“ถ้าฉันคิดรบ ก็จะรบเสียนานแล้ว” รัชกาลที่ 7 กับการเลือก ‘เป็นกลาง’ ในเหตุการณ์กบฏบวรเดช
วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 หลวงพิบูลสงครามได้ทำการรัฐประหารรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา จากนั้นได้ตั้งพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรีและทำการเปิดสภาฯ อีกครั้งหนึ่ง นับเป็นการชิงอำนาจจากผู้นำสายพลเรือนกลับคืนสู่คณะราษฎรอีกครั้ง และต่อมาได้มีการเรียกหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ผู้เขียนเค้าโครงการเศรษฐกิจที่ถูกมองว่ามีลักษณะเป็นคอมมิวนิสต์ กลับมาจากไปดูงานที่ประเทศฝรั่งเศส และแต่งตั้งหลวงประดิษฐ์ฯ เป็นรัฐมนตรี
เหตุการณ์นี้กลายเป็นหนึ่งในชนวนเหตุที่ทำให้เกิดการรวมตัวของ “คณะกู้บ้านกู้เมือง” เพื่อต่อต้านรัฐบาลคณะราษฎร นําโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหมผู้ทรงลาออกจากรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2474
คณะกู้บ้านกู้เมือง ได้รวบรวมกำลังทหารตามหัวเมืองต่างๆ โดยมีแหล่งรวมกำลังอยู่ที่นครราชสีมา จากนั้นได้เคลื่อนกำลังมาจนประชิดพระนครเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2476 และยื่นคําขาดให้คณะรัฐมนตรีลาออก โดยให้เหตุผลว่ารัฐบาลไม่ได้ปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ตามที่ประกาศไว้ และเพิกเฉยปล่อยให้มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเกิดขึ้น
ในส่วนของรัฐบาลนั้น ได้ปฏิเสธการเจรจาต่อรอง รวมทั้งได้ประกาศกฎอัยการศึกประณามคณะกู้บ้านกู้เมืองว่าเป็นกบฏ และเตรียมวางกำลังป้องกันโต้ตอบ
ขณะนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงประทับอยู่ที่สวนไกลกังวล หัวหิน และต้องทรงเผชิญกับภาวะ “ทางสองแพร่ง” เนื่องจากทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายของพระองค์เจ้าบวรเดช ต่างตั้งความหวังว่าพระองค์จะทรงเลือกสนับสนุนฝ่ายของตน อีกทั้งเหตุการณ์ในครั้งนั้นก็เป็นที่ชัดเจนว่า สิ่งที่ทรงเกรงอยู่ว่าจะเกิดขึ้น ได้เกิดขึ้นแล้วจริงๆ นั่นคือการที่มีเจ้านายในพระราชวงศ์ทำการลุกขึ้นสู้กับฝ่ายรัฐบาล ทั้งๆ ที่พระองค์ไม่ได้พระราชทานความสนับสนุนเลย ดังที่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงเล่าว่า …
“ในหลวงได้รับสั่งไว้แล้วว่าไม่ให้ยุ่ง … แม้แต่พระองค์เจ้าบวรเดช ในหลวงก็เคยรับสั่งห้ามว่าไม่ให้ทำอะไรเป็นอันขาด ขึ้นชื่อว่าเจ้าละก็ไม่ให้ทำอะไรทั้งนั้น ถ้าจะทำยิ่งร้ายใหญ่ …”
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงรับสั่งด้วยว่า ก่อนหน้านั้นขณะที่ประทับอยู่ที่หัวหิน ท่านวิบูลย์ฯ (หม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิ์วงศ์ สวัสดิกุล) ราชเลขานุการในพระองค์ ได้กราบบังคมทูลขอให้เสด็จไปบางปะอินเพื่อ พระราชทานพระกฐินหลวงตามราชประเพณีซึ่งทรงปฏิบัติเป็นประจำ แต่ในหลวงทรงรับสั่งว่า …
“ไปทําไมกันบางปะอิน ไปให้บวรเดชฯ จับหรือ ไม่ไป อยู่นี่แหละ”
การที่พระองค์ทรงปฏิเสธการเสด็จไปบางปะอิน เนื่องจากทรงเกรงว่าหากทหารฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองยกทัพผ่านลงมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็จะกักพระองค์ไว้เป็น “ตัวประกัน” เพื่อต่อรองกับฝ่ายรัฐบาล
ในครั้งนั้น หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ซึ่งประทับอยู่ที่หัวหินกับสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกไว้ว่า …
“เสด็จพ่อก็เสด็จไปฟังราชการในวังทุกเวลาเย็น … ไปนั่งอยู่ที่ท้องพระโรง บางวันก็ได้เฝ้าในหลวง บางวันก็เป็นแต่ไปอ่านรายงานที่ได้จากกรุงเทพฯ … ในหลวงทรงฟังทั้งสองฝ่ายก็ทรงมีลายพระหัตถ์ถึงพระยาพหลฯ ด้วยพระองค์เองเป็น 3 หน้ากระดาษ ทรงวิงวอนขออย่าให้มีการฆ่าฟันกันในระหว่างคนไทยในรัชกาลของพระองค์เลย … ขอให้ทั้งสองฝ่ายแต่งผู้แทนมาพูดจากันที่หัวหิน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยินดีจะเป็นคนกลางให้เรื่องสงบลง … ผลที่ได้รับคือ พระยาพหลฯ สั่งประกาศกฎอัยการศึกในทันที แล้วลงมือยิงกันด้วยปืนใหญ่ทางหลักสี่
ในหลวงทรงเศร้าโศกมาก ถึงทรงพระภูษาดำในวันแรกที่รู้ว่ายิงกันตาย ตรัสว่า ขอไว้ทุกข์ให้คนไทยที่ต้องตายโดยไม่จําเป็นสักหน่อยเถิด”
ในภาวะเช่นนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงพระกังวลมากขึ้นว่า หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดสามารถยกทหารมาประชิดพระองค์ได้แล้ว อาจยึดพระองค์ไว้เป็นหลักประกันความได้เปรียบ ซึ่งทรงยอมไม่ได้ เพราะนั่นย่อมกระทบกระเทือนยิ่งต่อความเป็นกลางของสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงทรงสั่งให้ทหารรักษาวังไปรักษาการตามจุดต่างๆ เช่น สถานีรถไฟ ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข เป็นต้น และหากพวกใดเคลื่อนกำลังเข้าสู่เขตหัวหิน ให้จับปลดอาวุธทันที ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงกองทหารรักษาวังมีจำนวนแค่หยิบมือเดียวทั้งปริมาณคนและอาวุธ
ในที่สุด พระองค์จึงได้ตัดสินพระราชหฤทัยว่า จะเสด็จฯ โดยทางเรือลงใต้สู่สงขลา เพื่อให้อยู่ห่างไกลจากความขัดแย้งรุนแรงที่กำลังดำเนินอยู่ ซึ่งบังเอิญในวันนั้น เรือเอกหลวงประดิยัตนาวายุทธ์ (เฉียบ แสงชูโต) นายทหารราชองครักษ์ ได้ติดเรือยามฝั่งหมายเลข 3 มาผลัดเวร จึงโปรดเกล้าฯ ให้เขาทำหน้าที่เป็นกัปตันควบคุมเรือยนต์พระที่นั่ง “ศรวรุณ” ลำเล็ก เพื่อใช้ในการเสด็จฯ เมื่อพร้อมแล้วจึงเสด็จลงเรือในคืนข้างแรมเวลาประมาณ 20.00 น. อย่างเงียบเชียบ
บนเรือนอกเหนือจากในหลวงรัชกาลที่ 7 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ สมเด็จกรมพระสวัสดิ์ฯ และพระองค์หญิงอาภาฯ แล้ว ยังมีพระญาติและข้าราชบริพารในพระองค์อีก 8 คน เมื่อรวมหลวงประดิยัตนาวายุทธ์ ลูกเรือ และทหารรักษาวังแล้ว ก็มีไม่เกิน 20 คน ตามขนาดของเรือ
หลวงประดิยัตนาวายุทธ์ ได้เขียนความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ในครั้งนั้นไว้้เมื่อปี พ.ศ. 2498 ว่า …
“เรือแล่นได้ไม่เชิงเท่าที่คาด และเข็มทิศเดินเรือก็ไว้ใจไม่ได้ทีเดียว จึงได้แล่นเกาะชายฝั่งระวังหินโสโครกไป ประสบกับคลื่นลมกรรโชกอยู่ระยะหนึ่ง ทุกคนหวั่นวิตกว่าเจ้านายจะต้องทรงลำบาก แต่คลื่นได้ลดถอยลงในเวลาอันรวดเร็ว หากแต่ได้มีแสงไฟเรืออีกลำหนึ่งส่องจ้ามาจากทางท้ายเรือ ทหารรักษาวังประจำปืน เดชะบุญเป็นเรือยามฝั่งหมายเลข 3 ลำเดิมตามมาจะถวายอารักขา แต่ได้โปรดเกล้าฯ ให้กลับไปทำหน้าที่ตามปกติ …
… ผู้โดยเสด็จฯ ต่างก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระบรมราชินี พระองค์ท่านได้ทรงพยายามที่จะทำให้ทุกคนมีความเบิกบานขึ้นบ้าง พระองค์ได้ทรงประกอบอาหารด้วยพระองค์เอง และทรงแจกจ่ายในยามกันดารนี้โดยทั่วถึง”
การปะทะกันระหว่างทหารฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายกบฏเริ่มทวีความรุนแรง จนเกิดเป็นเหตุการณ์นองเลือดขึ้นที่สมรภูมิบางเขน และสุดท้ายกองกำลังกบฏเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2476 โดยพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) นายทหารคนสำคัญคนหนึ่งของคณะกู้บ้านกู้เมืองถูกยิงเสียชีวิตที่บ้านหินลับ ส่วนพระองค์เจ้าบวรเดชทรงหนีออกนอกประเทศ ไปลี้ภัยอยู่ในดินแดนอินโดจีนของฝรั่งเศส
ภายหลังเหตุการณ์กบฏบวรเดช รัฐบาลได้ตามล่าตัวผู้ที่สงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการกบฏและการถวายความสะดวกต่างๆ ในการเสด็จพระราชดำเนินสู่สงขลา รวมทั้งหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ นายทหารรักษาวัง ซึ่งประทับอยู่กับในหลวงรัชกาลที่ 7
ในช่วงเวลานั้นเอง เรือรบหลายลำภายใต้การบังคับบัญชาของ นาวาเอก พระยาวิชิตชลธี ได้ประจำการอยู่ที่่สงขลา โดยในเย็นวันหนึ่ง คณะทหารเรือได้เข้าเฝ้าฯ ในหลวงรัชกาลที่ 7 ซึ่งหัวหน้าคณะได้กราบบังคมทูลว่า หากเป็นพระราชประสงค์จะยื่นคำขาดไปยังรัฐบาล ถ้ารัฐบาลไม่ยอม จะใช้ปืนเรือยิงเข้าไป พระองค์จึงทรงรับสั่งตอบว่า …
“ฉันในเวลานี้ไม่มีอำนาจอะไรแล้ว ได้แต่เพียงเตือนเท่านั้น ถ้าเชื่อก็ขอบใจ ถ้าไม่เชื่อก็ตามใจ ขออย่าได้ใช้อาวุธเลย จะเสียเลือดเนื้อของคนไทยไปโดยใช่เหตุ ถ้าฉันคิดรบ ก็จะรบเสียนานแล้ว”
จะเห็นได้ว่า ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงพยายามหลีกหนีความวุ่นวาย ไม่ให้ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายกบฏนำพระองค์เข้ามาเป็นองค์ประกันเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมือง ทั้งยังทรงเสนอพระองค์เป็นคนกลางในการเจรจาของทั้งสองฝ่ายเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรง หากแต่เป็นรัฐบาลเองที่ไม่ยอมรับในข้อเสนอนั้น
การตัดสินพระทัยของพระองค์ในครั้งนั้น จึงเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ชัดเจนว่า พระองค์ทรงเลือกที่จะ “เป็นกลาง” และมิได้สนับสนุนฝ่ายพระองค์เจ้าบวรเดชในการก่อกบฏเพื่อตีโต้คณะราษฎร ตามที่มีนักวิชาการบางคนกล่าวหาแต่อย่างใด
ที่มา :
[1] พระราชบันทึกทรงเล่าในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 : สถาบันพระปกเกล้า (พระราชทานสัมภาษณ์คณะกรรมการสมาคมสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย
[2] ปรีดา วัชรางกรู, พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระเมตตาหลวงราชกิจฯ อย่างไร, อนุสรณ์ในการพระราชทานเพลิงศพหลวงราชกิจวรเดช (โฉม เคนคำ) ณ ฌาปนสถานวัดอัมพาราม, 11 พฤษภาคม 2517.
[3] พูนพิศมัย ดิศกุล, สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น