ตีแผ่หนังสือ Love and Death of King Ananda Mahidol of Thailand : EP 3
ว่าด้วยปัญหาการใช้เอกสารหลักฐานอ้างอิง
สำหรับบทวิจารณ์หนังสือ Love and Death of King Ananda Mahidol of Thailand ในตอนที่ 3 นี้ จะเป็นการลงรายละเอียดในแต่ละจุดที่มีปัญหาในการใช้หลักฐานอ้างอิง ซึ่งปวินฯ ได้นำเอกสารชั้นต้นมาปรุงแต่งเข้ากับคำบอกเล่าจากแหล่งต่างๆ เพื่อชี้นำไปสู่ธงที่เขาได้ตั้งเอาไว้ เราไปไล่เรียงดูกันทีละจุดครับ
จุดที่ 1
ปวินฯ อ้างอิงจาก The King Never Smiles ของ Paul Handly หน้า 65 ลงในหนังสือตัวเองหน้า 64-65 ว่า…
“Ananda and Marileine may have met for the first time on October 25, 1943, the first day of the winter semester at Lausanne University. With a sense of freedom Ananda made a few friends in the café society where students passionately discussed the arts, literature, and politics. Paul Handley remarked ‘He discovered a soul mate in the one Swiss woman in his first-year law class’”
“ในหลวง ร.8 พบกับมารีลีนครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 1943 วันแรกของการเรียนในเทอมฤดูหนาวที่มหาวิทยาลัยโลซานน์ ด้วยความรู้สึกที่อิสระ ในหลวง ร.8 พบปะพูดคุยกับพระสหาย 2-3 คน ในคาเฟ่ของมหาวิทยาลัย ที่ซึ่งนักศึกษาต่างมาพูดคุยกันในเรื่องของศิลปะ วรรณกรรม การเมือง
Paul Handly ระบุว่า ‘ในชั้นเรียนกฎหมายปี 1 ที่มหาวิทยาลัยนี้ ในหลวง ร.8 พบว่าตนเองเจอกับคู่แท้เข้าแล้ว เธอคือหญิงสวิสคนหนึ่งนั่นเอง’”
แม้ต่อมาในการอ้างอิงที่ 43 ปวินฯ จะใช้ใบรับรองวุฒิการศึกษาเป็นเอกสารชั้นต้นในการยืนยันตัวตนของมารีลีน แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความสัมพันธ์แบบคู่รักระหว่างบุคคลทั้งสอง ตามที่หนังสือ The King Never Smiles ได้บรรยายเอาไว้
ขอเน้นย้ำอีกครั้งให้เห็นถึงความสำคัญในประเด็นที่ว่า ความมีตัวตนอยู่จริงของมารีลีน กับความสัมพันธ์ระหว่างในหลวง ร.8 กับมารีลีน “เป็นคนละประเด็นกัน” แม้จะมีการพิสูจน์ได้จากเอกสารชั้นต้นว่ามารีลีนมีตัวตนจริงก็ตาม แต่ก็ไม่ได้เป็นการยืนยันว่าทั้งสองคนมีความสัมพันธ์กันแบบใด
การเขียนประวัติศาสตร์นิพนธ์ของปวินฯ ในลักษณะนี้ คือการปรุงแต่งหลักฐานเอกสารชั้นต้น เข้ากับคำบอกเล่าหรือหนังสือที่ขาดความน่าเชื่อถือในการใช้เอกสารอ้างอิง บวกเข้ากับจินตนาการส่วนตัว แล้วนำมาผูกเป็นเรื่องราวตามที่ตนเองได้ปักธงเอาไว้
จุดที่ 2
หนังสือ Love and Death of King Ananda Mahidol of Thailand หน้า 68 การอ้างอิงที่ 47-48 ว่าด้วย “กฎแห่งแรงดึงดูด” ปวินฯ ได้บรรยายบุคลิกที่มีเสน่ห์ของมารีลีน โดยอ้างอิงจากหนังสือกงจักรปีศาจหน้า 233 แต่เมื่อย้อนกลับไปอ่านกงจักรปีศาจแล้ว พบว่า ไม่ได้มีการอ้างอิงถึงความน่าเชื่อถือเอาไว้เลย
หนังสือ “กงจักรปีศาจ” ถูกแต่งขึ้นในปี พ.ศ. 2507 หลังจากเหตุการณ์สวรรคตถึง 18 ปี และในเวลานั้น ก็ไม่มีใครทราบได้ว่า มารีลีน มีตัวตนจริงหรือไม่ (เนื่องจากไม่มีการอ้างอิงการมีตัวตนของมารีลีนผ่านเอกสารชั้นต้น) หากมีตัวตนจริง มีอะไรเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า Rayne Kruger (ผู้เขียนกงจักรปีศาจ) เคยพบกับมารีลีนมาก่อน ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ บุคลิกหน้าตาของมารีลีนเพิ่งมาถูกปวินค้นพบเมื่อตอนหาข้อมูลเขียนหนังสือเล่มนี้นี่เอง
คำถามคือ บุคคลที่ได้พบเจอมารีลีนในช่วงคาบเกี่ยวเหตุการณ์สวรรคต (ก่อน พ.ศ. 2489) จนนำมาบรรยายบุคลิกในหนังสือกงจักรปีศาจในอีก 18 ปีต่อมา คือใคร? ผู้ใดที่สามารถเข้านอกออกในครอบครัวมหิดลที่อยู่ในสวิสเซอร์แลนด์ได้สะดวกถึงเพียงนั้น หากไม่ใช่นักการเมืองใหญ่ ผู้ซึ่งเป็นอำมาตย์ที่มีอิทธิพลในแวดวงการเมือง ที่คอยวิ่งเข้าวิ่งออกบ้านครอบครัวมหิดลที่โลซานน์ เพื่อรายงานสถานการณ์ทางการเมือง หรือเพื่อหวังผลในการได้ฐานอำนาจทางการเมืองมาเป็นเครื่องมือสร้างประโยชน์ให้กับตัวเอง
เบื้องหลังและที่มาของการเขียนหนังสือกงจักรปีศาจ จึงเป็นเรื่องที่ควรต้องนำมาขยายผลและศึกษาต่ออย่างมาก
จุดที่ 3
หนังสือ Love and Death of King Ananda Mahidol of Thailand หน้า 70 ในการอ้างอิงที่ 50 ปวินฯ ใช้หลักฐานชั้นต้นคือเอกสารจากมหาวิทยาลัยโลซานน์ เพื่ออ้างอิงเรื่องที่ในหลวง ร.8 และมารีลีนร่วมชั้นเรียนรายวิชาต่างๆ ด้วยกัน รวมถึงบรรยายต่อว่า ทั้งสองคนนั่งเรียนข้างกัน แต่ประเด็นการนั่งเรียนข้างกันนี้ ปวินฯ กลับไปอ้างอิงข้อความจากหนังสือกงจักรปีศาจหน้า 234
สังเกตให้ดีว่า หนังสือกงจักรปีศาจถูกเผยแพร่หลังเหตุการณ์สวรรคตกว่า 18 ปี คำถามคือ ผู้เขียนกงจักรปีศาจเอาหลักฐานมาจากแหล่งข้อมูลไหน ในการยืนยันข้อเท็จจริงว่าในหลวง ร.8 กับมารีลีน นั่งเรียนข้างกัน ในประเด็นนี้หากจะพูดกันแบบตรงไปตรงมา บทบรรยายในกงจักรปีศาจที่พูดถึง “การนั่งเรียนข้างกัน” ถูกเขียนขึ้นมาลอยๆ โดยไม่ได้มีการยืนยันจากหลักฐานใดๆ เลยแม้แต่ “คำบอกเล่า”
จุดที่ 4
หนังสือ Love and Death of King Ananda Mahidol of Thailand หน้า 70 ย่อหน้าสุดท้าย ต่อเนื่องหน้า 71 การอ้างอิงที่ 51-51 ว่าด้วยการพรรณนาให้เห็นภาพความสัมพันธ์พิเศษระหว่างหนุ่มสาว ไม่ว่าจะเป็นการเรียนห้องเดียวกัน การนั่งเรียนข้างกัน ไปจนถึงการบรรยายว่าทั้งสองคนปั่นจักรยานไปบ้านเพื่อนด้วยกัน ท่ามกลางบรรยากาศสองข้างทางที่สวยงามของประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ไปเล่นเทนนิส เล่นเปียโน และรักเสียงเพลง
โดยส่วนนี้ ปวินฯ ได้อ้างอิงจากบทความภาษาฝรั่งเศสในอินเตอร์เน็ต เรื่อง Une Belle Lausannoise ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2012 และเข้าถึงโดยปวินฯ ในวันที่ 25 ตุลาคม 2014 ซึ่งผู้เขียนบทความนี้คือสื่อมวลชนอิสระ (Freelance Journalist) ที่ชื่อ Olivier Grivat โดยได้ย้อนกลับไปอธิบายเหตุการณ์ในปี 1944 (เหตุการณ์เมื่อ 68 ปีที่แล้ว) ว่าในหลวง ร.8 มักจะปั่นจักรยานไปส่งมารีลีนที่บ้าน และปวินฯ ได้นำประเด็นนี้มาผูกเรื่องเข้ากับจินตนาการของตนเอง เพื่อชี้นำว่าทั้งสองคนมีความสัมพันธ์พิเศษระหว่างกัน
ข้อสังเกตของการอ้างเอกสารชิ้นนี้คือ หนังสือของปวินฯ อ้างอิงบทความของ Oliver ส่วนบทความของ Oliver ก็อ้างอิงปวินฯ อีกทีหนึ่งว่า ปวินฯ กำลังตามหาและพิสูจน์ความมีตัวตนจริงของมารีลีน เพื่อนำข้อมูลมาใช้ประกอบการเขียนหนังสือของตัวเอง (Si quelqu’un pouvait m’aider dans mes recherches…», implore l’universitaire «réfugié» à Singapour)
จะเห็นได้ว่า วิธีการใช้เอกสารชั้นต้นในการอ้างอิงของปวินฯ มักจะสร้างความน่าเชื่อถือโดยการอ้างบทความ หรือข้อเขียนจากต่างประเทศ แต่เมื่อมีการตรวจสอบหลักฐานโดยละเอียดแล้ว พบว่า ส่วนใหญ่เป็นการใช้หลักฐานอ้างอิงที่วนเวียนอยู่กับหนังสือกงจักรปีศาจ ซึ่งเป็นหนังสือที่ไม่อาจพิสูจน์ความชัดเจนในทางวิชาการได้เลย
และความน่าละอายที่สร้างจุดด่างพร้อยให้ปวินฯ คือ การอ้างอิงบทความต่างประเทศ ที่ผู้เขียนบทความนั้นก็อ้างอิงตัวปวินฯ เองอีกทีหนึ่ง การเขียนหนังสือโดยใช้วิธีการอ้างอิงวนเวียนกันไปมาแบบนี้ มีแต่จะลดทอนความน่าเชื่อถือ และเป็นวิธีที่ไม่สามารถยอมรับได้ในการนำมาใช้เรียบเรียงหนังสือวิชาการ
ในตอนต่อไป ทีมงาน ฤๅ จะวิเคราะห์จุดอื่นๆ ที่เป็นการปรุงแต่งเอกสารชั้นต้นเข้ากับจินตนาการของปวินฯ เอง และบทสรุปของหนังสือเล่มนี้ในแง่ของการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ รวมถึงความคาดหวัง และสิ่งที่ผู้อ่านจะได้รับจากหนังสือ Love and Death of King Ananda Mahidol of Thailand … โปรดติดตามอ่าน
[ตีแผ่หนังสือ Love and Death of King Ananda Mahidol of Thailand : ตอนที่ 1]
[ตีแผ่หนังสือ Love and Death of King Ananda Mahidol of Thailand : ตอนที่ 2]
ที่มา :
Love and Death of King Ananda Mahidol of Thailand : ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์