ตีแผ่วาทกรรมลวงโลก กล่าวหา “งบสถาบันฯ” ล้างผลาญ “ภาษีกู”
“พระมหากษัตริย์ไทย คือกษัตริย์ที่รวยที่สุดในโลก”
นี่คือหนึ่งในคำกล่าวหาของม็อบปลดแอก ที่ใช้โจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ มาอย่างต่อเนื่อง และเมื่อถามถึงที่มาของคำว่า “รวยที่สุดในโลก” ก็จะได้รับคำตอบกลับมาว่า ไปอ่านจากทวิตเตอร์มา ไปอ่านจากวิกิพีเดียมา ว่ามูลค่าพระราชทรัพย์ของในหลวงมีสูงถึง 4.3 หมื่นล้านดอลลาร์ แถมโยนทุกอย่างมารวมไว้ด้วยกัน ทั้งทรัพย์สินส่วนพระองค์ ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ งบประมาณสำนักพระราชวัง แม้กระทั่งงบประมาณในโครงการพระราชดำริต่าง ๆ ก็ยังเอามาปนกัน และตบท้ายว่าทรัพย์สินกับงบประมาณเหล่านี้มาจากภาษีประชาชนที่เอาไปให้กษัตริย์ล้างผลาญ
ซึ่งทั้งหมดเป็นความเข้าใจที่ “ผิด” เป็นชุดความคิดที่ยัดเยียดส่งต่อกันมา และเชื่อตาม ๆ กันไป
ทรัพย์สินส่วนพระองค์
คือ ทรัพย์สินที่เป็นพระราชมรดกตกทอดของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นโดยเฉพาะ เรียกง่าย ๆ ว่าเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เช่น ทรัพย์สินของสกุลมหิดลที่เป็นมรดกตกทอดมาจาก สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ย่าของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งทรงเป็นคนประหยัด ขยันทำมาค้าขาย จนรัชกาลที่ 5 ตรัสเสมอว่า “แม่กลางร่ำรวย”
ซึ่งในหลวงรวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ ต่างได้ใช้ทรัพย์สินส่วนพระองค์นี้ ในการช่วยเหลือประชาชนตลอดจนเป็นทุนสนับสนุนโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา, มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และโครงการส่วนพระองค์อีกมากมาย ก็ล้วนใช้พระราชทรัพย์ส่วนนี้ทั้งสิ้น
ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
คือ พระราชมรดกตกทอดแห่งพระมหาจักรีบรมราชวงศ์ เป็นทรัพย์สินของสถาบันพระมหากษัตริย์ และย่อมจะสืบทอดต่อไปยังพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ถัดไปในอนาคต เป็นพระราชทรัพย์ของราชวงศ์จักรี หาได้เป็นทรัพย์ของแผ่นดินไม่
ซึ่งผู้ดูแลทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แต่เดิมคือ กรมพระคลังข้างที่ และในปัจจุบันได้เปลี่ยนมาเป็น “สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์”
กรมพระคลังข้างที่ มีส่วนสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก เช่น การก่อตั้งกิจการธนาคารในประเทศไทย คือธนาคารสยามกัมมาจล ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งต่อมา คือธนาคารไทยพาณิชย์ในปัจจุบัน ก่อตั้งบริษัทปูนซิเมนต์ไทยจำกัด เพื่อผลิตซิเมนต์ใช้เองในการพัฒนาประเทศ
ปี พ.ศ. 2435 ได้มีการแยกงบประมาณราชการแผ่นดิน กับส่วนพระองค์ ออกจากกันเด็ดขาด กล่าวคือ มีการโอนย้ายกรมพระคลังข้างที่ซึ่งสังกัดกระทรวงพระคลัง ไปขึ้นต่อกระทรวงมุรธาธร
นับแต่นั้น “กรมพระคลังข้างที่” ก็อยู่ในบังคับบัญชาส่วนพระองค์ จนกระทั่งเปลี่ยนไปเป็น “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” และเปลี่ยนชื่ออีกครั้งในวาระการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2561 เป็น “สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์”
พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ 2560 และ 2561 ทั้งทรัพย์สินส่วนพระองค์ (พระเจ้าแผ่นดินในฐานะตัวบุคคล) และทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ (พระเจ้าแผ่นดินในฐานะสถาบันพระมหากษัตริย์) ดูแลจัดการโดย “สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์”โดยที่ในหลวงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งกรรมการสำนักงานได้ตามพระราชอัธยาศัยเพื่อประโยชน์สำคัญคือ
- ทำให้ทรงจัดการพระราชทรัพย์ได้สะดวกและเป็นประโยชน์ได้ง่ายขึ้น
- ทำให้ทรงเสียภาษีอย่างถูกต้องได้ทั้งหมด
- ทำให้ทรงได้รับสิทธิ์อันชอบธรรมในการดูแลพระราชมรดกแห่งพระราชวงศ์จักรี
- ทำให้ทรงงานและทรงใช้พระราชทรัพย์ในการทรงงานเพื่อเป็นประโยชน์แก่ประชาชน ดังพระราชปณิธาน สืบสาน ต่อยอด พระราชดำริแห่งในหลวงรัชกาลที่ 9เพื่อให้ประเทศมีการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไปได้
ตัวอย่างในการจัดการพระราชทรัพย์เพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติ คือการที่พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานที่ดินมากมายที่เคยอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปเป็นสาธารณประโยชน์ และทรงยกให้หน่วยราชการจำนวนมาก เช่น ทรงมีพระบรมราชโองการ ยกที่ดินแปลงริมถนนราชดำริ 67 ไร่ ให้โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยไว้เก็บดอกผลเป็นต้น
งบประมาณสำนักพระราชวัง
คือเงินงบประมาณแผ่นดินเฉพาะหมวดค่าจ้างเงินเดือนข้าราชการในสำนักพระราชวัง หมวดค่าดำเนินการ และหมวดค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ ของสำนักพระราชวัง ซึ่งประเทศต่าง ๆ ที่ปกครองด้วยระบอบ Constitutional monarchy ทั่วโลก ก็ต้องมีงบประมาณในส่วนนี้เหมือนกันทั้งโลก และรัฐบาลก็จัดถวายทุกประเทศทั้งสิ้น ยกตัวอย่างเช่น the Imperial Household Agency ของประเทศญี่ปุ่น Royal Households of the United Kingdom ของสหราชอาณาจักร
ปัจจุบันสำนักพระราชวังมีบุคลากรทั้งสิ้นประมาณหนึ่งหมื่นคน และได้รับงบประมาณปีละหกพันแปดร้อยล้านบาท ซึ่งไม่ได้ถือว่ามากแต่อย่างใด และจำนวนอัตราข้าราชการในสำนักพระราชวัง จะถูกควบคุมและจำกัดโดยกฎเกณฑ์ของสำนักงานข้าราชการพลเรือน (กพ) เช่นเดียวกับทุกกระทรวง ทบวง กรม
งบประมาณในโครงการพระราชดำริ
คืองบประมาณแผ่นดินซึ่งมาจากภาษีประชาชนและภาษีอื่น ๆ แต่งบประมาณส่วนนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พูดง่าย ๆ คือไม่ได้เอาไปให้พระมหากษัตริย์ใช้จ่าย หากแต่เอาไปกระจายให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่รับผิดชอบ นำไปใช้ ทุกบาททุกสตางค์ ใช้เพื่อประชาชน ในหลวงไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับงบประมาณส่วนนี้แม้แต่บาทเดียว
โดยโครงการต่าง ๆ นั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อความคล่องตัว และเป็นการดำเนินการที่ช่วย “อุดรอยรั่วให้กับภาครัฐ” เพื่อผลปลายทางคือทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งโครงการในพระราชดำริทั้งหมด 4 พันกว่าโครงการนั้น ได้ทดลองและริเริ่มขึ้นโดยพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น
ข้อมูลทั้งหมดนี้เป็นการอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ถึงที่มาและความแตกต่างของทรัพย์สินส่วนพระองค์ ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ งบประมาณสำนักพระราชวัง และงบประมาณในโครงการพระราชดำริ ซึ่งแยกส่วนกันอย่างชัดเจน ไม่ใช่งบประมาณก้อนเดียวที่มีไว้สำหรับพระมหากษัตริย์ ตามที่มีผู้พยายามบิดเบือนและโยงทุกอย่างว่ามาจากภาษีของประชาชน
ดังนั้นการออกมาเรียกร้องว่า ทรัพย์สินและงบประมาณสถาบันพระมหากษัตริย์มาจาก “ภาษีกู” จึงเป็นความเข้าใจที่ “ผิด” และเป็นแค่ชุดความคิดที่เชื่อตาม ๆ กันไป ของคนที่ไม่เคยสนใจหาข้อมูลใด ๆ เลย