ถุงพระราชทาน ไม่ได้มาจากภาษีประชาชน แต่มาจากสายธารน้ำพระทัยของในหลวง ที่สืบสานต่อมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 9

วันที่ 26 ตุลาคม 2505 ได้เกิดพายุโซนร้อนชื่อ “แฮเรียต” พัดผ่านทางตอนใต้ของประเทศไทย ยังความเสียหายให้เกิดแก่จังหวัดภาคใต้ถึง 12 จังหวัด ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นห่วงผู้ประสบภัย และทรงติดต่อขอเครื่องบินจากกองทัพอากาศให้รีบเดินทางไปช่วยเหลือโดยด่วน นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สถานีวิทยุ อส.พระราชวังดุสิต ประกาศโฆษณาเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทรัพย์และสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยอีกด้วย โดยได้ทรงดนตรีให้คนขอเพลงโดยบริจาคเงินช่วยผู้ประสบภัย และทรงรับและพระราชทานสิ่งของด้วยพระองค์เอง

ความเดือดร้อนครั้งนั้นของประชาชนในภาคใต้ เป็นความเดือดร้อนสาหัสอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ประชาชนในภาคอื่นๆ ได้ช่วยกัน “ทำบุญร่วมกับในหลวง” อย่างเต็มที่ เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและรักษาชีวิตของผู้ที่รอดตาย ความช่วยเหลือได้หลั่งไหลเข้าสู่สถานีวิทยุ อส. ชั่วระยะเวลา 1 เดือน มีผู้บริจาคทรัพย์ถึง 11,000,000 บาท และสิ่งของประมาณ 5,000,000 บาท

ความร่วมมือร่วมใจระหว่างประชาชนและพระมหากษัตริย์ในครั้งนี้ ส่งผลให้ผู้ที่ไม่สามารถบริจาคทรัพย์และสิ่งของได้ก็บริจาคเป็นแรงงานแทน โดยสิ่งที่น่าปลาบปลื้มใจยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ มีการลงแรงงานโดยอาสาสมัครซึ่งส่วนมากเป็นนิสิต นักศึกษา ลูกเสือและนักเรียน ได้ทำการจัดและขนส่งสิ่งของไปบรรเทาภัยแก่ประชาชน มีการแจกอาหาร เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค จัดซ่อมแซมบ้าน และสร้างที่พักชั่วคราว

ผลของพายุแฮเรียตในครั้งนั้น ทำให้เด็กจำนวนหนึ่งต้องกำพร้า เมื่อสิ้นบิดามารดาก็ขาดผู้อุปการะ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชประสงค์ให้เด็กเหล่านี้ได้เรียนหนังสือตามกําลังความสามารถ เพื่อที่พวกเขาจะได้ช่วยตัวเองและเป็นกําลังรับใช้ประเทศชาติต่อไป จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินให้กระทรวงศึกษาธิการ สร้างโรงเรียนประชาบาลที่ถูกพายุพัดพัง รวม 12 โรงเรียน ใน 5 จังหวัดภาคใต้ และพระราชทานชื่อว่า “โรงเรียนราชประชานุเคราะห์

เมื่อได้ช่วยเหลือประชาชนในระยะแรกแล้ว ยังเหลืองบประมาณ อีก 3,000,000 บาท พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริว่า …

“เงิน 3,000,000 บาทนี้ ควรตั้งเป็นทุน เพื่อหาดอกผลสำหรับสงเคราะห์เด็ก ซึ่งครอบครัวต้องประสบวาตภัยภาคใต้ และขาดผู้อุปการะเลี้ยงดูประการหนึ่ง และสำหรับสงเคราะห์ช่วยเหลือราษฎร ผู้ประสบสาธารณภัยทั่วประเทศ”

ด้วยเหตุนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงนำเงิน 3,000,000 บาท ให้เป็นทุนประเดิมก่อตั้งมูลนิธิ และพระราชทานนามว่า “มูลนิธิราชประชานุเคราะห์” และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อยู่ใน “พระบรมราชูปถัมภ์” พร้อมกับทรงดำรงตำแหน่งพระบรมราชูปถัมภกแห่งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ นี้ด้วย

ชื่อของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ หมายความว่า “พระราชา” และ “ประชาชน” อนุเคราะห์ซึ่งกันและกัน เป็นการแสดงน้ำพระทัยว่า เวลาทำงานควรจะให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมด้วย มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้ก่อกำเนิดขึ้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีต่อพสกนิกรของพระองค์ โดยได้ทรงมีพระราชดำริว่า ภัยธรรมชาติหรือสาธารณภัยอาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ ไม่มีผู้ใดจะคาดหมายได้ ดังที่ได้เกิดขึ้นที่แหลมตะลุมพุกจังหวัดนครศรีธรรมราช และอีกหลายจังหวัดภาคใต้

มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ดำเนินงานเพื่อให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ รวมทั้งสงเคราะห์ด้านการศึกษา ด้วยการมอบทุนการศึกษาแก่เด็กกำพร้าหรือเด็กอนาถา ที่ครอบครัวประสบกับสาธารณภัย และนักเรียนที่เรียนดี ในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ อีกทั้งยังร่วมมือกับองค์กรการกุศลต่างๆ เพื่อสาธารณประโยชน์ และช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความทุกข์ยากเดือดร้อนประการอื่นๆ อีกด้วย

สำหรับทุนดำเนินงานของทางมูลนิธิฯ นั้น มีทั้งจากเงินที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานอุดหนุน จากผู้ที่มีจิตศรัทธาบริจาค จากทรัพย์สินซึ่งมีผู้ยกให้ และจากดอกผลอันเกิดจากทรัพย์สินที่เป็นทุนของมูลนิธิฯ ภายใต้การดำเนินงานที่ยึดมั่นในพระบรมราโชบาย “… ให้ไปให้ความอบอุ่นไปช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากโดยฉับพลัน ทำให้ผู้ประสบภัยได้รับการช่วยเหลือ มีกำลังใจที่จะปฏิบัติงานต่อไป …”

ปัจจุบัน ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงรับมูลนิธิฯ ไว้ในพระราชูปถัมภ์ และทรงดำรงตำแหน่ง “องค์พระราชูปถัมภก” แห่งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย และทรงห่วงใยทุกข์ยากของราษฎรเป็นอันดับแรก

พระองค์ได้พระราชทานแนวทางในการปฏิบัติ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยให้เป็นระบบ รวดเร็ว และไม่ซ้ำซ้อน โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ องคมนตรี ผู้แทนพระองค์ ร่วมกับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ นำสิ่งของพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภค มอบแก่ราษฎรผู้ประสบภัย อีกทั้งได้รับการสนับสนุนความร่วมมือจากส่วนราชการต่างๆ ให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทั่วถึง และทรงห่วงใยผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติ โดยพระราชทานทุนการศึกษา เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ และเยียวยาผู้ได้รับความสูญเสีย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

การใช้จ่ายเงินของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ นั้น อยู่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับ ซึ่งมีการควบคุมตรวจสอบอย่างรอบคอบ และในปัจจุบันได้มีการจัดระบบการดำเนินการของมูลนิธิเสียใหม่ โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ เพื่อให้เกิดความชัดเจน และตรวจสอบได้ในประเด็นเรื่องเงินทุนของมูลนิธิ ดังนี้

ทุนและทรัพย์สิน

  1. ทุนเริ่มแรก ได้แก่ เงินสดส่วนหนึ่งของการบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลช่วยเหลือผู้ประสบวาตภัยภาคใต้ เมื่อปี พ.ศ. 2505 ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งเป็นทุนประเดิมจำนวน 3,000,000 บาท
  2. ทุนชื่อผู้บริจาค คณะกรรมการบริหารได้ออกระเบียบให้มีการรับบริจาคเงินจัดตั้งเป็นทุนในมูลนิธิ โดยใช้เฉพาะดอกผลเพื่อการสงเคราะห์ผู้ประสบสาธารณภัย ตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2520
  3. ทุนดําเนินงาน คณะกรรมการบริหารมีมติเป็นเอกฉันท์ให้จัดสรรเงินฝากธนาคารเพื่อความมั่นคงของมูลนิธิ ดังนี้
    3.1 ตั้งเป็นทุนดําเนินงานตามวัตถุประสงค์ จำนวน 2,502,126,227 บาท โดยใช้เฉพาะดอกผล
    3.2 ตั้งเป็นทุนการศึกษาสงเคราะห์ จำนวน 100,000,000 บาท โดยใช้เฉพาะดอกผล

จากการดำเนินงานที่ผ่านมา มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระราชูปถัมภ์ ได้ให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามแผนเร่งด่วน โดยการสนับสนุนอาหาร และน้ำดื่ม รวมถึงสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น เข้าถึงพื้นที่ประสบภัยพิบัติอย่างรวดเร็ว และตรงจุด อีกทั้งยังได้มอบถุงยังชีพพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ผู้ประสบภัย ให้สามารถดำรงชีวิตและต่อสู้กับปัญหาที่เกิดขึ้นได้

ส่วนการช่วยเหลือระยะยาวนั้น มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ได้มีการสำรวจครอบครัวผู้เสียชีวิตจากภัยธรรมชาติ โดยมอบทุนพระราชทานเพื่อการศึกษาสงเคราะห์ให้แก่เด็กที่บิดา มารดา หรือผู้ปกครอง เสียชีวิตจากภัยต่างๆ ให้สามารถมีโอกาสศึกษาเล่าเรียน สร้างอนาคตที่ดี และเป็นกำลังสำคัญของครอบครัวต่อไป

ถุงพระราชทาน จึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับงบประมาณภาษีที่รัฐบาลจัดสรรให้กับพระมหากษัตริย์ตามที่มีผู้พยายามบิดเบือนแต่อย่างใด หากแต่เป็นเรื่องของสายใยความผูกพันระหว่างพระเจ้าอยู่หัวและประชาชน ดังพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานแก่คณะกรรมการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต 15 พฤษภาคม 2533 ความว่า …

“… ตั้งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ขึ้น ด้วยความประสงค์ที่จะช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติโดยฉับพลัน ซึ่งทางราชการก็มีหน่วยงานอยู่แล้วที่จะช่วยเหลือผู้ประสบภัย แต่เห็นว่าประชาชนทั่วๆ ไป เมื่อทราบว่าเพื่อนร่วมชาติได้รับความเดือดร้อนก็อยากจะช่วยด้วย ฉะนั้น ต้องตั้งโครงการอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เป็นทางราชการ เพื่อที่จะประสานน้ำใจเมตตาปราณีของคนทั่วประเทศ ได้ตั้งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ขึ้นมา และได้ถือปฏิบัติดังนี้ คือ เมื่อมีภัยธรรมชาติใดๆ เกิดขึ้น มีเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ เข้าไปช่วยเลย ให้งานรวดเร็ว และไม่บกพร่อง …”

ที่มา :

[1] วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดนครศรีธรรมราช, 2554
[2] มูลนิธิมั่นพัฒนา มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ (พ.ศ. 2506)
[3] พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงห่วงใยราษฎรที่ประสบอัคคีภัยในพื้นที่ชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ เขตปทุมวัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้นายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี ร่วมกับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เชิญถุงพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภค ไปมอบแก่ผู้ประสบเหตุอัคคีภัย เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น
[4] ช่องทาง “ทำบุญกับในหลวง”

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า