‘น้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก’ ย้อนดูแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ‘ฉบับแรก’ พ.ศ. 2500
“น้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก” คือ หนึ่งในนโยบายสำคัญของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในช่วงที่เข้ามามีอำนาจทางการเมืองหลังจาก พ.ศ.2500 และได้กุมอำนาจทางการเมืองอย่างสมบูรณ์หลังจากการรัฐประหารอีกครั้งในปี พ.ศ.2501 โดยนโยบายดังกล่าวเกิดขึ้นมาเพื่อพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าอีกครั้ง หลังจากที่การพัฒนาทางเศรษฐกิจได้ชะงักงันและเดินหน้าอย่างล่าช้าในช่วงการเรืองอำนาจของคณะราษฎร แม้ว่าในช่วงปลายของคณะราษฎร (พ.ศ.2490 – 2500) จะเริ่มให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจอยู่บ้างก็ตาม
โดยในการพัฒนาทางเศรษฐกิจครั้งนี้ สหรัฐอเมริกาที่ได้มีบทบาทในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ก็ได้เพิ่มบทบาทของตนเองในการสนับสนุนประเทศไทยเพื่อใช้เป็นฐานต่อต้านคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในด้านการทหารและเศรษฐกิจ จึงกลายเป็นการสอดประสานระหว่างนโยบายการพัฒนาของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และนโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ที่ลงตัว ในบริบทที่ภัยคอมมิวนิสต์เริ่มก่อตัวขึ้นในภูมิภาคอย่างช้า ๆ ในขณะนั้น
ซึ่งหนึ่งในความร่วมมือทางเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐอเมริกาและไทยก็คือ การเริ่มต้นการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อเป็นแบบแผนในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยในฉบับที่ 1 ได้แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 (พ.ศ.2504 – 2506) ซึ่งอยู่ในช่วงสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ ระยะที่ 2 (พ.ศ.2507 – 2509) ซึ่งอยู่ในช่วงสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร ตามลำดับ
เกร็ดสำคัญของแนวคิดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คือ โดยปกติแล้วประเทศที่มีการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติโดยส่วนใหญ่มักจะเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ที่มีระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนจากศูนย์กลางซึ่งจะต้องมีแผนเศรษฐกิจและสังคมในการกำกับดูแลประเทศแบบเข้มงวด ซึ่งสหภาพโซเวียต คือประเทศแรกที่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจแบบวางแผนจากศูนย์กลาง แต่ในกรณีของไทยนั้น กลับเป็นแนวคิดของทางสหรัฐอเมริกาที่เป็นผู้นำกลุ่มโลกทุนนิยมเองที่นำเสนอการใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในไทย เพื่อนำมาเป็นแนวทางหลักในการพัฒนาประเทศระยะยาว และเพื่อใช้ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของพลเมืองในประเทศ
ในอีกทางหนึ่ง แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่สหรัฐอเมริกานำเสนอและจัดทำร่วมกับไทย ได้มีความแตกต่างจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่ดำเนินงานในประเทศคอมมิวนิสต์ คือ เป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับการรักษาสมดุลทางเศรษฐกิจระหว่างอุตสาหกรรมเบาและอุตสาหกรรมหนัก การสร้างสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้างต่อการลงทุนจากต่างประเทศ การลดข้อจำกัดของกิจกรรมระบบเศรษฐกิจภายในประเทศเพื่อเพิ่มบทบาทของภาคเอกชนในประเทศ
นี่คือความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจของบรรดาประเทศคอมมิวนิสต์ส่วนใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมหนัก อย่างเช่น อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมขนส่ง อุตสาหกรรมอาวุธยุทธปัจจัย มากกว่าอุตสาหกรรมเบา อย่างเช่น อุตสาหกรรมอุปโภคบริโภคพื้นฐาน อุตสาหกรรมทางการเกษตร ฯลฯ รวมถึงการเน้นบทบาทภาครัฐในการมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจอย่างเด็ดขาด และไม่เปิดให้ต่างประเทศเข้ามาลงทุนหรือมีบทบาทในทางเศรษฐกิจ
ดังนั้น เมื่อมีการผลักดันแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 แล้ว จึงนำไปสู่การใช้งานจริง ซึ่งมักเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศทั้งระบบไฟฟ้า ระบบประปา ระบบขนส่งทั้งทางรางและถนน รวมทั้งการสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ซึ่งมักเป็นกลุ่มประเทศทุนนิยมภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกาและชาติอุตสาหกรรมชั้นนำของยุโรปอื่น
นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชนในประเทศให้มีบทบาทในทางเศรษฐกิจมากขึ้น อาทิ การสร้างกำแพงภาษีขาเข้าหรือการจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศในระดับสูง เพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วตามคำแนะนำของสหรัฐอเมริกา การลดบทบาทของรัฐวิสาหกิจเดิมบางส่วนที่ขาดทุนรุนแรง ซึ่งเคยถูกจัดตั้งเป็นจำนวนมากในช่วงยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชาตินิยม การสร้างเสถียรภาพและความปลอดภัยภายในประเทศโดยเฉพาะเขตเมืองสำคัญเพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนในพื้นที่ รวมทั้งการวางนโยบายอื่น ๆ ที่เป็นการสนับสนุนภาคเอกชนให้สามารถเติบโตได้มากขึ้น และยังเป็นการตอบสนองเป้าหมายทางเศรษฐกิจสำคัญ คือ การสร้างอุตสาหกรรมภายในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้า
เกร็ดสำคัญของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 คือ เป็นแผนที่มี 2 ระยะย่อย ๆ ด้วยกัน ซึ่งแตกต่างจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับอื่นที่จะมีเพียงระยะเดียว โดยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 ระยะที่ 2 ภายใต้การนำของจอมพลถนอม กิตติขจร ก็ได้มีการกล่าวถึงช่วงระยะที่ 1 ว่า เป็นการวางรากฐานและทดลองการจัดทำแผนพัฒนา เพื่อให้สามารถพัฒนาประเทศได้อย่างต่อเนื่องในระยะต่อไป ซึ่งเมื่อมีการผลักดันโครงการในระยะที่ 2 ก็ยังคงสานต่อรูปแบบการพัฒนาตามแผนในระยะที่ 1 อยู่ต่อไป
ผลที่ตามมาจากการขับเคลื่อนนโยบายตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 และนโยบาย “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก” ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำให้เกิดการวางโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ทั่วประเทศ เช่น การขยายโครงข่ายถนน ไฟฟ้า และประปา ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ การสนับสนุนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้า ซึ่งต่อมาได้ขยายตัวกลายเป็นอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลในเวลาต่อมา
แม้ว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะผ่านไปแล้วหลายฉบับ โดยที่ยังมีการดำเนินโครงการนี้มาจนถึงปัจจุบัน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คือมรดกสำคัญของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และสหรัฐอเมริกา ที่ได้เริ่มวางรากฐานทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ให้ไทย จนทำให้ประเทศไทยสามารถต่อยอดขีดความสามารถทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดจากจุดที่เคยอยู่ก่อนหน้า และเป็นพื้นฐานสำคัญของการต่อยอดมูลค่าทางเศรษฐกิจ จากภาคการเกษตร สู่ภาคอุตสาหกรรมและภาคการบริการ ที่กลายมาเป็นสัดส่วนเศรษฐกิจหลักของประเทศไทยในปัจจุบัน
อ้างอิง :
[1] การจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.
[2] 20 ตุลาคม พ.ศ.2501 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อรัฐประหารยึดอำนาจ.
[3] แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่หนึ่ง ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2504-2506).
[4] แผนพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่หนึ่ง พ.ศ. 2504 – 2506 – 2509 ระยะที่สอง (พ.ศ. 2507 – 2509).
[5] แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่สอง (พ.ศ. 2510 – 2514).