ทั่วโลกยกย่อง “พลังแห่งแผ่นดิน” ศาสตร์แห่งพระราชา ในการรักษาทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน

“ดิน” เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลก เป็นต้นทางที่คอยผลิตปัจจัยที่จำเป็นเกือบทุกอย่าง ทั้งอาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม และเชื้อเพลิง ดินยังช่วยพัฒนาระบบนิเวศทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ ช่วยดูดซับคาร์บอน ลดผลกระทบจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงของอากาศ เป็นตัวกรองทำน้ำให้สะอาด และมนุษย์เองก็สร้างที่อยู่อาศัยบนพื้นดิน ใช้พื้นดินทำกิจกรรมต่าง ๆ อีกเยอะแยะมากมาย

ทุกวันนี้โลกมีความเจริญทางเทคโนโลยีมากขึ้น แต่ดินนับวันจะเสื่อมโทรมลง ความต้องการใช้ทรัพยากรดินก็มีเพิ่มมากขึ้น โดยในทางข้อเท็จริงนั้น ดินเป็นทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด มีแต่เสื่อมสลายไป และไม่สามารถนำกลับมาทดแทนใหม่ได้ ซึ่งถ้าเราใช้ดินผิดประเภท ไม่มีการอนุรักษ์และป้องกันปัญหาที่ถูกต้อง คุณภาพของดินก็จะยิ่งเสื่อมโทรมลง เมื่อคุณภาพดินเสื่อม ก็จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่มาถึงมนุษย์ และถ้าดินมีความเสื่อมโทรมถึงขั้นรุนแรง การฟื้นฟูให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้เหมือนเดิมก็จะยิ่งยากขึ้น

ในหลวง ร.9 ทรงเล็งเห็นว่า ดินเป็นทรัพยากรที่ส่งผลโดยตรงต่อความมั่นคงทางอาหารของชาติ พระองค์ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ และวางโครงการเกี่ยวกับการฟื้นฟูดินจนประสบผลสำเร็จ สหประชาชาติ (UN) จึงได้ประกาศอย่างเป็นทางการให้วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของในหลวง ร.9 เป็น “วันดินโลก” (World Soil Day) เพื่อใช้เป็นโอกาสในการขับเคลื่อนกิจกรรมการรณรงค์และเผยแพร่ความรู้ทางด้านดิน ทั้งในระดับประเทศและระดับโลกอย่างต่อเนื่องเป็นรูปธรรม

จากจุดเริ่มต้นของพระเมตตา ที่ต้องการให้ประชาชนมีที่ดินทำกิน มีผลผลิตอาหารเพียงพอต่อการดำรงชีพ ทำให้เกิดโครงการพระราชดำริต่าง ๆ ที่ครอบคลุมทั้งการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการขาดแคลนที่ดินทำกินของเกษตรกร รวมไปถึงการอนุรักษ์และฟื้นฟูดิน

การขาดแคลนที่ดินทำกินของเกษตรกร เป็นปัญหาสำคัญที่สุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การพัฒนาที่ดินเป็นงานแรก ๆ ที่ในหลวง ร.9 ทรงให้ความสำคัญ โดยทรงเริ่มโครงการพัฒนาที่ดินหุบกะพง เมื่อปี พ.ศ 2511 เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกินของเกษตรกร นอกจากนั้นยังทรงนำเอาวิธีการปฏิรูปที่ดินมาพัฒนาพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม รกร้าง ว่างเปล่า นำมาจัดสรรให้เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกิน ได้ประกอบอาชีพในรูปของหมู่บ้านสหกรณ์ โดยให้สิทธิทำกินชั่วลูกชั่วหลาน แต่ไม่ให้กรรมสิทธิ์ในการถือครอง เพื่อป้องกันการถูกกว้านซื้อจากนายทุน นอกจากนี้ยังมีการจัดพื้นที่ทำกินให้ราษฎรชาวไทยภูเขา สามารถดำรงชีพอยู่ได้เป็นหลักแหล่งโดยไม่ต้องทำลายป่าอีกด้วย

โครงการพระราชดำริที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งคือ การอนุรักษ์และฟื้นฟูดิน ในหลวง ร.9 ทรงสนพระทัยและให้ความสำคัญกับงานอนุรักษ์ฟื้นฟูดินมาก พระองค์ทรงเห็นว่าดินมีสภาพธรรมชาติและปัญหาที่แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค ดินที่เหมาะสมสำหรับการเกษตร จะมีแร่ธาตุที่เรียกว่า ปุ๋ย ซึ่งส่วนประกอบสำคัญของปุ๋ยก็คือ nitrogen, phosphorus, potassium และแร่ธาตุอื่น ๆ คือ O H Mg Fe และดินก็ยังมีหลายระดับ เช่น เปรี้ยว ด่าง ใกล้เป็นกลาง (pH 7) มีความเค็มต่ำ มีจุลินทรีย์ มีความชื้นพอเหมาะ คือไม่แห้ง ไม่แฉะ มีความโปร่งพอเหมาะคือเป็นดินที่ไม่แข็ง เป็นต้น

จากรูปแบบของดินที่มีมากมาย ในหลวง ร.9 จึงมีพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาดินที่เน้นเฉพาะเรื่องมากขึ้น และครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เช่น การศึกษาวิจัยเพื่อแก้ปัญหาดินเค็ม ดินเปรี้ยว ดินทราย ในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัญหาดินพรุในภาคใต้ และที่ดินชายฝั่งทะเล รวมถึงการแก้ไขปรับปรุงและฟื้นฟูดินที่เสื่อมโทรมพังทลายจากการชะล้างหน้าดิน ตลอดจนการทำแปลงสาธิตการพัฒนาที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมในพื้นที่ที่มีปัญหาดินเสื่อมโทรม เพื่อให้พื้นที่เหล่านั้นกลับมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ โดยเป็นการรวบรวมความรู้ทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติจากหลากหลายสาขา มาใช้ร่วมกันในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ

และสิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมสำหรับโครงการนี้คือ การจัดการทรัพยากรดินในศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ทรงให้จัดตั้งขึ้น เพื่อทำการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการอนุรักษ์ดินและน้ำ สำหรับใช้เป็นตัวอย่างในการป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน การขยายพันธุ์พืชเพื่ออนุรักษ์ดิน และสนับสนุนให้เกษตรกรเรียนรู้วิธีการปรับปรุงบำรุงดิน จนสามารถนำไปปฏิบัติได้เอง

จากแนวพระราชดำริเกี่ยวกับเรื่องดินนี้เอง ทำให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการต่อ จนกลายเป็นวาระสำคัญในการพัฒนาชาติ โดยในปี พ.ศ. 2551 ได้มีตราพระราชบัญญัติพัฒนาที่ดินขึ้น เพื่อแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมของดินที่ไม่ได้รับการอนุรักษ์ ทำให้เกิดการชะล้างพังทลายของดิน สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคม

นอกจากนี้ยังมีการกำหนดมาตรการทางกฎหมาย เกี่ยวกับการสำรวจความอุดมสมบูรณ์ของดินตามธรรมชาติ การกำหนดแนวทางการอนุรักษ์ดินและน้ำ การวิเคราะห์ตรวจสอบตัวอย่างดิน หรือการปรับปรุงดิน ตลอดจนกำหนดมาตรการป้องกันไม่ให้ที่ดินเกิดการปนเปื้อนสารเคมีด้วย

พระราชบัญญัติพัฒนาที่ดินดังกล่าว มีกรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยราชการที่รับผิดชอบ โดยในปัจจุบัน นอกจากภารกิจภายในที่จะต้องดำเนินการแล้ว ยังมีการร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลก ในลักษณะความตกลงระหว่างประเทศด้วยคือ

  1. ร่วมมือกับสถาบัน IRD ประเทศฝรั่งเศส ในการจัดทำโครงการ IMPACT ASSESSMENT OF PLANTING RUBBER TREES ON SANDY SOILS IN NE THAILAND ระหว่างปี 2007 – 2010 โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (โครงการความร่วมมือ IRD – LDD)
  2. กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (Ayeyawady – ChaoPhraya – Mekong Economic Cooperation Strategy : ACMECS) ที่มีวัตถุประสงค์สร้างความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการพัฒนาการผลิตข้าวระหว่างประเทศ ACMECS และประกันความมั่นคงทางอาหาร การถ่ายทอดเทคโนโลยีและแบ่งปันข้อมูลในสาขาเกษตรกรรม ป่าไม้ การประมง ปศุสัตว์ และสัตวแพทย์ และการเพาะเลี้ยงพืชและสัตว์น้ำ เพื่อประกันความมั่นคงทางอาหารและส่งเสริมความเป็นอยู่ของเกษตรกร ขจัดความอดอยากและหิวโหยให้เป็นศูนย์
  3. Asian Soil Partnership ของ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations-FAO)
  4. การพัฒนาและส่งเสริมโครงการหมอดิน เพื่อการจัดการที่ดินและการเกษตรอย่างยั่งยืนในอนุภูมิภาคแม่โขง – ล้านช้าง (Mekong – Lancang Cooperation) มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ แนวปฏิบัติ และเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน ให้แก่เจ้าหน้าที่และเกษตรกรในประเทศอนุภูมิภาค แม่โขง – ล้านช้าง รวมถึงสร้างเครือข่ายเกษตรกร เพื่อการจัดการที่ดินและการเกษตรในอนุภูมิภาคฯ อย่างยั่งยืน
  5. อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย ของสหประชาชาติ (United Nations Convention to Combat Desertification) เป็นมาตรการทางกฎหมายระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นเพื่อจัดการปัญหาการแปรสภาพเป็นทะเลทรายโดยตรง อนุสัญญาฉบับนี้เป็นข้อตกลงที่วางกรอบให้ประเทศสมาชิกดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของที่ดินและการแปรสภาพเป็นทะเลทราย

ทั้งหมดนี้คือที่มาของ “วันดินโลก” (World Soil Day) ซึ่งเกิดจากพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของในหลวง ร.9 ในการวางแนวทางอนุรักษ์และแก้ปัญหาเกี่ยวกับดิน อันเป็นทรัพยากรทางธรรมชาติที่สำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ และการที่ทั่วโลกให้การยกย่องเชิดชูนั้น ก็ไม่ใช่แค่แบบพิธีการเท่านั้น แต่เป็นผลมาจากการที่พระองค์ได้ทรงลงมือปฏิบัติจริง อย่างเป็นขั้นเป็นตอน จนนำไปสู่ความสำเร็จในระดับชาติ สร้างประโยชน์ให้กับประชาชนในทุกพื้นที่ แบบเป็นรูปธรรมและจับต้องได้

ที่มา :

[1] หนังสือสถาปนากรมพัฒนาที่ดิน ครบรอบปีที่ 44 ด้วยพระบารมีฟื้นฟูปฐพีไทย : กรมพัฒนาที่ดิน
[2] ดิน มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ
[3] กรมพัฒนาที่ดิน

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า