“ต่อไปนี้จะไม่โปรเต๊กโทรน” เมื่อปรีดี ไม่พอใจในหลวงรัชกาลที่ 8 จนแสดงจุดยืนไม่ปกป้องราชบัลลังก์อีกต่อไป
สถานการณ์ทางการเมืองไทยช่วงปี พ.ศ. 2489 ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่ในหลวงรัชกาลที่ 8 สวรรคตนั้น มีเหตุการณ์ความขัดแย้งจากหลายฝ่าย หลายประเด็น แต่ประเด็นที่ถือเป็นความขัดแย้งมากที่สุดประเด็นหนึ่งตามที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกมาพิจารณาคือ ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและในหลวงรัชกาลที่ 8 หรือหากจะกล่าวโดยเฉพาะเจาะจงก็คือ นายกรัฐมนตรี ซึ่งก็คือนายปรีดี พนมยงค์ และในหลวงรัชกาลที่ 8 นั่นเอง โดยประเด็นดังกล่าวคือ ประเด็นการตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ขณะที่ในหลวงรัชกาลที่ 8 จะเสด็จกลับไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ
การตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้น ในหลวงรัชกาลที่ 8 ได้ทรงทาบทามขอให้กรมพระยาชัยนาทนเรนทรทรงเป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่กรมพระยาชัยนาทนเรนทรทรงอิดเอื้อนไม่สู้เต็มพระทัยนัก ในหลวงรัชกาลที่ 8 จึงทรงขอร้องพระองค์เจ้าธานีนิวัติให้ทรงเป็นประธาน แต่พระองค์เจ้าธานีนิวัติกราบบังคมทูลขัดข้อง จึงทรงเคี่ยวเข็ญที่จะให้พระองค์เจ้าธานีนิวัติรับเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วย ซึ่งพระองค์เจ้าธานีนิวัติกราบบังคมทูลว่า ถ้ากรมพระยาชัยนาทนเรนทรทรงรับเป็นประธานแล้ว พระองค์เจ้าธานีนิวัติก็ไม่ขัดข้องเหมือนกัน ส่วนอีกคนหนึ่ง ทรงเลือกเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ
แต่พอในหลวงรัชกาลที่ 8 ทรงมีพระราชกระแสกับนายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2489 ในเวลาค่ำหลังจากเสวยพระกระยาหารแล้ว ก็ได้รับการทัดทานจากนายปรีดีฯ ทันที โดยนายปรีดีฯ ขอให้เปลี่ยนเป็นพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ทรงเป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และให้พระองค์เจ้าอลงกฎ กับพระยามานวราชเสวีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
นายปรีดีฯ ได้กราบบังคมทูลอ้างเหตุผลว่า ถ้าตั้งตามพระราชดำริจะลำบาก หากรัฐสภาไม่เห็นด้วยก็จะเป็นการเสื่อมเสียพระเกียรติยศ ฝ่ายในหลวงรัชกาลที่ 8 ก็ทรงโต้แย้งว่า ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะต้องเป็นผู้รักษาประโยชน์ของบ้านเมือง ทั้งจะต้องเป็นผู้ไว้วางพระราชหฤทัยว่าจะเป็นประโยชน์แก่แผ่นดินด้วย นายปรีดีฯและในหลวงรัชกาลที่ 8 จึงได้มีการถกเถียงกันร่วมชั่วโมง แต่ก็ตกลงกันไม่ได้
เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 8 ทรงรับสั่งเล่าให้สมเด็จพระราชชนนีฟัง และกราบบังคมทูลถามว่า “ตามรัฐธรรมนูญ ใครเป็นผู้มีอำนาจตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” พระราชนนีทรงรับสั่งตอบว่า “พระมหากษัตริย์เป็นผู้ตั้ง” ในที่สุดในหลวงรัชกาลที่ 8 จึงได้รับสั่งว่า “วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน จะทรงเรียกประธานสภาฯ มาแจ้งพระราชประสงค์ให้ทราบ”
ศาลอุทธรณ์พิจารณาวินิจฉัยข้อเท็จจริงต่อไปด้วยว่า นายปรีดีฯ มีความรู้สึกต่อต้านในหลวงรัชกาลที่ 8 อย่างไร โดยได้ความจากหม่อมเจ้านิกรเทวัญเมื่อครั้งไปติดต่อเรื่องราชการกับนายปรีดีฯ ซึ่งนายปรีดีฯ เคยพูดกับหม่อมเจ้านิกรเทวัญว่า “กับล้นเกล้าล้นกระหม่อมนั้น นายปรีดีฯ มีความจงรักภักดี แต่น่าเสียดายที่ทรงเชื่อฟังคนอื่นอยู่บ้าง” ซึ่งทำให้หม่อมเจ้านิกรเทวัญคิดว่า ในหลวงรัชกาลที่ 8 กับนายกรัฐมนตรีคงมีอะไรขัดกัน
นอกจากนั้น ยังได้ความจากนายวงศ์ เชาวนะกวี (พระอาจารย์ที่รับหน้าที่สอนภาษาไทยแก่ในหลวงรัชกาลที่ 8 และ รัชกาลที่ 9 อย่างใกล้ชิด) ว่า เมื่อเช้าวันที่ 8 มิถุนายน 2489 เวลา 9 นาฬิกา ได้ไปพบนายปรีดีฯ ตามคำสั่งที่ทำเนียบท่าช้าง นายปรีดีฯ ถามว่า “เข้าวังทุกวันหรือไม่ และรู้เรื่องการตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่”
นายวงศ์ฯ ตอบว่า “เข้าวังทุกวัน แต่ไม่ทราบเรื่องแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์”นายปรีดีฯ จึงพูดถึงผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามพระดำริของในหลวงรัชกาลที่ 8 ว่า “ไม่เชื่อว่ากรมพระยาชัยนาทนเรนทรจะให้ความเป็นธรรมแก่พระราชวงศ์ได้ พระองค์เจ้าธานีนิวัติก็ไม่เคยสนับสนุนการปกครองแบบใหม่เลย นิยมแต่ลัทธินุ่งผ้า เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศก็อยู่ในบัญชีทางโน้นซึ่งแพ้โหวตมา”
นายปรีดีฯ ยังแสดงความไม่พอใจ โดยพูดว่า “ล้นเกล้าล้นกระหม่อมได้ราชบัลลังก์เพราะอาศัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ควรคิดถึงลูกเมียของท่าน” เพราะนายปรีดีฯ ต้องการให้สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และนายปรีดีฯ ยังได้แสดงความโกรธเคืองอย่างมาก ถึงกับพูดว่า “ในหลวงจะรู้อะไร” พร้อมกับพูดอะไรอีกหลายคำ โดยประโยคสุดท้ายได้กล่าวว่า …
“ต่อไปนี้จะไม่โปรเต๊กโทรนอีก” ซึ่งคำนี้เข้าใจหมายความว่าจะไม่ป้องกันมงกุฎหรือราชบัลลังก์
ในตอนบ่ายวันนั้น ก่อนเข้าเฝ้าในหลวงรัชกาลที่ 8 นายวงศ์ฯ ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระราชชนนีบนพระที่นั่งบรมพิมานก่อน โดยนายวงศ์ฯ ได้กราบทูลสมเด็จพระราชชนนีถึงความทั้งหมดที่นายปรีดีฯ พูด และทูลถามว่า “เรื่องนี้เท็จจริงประการใดหรือไม่” สมเด็จพระราชชนนีรับสั่งว่า “จริง นายปรีดีฯ ต้องการให้สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีเป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระองค์เจ้าอลงกฎ และพระยามานวราชเสวีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์”สุดท้ายก็ทรงรับสั่งว่า “ดูเอาเถอะ มหาวงศ์” แล้วก็ทรงกรรแสง
ในประเด็นนี้ ศาลอุทธรณ์ไม่ปลงใจเชื่อคำให้การของนายวงศ์ หากไม่มีหลักฐานอื่นสนับสนุนด้วย เดิมนายวงศ์ฯ เคยถวายตัวเป็นมหาดเล็กสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมา พอพระองค์ท่านเสด็จทิวงคตก็เข้ามาทำงานเป็นทหารเรือในตำแหน่งอนุศาสนาจารย์ นายวงศ์ฯ รู้จักกับนายปรีดีฯ ในขณะที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และได้ติดต่อกันมาเสมอ โดยมีความสนิทสนมกันฉันท์ผู้ใหญ่ต่อผู้น้อยธรรมดา ในงานด้านเสรีไทยซึ่งนายปรีดีฯ เป็นหัวหน้าใหญ่ นายปรีดีฯ ก็เคยมอบหมายงานบางอย่างของเสรีไทยให้กระทำ เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 8 เสด็จนิวัตพระนคร จึงโปรดเกล้าฯ ให้นายวงศ์ฯ เป็นผู้กราบทูลถวายระเบียบประเพณีทางพุทธศาสนา และวิชาอื่นๆ แด่ในหลวงรัชกาลที่ 8 และพระอนุชา
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า แม้นายวงศ์ฯ จะเพิ่งรู้จักมักคุ้นกับนายปรีดีฯ แต่ก็เป็นเวลานานพอที่จะได้รับความไว้วางใจ มิฉะนั้นนายวงศ์ฯ ก็คงไม่กล้ากล่าวยืนยัน อนึ่ง การที่นายวงศ์ฯ จะเหยียบย่างเข้าสู่พระราชสำนักจนสามารถเข้าใกล้ชิดพระมหากษัตริย์อันนับว่าเป็นเกียรติที่น่าภูมิใจนั้น ก็ด้วยการสนับสนุนของนายปรีดีฯ ในขณะที่นายปรีดีฯ กำลังเรืองอำนาจวาสนา
สำหรับการที่นายวงศ์ฯ อ้างว่าได้กราบทูลคำพูดของนายปรีดีฯ ให้สมเด็จพระราชชนนีทรงทราบในวันเดียวกัน กรณีนี้มิใช่ว่านายวงศ์ฯ มีเจตนาปลุกปั่นให้เกิดความแตกร้าวระหว่างในหลวงรัชกาลที่ 8 กับนายกรัฐมนตรี เพราะหากนายวงศ์ฯ ทำเช่นนี้ก็มิได้ทำให้ฐานะของนายวงศ์ฯ ดีขึ้นแต่อย่างใดเลย ด้วยเหตุเพราะอีกไม่กี่วันข้างหน้า ในหลวงรัชกาลที่ 8 จะเสด็จไปจากประเทศไทยแล้ว นายวงศ์ฯ อยู่ข้างหลังนี้ก็จะมีแต่ต้องเผชิญวิบากกรรมตามลำพัง ซึ่งคงไม่มีมนุษย์ปุถุชนใดใคร่จะได้พบกับเหตุการณ์ลักษณะนี้เลย ยิ่งหากความปรากฏในภายหลังว่าข้อความนี้เป็นเท็จ ก็ไม่ต้องสงสัยว่านายวงศ์ฯ จะไม่เสียคน
การที่นายวงศ์ฯ กราบทูลสมเด็จพระราชชนนีเพื่อที่ความนั้นจะได้ทรงทราบถึงในหลวงรัชกาลที่ 8 จึงอาจเป็นหนทางให้เกิดความประนีประนอมกันได้ดีที่สุดสำหรับเวลานั้น ต่อมาเมื่อในหลวงรัชกาลที่ 8 เสด็จสวรรคต ซึ่งตามความคิดของนายวงศ์ฯ คิดว่าว่าถูกลอบปลงพระชนม์ ดังนั้น คำกล่าวว่า “จะไม่โปรเต๊กโทรน” จึงกลายเป็นถ้อยคำที่มีเลศนัย
จากกระแสรับสั่งของสมเด็จพระราชชนนี ในชั้นพิจารณา ปรากฏข้อความสำคัญว่า เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน นายวงศ์ฯ ได้กราบทูลว่านายปรีดีฯ ไม่พอใจผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งล้นเกล้าล้นกระหม่อมทรงเลือก ว่าสู้คนที่นายปรีดีฯ เลือกขึ้นมาไม่ได้ และถึงกับทูลอีกว่า “จะไม่สนับสนุนราชบัลลังก์” แต่ถ้อยคำที่นายวงศ์ฯ พูดจริงๆ ว่าอย่างไรทรงจำไม่ได้แล้ว เท่าที่ทรงให้การนี้เป็นใจความตามที่นายวงศ์ฯ ได้พูดเช่นนั้น นายวงศ์ฯ ประสงค์จะให้สมเด็จพระราชชนนีนำความขึ้นกราบบังคมทูลในเมื่อมีโอกาส แต่สมเด็จพระราชชนนีทรงเห็นว่าล้นเกล้าฯ ทรงไม่สบายเกี่ยวด้วยพระนาภี และพระอาเจียนด้วย จึงมิได้กราบทูลให้ทรงทราบ
ซึ่งกระแสรับสั่งในชั้นสอบสวนของสมเด็จพระราชชนนีที่ทรงรับรองว่ายังทรงจำได้ดีและถูกต้องนั้นมีอยู่ว่า …
“… มหาวงศ์เล่าว่า เมื่อเช้านายปรีดีฯ โกรธใหญ่ เกี่ยวแก่เรื่องตั้งผู้สำเร็จราชการ ในหลวงต้องพระประสงค์กรมขุนชัยนาท พระองค์เจ้าธานีฯ เจ้าพระยาศรีฯ ดูซิกรมขุนชัยนาทก็เป็นคนไม่เป็นธรรมคราวแบ่งมรดกกรมขุนไชยา พระองค์เจ้าธานีฯ นั้นเวลามีงานรัฐธรรมนูญก็ไม่เคยเสด็จและยังถือลัทธิเสนีย์นุ่งผ้า เจ้าพระยาศรีฯ ก็แพ้โหวตในสภา ในหลวงท่านจะทรงทราบอะไรว่าใครควรเป็นผู้สำเร็จ คงมีผู้กราบบังคมทูล
ต่อไปนี้ฉันจะไม่โปรเต๊กราชบัลลังก์อีก …”
จากที่ข้อเท็จจริงทั้งหมดข้างต้น คือร่องรอยสำคัญของประโยคประวัติศาสตร์ “ต่อไปนี้จะไม่โปรเต๊กโทรน” ที่นายปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวขึ้นอย่างฉุนเฉียวเมื่อครั้งมีความขัดแย้งกับในหลวงรัชกาลที่ 8 ในวันที่ 7 มิถุนายน 2489 โดยต่อมาวันที่ 9 มิถุนายน ได้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 8 เสด็จสวรรคตด้วยพระแสงปืนอย่างมีปริศนา จนกระทั่งทุกวันนี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าเกิดจากสาเหตุใด และมีบุคคลใดอยู่เบื้องหลัง
ที่มา :
[1] คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีลอบปลงพระชนม์ในหลวงรัชกาลที่ 8