เราเดินไปหาที่พึ่งหนึ่งเดียว…นักศึกษาประชาชนเดินขบวนกันเป็นแสน คิดอยู่อย่างเดียว…ขอพึ่งพระบารมีในหลวง
“เราได้เดินขบวนไปยังสวนจิตรลดา อันนี้มีคนเอามาพูดกันในภายหลังว่านักศึกษาจะล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่จริง ผมยืนยันเลยว่าไม่จริง ตอนนั้นนักศึกษาเดินขบวนจะมีพระบรมฉายาลักษณ์นำหน้าขบวน
แล้ววันนั้นในคืนวันที่ 13 ทำไมคนเป็นแสนถึงไปอยู่รอบสวนจิตรลดา คำตอบมีข้อเดียวเท่านั้น คือช่วงนั้นเป็นช่วงเผด็จการแล้วเราเดินขบวนต่อต้านเผด็จการ เราไปหาที่พึ่ง ตอนนั้นนักศึกษาประชาชนที่เดินขบวนกันเป็นแสนคิดอยู่อย่างเดียวว่ามีคนคนเดียวเท่านั้นที่จะคุ้มหัวเราได้ก็คือในหลวง เราจึงไปขอพึ่งพระบารมีในหลวง”
ผศ.ดร.บุญส่ง ชเลธร
นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงที่ถูกลบชื่อออก และ 1 ใน 13 กบฏรัฐธรรมนูญ เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516
“50 ปี 14 ตุลา มหาวิทยาลัย : ที่ (ไม่) มีคำตอบ”
2 ตุลาคม 2566 ห้องศักดิ์ ผาสุขนิรันต์ อาคารหอประชุมพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มหาวิทยาลัยรามคำแหง
เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ มีเงื่อนไขมาจากหลายสาเหตุในตอนนั้น ทั้งกลุ่มขั้วอำนาจการเมืองต่างๆ (กลุ่มนายทหารและพรรคการเมือง) รวมไปถึงการแทรกซึมของคอมมิวนิสต์ ที่ตอนนั้นมีการต่อต้านและปราบปรามอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในกรณีของสงครามอินโดจีน ซึ่งประเทศไทยได้ถูกดึงเข้าไปอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งนี้ ภายใต้การแทรกแซงของสหรัฐอเมริกา
สภาพบ้านเมืองในตอนนั้นอยู่ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ ชาวนาและกลุ่มแรงงาน ต่างถูกกดขี่ มีแต่ความแร้นแค้น ซึ่งเป็นผลมาจากความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารงาน และการเล่นพรรคเล่นพวกของรัฐบาลจอมพลถนอม เมื่อบวกรวมเข้ากับการปิดกั้นเสรีภาพและบรรยากาศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เงื่อนไขทั้งหมดจึงนำไปสู่การรวมพลังลุกขึ้นต่อต้านของนิสิต นักศึกษา ในที่สุด
จุดประสงค์ในการชุมนุมประท้วงของนักศึกษาในเวลานั้นคือ การต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ และเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศใช้รัฐธรรมนูญโดยเร็ว ไม่ใช่การมุ่งล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ตามที่มีการบิดเบือนกันในเวลาต่อมา ซึ่งฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้เกิดการลุกฮือขึ้นในวงกว้างคือ การใช้อิทธิพลของเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปล่าสัตว์ ณ ทุ่งใหญ่นเรศวร
การปราบปรามในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก มีการประกาศปิดโรงเรียนและสถาบันการศึกษาในกรุงเทพฯ ทุกแห่ง และกําหนดให้บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และศิลปากรเป็นเขตอันตราย โดยรัฐบาลเตรียมพร้อมที่จะทําการกวาดล้างใหญ่
แต่ก่อนที่เหตุการณ์จะลุกลามบานปลายมากขึ้นไปกว่านั้น ในช่วงเย็นวันนั้นเอง จอมพลถนอม กิตติขจร ก็ได้ประกาศลาออกจากตําแหน่งนายกรัฐมนตรี และในเวลา 19.15 น. ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดํารัสทางวิทยุและโทรทัศน์ ทรงขอให้ทุกฝ่ายระงับเหตุแห่งความรุนแรง และทรงแต่งตั้งศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นนายกรัฐมนตรีแทน
จากนั้นศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้ปราศรัยทางโทรทัศน์ ขอให้ทุกฝ่ายคืนสู่ความสงบ และประกาศจะใช้รัฐธรรมนูญภายใน 6 เดือน
นับจากนั้นเหตุการณ์ความรุนแรงก็ได้ยุติลง พร้อมกับการลี้ภัยออกนอกประเทศของจอมพลถนอม กิตติขจร
นี่คือข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ของพลังนักศึกษาและประชาชนในการต่อต้านอำนาจรัฐบาลเผด็จการ และเป็นพลังสำคัญในการผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขึ้น อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงบทบาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระราชวงศ์ ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างเหมาะสม ทรงให้คำชี้แนะเสมือนคนกลาง ในยามที่บ้านเมืองเกิดความขัดแย้ง จนกระทั่งทำให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าประนีประนอมกัน และนำพาบ้านเมืองให้ผ่านพ้นวิกฤติเลวร้ายต่างๆ ไปได้ในที่สุด