ทลายข้อกล่าวหารัชกาลที่ 6 ‘คลัง’ ยัดรายจ่ายใส่ร้ายพระองค์ เปรียบเป็นแมลง ‘สุรุ่ยสุร่าย’ กินชาติจนแทบล่ม
รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวอาจเรียกได้ว่าเป็นยุคสมัยที่มีข้อถกเถียงที่หวือหวามากกว่ารัชสมัยอื่นๆ ทั้งประเด็นภายในราชสำนักที่ปรากฏจริงในรัชสมัย และยุคหลังที่มีผู้วิจารณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวย้อนกลับไป ทั้งนี้ไม่ว่าจะเรื่องราวที่เกิดขึ้นในขณะนั้น หรือขณะหลังนั้น มักจะเจือปนด้วยอารมณ์หรือข้อเท็จจริงที่อาจจะยังไม่ครอบคลุมพอจนส่งผลให้เกิดการตีความและเข้าใจรัชสมัยรัชกาลที่ 6 โดยผิดพลาดได้ โดยเฉพาะประเด็นหนึ่งที่โจษจันมากที่สุดคือคำกล่าวว่าพระองค์ใช้จ่ายเกินตัวจนทำให้สยามเกือบล้มละลายด้วยหนี้ที่มีมากในช่วงสิ้นรัชกาล
จำเป็นที่จะต้องเล่าย้อนกลับไปในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 เสียก่อนว่า [1] เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงต้องปฏิรูปแผ่นดิน และนั่นหมายถึงการจัดระเบียบราชการกระทรวงพระคลังมหาสมบัติที่จะต้องมีการวางระเบียบด้านการใช้จ่ายและการบัญชีใหม่นั้น พระองค์ได้ยืมตัว Mitchel Innes ผู้เชี่ยวชาญด้านการคลังชาวอังกฤษมาจากรัฐบาลอียิปต์เข้ามาเป็นที่ปรึกษา เมื่อ Innes ได้ศึกษาระเบียบการคลังของสยามในขณะนั้นเขาประเมินว่าการคลังของสยามในขณะนั้นไม่มีหนี้สินอยู่เลยซึ่งเป็นเมืองเดียวเท่านั้นในประเทศที่ถึงด้วยวัฒนธรรม แต่วิธีการเงินของสยามในขณะนั้นไม่สามารถบำรุงบ้านเมืองให้เท่าทันอย่างประเทศอื่นได้ การจะบำรุงทันนั้นจำเป็นต้องกู้เงิน ซึ่งรัชกาลที่ 5 เมื่อทรงอ่านรายงานอย่างถ้วนทั่วแล้วก็ได้นำความเห็นเข้าหารือในที่ประชุมเสนาบดีสภา และเป็นที่ตกลงกันว่าจะทำระเบียบใหม่โดยการจัดทำบัญชีและมีการ “โฆษณางบประมาณ” หรือการเปิดเผยตัวเลขเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับประเทศ
การจัดทำงบประมาณแบบใหม่นี้ทำให้เกิดการแบ่งแยกระหว่างเงินที่พระเจ้าแผ่นดินใช้ส่วนพระองค์แยกออกมาต่างหากจากระบบการเงินแบบเก่าที่อาจจะมีความคลุมเครืออยู่บ้าง ซึ่งการแยกให้มีเงินที่พระเจ้าแผ่นดินใช้ส่วนพระองค์เองนี้ เริ่มจากกระทรวงพระคลังมหาสมบัติได้กำหนดเงินสำหรับทรงใช้สอยส่วนพระองค์ปีละ 6 ล้านบาท แต่กระทรวงพระคลังมหาสมบัตินั้นในภายหลังกลับเอาค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น เงินเดือนข้าราชการ ค่าใช้สอยในการเสด็จประพาส การซ่อมแซมพระราชวัง แม้กระทั่งการเลี้ยงช้างเผือกให้มารวมอยู่ในเงิน 6 ล้านบาทนี้ทั้งหมด ทำให้รัชกาลที่ 5 ทรงเกิดอัตคัดไม่พอใช้ แต่พระองค์ได้รับปากไว้แล้วว่าจะรับเพียงปีละ 6 ล้านบาทจึงได้เกิดการลงทุนต่างๆ ขึ้นเพื่อหาเงินให้พอใช้ และกระทรวงพระคลังก็ได้เพิ่มเงินให้โดยในปีที่สวรรคตนั้นพระองค์ทรงได้เพิ่มเป็น 9 ล้านบาท แต่เมื่อรัชกาลที่ 6 ทรงขึ้นครองราชย์กระทรวงพระคลังมหาสมบัตินั้นก็ตัดเงินกลับไปเหลือปีละ 6 ล้านบาทโดยให้เหตุผลว่าเพิ่งขึ้นครองราชย์และไม่เคยขึ้นเงินให้เลยจน 7 ปีให้หลัง
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ ทรงต้องการทำตามแนวทางของรัชกาลที่ 5 ที่แยกกิจการส่วนตัวกับแผ่นดินออกจากกันให้ชัดไปอีกขั้น โดยทรงโยกกรมพระคลังข้างที่จากกระทรวงพระคลังมหาสมบัติมาเป็นส่วนราชการในพระราชสำนักขึ้นตรงต่อพระองค์ ซึ่งเมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์แล้วก็เกิดปัญหาที่แบงก์สยามกัมมาจลประสบวิกฤตจนอาจจะล้มสลายและสามารถส่งผลให้เกิดวิกฤตการเงินเป็นวงกว้างได้ โดยพระองค์ตัดสินใจเข้าไปอุ้มกิจการเอาไว้อันส่งผลต่อเม็ดเงินเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ราชการในรัชสมัยพระองค์นั้นพระองค์ไม่ปลดข้าราชการจากรัชสมัยก่อนออก และยังทรงตั้งหน่วยงานใหม่ๆ ขึ้น เช่น กรมมหรสพและกรมศิลปากร และราชการส่วนอื่นๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เบิกเงินที่พระองค์ทั้งสิ้นในจำนวนเงิน 6 ล้านบาทที่ถูกจัดถวายนั้น นอกจากนี้พระองค์ยังจัดทำนโยบายการคลังแบบใหม่หรือ “อุบายการคลัง” ที่คอยลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อให้เกิดการเจริญเติบโตดังที่พระองค์พระราชบันทึกไว้ว่า “คลังยังมิได้มีอุบายการเงินเลย, มัวคิดอยู่แต่ทางทำบัญชี ให้รายจ่ายพอดีกับรายรับอย่างเดียว… การที่ทำอย่างนี้ อย่างดีก็มีแต่เสมอตัว ไม่มีทางได้กำไรเลย. การบ้านเมืองที่จะให้ดำเนินไปโดยรวดเร็วก็ต้องยอมเสียเงินลงทุน… บัดนี้ถึงเวลาที่จะต้องรีบคิดให้มีอุบายการคลังจึ่งจะสามารถประทังความยุ่งและเสียหายแห่งพณิชยการ”
นอกจากนี้ในรัชสมัยของพระองค์นั้นยังมีเหตุปั่นป่วนจากสงครามโลกซึ่งส่งผลต่อค่าเงินและราคาสินค้าต่างๆ มากมาย แต่ถึงเช่นนั้นพระองค์ก็ตัดสินใจให้ลงทุนสร้างระบบชลประทานและขยายเส้นทางเดินรถไฟต่อโดยใช้เงินพระคลังข้างที่ แต่ในระหว่างที่ดำเนินการนี้เองได้เกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่ปีมะเส็งในปี พ.ศ.2460 และยังมีฝนแล้งติดกันอีกสามปีตั้งแต่ พ.ศ. 2461-2463 ทำให้การส่งออกข้าวลดลง และ พ.ศ. 2462 ยังเกิดวิกฤตค่าเงินปอนด์ซ้ำเติม ผสมกับความพยายามในการยกเลิกหวย ก.ข. ตั้งแต่ พ.ศ. 2458 ทำให้เงินอากรพนันนี้หายไปอีกปีละกว่า 7 ล้านบาท จนจำเป็นต้องกู้เงินจากลอนดอนมาในการรักษาเสถียรภาพของประเทศเอาไว้ โดยมิได้ทรงนำมาใช้จ่ายกิจการส่วนพระองค์เลย นอกจากนี้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติยังไปตกลงรับซื้อสถานทูตอังกฤษเดิมที่บางรักเป็นเงินเกือบ 2 ล้านบาท แต่กลับมาขอพระบรมชานุญาตในภายหลังอีกต่างหาก นั่นหมายความว่ารัชกาลที่ 6 ไม่เคยก้าวก่ายในการใช้เงินแผ่นดินเลย ฉะนั้นข้อครหาเรื่องการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยนั้นไม่มีความจริงเลย และขอยกพระราชบันทึกขนาดยาวมาประกอบการพิจารณาแก่ทุกท่านว่าประวัติศาสตร์ไม่ยุติธรรมกับพระองค์เพียงใด
“ถ้าฉันรู้ว่าคลังจะเล่นกับฉันเช่นนั้น ฉันคงมิได้ยอมตกลงตามคำขอของ… ว่าให้แยกกิจการส่วนตัวกับกิจการแผ่นดินเป็นคนละแผนก, เพราะพอหลุดปากยอมไปเช่นนั้นแล้วอะไรๆ กระทรวงพระคลังก็คอยแต่ปัดเอามาเป็น ‘ส่วนพระองค์’ เสียแทบทั้งนั้น, เว้นแต่ถ้าอะไรเป็นของที่คลังต้องการ, เช่นที่ดินและตึกเรือนโรงเป็นต้น, คลังก็เอาเสียเฉยๆ โดยไม่ยอมคิดค่าป่วยการหรือตอบแทนให้แก่ฉันเลยจนนิดเดียว… ใครๆ ให้ที่ดินแก่รัฐบาลเขาก็ได้รับขอบใจ แต่ฉันถูกเขาเอาเปล่าเสมอ. ไม่ทราบว่าทำไม… ท่านจึงชอบเอาเปรียบฉันนัก ทีทรัพย์สมบัติของฉันท่านเอาโดยไม่ขอบใจ, ไม่ต้องให้ใครรู้เห็นว่าฉันทำชอบแก่แผ่นดินบ้างเลย ทีฉันถึงเวลาอัตคัดจะขอพึ่งคลังสักนิดหน่อย ท่านไม่ยอมอุปการะเลย แต่ไหนแต่ไรมา, มิหนำซ้ำท่านชอบบ่นเรื่องฉันให้ลูกน้องของท่านฟัง, อ้ายพวกนั้นมันก็เก็บเอาไปพูดต่อกันคนละคำสองคำจนเป็นขี้ปากไอ้พวก ‘รักชาติ’, และอ้ายพวกนั้นเห็นฉันเป็นตัวแมลงสุรุ่ยสุร่ายใช้เงินอย่าง ‘ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ’, จะทำให้ชาติล่มจม ที่แท้ฉันไม่ได้เงินของกระทรวงคลังมาเลย ฉันจะทำให้ชาติล่มจมอย่างไรได้? เงินก็ไม่ให้ ด่าก็ด่า, ออกจะอาการหนักอยู่หน่อย!”
อ้างอิง :
[1] เรียบเรียงจาก วรชาติ มีชูบท, เกร็ดพงศาวดารรัชกาลที่ 6, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2554), หน้า 317-334.