ยนแม้จะแค่เล็กน้อยแบบนี้ อาจจะเป็นการเสียรู้จนกลายเป็นการชักศึกเข้าบ้านได้
สำหรับประเด็นที่หลายคนสงสัยว่า สุดท้ายแล้วแนวคิด “สิทธิในการกำหนดใจตนเอง” จะเอามาใช้กับกรณี 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้หรือไม่? ขอตอบว่า ตามเงื่อนไขของกฎหมายระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นโดย UN นั้น กรณีของปัตตานีถือว่า “ไม่ตรงตามเงื่อนไข” ใดๆ เลย ส่วนจะไม่ตรงแบบไหน? ยังไง? ฤๅ มีคำตอบชัดๆ อยู่ในคลิปวิดีโอนี้แล้ว
นี่คือข้อเท็จจริงที่พวกนักการเมือง นักวิชาการ และนักเคลื่อนไหวสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนพูดไม่หมดหรือปกปิดไม่ยอมพูดถึง แล้วพยายามปักธงแนวคิดนี้เพื่อนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน ซึ่งหากรัฐบาลไทยหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในอนาคต ดันไปทำให้ความต้องการในการกำหนดใจตนเองของปัตตานีเป็นจริงขึ้นมา ด้วยการยกระดับให้ขบวนการ BRN มีสถานะเทียบเท่ากับรัฐบาลไทยในฐานะผู้เจรจาสันติภาพ หรือด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญยกเลิกมาตรา 1 ทิ้ง หรือแม้กระทั่งอนุญาตให้ประเทศมหาอำนาจเข้ามาแทรกแซงในฐานะตัวกลางไกล่เกลี่ย
เมื่อนั้นแหละครับ ที่ปัตตานีจะถูกแยกออกจากประเทศไทยในที่สุด
เพราะฉะนั้นนับจากนี้ไป ขอให้พวกเราช่วยกันจับตาดูขบวนการสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนนี้ให้ดีๆ ครับ
อ้างอิง :
[1] self determination (international law)
[2] The Patani. The Freedom to Decide Our Future: Patani People Call for a Peaceful Settlement (2019)
[3] Nik Anuar Nik Mahmud. The Malays of Patani.(2008)
[4] อิบรอฮิม ชุกรี. Sejarah Melayu Patani หรือ ประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรมลายูปะตานี. (เอกสารสำเนา)