บทเรียนการเมืองอังกฤษ ล้มระบอบกษัตริย์เพื่อพบกับ ‘อำนาจรัฐ’ ที่อึดอัดยิ่งกว่า
ในระบอบการปกครองในปัจจุบัน ประเทศต่างๆ ล้วนแล้วแต่มุ่งสู่การปกครองโดยมีรัฐสภาเป็นที่ชุมนุมทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาล่างซึ่งถือเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของรัฐสภา และเป็นส่วนสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้รัฐสภาโดยรวมแล้วถือกันว่าเป็นองคาพยพทางการเมืองที่มีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจทางการเมืองและการออกกฎหมาย หรือหลักที่ถูกเรียกว่า “อำนาจสูงสุดเป็นของรัฐสภา” (Parliamentary sovereignty) ซึ่งมีที่มาจากอังกฤษ [1]
จุดเริ่มต้นแนวคิดนี้ของอังกฤษ [2] ได้เกิดขึ้นหลังจากการคว่ำแผ่นดินในสงครามกลางเมืองของอังกฤษ หรือในยุคสมัยของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 เมื่อวันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1649 ซึ่งได้สั่นคลอนแนวคิดเดิมๆ ที่อังกฤษมีเกี่ยวกับวิธีการปกครองในขณะนั้นโดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์อย่างรุนแรง และได้เปิด “กล่องแพนโดร่า” ที่ทำให้สังคมอังกฤษขณะนั้นตั้งคำถามและพยายามแสวงหาหนทางใหม่ๆ ในทางการเมือง ซึ่งข้อเสนอใหม่นี้มีหลายๆ ข้อเสนอที่มีความสุดโต่ง เช่น ข้อเสนอการปฏิเสธทำพิธีศีลจุ่มให้กับทารกแรกเกิด อังกฤษในขณะนั้นจึงเปรียบเสมือนเกิดไฟลุกลามทางวัฒนธรรม และไฟนั้นได้โหมขึ้นไปหลังการบั่นพระเศียรของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ที่เป็นสัญลักษณ์ว่าประเพณีการปกครองในแบบเก่าได้พังทลายลง และเกิดช่องว่างทางการเมืองอันนำไปสู่สภาวะวิกฤตของระบอบการปกครอง จนลุกลามไปสู่วิกฤตทางคุณค่าและบรรทัดฐานต่างๆ ที่ผู้คนเคยยึดถือร่วมกัน ซึ่งผูกโยงอยู่กับพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น
วิกฤตนี้ทำให้ทุกคนต้องมาร่วมหาทางออกใหม่จากความ “ผิดพลาด” ที่ได้บั่นพระเศียรพระมหากษัตริย์ ทำให้อังกฤษแตกเป็นเสี่ยงและเกิดสงครามตามมาอีกยาวนาน และยังมีประเด็นเรื่องการตอบรับจากชาติอื่นๆ อีกด้วย [3] อย่างไรก็ดี ผู้ที่เสนอแนวคิดที่ “สุดโต่ง” นี้ หลายคนเป็นบุคคลที่ประสบความล้มเหลวในการอ้างอิงความชอบธรรมจากระบอบเก่า ดังนั้น การที่พวกเขานำเสนอแนวคิดนี้จึงอาจจะเป็นเพราะพวกเขาไม่ประสบความสำเร็จภายใต้ระบอบเก่า มากกว่าที่จะบอกว่าระบอบเก่ามีปัญหาในตัวมันเองมาตั้งแต่ต้น แต่ความคิดที่เกิดในช่วงของความสับสนอลหม่านนี้ได้พัฒนาไปสู่การเกิดแนวคิด “อำนาจสูงสุดเป็นของรัฐสภา” โดยเฉพาะสภาล่างที่เหนือกว่าองคาพยพทางการเมืองอื่นๆ และการมีอำนาจนิติบัญญัติที่ยืนอยู่เหนืออำนาจทั้งปวง อันเป็นรากฐานของระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบัน
แนวคิดเรื่องอำนาจสูงสุดเป็นของรัฐสภานี้เกิดขึ้นภายใต้บริบทเช่นนี้ กล่าวคือเป็นผลที่เกิดจากความพยายามในการหาทางออกทางการเมือง เพื่อแก้ไขสภาวะชะงักงันจากแต่เดิมที่การปกครองแบบสมดุลที่พระมหากษัตริย์ ขุนนาง และสามัญชนในสภาจะใช้อำนาจได้อย่างเท่าเทียมกัน แต่สมดุลนี้ได้เสียไป และแนวคิดนี้มีผู้ผลักดันที่ชื่อว่า Henry Parker นักกฎหมายที่เป็นที่รู้จักในอังกฤษ
Parker เป็นที่รู้จักครั้งแรกจากงานเขียนของเขาก่อนที่จะเกิดสงครามกลางเมืองสองปีที่วิจารณ์พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ว่า การที่พระองค์เรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายในการจ้างเรือรบในลักษณะภาษี แม้พระองค์จะใช้พระราชอำนาจตามประเพณีที่มีมาแต่เดิม แต่ Parker มองว่าพระองค์ทำลายสมดุลการเมือง และบีบให้จ่ายเงิน Parker จึงเสนอให้การเรียกเก็บเงินต้องได้รับการยินยอมจากรัฐสภาเสียก่อน ซึ่งสะท้อนว่า เขายังมองว่าสมดุลทางการปกครองเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการตรากฎหมายของอังกฤษต้องใช้อำนาจสามฝ่ายร่วมกัน และเขายังเห็นว่า รัฐสภาอังกฤษในขณะนั้นก็ต้องอยู่ใต้กฎหมายที่ตราร่วมกับพระมหากษัตริย์ รัฐสภาก่อนที่จะเกิดสงครามกลางเมืองจึงมีหน้าที่รักษาความสมดุลของการปกครองเอาไว้
อย่างไรก็ดีเมื่อความขัดแย้งรุนแรงขึ้น ก็ยิ่งเป็นการสนับสนุนให้ Parker เสนอให้รัฐสภาเป็นทางออกมากขึ้น กล่าวคือบริบทนี้ได้บีบคั้นเขาให้เลือกคำอธิบายชุดใหม่ที่ไม่ได้มีเรื่องสมดุลการปกครองแบบเก่าที่ไม่มีผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้ายทางนิติบัญญัติอย่างเด็ดขาดอีกต่อไป โดยเสนอให้รัฐสภาเป็นผู้มีอำนาจเด็ดขาดสุดท้ายทางนิติบัญญัติ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงสงครามกลางเมืองระลอกแรก โดยเขาเห็นว่า รัฐสภาสามารถกระทำการโดยที่ไม่ต้องอาศัยสมดุลกับพระมหากษัตริย์อีกต่อไป แต่ Parker ก็ยังไม่ได้นำเสนอไปถึงขั้นว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน เขาเสนอแต่เพียงว่า ประชาชนเป็นที่มาของอำนาจและประชาชนใช้อำนาจโดยอ้อมผ่านกลไกที่ “ทรงพลังและเป็นระเบียบแบบแผน” หรือรัฐสภาเท่านั้น Parker จึงมองว่าประชาชนเป็นที่มาทางอำนาจทางการเมืองและนำไปสู่ข้อเสนอว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของรัฐสภา ไม่ใช่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน เพราะรัฐสภาคือประชาชน และประชาชนจะกระทำการได้ดีที่สุดก็ต่อเมื่อกระทำการผ่านรัฐสภาเท่านั้น [4]
Parker เชื่อว่าการมีรัฐสภาดีกว่าที่จะให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจขั้นสุดท้ายในนามประชาชน โดยเขาให้เหตุผลว่า รัฐสภาคือผู้ที่ปราศจากผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม การตัดสินใจเสียงข้างมากของรัฐสภาเป็นการตัดสินใจของคนทั้งชาติ และยังรวมไปถึงอำนาจในการตีความกฎหมายที่แต่เดิมอยู่ในมือของพระมหากษัตริย์อีกด้วย เขาจึงยกให้รัฐสถาเป็นผู้ที่ใช้อำนาจตัดสินใจขั้นสุดท้ายอย่างไม่มีผู้ใดโต้เถียงได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดคำถามได้ว่า แล้วจะต่างกับการใช้อำนาจของพระมหากษัตริย์อย่างไร เขาตอบว่า รัฐทุกรัฐจำเป็นต้องมีองค์กรที่ต้องใช้อำนาจอย่างเด็ดขาดได้ เรื่องนี้ไม่ใช่สิ่งที่น่ารังเกียจ แต่จำเป็นทั้งในยามปกติและยามวิกฤต ซึ่งอำนาจการตัดสินใจของรัฐสภานี้ดีกว่า เพราะรัฐสภาคือรัฐ ไม่ใช่การตัดสินใจแค่เพียงคนเดียว หรือเพียงไม่กี่คนเท่านั้น [5]
ดังนั้น Parker จึงได้หันหลังแก่สมดุลการปกครองแบบเดิมและหนุนให้รัฐสภาเป็นจุดหมุนใหม่แทน เมื่อรัฐสภาเป็นฝ่ายได้เปรียบ รัฐสภาจึงสำแดงเดชด้วยการใช้อำนาจอย่างเด็ดขาดเสียยิ่งกว่าในสมัยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 เช่น การเรียกเก็บภาษีที่มากขึ้น การบังคับเกณฑ์ทหาร ซึ่งก็ล้วนแล้วแต่ทำในนามของประชาชนทั้งสิ้น เหตุการณ์เช่นนี้จึงทำให้ผู้ที่จงรักภักดีในพระมหากษัตริย์ได้ลุกขึ้นมาต่อต้านว่าหลักการอำนาจสูงสุดของรัฐสภากลับทำลายเสรีภาพทั้งประชาชนและพระมหากษัตริย์ ทั้งที่เรื่องเสรีภาพคือสิ่งที่รัฐสภาเคยใช้อ้างเพื่อต่อต้านพระเจ้าชาร์ลส์ในอดีต นักคิดที่เคยสนับสนุนรัฐสภาและต่อต้านพระมหาดษัตริย์ บัดนี้ได้กลายเป็นผู้สร้างความชอบธรรมกับการใช้อำนาจอย่างเด็ดขาดของรัฐสภาเสียเอง
ภายใต้สภาวะที่กลับหัวกลับหางเช่นนี้ Parker ได้ให้เหตุผลว่า จำเป็นจะต้องมีองค์กรที่ทำหน้าที่ปกป้องรัฐ และด้วยเหตุผลแห่งรัฐ (Reason of state) ที่รัฐสภาตัดสินใจทำเพื่อรักษาให้รัฐอยู่รอดต่อไปจะต้องอยู่เหนือกฎหมาย และไม่ถูกเหนี่ยวรั้งใดๆ ซึ่งเขายอมรับว่ามีโอกาสที่จะผิดพลาดได้แต่โอกาสก็น้อยกว่าความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นจากพระมหากษัตริย์ การตัดสินใจเพื่อรักษารัฐให้อยู่รอดจึงเป็นการตัดสินใจที่สามารถล้มล้างหรือแก้ไขได้ทุกสิ่ง ซึ่งเราจะได้เห็นดังเช่น การใช้อำนาจพิพากษาประหารพระเจ้าชาร์ลส์ การยกเลิกสภาขุนนาง การเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐ และในขณะเดียวกัน รัฐสภาก็ใช้อำนาจฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์กลับมาในตอนสุดท้ายด้วย
แนวคิดอำนาจสูงสุดของรัฐสภาได้ถูกยอมรับและกลายเป็นข้อตกลงร่วมกัน รัฐสภาจึงกลายเป็นสถาบันที่มีความเข้มแข็งและมีความชอบธรรมมากที่สุดในเวลาต่อมา ดังนั้นยิ่งประชาชนมีความเข้าใจที่กว้างมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้ฐานการใช้อำนาจของรัฐสภากว้างมากขึ้นเท่านั้น และอีกแง่หนึ่งก็มีความเป็น “ประชาธิปไตย” มากขึ้นด้วย
แต่แน่นอนว่า แม้รัฐสภาจะมีอำนาจสูงสุดก็ไม่ใช่ปัจจัยอย่างเดียวที่เพียงพอในการปกครอง เพราะรัฐสภาอังกฤษก็เลือกที่จะฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์กลับคืนมา ดังนั้นอำนาจบางอย่างที่ดูไม่เป็นประชาธิปไตยก็กลับมีส่วนสำคัญยิ่งต่อการปกครอง!
อ้างอิง :
[1] ดูการอธิบายอย่างครอบคลุมใน Michael Gordon, Parliamentary Sovereignty in the UK Constitution: Process, Politics and Democracy (Oxford: Hart Publishing, 2015).
[2] เรียบเรียงจาก เอกลักษณ์ ไชยภูมี, “เฮนรี พาร์คเคอร์ และต้นกำเนิดแนวคิดเรื่องอำนาจสูงสุดของรัฐสภาในศตวรรษที่ 17 ของอังกฤษ,” Journal of Social Sciences Naresuan University Vol.16 No.2 (July-December 2020): 229-255.
[3] C. V. Wedgewood, “European Reaction to the Death of Charles I,” The American Scholar Vol. 34, No. 3 (Summer 1965): 431-446.
[4] ทั้งนี้เนื่องจากว่าในอดีตมีนักคิดน้อยมากที่มองว่าประชาชนจะสามารกระทำการใดๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยปราศจากตัวกลาง เพราะหากประชาชนต่างใช้อำนาจก็อาจเข้าสู่สภาวะอนาธิปไตยได้.
[5] อย่างไรก็ดีในปัจจุบันมีงานศึกษาที่กล่าวว่ารัฐสภาก็เป็นกลุ่มผลประโยชน์หนึ่งเช่นกันและมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ ด้วย เช่นงาน Marco Lisi and Rui Oliveira, “Interest Groups in the Parliamentary Arena,” in Interest Groups and Political Representation in Portugal and Beyond, (ed.) Marco Lisi (Cham: Palgrave Macmillan, 2023).