ตอนที่ 1 : กลยุทธถ่วงดุลชาติอาณานิคม กับการเดินทางครึ่งโลกของ รัชกาลที่ 5
ในปี พ.ศ. 2411 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวผู้เป็นพระบรมชนกนาถของในหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคต บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์และเหล่าข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ได้กราบบังคมทูลเชิญพระองค์เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม โดยมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ 11 พฤศจิกายน ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ หรือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เนื่องจากทรงพระเยาว์ มีพระชนม์เพียง 15 พรรษา 10 วัน ที่ประชุมจึงแต่งตั้งให้ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นเวลา 5 ปี
ช่วงเวลา 5 ปีนี้ พระองค์ได้เสด็จประพาสสิงคโปร์ ชวา พม่า และอินเดีย โดยมีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรแบบอย่างที่เหมาะสม เพื่อนำมาปรับปรุงบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้า ทรงทราบเป็นอย่างดีว่าประเทศเพื่อนบ้านของพระองค์ล้วนตกเป็นเมืองขึ้นแก่ชาติมหาอำนาจทั้งสิ้น กล่าวคือ ประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และพม่า ตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศอังกฤษ (สหราชอาณาจักร) ส่วนประเทศลาว กัมพูชา และเวียดนามได้ตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศฝรั่งเศสกันหมดแล้ว
แต่ด้วยพระปรีชาสามารถด้านภาษาและความเป็นผู้ทรงธรรม พระองค์จึงสามารถรวมใจชาวสยามให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ทำให้ประเทศรอดพ้นจากการตกเป็นเมืองขึ้นในสมัยนั้น
ในปี พ.ศ. 2416 เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงบรรลุนิติภาวะ ทรงได้รับถวายพระราชอำนาจคืนในการบริหารประเทศ โดยพระองค์ทรงผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นเวลา 15 วัน ถือเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกในราชวงศ์จักรีที่ทรงผนวชขณะเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ (องค์ที่ 2 คือ ในหลวงรัชกาลที่ 9)
เมื่อทรงลาสิกขาบทแล้ว ก่อนทรงเริ่มบริหารราชการแผ่นดินด้วยพระองค์เอง ได้มีการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นครั้งที่ 2 ในวันที่ 16 ตุลาคม และในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนี้เอง ได้มีสิ่งอันเป็นที่ประทับใจผู้ที่ได้เข้าร่วมก็คือ
“มีพระบรมราชโองการให้ขุนนางที่หมอบเฝ้าอยู่ในท้องพระโรงลุกขึ้นยืนเฝ้า เช่นเดียวกับชาวยุโรปที่ได้รับเชิญมาร่วมพระราชพิธี”
อาจกล่าวได้ว่า เป็นการยกเลิกประเพณีหมอบคลานกันตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ซึ่งเหตุการณ์นี้เป็นประเด็นสำคัญที่แสดงถึงพระราชประสงค์ของพระองค์ ที่ทรงต้องการพัฒนาประเทศให้ทันสมัยดั่งชาติตะวันตก เพราะการหมอบกราบเป็นการแสดงถึงความล้าสมัย ไม่เป็นสากลนิยมนั่นเอง
เมื่อทรงราชการแผ่นดินด้วยพระองค์เองแล้ว ทรงเห็นว่าเดิมมีเสนาบดีบริหารงานเพียง 6 ตำแหน่ง ย่อมไม่เพียงพอกับกิจการบ้านเมืองที่เจริญก้าวหน้าขึ้นมาก ปัญหาอีกอย่างคือ ส่วนราชการมีงานที่สับสน บางกรมงานมาก บางกรมไม่มีงานทำ งานทหารกับพลเรือนปะปนกัน ฯลฯ
และด้วยทรงตระหนักว่าถ้าบริหารบ้านเมืองเพียงลำพัง “ก็จะไม่ใคร่สำเร็จไปได้ ถ้ามีผู้ช่วยกันคิดหลายปัญญาแล้ว การซึ่งรกร้างมาแต่เดิมก็ได้ปลดเปลื้องไปทีละน้อยๆ ความดีความเจริญก็จะบังเกิดแก่บ้านเมือง” ดังนั้น พระองค์จึงทรงปรับปรุงบ้านเมืองตามแนวพระราชดำริที่ทรงวางไว้
ในปี พ.ศ. 2417 โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งสภาขึ้น 2 สภา คือ
- สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of State) มีหน้าที่ถวายคำปรึกษาและความเห็นต่างๆ แล้วออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ ต่อมาได้ทรงตราพระราชบัญญัติรัฐมนตรี ยกเลิกสภา ให้ใช้รัฐมนตรีสภาแทน
- สภาที่ปรึกษาในพระองค์ (Privy Council) มีหน้าที่เป็นที่ปรึกษาส่วนพระองค์ คอยเสนอความเห็นต่างๆ เป็นการส่วนพระองค์
ในปี พ.ศ. 2430 โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยา เทวะวงศ์วโรปการ เสด็จแทนพระองค์ไปงานฉลองราชสมบัติครบรอบ 50 ปี ของสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรีย ประเทศอังกฤษ และรับสั่งให้พิจารณาแบบอย่างคณะเสนาบดีของชาติต่างๆ ในยุโรปมาด้วย
ในปี พ.ศ. 2431 ทรงเริ่มการทดลองปฏิรูปการปกครองแบบใหม่ขึ้น โดยยกเลิกแบบแผนการปกครองที่มีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ที่แบ่งงานเป็น 6 กรม แล้วปรับเป็น 12 กระทรวงแบบสากล ดำเนินงาน 4 ปี
ในปี พ.ศ. 2435 วันที่ 1 เมษายน โปรดเกล้าฯ ให้มีการปฏิรูปการปกครองอย่างถาวร ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น
ตลอดช่วงระยะเวลาหลายปี ในหลวงรัชกาลที่ 5 ได้ทรงจัดตั้งเปลี่ยนแปลง ปฏิรูปบ้านเมืองไปมากมายหลายด้านสู่ความเป็นสากล ทั้งด้านกฎหมาย ศาล สาธารณสุข โรงพยาบาล เศรษฐกิจธนาคาร การคมนาคม การไปรษณีย์ โทรเลข การเกษตรชลประทาน การให้การศึกษาแก่ข้าราชการและราษฎร รวมถึงวัฒนธรรมเครื่องแต่งกาย เป็นต้น
จากที่กล่าวมาจะสังเกตได้ว่า การเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างมากมายในขณะนั้น สาเหตุสำคัญประการหนึ่งคือ เพื่อให้รอดพ้นจากการถูกล่าอาณานิคมจากชาติมหาอำนาจตะวันตก แต่ที่สุดแล้ว ในปี พ.ศ. 2436 สยามก็มิอาจต้านทานการรุกรานอย่างหนักของฝรั่งเศส ที่ได้ล่วงล้ำอธิปไตยนำเรือรบเข้าปิดอ่าวไทยในที่สุด อันนำไปสู่การเจรจาต่อรองในเบื้องต้น โดยสยามได้ยอมเสียอาณาบริเวณบางส่วนของประเทศ เพื่อรักษาเอกราชและชีวิตของราษฎรไม่ให้ถูกผลกระทบและสูญเสียจากสงคราม
อย่างไรก็ตาม การรุกรานของฝรั่งเศสในครั้งนั้น ถือได้ว่าเป็นการรุกรานอย่างน่าสะพรึงกลัว อีกทั้งสยามยังต้องชดใช้ค่าเสียหายจากการสู้รบเป็นจำนวนเงินถึง 2 ล้านฟรังก์ และต้องวางเงินประกันอีก 3 ล้านฟรังก์ การเสียเปรียบมากมายเหล่านี้ จึงนำไปสู่การตัดสินพระทัยครั้งสำคัญของในหลวงรัชกาลที่ 5
จากบทเรียนเรื่อง ร.ศ. 112 ตรง กับปี พ.ศ. 2436 ถือเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้พระองค์มีพระราชดำริที่จะ “คิดตั้งตัวใหม่” โดยมีพระราชหัตถเลขาของในหลวงรัชกาลที่ 5 ถึงพระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ ลงวันที่ 3 กันยายน ร.ศ. 112 ความว่า …
“… เห็นการจำเป็นที่จะต้องไปประเทศยุโรปเสียแน่แท้ … เราจำเป็นต้องตั้งตัวทางโน้นแล้ว”
นี่คือจุดเริ่มต้นของการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกของในหลวงรัชกาลที่ 5 ในดินแดนต่างทวีปซึ่งอยู่อีกซีกโลก เป็นเวลานานถึง 9 เดือน ซึ่งถือเป็นการปฏิบัติพระราชกรณียกิจครั้งสำคัญในการดำเนินกุศโลบายป้องกันไม่ให้สยามตกเป็นเมืองขึ้นของเหล่ามหาอำนาจตะวันตกในขณะนั้น
ในตอนต่อไป พบกับเรื่องราวความสำเร็จในการเสด็จประพาสยุโรปของในหลวงรัชการที่ 5 เมื่อปี พ.ศ. 2440 ส่งผลให้สยามได้รับการยอมรับจากชาติตะวันตก และรอดพ้นจากอิทธิพลของลัทธิล่าอาณานิคมในเวลาต่อมา
ตอนที่ 2 : กลยุทธถ่วงดุลชาติอาณานิคม กับการเดินทางครึ่งโลกของ รัชกาลที่ 5
ที่มา :
[1] วัลลภ คล่องพิทยาพงษ์, เส้นทางบุญ 9 วัด 9 รัชกาล
[2] กองจดหมายเหตุ (2523) การเสด็จประพาสยุโรปของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.ศ.116 เล่ม 1
[3] ประไพ รักษา, ผลของการเสด็จประพาสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มีต่อการปรับปรุงประเทศให้ทันสมัย (พ.ศ. 2411-2453.)
[4] พรสรรค์ วัฒนางกูร, ความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรสยามและราชสำนักยุโรปครั้งแรกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2440