ตีแผ่หนังสือ Love and Death of King Ananda Mahidol of Thailand : EP 2
ว่าด้วยวิธีการชำระเอกสาร
จากที่ทีมงาน ฤา ได้เกริ่นนำบทวิเคราะห์เกี่ยวกับการใช้เอกสารหลักฐานของ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ มาผูกเรื่องให้เป็นประวัติศาสตร์นิพนธ์ไปเมื่อตอนที่แล้ว สำหรับตอนที่ 2 นี้ จะขอขยายความเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นที่หนังสือนำเสนอ และการใช้หลักฐานชั้นต้นในการอ้างอิง ดังนี้
อันดับแรก ถ้าจะกล่าวถึงการไล่สายเกี่ยวกับข้อสันนิษฐานของคดีสวรรคตนั้น ประเด็นสำคัญที่สุดคือ ในเบื้องต้นเมื่อตั้งข้อสันนิษฐานได้แล้วว่า สาเหตุของการสวรรคต มีการให้น้ำหนักไปที่การถูกลอบปลงพระชนม์มากที่สุด โดยอาศัยหลักวิชาทางการแพทย์มาสนับสนุนข้อสันนิษฐานนี้
ประเด็นต่อมาคือ จะทราบได้อย่างไรว่าบุคคล/กลุ่มบุคคลใด เป็นผู้อยู่เบื้องหลังกรณีสวรรคต และจากการชำระเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด พบว่า มีผู้ที่มีอำนาจทางการเมืองคนหนึ่ง พยายามที่จะปกปิด กีดขวางกระบวนการยุติธรรมอย่างเต็มกำลัง โดยท่าทีลักษณะนี้ ขัดแย้งอย่างมากกับในหลวง ร.9 ที่พยายามอำนวยความยุติธรรมมาโดยตลอด ซึ่งเรื่องนี้ทีมงาน ฤา ได้เคยนำเสนอไปแล้วในบทความ เปิดบันทึกคดีสวรรคต เมื่อทีมชันสูตรถูกฝ่ายการเมืองกล่าวหาว่าเป็น “แพทย์เลว”
แต่อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริงแล้ว ในหลวง ร.9 ทรงทำอะไรไม่ได้มากนัก เพราะขณะนั้นพระองค์มีพระชนมพรรษาเพียง 19 พรรษา เท่านั้น ทรงไม่มีบารมีหรืออำนาจทางการเมืองใดๆ ที่จะไปชี้นำอำมาตย์ที่มีตำแหน่งใหญ่โตในทางการเมืองได้เลย ซึ่งอำมาตย์ใหญ่ผู้มีอำนาจทางการเมืองที่ว่านี้ ทีมงาน ฤา ขอละไว้ให้ผู้อ่านตั้งคำถามเอาเองว่าคือบุคคลท่านใด
เมื่อพูดถึงกรณีสวรรคตของในหลวง ร.8 ประเด็นทั้งหมดข้างต้น คือสาระสำคัญที่จะต้องนำมากล่าวถึงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่หนังสือ Love and Death of King Ananda Mahidol of Thailand ของปวินฯ กลับไม่ได้โต้แย้งประเด็นเหล่านี้เลย แต่ไปเน้นหนักในเรื่องชีวิตรักหนุ่มสาว เรื่องซุบซิบนินทาชู้สาว การทะเลาะเบาะแว้งของแม่กับลูกชาย เจือแทรกด้วยความวุ่นวายทางการเมือง เพื่อให้มีความน่าสนุกขึ้นเท่านั้น และที่สำคัญที่สุด หลักฐานเอกสารที่ปวินฯ นำมาอ้างอิงประกอบการแต่งประวัติศาสตร์นิพนธ์ ก็เป็นข้อมูลที่มาจากหนังสือ “กงจักรปีศาจ” ซึ่งไม่มีการอ้างอิงอะไรใดๆ เลย
การใช้เอกสารอ้างอิงของปวินฯ นั้น ทำได้ดีเฉพาะประเด็นการยืนยันตัวตนของ มารีลีน เฟอร์รารี เนื่องจากปวินฯ มีการใช้เอกสารชั้นต้นเพื่อระบุความมีตัวตนของมารีลีน ซึ่งประเด็นเรื่องความมีตัวตนนี้ เป็นการปูเนื้อเรื่องให้นำไปสู่เนื้อหาหลักของหนังสือ แต่เมื่อเข้าสู่เนื้อหาหลัก กลับไม่มีการใช้เอกสารชั้นต้นที่น่าเชื่อถือใดๆ อีก
สำหรับตำราประวัติศาสตร์ที่ดีนั้น เราต้องยอมรับกันเสียก่อนว่า งานเขียนทางประวัติศาสตร์เป็นเรื่องเล่าประเภทหนึ่ง ซึ่งจะต้องมี plot เรื่องอย่างแน่นอน สิ่งนี้เราเรียกว่า “ประวัติศาสตร์นิพนธ์” ลักษณะของประวัติศาสตร์นิพนธ์ คือการจัดเรียงความสัมพันธ์ของเหตุการณ์อันไร้ระเบียบในอดีต ให้ร้อยเรียงกลายเป็นเรื่องราวที่มีความหมายขึ้นมา ซึ่งสิ่งสำคัญในที่นี้คือ “วิธีการเล่าเรื่อง” (Narration)
การเล่าเรื่องทางประวัติศาสตร์ให้มีความน่าเชื่อถือทางวิชาการ ไม่ได้อยู่ที่ ใครบอกเล่าอะไร ที่ไหน อย่างไร แต่การจะทำให้ประวัติศาสตร์มีชีวิต เป็นประวัติศาสตร์ที่น่าเชื่อถือนั้น สิ่งสำคัญอยู่ที่การใช้หลักฐานอ้างอิง รวมถึงความสอดคล้อง เป็นเหตุเป็นผลในเชิงวิชาการ ของเอกสารหลักฐานที่นำมาใช้ในการเรียบเรียงด้วย
ยกตัวอย่างการเล่าเรื่องของปวินฯ ในช่วงแรก ที่เป็นส่วนของการสืบค้นความมีตัวตนของมารีลีน กรณีนี้ถือว่าเป็นการเขียนประวัติศาสตร์โดยใช้เอกสารชั้นต้น แต่เมื่อเข้าสู่ประเด็นสำคัญของเรื่อง แทนที่ปวินฯ จะอ้างอิงเอกสารหลักฐานชั้นต้นให้เข้มข้น เขากลับใช้เรื่องเล่าจากบุคคลนิรนาม จากบุคคลนั้นบุคคลนี้ ที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ การเล่าเรื่องลักษณะนี้จึงขาดความน่าเชื่อถือ และไม่มีความชัดเจนว่าตกลงแล้วเป็นเรื่องจริง หรือเป็นเพียง “เรื่องกุ” ขึ้นมาเท่านั้น
สำหรับข้อโต้แย้งเรื่องการปกปิดแหล่งที่มา ที่อ้างว่าเป็นเพราะข้อจำกัดทางกฎหมายของ มาตรา 112 นั้น ในประเด็นนี้ เรามาดูกันว่า มาตรา 112 มีบทบัญญัติอย่างไร คุ้มครองบุคคลใดบ้าง มีการใช้งานอย่างไร และมีขอบเขตแค่ไหน
มาตรา 112 เป็นกฎหมายที่มุ่งคุ้มครองบุคคลที่ดำรงตำแหน่ง 4 ตำแหน่ง คือ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยจะคุ้มครองแค่ 4 ตำแหน่งนี้เท่านั้น และถ้าพิจารณาดูให้ดี เนื้อหาของหนังสือ Love and Death of King Ananda Mahidol of Thailand ก็ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับบุคคลทั้ง 4 ตำแหน่งตามมาตรา 112 นี้เลย แม้ว่าเนื้อหาบางตอนในหนังสือ จะมีการใส่ความสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีให้ได้รับความเสียหาย หรือมีเนื้อหาที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างในหลวง ร.8 กับมารีลีน แต่เรื่องราวเหล่านี้ ถึงจะอธิบายอย่างตรงไปตรงมา เปิดเผยแหล่งที่มาชัดเจน ก็ยังไม่มีความเกี่ยวข้องประการใดๆ กับในหลวงรัชกาลที่ 10 พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ที่มาตรา 112 มุ่งคุ้มครองเลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น การปกปิดที่มาของแหล่งอ้างอิง ด้วยการยกมาตรา 112 มาเป็นข้ออ้าง จึงน่าจะเป็นการแก้เกี้ยว เพื่อปกปิดความบกพร่องของการใช้หลักฐานชั้นต้นเสียมากกว่า
หากจะยกตัวอย่างนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ คงต้องเอ่ยถึงหนังสือเล่มหนึ่งที่ชื่อ “น้ำเงินแท้” ซึ่งผู้เขียนระบุชัดเจนว่าเป็น นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ หนังสือเรื่อง น้ำเงินแท้ มีการอ้างอิงเอกสารชั้นต้นเอาไว้จำนวนมาก และแม้ว่าตัวหนังสือจะถูกจัดประเภทว่าเป็นนวนิยาย แต่ผู้เขียนก็ได้ระบุชัดเจนว่าส่วนใดคือบทประพันธ์ขึ้นใหม่ ส่วนใดคือประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริง น้ำเงินแท้ จึงเป็นหนังสือที่สามารถต่อยอดเพื่อสืบค้นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ต่อไปได้
สำหรับหนังสือ Love and Death of King Ananda Mahidol of Thailand นั้น ปวินฯ ไม่ได้จัดประเภทของหนังสือตัวเองให้ชัดเจน ทีมงาน ฤา จึงคาดคะเนด้วยหลักเหตุผลว่า ปวิณฯ มีความตั้งใจจะให้เป็นประวัติศาตร์นิพนธ์เล่มหนึ่งต่อไปในอนาคต แต่น่าเสียดายว่า ประวัติศาสตร์นิพนธ์เรื่องนี้ กลับมีการใช้หลักฐานชั้นต้นในประเด็นสำคัญอย่างเลื่อนลอย ซึ่งการอ้างอิงในลักษณะนี้ ไม่สามารถยอมรับได้ว่าเป็นหลักฐานที่ “น่าเชื่อถือ” สำหรับใช้ประกอบการเขียนหนังสือวิชาการ
ปวินฯ ระบุชัดเจนว่าหนังสือเล่มนี้ แท้ที่จริงแล้วไม่ได้มีประเด็นหลักอยู่ที่ข้อสันนิษฐานใหม่ในคดีสวรรคต หากแต่หนังสือต้องการสื่อถึงประเด็นการปรับตัวของสถาบันพระมหากษัตริย์ ในแง่มุมที่พระมหากษัตริย์กำลังจะแต่งงานกับหญิงต่างชาติสามัญชน
แต่อย่างไรก็ดี เรื่องความสัมพันธ์ของในหลวง ร.8 กับมารีลีน กลับมีปัญหาในการอ้างอิง เนื่องจากส่วนใหญ่จะเป็นการอ้างอิงจากหนังสือกงจักรปีศาจ และคำบอกเล่าจากบุคคลนิรนาม การนำเสนอประเด็นออกมาในลักษณะนี้ จึงเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของหนังสือไปโดยปริยาย และยังส่งผลโดยตรงต่อความลึกของประเด็นที่ต้องการนำเสนอ จนทำให้กลายเป็นประเด็นที่ไม่มีความสำคัญอะไรเลย
ปวินเขียนไว้ในหน้า 60 Daughter of a Pastor ว่า “กงจักรปีศาจ” เป็นแหล่งข้อมูลเดียวที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างในหลวง ร.8 กับมารีลีน แม้จะ “ไม่ถูกต้องแม่นยำนัก” แต่ก็พอที่จะนำมาเป็นข้อมูลสำคัญในการอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์ และมารีลีนได้
“Rayne Kruger’s The Devil’s Discus has remained the only source detailing the personal life of Marileine and her encounter with Ananda. Despite some inaccuracies, The Devil’s Discus provides some essential background about the initial period of the relationship between Ananda and Marileine”
ประเด็นนี้จึงเป็นจุดอ่อนสำคัญของหนังสือ ในการนำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างในหลวง ร.8 และมารีลีน ซึ่งเป็นการอ้างอิงที่มาจากแหล่งเดียวคือ “กงจักรปีศาจ” และเป็นเพียงแค่ “คำบอกเล่า” ทำให้การนำเสนอในประเด็นนี้ ขาดขั้นตอนการชำระหลักฐานการอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ที่น่าเชื่อถือไป
การนำประเด็นชีวิตรักของในหลวง ร.8 กับบริบทการเมืองไทยในช่วงเวลานั้น มาเขียนงานต่อยอดเป็นงานวิจัย ตำรา หรือแม้กระทั่งวิทยานิพนธ์ นอกจากเป็นประเด็นที่แคบและไม่ลึกพอแล้ว หลักฐานเอกสารชั้นต้นที่มีแต่สำมะโนครัวประกอบคำบอกเล่าของบุคคลนิรนาม ทำให้หนังสือของปวินฯ มีปัญหาในการนำเสนออยู่พอสมควร และเมื่อเทียบกับประเด็นการปรับตัวของสถาบันฯ ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเมืองไทย ที่มีนักวิชาการเขียนถึงมาแล้วก่อนหน้านี้มากมาย หนังสือ Love and Death of King Ananda Mahidol of Thailand จึงไม่สามารถจัดอยู่ในประเภทประวัติศาตร์นิพนธ์ และไม่อาจไปถึงจุดที่สามารถเปิดมุมมองใหม่ เพื่อเคลื่อนเปลี่ยนประวัติศาสตร์ใดๆ ได้เลย
ในตอนต่อไป เราจะลงรายละเอียดในจุดที่เป็นปัญหา ซึ่งปวินฯ ได้ปรุงแต่งเอกสารชั้นต้นเข้ากับคำบอกเล่า เพื่อสร้างเนื้อหาที่นำไปสู่ธงที่ปวินฯ ได้ตั้งเอาไว้ … โปรดติดตามอ่านครับ
[ตีแผ่หนังสือ Love and Death of King Ananda Mahidol of Thailand : ตอนที่ 1]
ที่มา :
Love and Death of King Ananda Mahidol of Thailand : ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์