ตีแผ่หนังสือ Love and Death of King Ananda Mahidol of Thailand : EP 4
ว่าด้วยปัญหาการใช้เอกสารหลักฐานอ้างอิง และ บทสรุป
จากที่ทีมงาน ฤา ได้นำเสนอบทวิจารณ์หนังสือ Love and Death of King Ananda Mahidol of Thailand ของ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ไปแล้วทั้ง 3 ตอน สำหรับตอนนี้ จะเป็นการวิเคราะห์เพิ่มเติมในจุดต่างๆ ที่เป็นการปรุงแต่งเอกสารชั้นต้นเข้ากับคำบอกเล่าจากแหล่งต่างๆ เพื่อชี้นำไปสู่ธงที่ปวินฯ ได้ตั้งเอาไว้ รวมถึงบทสรุปของหนังสือเล่มนี้ ว่าควรมีที่ทางอยู่ตรงไหนในแวดวงหนังสือวิชาการ เราไปดูกันเลยครับ
จุดที่ 5
หนังสือ Love and Death of King Ananda Mahidol of Thailand หน้า 81 ย่อหน้า 2 การอ้างอิงที่ 81 ปวินฯ อ้างถึงการสัมภาษณ์บุคคลนิรนาม (The interviewee requests to be treated anonymously because of the sensitive nature of the issue) ที่ได้ความว่า เมื่อครั้งในหลวง ร.8 เสด็จที่โบสถ์อัสสัมชัญ พระองค์ทรงปรึกษาพระคาร์ดินัลรูปหนึ่ง ถึงความเป็นไปได้ในการแต่งงานกับหญิงสาวชาวอิตาเลี่ยน (มารีลีน มีบรรพบุรุษเป็นอิตาเลี่ยน) โดยการสนทนาระหว่างในหลวง ร.8 กับพระคาร์ดินัลนั้น ตอนแรกไม่ได้มีการบันทึกเอาไว้ แต่ต่อมา ปวินฯ อ้างว่ามีการบันทึกบทสนทนานี้เอาไว้ด้วย (I was informed by a source that Cardinal Perros subsequently wrote down a note reporting that King Ananda came to see him to consult on a possible marriage with an “Italian lady.”) ซึ่งปวินฯ อ้างอิงเพียงแค่การสัมภาษณ์กับบุคคลนิรนาม แต่ไม่ได้อ้างอิงหลักฐานการบันทึกบทสนทนานั้นแต่อย่างใด
ในเมื่อปวินฯ อ้างว่า บทสนทนาของในหลวง ร.8 กับพระคาร์ดินัล มีการบันทึกเอาไว้แล้ว แทนที่จะใช้บันทึกฉบับนั้นเป็นเอกสารชั้นต้นเพื่อให้การอ้างอิงมีความน่าเชื่อถือ แต่ปวินฯ กลับไปอ้างคำกล่าวของบุคคลนิรนาม เพื่อด้อยค่างานเขียนของตัวเองไปเสียได้
จุดที่ 6
หนังสือ Love and Death of King Ananda Mahidol of Thailand หน้า 104 อ้างอิงที่ 14 ในส่วนที่กล่าวถึงข้อสันนิษฐานกรณีสวรรคตของในหลวง ร.8 นั้น ปวินฯ อ้างอิงจากข้อคิดเห็นของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล โดยสมศักดิ์ฯ อ้างอิงจากการให้สัมภาษณ์ของ พูนศุข พนมยงค์ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2500 โดยพูนศุขฯ ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Observer ทำนองว่า กรณีสวรรคตนี้ มีความเกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญกับในหลวง ร.9 (“if he really wants to know the truth about the regicide of 1946, he should ask the King”)
ปวินฯ ยังได้อ้างอิงต่อไปในรายการที่ 15 ด้วยวิทยานิพนธ์เรื่อง “การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใตระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา” ของ ณัฐพล ใจจริง ที่ต่อมาได้พัฒนามาเป็นหนังสือ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี” ซึ่งหนังสือเล่มนี้ ได้ถูกตีแผ่ว่าตั้งใจบิดเบือนหลักฐานทางประวัติศาสตร์ จนเป็นประเด็นการเพิกถอนวิทยานิพนธ์ และณัฐพลฯ ก็ได้ถูกทายาทราชสกุลรังสิตฟ้องร้องเป็นคดีความอยู่ในศาลนั่นเอง
คำบอกเล่าจาก พูนศุข พนมยงค์ เกี่ยวกับประเด็นการให้สัมภาษณ์กรณีสวรรคตแก่หนังสือพิมพ์ Observer นั้น มีข้อโต้แย้งเรื่องความน่าเชื่อถือ และมีผู้วิเคราะห์ไปแล้วอย่างละเอียดว่า บทสัมภาษณ์ของพูนศุขฯ ไม่เคยถูกตีพิมพ์ลง The Observer ในปี พ.ศ. 2500 (ค.ศ. 1957)
หากไล่สายการใช้เอกสารอ้างอิงเหล่านี้ดู จะเห็นได้ว่า มีการอ้างอิงกันเป็นขบวนการ ตั้งแต่ ปวินฯ อ้างอิงสมศักดิ์ฯ โดยสมศักดิ์ฯ อ้างอิงมาจากพูนสุขฯ และ ปวินฯ อ้างอิงณัฐพลฯ ซึ่งณัฐพลฯ ก็อ้างอิงมาจากพูนสุขฯ อีกเช่นกัน
การผลิตงานประวัติศาสตร์นิพนธ์ที่อ้างอิง “คำบอกเล่าจากที่มาเพียงแหล่งเดียว” จึงย่อมมีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ และวิธีการสร้างข้อสันนิษฐานให้มีความน่าเชื่อถือของคนเหล่านี้คือการ “ขยันเผยแพร่คำบอกเล่า” ให้ออกมาในรูปบทความวิชาการที่แตกต่างหลากหลาย จนอาจเปลี่ยนแปลง “คำบอกเล่า” ให้กลายเป็นหลักฐานที่มีมูลขึ้นมาได้ ซึ่งนักวิชาการเหล่านี้มักจะปั้นแต่งเรื่อง โดยอ้างอิงจากคำบอกเล่าต่อๆ กันมาลงในหนังสือ แล้วอ้างอิงต่อๆ กันไปเรื่อยๆ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือจนผู้อ่านคิดว่า “เรื่องกุ” เป็น “เรื่องจริง”
จุดที่ 7
หนังสือ Love and Death of King Ananda Mahidol of Thailand หน้า 105 คือข้อตอกย้ำ ความไม่มีอะไรใหม่ของหนังสือเล่มนี้ นั่นคือ การนำข้อสันนิษฐานของ William Stevenson ในหนังสือ The Revolutionary King ว่าในหลวง ร.8 ทรงถูกลอบปลงพระชนม์จากสายลับชาวญี่ปุ่นที่ชื่อ Masanobu Tsuji มาบอกเล่าลงในหนังสือ
ส่วนหนังสือหน้า 107 รายการอ้างอิงที่ 21 ปวินฯ ทำให้ผู้อ่านสับสนด้วยการนำเนื้อหาจากหนังสือ “เมื่อข้าพเจ้าไปเกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคต” ของ นายแพทย์สุด แสงวิเชียร มาอ้างอิงว่า หมอที่ชันสูตรพระบรมศพ 2 ท่านให้ความเห็นถึงความเป็นไปได้ว่า มีบางคนเล่นปืนในบริเวณจุดเกิดเหตุแล้วทำปืนลั่น
ซึ่งความเห็นของแพทย์ 2 ท่านนี้ ถือเป็นความเห็นจากแพทย์เสียงข้างน้อย และขัดแย้งกับข้อสันนิษฐานของนายแพทย์สุดฯ ที่ได้ให้ไว้ในหนังสือของตนเอง ความเห็นเสียงข้างน้อยนี้ได้ถูกตีตกไปโดยมติแพทย์ที่เป็นคณะกรรมการชันสูตรแล้ว แต่ปวินตั้งใจนำมาอ้างอิงโดยอาศัยหนังสือของนายแพทย์สุดฯ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ทั้งๆ ที่ข้อสันนิษฐานประเด็น “อุบัติเหตุจากการถูกบุคคลอื่นทำปืนลั่นใส่” ไม่ใช่ความเห็นของนายแพทย์สุดฯ แต่อย่างใด
นี่คือตัวอย่างการเขียนงานวิชาการที่ใช้การอ้างอิงหลักฐานอย่างไร้ความรับผิดชอบ เป็นการชี้นำ บิดเบือนประวัติศาสตร์อย่างชั่วร้าย
จุดที่ 8
หนังสือ Love and Death of King Ananda Mahidol of Thailand หน้า 110 อ้างอิงที่ 29 มีการบรรยายถึงเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุสวรรคตอย่างชัดเจน แม้กระทั่งบทสนทนาของในหลวง ร.8 และในหลวง ร.9
โดยในวันเกิดเหตุนั้น ในหลวง ร.8 ทรงรู้สึกไม่ค่อยสบาย ขณะพระองค์นอนอยู่บนเตียง ทรงหยิบจับปืนเล่น โดยมีในหลวง ร.9 เข้ามาในห้องนอน ในหลวง ร.8 ได้หยอกล้อพระอนุชาด้วยการเล็งพระแสงปืนไปยังในหลวง ร.9 พร้อมกับบทสนทนา…
“ฉันยิงเธอได้เลยนะ”
“ฉันก็ยิงเธอได้เช่นกัน” ทันใดนั้น ในหลวง ร.9 ทรงแย่งปืนมาจากพระเชษฐา
“ยิงสิ ยิงสิ” ในหลวง ร.8 ทรงกล่าวท้าทาย
จากนั้นเสียงปืนก็ดังขึ้น พร้อมกับการสวรรคตของในหลวง ร.8
บทสนทนาในวันเกิดเหตุนี้ ปวินฯ อ้างอิงไว้ในรายการที่ 29 หน้า 110 โดยอ้างอิงจากหนังสือเรื่อง The Prince and I – Miss Olive หน้า 462-463 โดยหนังสือเล่มนี้ นำข้อมูลมาจากบันทึกด้วยลายมือของนางมากาเร็ต แลนดอน (Margaret Landon) เมื่อปี พ.ศ. 2514 (ห่างจากเหตุการณ์สวรรคต 25 ปี) โดยนางมากาเร็ตได้รับการบอกเล่ามาจากนางลิเดีย ณ ระนอง หญิงที่เกิดในตระกูลผู้ดีของจีนและเป็นคนสนิทของกลุ่มพระบรมวงศานุวงศ์ระดับสูงในกรุงเทพฯ ซึ่งนางลิเดียฯ อ้างว่า ได้รับการบอกเล่ามาจากแวดวงพระบรมวงศานุวงศ์อีกทอดหนึ่ง (ทีมงาน ฤา มีบันทึกฉบับนี้อยู่ในครอบครองด้วย)
โดยบทสนทนาในห้องนอนของในหลวงทั้ง 2 พระองค์นี้ กว่าที่จะปรากฎในหนังสือของปวินฯ ก็ได้รับการบอกเล่ามาเป็นทอดๆ ถึง 4 ครั้ง (พระบรมวงศานุวงศ์ > ลิเดีย > มากาเร็ต > หนังสือของปวินฯ) และการอ้างอิงเหล่านี้ ยังเคยถูกนำไปขยายผลเป็นงานเขียนของ Andrew McGregor Marshall ที่ต่อมาได้ถูกเผยแพร่ลงบนเว็บไซต์นิยายโรงงานปลากระป๋องอย่าง “สนามหลวง” และถูกนำมา “วนใช้อ้างอิงซ้ำ” ในงานประวัติศาสตร์นิพนธ์ของปวินฯ เล่มนี้
หากจะกล่าวให้ชัดเจนแล้ว จุดอ่อนของอ้างอิงชิ้นนี้คือ สภาพของหลักฐานที่เป็นเพียงแค่ “คำบอกเล่า” และช่วงเวลาที่บันทึก ซึ่งห่างจากวันเกิดเหตุถึง 25 ปี นั่นเอง
จะเห็นได้ว่า การบิดเบือนประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในนามของเสรีภาพทางวิชาการนี้ ได้ทำกันเป็นขบวนการอย่างชั่วร้ายและแยบยล ทั้งใต้ดินและบนดิน โดยเผยแพร่ทั้งทางเว็บไซต์และตำราประวัติศาสตร์ จนนำมาซึ่งผลเสียร้ายแรงต่อแวดวงวิชาการ ก่อให้เกิดประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองมากมาย และเลยเถิดไปถึงการใส่ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ จากต้นทางที่เป็นเพียงการอ้าง “คำบอกเล่า” เท่านั้น
จุดที่ 9
สำหรับประเด็นที่พูดถึงความน่าเชื่อถือของหนังสือ จากการถูก Peer Review โดยนักวิชาการถึง 3 คนนั้น เมื่อตรวจสอบ Plot เรื่องของหนังสือเล่มนี้อย่างละเอียด พบว่า หากตัดเนื้อหาที่เกี่ยวกับมารีลีน และการอ้างอิงจากกงจักรปีศาจ รวมถึง The King Never Smiles ออกไป หนังสือเล่มนี้อาจถูกพิจารณาว่ามีความหนักแน่นในการใช้อ้างอิงจากเอกสารชั้นต้นอยู่พอสมควร
พูดง่ายๆ คือหากเราดูกันที่ประเด็นอื่นๆ ในหนังสือ ทั้งเรื่องประวัติศาสตร์ทั่วๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นสภาพสังคม วัฒนธรรม การเมือง ลำดับการสืบสันตติวงศ์ หรือแม้กระทั่งการกล่าวถึงประเด็นการแต่งงานของเจ้านายเชื้อพระวงศ์กับคู่รักชาวต่างชาติ ประเด็นเหล่านี้เป็นการวิเคราะห์เปรียบเทียบมุมมองของสังคมตะวันตกและเอเชีย ที่มีการอ้างอิงเอกสารหลักฐานเอาไว้อย่างครบถ้วน ทั้งหนังสือวิชาการต่างๆ ของไทยและต่างประเทศ และการอ้างอิงจากเว็บไซต์ข่าวทั่วๆ ไป
แต่ในประเด็นที่เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างในหลวง ร.8 และมารีลีน กลับมีการอ้างอิงที่เลื่อนลอยตามที่ทีมงาน ฤๅ ได้อธิบายไว้ในบทวิจารณ์นี้ ซึ่งประเด็นนี้อาจเป็นจุดเล็กๆ ที่ผ่านตาการ Peer Review ไปได้ เหล่านี้คือการใช้ทักษะการเขียนที่แยบยล ผลิตผลงาน วาทกรรมบิดเบือน นำเอกสารชั้นต้นมาวิเคราะห์เข้ากับจินตนาการ เพื่อนำไปสู่ข้อสันนิษฐานที่ปวินฯ ได้ตั้งเอาไว้แล้วนั่นเอง
บทสรุปของหนังสือเล่มนี้ อยู่ในหน้า 218 หัวข้อ The End of The Romance and The Death of The King ในย่อหน้าสุดท้ายที่ปวินฯ เขียนเอาไว้อย่างชัดเจนว่า หนังสือเล่มนี้ไม่ได้สรุปถึงสาเหตุการสวรรคตของในหลวง ร.8 นอกจากความขัดแย้งระหว่างพระองค์กับสมเด็จย่า ที่มีมารีลีนอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งนั้น ซึ่งประเด็นเหล่านี้ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ปวินได้ใช้เอกสารชั้นต้นยืนยันตัวตนของมารีลีน แล้วนำมาผสมเข้ากับจินตนาการเรื่องความรักของในหลวง ร.8 และใช้วิธีพรรณนาออกมาราวกับเป็นการเขียนบทนิยาย
โดยในท้ายที่สุด ทั้งชื่อเรื่อง ภาพปก และการโฆษณาเนื้อหา อาจทำให้ผู้อ่านคาดหวังไปถึงข้อสันนิษฐานที่แตกต่าง หรือหลักฐานใหม่ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์กรณีสวรรคต ซึ่งหนังสือเล่มนี้ไม่สามารถตอบโจทก์เรื่องเหล่านี้ได้ เพราะตามที่ทีมงาน ฤๅ ได้วิเคราะห์ไปแล้วว่า การพิสูจน์ทราบความมีตัวตนของมารีลีน เพื่อนำมากล่าวถึงความสัมพันธ์กับในหลวง ร.8 นั้น เป็นประเด็นที่ไม่มีความลึก ไม่ได้ส่งผลถึงสาระสำคัญ ไม่ได้ผลักดันความเป็นไปใหม่ๆ และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงประวัติศาตร์ใดๆ ได้เลย
หากหนังสือเล่มนี้ จะพอมีคุณค่าอยู่บ้างก็คงเป็นประเด็น “การเล่าเรื่องที่ร้อยเรียงได้อรรถรส” ของตัวละครในประเด็นแม่สามีกับลูกสะใภ้ ความรักที่โดนกีดกัน ความสัมพันธ์ที่ไม่สามารถลงเอยของหนุ่มสาว ซึ่งมีปัจจัยด้านสถานะทางสังคมและศาสนาเป็นตัวกำหนด โดยมีการเมืองแทรกเข้ามาเจือปนเพื่อเพิ่มความตื่นเต้นเท่านั้น แต่ในประเด็นอื่นๆ หนังสือ Love and Death of King Ananda Mahidol of Thailand กลับไม่มีอะไรใหม่ และไม่ก่อให้เกิดความงอกเงยทางวิชาการใดๆ เลย
โดยสรุปแล้ว หากจะให้นิยามหนังสือเล่มนี้ว่าเป็นหนังสือประเภทใด การบรรจุผลงานของปวินฯ เอาไว้ในหมวดหมู่ “นิยายรักโฆษณาชวนเชื่อ” ก็คงไม่ใช่เรื่องที่เกินเลยไปนัก
[ตีแผ่หนังสือ Love and Death of King Ananda Mahidol of Thailand : ตอนที่ 1]
[ตีแผ่หนังสือ Love and Death of King Ananda Mahidol of Thailand : ตอนที่ 2]
[ตีแผ่หนังสือ Love and Death of King Ananda Mahidol of Thailand : ตอนที่ 3]
ที่มา :
Love and Death of King Ananda Mahidol of Thailand : ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์