
บ้านเมืองตอนนี้กำลังต้องการความสามัคคีและกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่สำคัญ…สองล้นเกล้าฯ ทรงเป็นห่วง ไม่มีอะไรที่สองล้นเกล้าฯ จะเสียใจเท่ากับพวกเราฆ่ากันเอง ขอให้ทุกคนโชคดี
หนึ่งในคำบิดเบือนโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่มักจะมีการส่งต่อวนๆ กันมาโดยเฉพาะในช่วงเดือนตุลาคมคือ การกล่าวหาว่าในหลวงและพระราชวงศ์อยู่เบื้องหลังในการสั่งการให้กลุ่มลูกเสือชาวบ้านทำร้ายและร่วมเข่นฆ่านักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
คนที่รับข้อมูลบิดเบือนมาโดยไม่เคยศึกษาบริบทและข้อเท็จจริงในตอนนั้น ก็เกิดความเชื่อฝังหัวจนกลายเป็นความรู้สึกอคติต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในที่สุด
ทั้งที่ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เป็นเหตุการณ์ที่สืบเนื่องมาจากการที่นักศึกษาได้รวมตัวกันประท้วงการกลับเข้ามาของจอมพลถนอม ซึ่งขณะนั้นบวชเณรและเดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทยเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2519 โดยก่อนหน้านั้นจอมพลประภาสเดินทางเข้าประเทศไทยเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม แต่ถูกต่อต้านจนต้องเดินทางออกนอกประเทศไปอีก
และก่อนวันนองเลือดนั้น นักศึกษาบางกลุ่มก็เริ่มยุติการชุมนุมแล้ว เพราะหลายคนไม่เห็นด้วยที่มีเหตุการณ์หมิ่นพระบรมวงศานุวงศ์เกิดขึ้น และหลายฝ่ายแม้แต่ ดร.ป๋วย อธิการบดีของธรรมศาสตร์ ก็ออกมาร้องขอแกนนำนักศึกษาที่เหลือว่าให้ยุติการชุมนุม เพราะอาจมีการล้อมปราบ
แต่แกนนำในธรรมศาสตร์กลับไม่ยอมยุติการชุมนุม และในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม ก็ได้เกิดปฏิบัติการกวาดล้างของกำลังทหารและกลุ่มฝ่ายขวา ซึ่งน่าเชื่อว่าเป็นการออกคำสั่งเฉพาะหน้าเฉพาะจุด นำไปสู่การนองเลือดครั้งประวัติศาสตร์
โดยเย็นวันที่ 6 ตุลาคม ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้รับสั่งเรียก นายธรรมนูญ เทียนเงิน ผู้ว่าการกรุงเทพมหานคร เข้าเฝ้าฯ และรับสั่งให้นายธรรมนูญชี้แจงให้ลูกเสือชาวบ้านซึ่งขณะนั้นเดินทางมาชุมนุมกันเป็นจำนวนมากว่าให้ยุติการชุมนุมและสลายตัวเพื่อไม่ให้เหตุการณ์รุนแรงบานปลายมากไปกว่านั้น
ซึ่งในครั้งนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 10 ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จฯ พร้อมกับ นายธรรมนูญ มาที่ทำเนียบรัฐบาลและที่ชุมนุมลูกเสือชาวบ้านด้วย และได้ทรงมีพระราชดำรัสกับกลุ่มลูกเสือชาวบ้านว่า…
“…ข้าพเจ้าขอให้ทุกคนยิ้มแย้มและใจเย็นๆ ไม่มีอะไรที่แก้ไขไม่ได้ แต่ต้องค่อยแก้ค่อยไป บ้านเมืองตอนนี้กำลังต้องการความสามัคคีและกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่สำคัญ ฉะนั้นขอให้ทุกคนสลายตัวเสีย ถือว่าให้ของขวัญกับข้าพเจ้า ท่านเหนื่อยกันมามากแล้ว ขอให้กลับไปหลับนอนเสียให้สบาย ทุกคนโปรดทราบว่า สองล้นเกล้าฯ ทรงเป็นห่วง ไม่มีอะไรที่สองล้นเกล้าฯ จะเสียใจเท่ากับพวกเราฆ่ากันเอง ขอให้ทุกคนโชคดี…”
และนี่คือข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ ซึ่งถือเป็นบทบาทสำคัญของในหลวงรัชกาลที่ 10 ในขณะทรงดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่ทรงเสมือนเป็นคนกลางให้ทุกฝ่ายรอมชอมหันหน้าเข้าหากัน เพื่อให้บ้านเมืองรอดพ้นจากวิกฤติการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นในขณะนั้น