บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการ “สืบราชสันตติวงศ์”
ในกรณีของรัฐที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยทั่วไป รัฐธรรมนูญจะต้องบัญญัติความสองประการ คือ พระมหากษัตริย์องค์ใดหรือพระราชวงศ์ใดมีสิทธิทรงราชย์ และการสืบราชสันตติวงศ์มีหลักเกณฑ์อย่างไรและจะยอมให้สตรีเป็นพระมหากษัตริย์ได้หรือไม่ ซึ่งการบัญญัติดังกล่าวเป็นลักษณะเดียวกับกรณีของรัฐที่เป็นสาธารณรัฐมีประธานาธิบดีเป็นประมุข ในรัฐธรรมนูญก็จะต้องบัญญัติถึงวิธีการเข้าสู่ตำแหน่งประมุขของรัฐ กำหนดระยะเวลาที่จะดำรงตำแหน่งและอำนาจของประธานาธิบดีตามรัฐธรรมนูญ
กรณีของประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ซึ่งตามพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 มาตรา 4 ได้บัญญัติไว้ว่า “ผู้เป็นกษัตริย์ของประเทศคือพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว การสืบมฤดกให้เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์พระพุทธศักราช 2467 และด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร” มีข้อสังเกตคือ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวที่ใช้คำว่า “การสืบมฤดก” ซึ่งหมายความถึงการสืบราชสมบัติมิใช่การรับมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 73 และยังเป็นรัฐธรรมนูญเพียงฉบับเดียวเช่นกันที่มีการระบุพระนามพระมหากษัตริย์ลงไปในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 มีการโค่นอำนาจของคณะราษฎร โดยคณะรัฐประหารในนาม “ทหารของชาติ” นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัน พันเอกเผ่า ศรียานนท์ และ น.อ.หลวงกาจสงคราม มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2489 และฝ่ายอนุรักษ์นิยมร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในปี พ.ศ. 2492 ซึ่งมีเนื้อหาเป็นการเพิ่มพระราชอำนาจแก่สถาบันกษัตริย์อย่างไม่เคยมีมาก่อนนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง เรียกได้ว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับฟื้นฟูเจ้า” บุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ นำโดย เสนีย์ ปราโมช แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะประธานกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ที่ประกอบด้วยสมาชิก 40 คน เป็นฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ถึง 22 คน อีก 12 คนเป็นฝ่ายขุนนางเก่าที่มีทัศนคติใกล้เคียงกับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมาจากการเลือกของรัฐสภา และยกร่างรัฐธรรมนูญโดยกรรมาธิการยกร่างจำนวน 9 คน
นักกฎหมายอย่าง ไพโรจน์ ชัยนาม ให้ความเห็นต่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ “มีบทบัญญัติยกย่องเชิดชูพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นประมุขของประเทศไว้เป็นอย่างดีและก็ได้ถวายพระราชอำนาจต่างๆ ให้มากยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์ในประเทศที่มีการปกครองโดยรัฐสภาโดยทั่วไปเสียอีก” นอกจากนั้นมีการบัญญัติถ้อยคำใหม่ที่ไม่เคยปรากฏในรัฐธรรมนูญมาก่อนเช่น “ระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” และมีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์เพิ่มขึ้นจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสืบราชสันตติวงศ์และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หนึ่งในเรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นก็คือ การกล่าวถึงวิธีการแก้ไขกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 ไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก
สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้มีการบัญญัติเกี่ยวกับการสืบสันตติวงศ์เอาไว้ใน มาตรา 20 มาตรา 21 และมาตรา 22 ดังนี้
มาตรา 20 ภายใต้บังคับมาตรา 21 การสืบราชสมบัติให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 การแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ เมื่อมีพระราชดําริประการใด ให้คณะองคมนตรีจัดทำร่างกฎมณเฑียรบาลแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลเดิมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อมีพระราชวินิจฉัย เมื่อทรงเห็นชอบและทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ให้ประธานองคมนตรีดำเนินการแจ้งประธานรัฐสภาเพื่อให้ประธานรัฐสภาแจ้งให้รัฐสภาทราบ และให้ประธานรัฐสภาลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ และเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้
มาตรา 21 ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลงและเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 แล้ว ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบ และให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อรับทราบ และให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ
ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลงและเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตามวรรคหนึ่ง ให้คณะองคมนตรีเสนอพระนามผู้สืบราชสันตติวงศ์ตามมาตรา 20 ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อรัฐสภาเพื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบ ในการนี้ จะเสนอพระนามพระราชธิดาก็ได้ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ
มาตรา 20 วรรค 1 รัฐธรรมนูญ บัญญัติถ้อยคำหนึ่งว่า “โดยนัยแห่ง” มีความหมายอย่างเดียวกับคำว่า “โดยอนุโลม” คือให้เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลฯ เว้นแต่รัฐธรรมนูญจะบัญญัติเป็นอย่างอื่น หรือเป็นการอาศัยเทียบเคียงตามกฎมณเฑียรบาลฯ มิใช่ว่าจะต้องปฏิบัติตามกฎมณเฑียรบาลฯ ทุกถ้อยคำ ยกตัวอย่างเช่น กรณีระหว่างรัฐธรรมนูญมาตรา 20 กับมาตรา 21 ซึ่งมาตรา 20 ใช้ถ้อยคำ “ภายใต้บังคับมาตรา 21” คือมาตรา 21 มีสภาพบังคับเหนือมาตรา 20 และกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์
นอกจากนั้น ในกรณีที่ไม่มีการตั้งรัชทายาทไว้ ได้มีการเปิดช่องให้สตรีสืบราชสันตติวงศ์ได้โดยผลของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญกล่าวคือ คณะองคมนตรีสามารถเสนอพระนามพระราชธิดาต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบในการสืบราชสันตติวงศ์ต่อไป ซึ่งหลักการนี้ปรากฏครั้งแรกในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2517 มาตรา 25
สำหรับมาตราต่อมาจะเป็นการบัญญัติเกี่ยวกับการดำเนินการในช่วงที่ยังไม่มีพระมหากษัตริย์ โดยการตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขึ้นหรือให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ปฏิบัติหน้าที่ไปจนกว่าจะมีการอัญเชิญรัชทายาทขึ้นครองราชย์
มาตรา 22 ในระหว่างที่ยังไม่มีประกาศอัญเชิญองค์พระรัชทายาทหรือองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 21 ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน แต่ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลงในระหว่างที่ได้แต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไว้ตามมาตรา 16 หรือมาตรา 17 หรือระหว่างเวลาที่ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง ให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้น ๆ แล้วแต่กรณี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อไป ทั้งนี้ จนกว่าจะได้ประกาศอัญเชิญองค์พระรัชทายาทหรือองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์
รัฐธรรมนูญยังได้กำหนดเงื่อนไขของการเป็นพระมหากษัตริย์เอาไว้โดยปริยายว่าผู้ที่จะเป็นพระมหากษัตริย์นั้น จะต้องเป็นผู้ที่นับถือพุทธศาสนา และถึงแม้ว่าบุคคลนั้นจะเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎมณเฑียรบาลฯ และรัฐสภาเห็นชอบหรือรับทราบแล้วแต่กรณี หากมิได้นับถือพุทธศาสนาแล้วก็มิอาจเป็น พระมหากษัตริย์ได้ ในกรณี ที่มีการเข้าสู่ตำแหน่งพระมหากษัตริย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ต่อมาภายหลังปรากฏว่าทรงเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่นที่ไม่ใช่ศาสนาพุทธ กรณีดังกล่าวก็ไม่อาจจะดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ต่อไปได้ ในกรณีนี้ คณะรัฐมนตรีจะต้องถวายคำแนะนำให้สละราชสมบัติ ทำนองเดียวกับกรณีของการครองราชย์แล้วขาดคุณสมบัติในภายหลังก็จะต้องใช้วิธีเดียวกันนี้ รัฐสภาไม่อาจถอดถอนหรือยกเลิกการให้ความยินยอมในการสืบราชสันตติวงศ์ได้นั่นเอง
ที่มา :
[1] หยุด แสงอุทัย, หลักรัฐธรรมนูญทั่วไป, บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ (บรรณาธิการ), พิมพ์ครั้งที่ 9 (กรุงเทพมหานคร: วิญญู
[2] ไพโรจน์ ชัยนาม, คำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ (โดยสังเขป) เล่ม 2, (ม.ป.ท, 2495)
[3] วิษณุ เครืองาม, กฎหมายรัฐธรรมนูญ, พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพมหานคร : นิติบรรณการ, 2530)
[4] วิษณุ เครืองาม, กฎมณเฑียรบาลในระบบกฎหมายไทย, พิมพ์ครั้งที่ 1 (กรุงเทพมหานคร: ส.เจริญการพิมพ์, 2553)
[5] มาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก
[6] หยุด แสงอุทัย, คำอธิบายรัฐธรรมนูญพุทธศักราช 2475-95, (พระนคร: ชูสิน, 2495)