ตำนานงูเล็ก 4 ตัวในหลุมเสาหลักเมืองคือ “เรื่องลือ” อัน “ไร้เหตุผล” ของพงศาวดารฉบับกระซิบ
มีพงศาวดารฉบับกระซิบ ได้พูดถึงตำนานเกี่ยวกับอาถรรพ์งูเล็ก 4 ตัว ในหลุมเสาหลักเมือง ครั้งเมื่อ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เสด็จกรีฑาทัพปราบดาภิเษก เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 จากนั้นอีก 15 วัน ได้ทรงจัดให้มีพิธียกเสาหลักเมืองขึ้น ในวันที่ 21 เมษายน 2325
อันเป็นที่มาของคำทำนายชะตาเมืองว่าจะอยู่ในเกณฑ์ร้าย นับจากวันยกเสาหลักเมืองเป็นเวลา 7 ปี 7 เดือน อีกทั้งสยามจักดำรงวงศ์กษัตริย์สืบไปเป็นเวลาอีก 150 ปี
ทั้งนี้ตามพงศาวดารหรือหลักฐานประวัติศาสตร์ ระบุไว้ตรงกันเกี่ยวกับเหตุการณ์ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ “ไม่มีหลักฐานใดเลย” ที่กล่าวถึงเรื่องประหลาดอัศจรรย์เกี่ยวกับการพบงูก้นหลุมในขณะยกเสาหลักเมือง
พงศาวดารฉบับกระซิบ
พงศาวดารฉบับกระซิบได้พูดถึงตำนานงูเล็ก 4 ตัวในหลุมเสาหลักเมือง เอาไว้ว่า
เมื่อใกล้ได้เวลาพระฤกษ์ พระโหราจารย์กล่าวโฉลกบูชาฤกษ์แล้ว พระมหาราชครูอ่านพระราชโองการ ตั้งพระมหานคร ขุนโหรจึงเริ่มพิธีกล่าวอุทิศเทพสังหรณ์ อัญเชิญก้อนดินซึ่งพลีมาแต่ทิศทั้ง 4 แห่งพระนคร กระทำให้เป็นก้อนกลมดุจลูกนิมิต ลงสู่ก้นหลุมเป็นลำดับกันไป เริ่มแต่ทิศบูรพา ทักษิณ ปัจฉิม และอุดร
จากนั้นก็นำแผ่นศิลาลงยันต์สำหรับรองรับหลัก วางลงบนก้อนดินทั้ง 4 นั้น ภายในก้นหลุมตกแต่งเรียบร้อย กรุด้วยผ้าขาวบริสุทธิ์ ดารดาษด้วยใบไม้อันเป็นมงคล 9 ประการ โปรยด้วยแก้วนพรัตน์ ไว้เรียงราย โดยรอบขอบปริมณฑล
เมื่อถึงพระฤกษ์ โหราจารย์ก็ย่ำฆ้องบอกกำหนด ชีพ่อพราหมณ์เป่ามหาสังข์ แกว่งบัณเฑาะก์ เจ้าพนักงานประโคมดุริยางค์แตรสังข์และพิณพาทย์ เจ้าหน้าที่ประจำยิงปืนใหญ่ เป็นมหาพิชัยฤกษ์ เริ่มพระราชพิธีอัญเชิญเสาหลักเมืองลงสู่ก้นหลุม
ทันใดนั้น…ก็เกิดเหตุปาฏิหาริย์ไม่คาดฝัน มีงูเล็ก 4 ตัว ลงไปอยู่ก้นหลุมแต่เมื่อใดไม่มีใครเห็น มาเห็นเอาก็เมื่อเสาหลักเมืองเคลื่อนลงสู่หลุมแล้ว จะยั้งไว้ก็มิได้ เพราะขั้นตอนพิธีทุกอย่างต้องเป็นไปตามพระฤกษ์ เมื่อเสาหลักเมืองลงสู่ก้นหลุม ก็กลบดินทับงูเล็กทั้ง 4 ตัวไว้ในหลุมด้วย
ข้อเท็จจริงที่ควรพิจารณา
จากคำเล่าลือข้างต้น หากพิจารณาดูในข้อเท็จจริงแล้ว เสาหลักเมืองถูกฝังในระดับความลึก 42 นิ้ว ดังนั้นหลุมจะต้องลึกประมาณ 2 เมตร ซึ่งการขุดหลุมเมื่อสองร้อยกว่าปีที่แล้ว เครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ ยังไม่เหมือนสมัยนี้ อย่างดีที่สุดก็คือการขุดเจาะด้วยมือ
ดังนั้นการขุดหลุมลึกระดับ 2 เมตร ต้องใช้เสียมขุด ซึ่งปากหลุมต้องกว้างพอที่ตัวคนสามารถลงไปนั่งขุดและโกยดินขึ้นมาได้ และยังต้องกว้างมากพอที่จะเคลื่อนไหวด้ามเสียมได้สะดวก ไม่ขัดกับผนังหลุมด้วย กะคร่าว ๆ อย่างน้อยเส้นผ่าศูนย์กลางต้องเป็นเมตร
แม้ในยุคนั้นอาจมีเทคโนโลยีการใช้รอกยกเสาแล้วก็ตาม แต่การที่เส้นผ่าศูนย์กลางของหลุมกว้างเกือบ ๆ เมตร ในขณะที่ยกเสาหลักเมืองลงหลุม ยังไงก็ต้องมีคนประจำก้นหลุม เพื่อประคองโคนเสาให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง และจะต้องคอยประคองไว้ตลอดเพื่อวัดระดับฉากให้เสาตั้งตรง
ดังนั้น ถ้ามีงูที่ก้นหลุมจริง ต้องมีคนเห็นตั้งแต่แรก และควรจับงูได้ทันทีก่อนที่จะเคลื่อนเสาลงหลุม แม้ต่อให้เกิดเหตุอัศจรรย์มีงูโผล่ออกมาตอนกำลังจะลงเสา คนประคองเสาต้องเห็นงูในหลุม ก่อนเสาจะเข้าปากหลุมด้วย เพราะการยกเสาลงไป จำเป็นต้องมีการเล็งตำแหน่งที่ถูกต้องในการตั้งเสา
อนึ่ง การกำหนดฤกษ์แบบพราหมณ์นั้น จะกำหนดเฉพาะช่วงเวลาเริ่มพิธีเท่านั้น ไม่มีการกำหนดเวลาสิ้นสุด ดังนั้นเมื่อเริ่มทำพิธีแล้วก็หมายความว่าได้ถือฤกษ์ตามนั้น ถ้ามีงูอยู่จริงยังไงก็ต้องให้คนลงไปจับ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้เสียเวลาหรือเสียฤกษ์ เพราะว่าได้เริ่มพิธีการตามฤกษ์ยามตั้งแต่แรกแล้ว
ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้มีการทำพิธียกเสาหลักเมืององค์ใหม่ ในครั้งนั้นก็ไม่ปรากฎข่าวลือว่าขุดเจอกระดูกงูที่ก้นหลุม หรือแม้แต่ตอนที่มีการบูรณะเสาหลักเมืองในปี พ.ศ. 2525 ก็ไม่ปรากฎว่ามีการขุดเจออะไรที่ก้นหลุมเช่นกัน
จะมีก็แต่ขุดเจอของมงคล ที่พราหมณ์พิธีได้ฝังไว้ตามฤกษ์ยาม ก่อนมีการยกเสาหลักเมืองลงสู่หลุมเท่านั้น
ดังนั้น ข้อสรุปข้างต้น จึงเป็นการอธิบายด้วยข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้ และแสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่า คำบอกเล่าจากพงศาวดารฉบับกระซิบ เกี่ยวกับอาถรรพ์งูเล็ก 4 ตัว ในหลุมเสาหลักเมือง เป็นแค่ “เรื่องลือ” ที่ปราศจากเหตุผลและ “ไม่เป็นความจริง”