![](https://www.luehistory.com/wp-content/uploads/2023/09/AquinasEdited_1300x731.jpg)
นักบุญอไควนัส ผู้พิสูจน์ชัดว่า ‘พระเจ้ามีจริง’
บทความโดย ไกอุส
หากทุกวันนี้มีคนบอกว่า ‘พระเจ้ามีจริง’ หลายคนคงจะนึกขำขันในใจและมองว่าบุคคลที่กล่าวประโยคเช่นนี้มา หากไม่ใช่คนที่เคร่งศาสนาที่เชื่อว่าพระเจ้าหรือพระผู้สร้างมีอยู่จริง (เช่น คนที่นับถือคริสต์ อิสลาม) ก็น่าจะเป็นคนในจำพวกเพี้ยน ๆ ที่หลุดมาจากโลกในสมัยโบราณเป็นแน่
อย่างไรก็ดี มีใครจะรู้บ้างเล่าว่า ประโยคที่ว่า ‘พระเจ้ามีจริง’ นี้ ได้รับการพิสูจน์ทราบเสร็จสิ้นแล้วว่า ‘เป็นความจริง’ ตั้งแต่ยุคกลางโดยนักปราชญ์ผู้เลื่องชื่อ นั่นก็คือ ‘เซนต์ โทมัส อไควนัส’ (Saint Thomas Aquinas) นักบวชชาวคริสต์ผู้มีชีวิตอยู่ในช่วง ค.ศ. 1225-1274 (ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นนักบุญ) โดยนักบุญอไควนัสนั้นต้องเล่าก่อนว่าเขาหาได้ใช้ตรรกะ-ความเชื่อในทางเทววิทยาในการพิสูจน์การดำรงอยู่ของพระเจ้าเพียงอย่างเดียว นักบวชผู้นี้ภูมิหลังแล้วมีความรู้เกี่ยวกับหลักการใช้เหตุผลและการศึกษาหาความจริงแบบปรัชญากรีกโบราณผ่านทางงานเขียนของอริสโตเติ้ล (Aristotle) ซึ่งถูกอ่านและสอนกันอย่างกว้างขวางทั้งทางเผยและทางลับในสังคมพระในยุโรปยุคกลางผ่านการแปลตำราจากภาษากรีกโบราณเป็นภาษาละตินหรือภาษาอาหรับอีกทอดหนึ่ง
ทุกวันนี้เป็นที่ยอมรับกันว่าการประสานแนวคิดปรัชญากรีกโบราณกับเทววิทยาของคริสต์ศาสนา ซึ่งแม้เนื้อแท้แล้วจะค่อนข้างแตกต่างกันมากในเรื่องของจุดมุ่งหมายในการศึกษา หากแต่การประสานระหว่าง 2 สำนักดังกล่าว ได้ทำให้ปรัชญาและให้เหตุผลแบบกรีกโบราณยังคงดำรงอยู่ในเทววิทยาศาสนาคริสต์ตลอดจนถึงปัจจุบัน เหล่านี้เป็นคุณูปการสำคัญของนักบุญอไควนัส ผู้ซึ่งแม้จะมีอายุแสนสั้น (เขาเสียชีวิตเมื่อวัย 49 ปีเท่านั้น) แต่กลับได้ฝากผลงานไว้มากมาย ไม่ว่าจะทั้งงานด้านปรัชญาและเทววิทยา ยากที่จะหานักปราชญ์ยุคกลางคนใดมาเทียบเคียงกับความสามารถและสติปัญญาอันแหลมคมนี้ได้เลย
ผลงานชิ้นสำคัญของนักบุญอไควนัสที่จะพาเราในฐานะคนยุคใหม่ เข้าสู่การใช้เหตุผลแบบโลกยุคกลางในการพิสูจน์การดำรงอยู่ของพระเจ้านั้น คงนี้ไม่พ้น Summa Theologiae อันเป็นตำราว่าด้วยการศึกษาเทววิทยาของนักบุญอไควนัส ตำราเล่มนี้เป็นผลผลิตมาจากการถกเถียงในประเด็นด้านศาสนาซึ่งมักจะขึ้นต้นจากประเด็นคำถาม-ประเด็นโต้แย้ง จนนำไปสู่การอ้างตรรกะ เหตุผล หรืองานเขียนชิ้นสำคัญ เช่น จากตำรากรีกโบราณจนถึงบันทึกของนักปราชญ์จากโลกอาหรับที่ชาวคริสต์รับเอาอิทธิพลความคิดมาอีกทอดหนึ่ง ลงท้ายก็จะจบที่การหักล้างและสรุปผลในประเด็นเหล่านั้นด้วยตัวของนักบุญอไควนัสเอง
ในช่วงที่คำถามว่า ‘พระเจ้ามีจริงหรือไม่ ?’ ปรากฏขึ้นนั้นนักบุญอไควนัสกำลังพำนักอยู่ในอิตาลี (ค.ศ. 1266-1268) การตอบคำถามนี้แม้จะดูเป็นเรื่องใหญ่และท้าทายสำหรับนักบวชที่ตนเองนั้นต้องเชื่อว่าเสมอว่า ‘พระเจ้ามีจริง’ อยู่แล้ว แต่ความเชื่อที่ปราศจากการพิสูจน์ตรวจสอบอย่างเดียวก็คงจะไม่เพียงพอหากจะต้องการทำให้ ‘สัจธรรม’ ในข้อนี้กลายเป็น ‘สิ่งที่ประจักษ์แจ้งในตัวเอง’ (self-evident) และเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ตามหลักปรัชญาและเทววิทยาเพื่อที่จะอ้างเป็นหลักสากลได้ต่อไป (อย่างน้อยก็ในเวลานั้น)
ขั้นที่ 1 การพิสูจน์ ‘พระเจ้า’ ผ่านรูปประโยคและสำนึกของมนุษย์
นักบุญอไควนัสได้เริ่มต้นพิสูจน์ในขั้นแรกว่าแม้แต่ประโยคที่ว่า ‘เป็นที่ประจักษ์ชัดอยู่แล้วว่าพระเจ้ามีอยู่จริง’ นั้นก็เป็นการ ‘ยอมรับในตัวของมันเอง’ อยู่แล้วว่ามีสิ่งที่เรียกว่า ‘พระเจ้า’ ดำรงอยู่จริง เพราะหากใครก็ตามจะบอกว่าสิ่งนั้นมีจริงหรือไม่มีจริง แต่ในรูปประโยคของสภาวะการดำรงอยู่ (การมี) ก็สามารถแยกได้เพียง 2 กรณีเท่านั้น คือ มี หรือ ไม่มี ดังนั้น รูปประโยค ‘เป็นที่ประจักษ์ชัดอยู่แล้วว่าพระเจ้ามีอยู่จริง’ จึงเป็นที่ชัดเจนในตัวเองอยู่แล้ว เพราะสามารถบอกทิศทางหรือให้คำอธิบาย (demonstration) ของสภาวะการ ‘มี’ หรือ ‘ไม่มี’ ได้
ด้วยเหตุนี้ ในชั้นต้นนักบุญอไควนัสจึงสรุปไว้ชัดเจนว่า ‘รูปประโยคที่ว่าพระเจ้าทรงดำรงอยู่จริงนั้น เป็นข้อความที่ประจักษ์แจ้งในตัวเอง เพราะถ้าหากว่าอะไรก็ตามที่คือพระเจ้าหาใช่สิ่งที่ประจักษ์ชัดในตัวเอง รูปประโยคข้างต้นก็ย่อมไม่สามารถเป็นสิ่งที่ประจักษ์ชัดต่อพวกเราได้’ยิ่งไปกว่านั้น ต่อมานักบุญอไควนัสได้กล่าวไปถึง ‘ผลกระทำของพระเจ้า’ (God’s effect) ซึ่งจะมีความสำคัญในการพิสูจน์การดำรงอยู่จริงของพระองค์ในฐานะความจริงที่ (มนุษย์) ปฏิเสธไม่ได้ในขั้นตอนต่อไป
ขั้นที่ 2 การพิสูจน์การดำรงอยู่ของพระเจ้าสามารถทำให้เป็นที่ประจักษ์ชัดได้หรือไม่ ?
มีคำกล่าวว่า ‘พระเจ้าทรงดำรงผ่านความศรัทธา’ เพราะศรัทธานั้นเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ตามองไม่เห็น ด้วยเหตุนี้มนุษย์จึงมิอาจพิสูจน์การดำรงอยู่ของพระองค์ได้ อย่างไรก็ดี นักบุญอไควนัสได้แย้งว่าจากผลการกระทำของพระองค์ทำให้มนุษย์สามารถพิสูจน์การดำรงอยู่ของพระเจ้าได้ ซึ่งเราสามารถกระทำได้ 2 วิธีด้วยกัน คือ วิธีแรก ผ่านการพิสูจน์จากสาเหตุไปสู่ผล และวิธีที่สองในทางกลับกัน คือ จากผลไปสู่สาเหตุ ทั้งนี้ นักบุญอไควนัสเชื่อว่าการพิสูจน์จากผลย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัดกว่าเหตุเพราะมนุษย์เรามักจะทราบเหตุผ่าน ‘ผลลัพธ์’ ของสาเหตุนั้น ๆ และด้วยเหตุนี้หากผลดำรงอยู่ก็ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่ามี ‘เหตุที่ทำให้เกิด’ อยู่จริง เพราะผลย่อมแยกออกจากเหตุไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ หากผล (ผลงานสรรค์สร้างของพระผู้สร้าง เช่น มนุษย์ สัตว์ ความดีงาม) มีอยู่จริง เหตุ (พระผู้สร้าง) ก็ต้องดำรงอยู่จริงด้วย ดังนั้นประโยคที่ว่า ‘พระเจ้ามีจริง’ จึงเป็นที่จักษ์ชัดแจ้งนั่นเอง
ขั้นที่ 3 การพิสูจน์บทสรุปที่ว่า ‘พระเจ้ามีจริงหรือไม่’ ?
ดังที่พระเจ้าเคยตรัสกับเมเสสว่า ‘เราเป็นผู้ซึ่งเราเป็น’ (I am Who I am) สำหรับนักบุญอไควนัสแล้วพระเจ้าก็คือพระเจ้า เพราะพระองค์ย่อมแทนพระองค์เองแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น อย่างไรก็ดี ขั้นตอนสุดท้ายที่จะพิสูจน์ว่าพระเจ้ามีจริงนั้น นักบุญอไควนัสได้เสนอขั้นตอนอันเป็น‘ไม้เด็ดสุดท้าย’ อีก 5 ขั้นตอนย่อย คือ
- สรรพสิ่งย่อมมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ แต่สิ่งเหล่านั้นจะเปลี่ยนได้ก็จะต้องมีสิ่งอื่นไปเปลี่ยนแปลงและสิ่งที่จะไปเปลี่ยนก็คือ ‘สาเหตุ’ ของการเปลี่ยนแปลงนั่นเอง และปฐมเหตุนั้นก็ต้องย่อมดำรงอยู่แล้วก่อนมีการเปลี่ยนแปลงด้วย นักบุญอไควนัสจึงมาถึงข้อสรุปในหนทางแรกนี้ว่า ‘ดังนั้น เราจึงถูกทำให้เชื่อว่าในท้ายที่สุดว่า ปฐมเหตุที่เป็นสาเหตุแห่งการเปลี่ยนแปลงสิ่งอื่น จะไม่มีทางถูกสิ่งใด ๆ เปลี่ยนแปลงได้ และนี่คือสิ่งที่เราทุกคนเข้าใจตรงกันว่า พระเจ้า’
- หากจะมีการเปลี่ยนแปลงสิ่งใดได้ ก็ต้องมี ‘ผู้กระทำอันเป็นปฐมเหตุแรกสุด’ เพราะการเปลี่ยนแปลงเกิดมักขึ้นเป็นตอน ๆไล่กันไปตามลำดับ แต่ลงท้ายการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่สามารถดำเนินอยู่ได้อย่างไร้จุดสิ้นสุดโดยปราศจากปฐมเหตุแรกสุด การย้อนไปหา ‘ผู้กระทำอันเป็นปฐมเหตุแรกสุด’ ก็คือการยืนยันการดำรงอยู่จริงของพระเจ้า
- สิ่งใด ๆ อาจมีสถานะได้ 2 ประการ คือ สิ่งที่จำเป็นต้องเป็น (must be) และสิ่งไม่จำเป็นต้องเป็น (need not to be) ถ้าทุก ๆ สิ่งล้วนเป็นสิ่งไม่จำเป็นต้องเป็น ก่อนหน้านี้ก็คงไม่มีอะไรปรากฏขึ้นบนโลกนี้ แต่ทุกวันนี้จะเห็นได้ว่ามีสิ่งต่าง ๆ ดำรงอยู่จริง ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นต้องเป็นจึงเป็นความจริงแท้และดำรงอยู่ก่อนสิ่งต่าง ๆ ทั้งปวงในฐานะ ‘ผู้กระทำอันเป็นปฐมเหตุ’ ซึ่งก็คือพระเจ้านั่นเอง
- การที่สิ่งต่าง ๆ มีลำดับหรือสถานะที่แตกต่างกัน และจะเห็นได้ว่าบางสิ่งเป็นจริงที่จริงแท้กว่าและประเสริฐกว่าสิ่งอื่น ๆ ต้องดำรงอยู่จริงอย่างแน่นอน สอดคล้องกับที่อริลโตเติ้ลเคยกล่าวไว้ว่า (ตามที่นักบุญอไควนัสอ้าง) ‘สิ่งที่จริงแท้ที่สุดคือสิ่งที่ดำรงอยู่ในสภาวะอันสมบูรณ์ที่สุด’ ดังนั้น จะต้องมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันเป็นสาเหตุในการสร้างสิ่งอื่น ๆ ตามมา ทั้งสภาวะและความประเสริฐ หรืออะไรก็ตามที่เหมาะสมแก่สิ่งทั้งหลายเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ นักบุญอไควนัสจึงสรุปว่า สิ่งที่ประเสริฐและจริงแท้ที่สุดกว่าสิ่งใด ๆ คือ พระเจ้า
- ตามธรรมชาติแล้วทุกอย่างย่อมมีเส้นทางหรือพฤติกรรมที่ถูกกำหนดไว้ในการที่จะถูกโน้มนำไปในทางที่ถูก ที่ดี ที่ควร แม้ว่าสิ่งเหล่านั้นบางอย่างจะเป็นสิ่งที่ไร้ความรู้สึกนึกคิดก็ตาม ด้วยเหตุนี้ สิ่งนั้นจะต้องถูกกำกับผ่าน ‘ผู้’ ที่มีสติสัมปชัญญะอยู่เป็นแน่ ประหนึ่งลูกศรถูกยิงจากนักธนู นักบุญอไควนัสจึงสรุปไว้อย่างชัดเจนถึงการพิสูจน์การดำรงอยู่จริงของเพราะเจ้าว่า ‘ดังนั้น ทุกสรรพสิ่งในธรรมชาติย่อมถูกกำกับไปสู่จุดมุ่งหมายของมันโดยผู้ที่มีความเข้าใจถึงจุดมุ่งหมายของมันได้ และเราเรียกสิ่งนั้นว่า พระเจ้า’
อ้างอิง :
[1] Thomas Aquinas. Summa Theologiae. (Opera Omnia, Leonine end., Vol. vi). 1a.2.1-3