ดุจ ‘ลมหายใจต่อชีวิต’ 14 ปี ‘ม.ท.ศ.’ ทุนพระราชทาน ในหลวงรัชกาลที่ 10

จากที่ทีมงาน ฤา เคยนำเสนอไปบ้างแล้วว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงเป็น “พระมหากษัตริย์นักปฏิบัตินิยม” คำว่าปฏิบัตินิยมนั้น บางทีพูดไปคนฟังอาจไม่เห็นภาพ เพราะดูเหมือนเป็นเพียงแค่ยกหลักการลอย ๆ ขึ้นมาเอง

คำว่าปฏิบัตินิยม หลักฐานคืออะไร

ประเด็นนี้ ต้องย้อนกลับไปสมัย พ.ศ.2552 ที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 ยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์สยามมกุฎราชกุมารอยู่ ในปี 2552 นี้เอง ทรงมีพระราชดำริริเริ่มการให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อต่อยอดพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพด้วยการศึกษา

ต่อมาในปี พ.ศ.2553 ได้มีการจัดตั้งเป็นองค์กรในรูปแบบมูลนิธิ ชื่อว่า “มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” (ม.ท.ศ.) โดยนับตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน มีนักเรียนทุนพระราชทานมาแล้ว 13 รุ่น รวมนักเรียนที่ได้รับทุนทั้งหมดเกือบๆ 2,000 คน ทุนที่พระราชทานไปทั้งสิ้นกว่า 600,000,000 บาท (หกร้อยล้าน) เงินทุนนี้ ครอบคลุมตั้งแต่ค่าเทอม ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าใช้จ่ายรายเดือน ค่าหอพัก (กรณีปริญญาตรี) ทั้งหมด

โดยจากที่ได้ติดตามผลการดำเนินการ ปรากฏว่าปัจจุบัน นักเรียนทุนพระราชทานกว่าร้อยละ 70 เมื่อเรียนจบแล้ว นักเรียนเหล่านี้ได้กลับไปทำงาน ใช้ความรู้ความสามารถพัฒนาบ้านเกิดของตนเองด้วย

ความพิเศษของทุนพระราชทานนี้ คือความเปิดกว้าง นั่นคือ จะไม่มีการกำหนดสัดส่วนชายหญิงผู้รับทุน ไม่มีการกำหนดสัดส่วนจำนวนทุนแต่อย่างใด นอกจากการให้ทุนการศึกษาที่เป็นเรื่องทางวิชาการแล้ว นักเรียนทุนพระราชทานยังได้รับการพัฒนาศักยภาพเสริมสร้างทักษะอาชีพและทักษะชีวิตอีกด้วย

การพัฒนาศักยภาพเสริมสร้างทักษะอาชีพและทักษะชีวิตก็คือฝึกปฏิบัติงานจิตอาสาในสถานพยาบาล สถานดูแลผู้พิการ ผู้สูงอายุ การฝึกปฏิบัติงานในสถานประกอบการเพื่อเรียนรู้ประสบการณ์เชิงวิชาชีพต่าง ๆ ด้วย

ความพิเศษอีกประการหนึ่งของทุนพระราชทานนี้คือการทำงานในเชิงรุก กล่าวคือ การหานักเรียนผู้มีคุณสมบัติในการรับทุนพระราชทาน จะดำเนินการในรูปแบบของคณะกรรมการชุดย่อยดำเนินการระดับพื้นที่/จังหวัด โดยมีการแจ้งหนังสือเวียนไปยังหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อให้ส่งนักเรียนที่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์เข้ามารับการคัดเลือก

ในการดำเนินงานโครงการทุนฯ พระองค์พระราชทานหลักการ ให้กระจายทุนครบในทุกจังหวัด และดำเนินการด้วยการแสวงหา คัดเลือก คัดสรร และกลั่นกรอง จนได้ผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้ารับพระราชทานทุน และทรงเน้นย้ำว่า “…เมื่อทำโครงการมาแล้ว จำเป็นต้องศึกษา ติดตาม และพัฒนาแผนในการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง การทำงานที่ได้ผล ต้องศึกษาข้อมูล มีการปรับแผนให้ทันสมัย และมีความใส่ใจที่จะทำงานต่อเนื่อง…”

และด้วยการที่ไม่มีการกำหนดสัดส่วนของจำนวนผู้รับทุน แต่จะเป็นการพิจารณาจากศักยภาพของนักเรียนเอง และจะไม่มีการยึดโยงกับฐานจังหวัดที่เสนอรายชื่อนักเรียน ทำให้ทุนพระราชทานนี้ มีความยืดหยุ่นในทางปฏิบัติค่อนข้างสูง โดยจะเน้นพิจารณาไปที่ผู้เข้าหลักเกณฑ์รับทุน ณ ช่วงเวลานั้นๆ เป็นสำคัญ เช่น ปีนี้มีนักเรียนเหมาะสม 5 คน ก็ได้รับทุนทั้ง 5 คน โดยไม่คำนึงว่าปีนี้มีโควต้าแค่ 1 คน 1 คนนี้ก็จะได้ทุน ทำให้ที่เหลือไม่ได้ทุน

โครงการทุน ม.ท.ศ. ยึดหลักเกณฑ์ 3 ประการในการคัดเลือกนักเรียน คือ เกณฑ์เรียนดี เกณฑ์ความประพฤติดี และเกณฑ์ความพร้อมที่จะเข้ารับการฝึกและพัฒนาศักยภาพ โดยมุ่งเน้นสนับสนุนการศึกษาในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการของประเทศ โดยไม่กำหนดสัดส่วนชายหญิง ไม่กำหนดสัดส่วนจำนวนทุนแต่ละจังหวัด เพื่อมุ่งหวังให้เกิดการเสริมสร้างพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง เข้มแข็ง และเสริมสร้างศักยภาพความสามารถการเรียนรู้ ให้นักเรียนนักศึกษาเติบโตเป็นคนดี มีคุณภาพ และดำรงตนเป็นคนดีของสังคม

ตัวอย่างนักเรียนที่ได้รับทุนนี้ ท่านแรกก็คือเรือตรีกฤษดาฯ สังกัดกองกิจการอวกาศ กองทัพอากาศ โดยเรือตรีกฤษดาฯ ได้รับทุนพระราชทานตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จนจบปริญญาตรี ซึ่งเรือตรีกฤษดาฯ ได้เล่าว่า

“เนื่องด้วยฐานะทางบ้านไม่มั่นคง ทำให้ผมเคยคิดว่า อนาคตจะได้เรียนหรือเปล่าก็ไม่รู้ การได้รับโอกาสอันยิ่งใหญ่นี้ เป็นเหมือนลมหายใจมาต่อชีวิต”

แล้วสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนอกเหนือจากโอกาสทางการศึกษาของเรือตรีกฤษดาฯ ก็คือการได้ครอบครัวที่สมบูรณ์อบอุ่นกลับคืนมา

เรือตรีกฤษดาฯ เล่าต่ออีกว่า แต่เดิมครอบครัวตนเอง คุณพ่อกับคุณแม่แยกทางกัน คุณพ่อของเรือตรีกฤษดาฯ ติดสุรา ครอบครัวก็จะมีเพียงแค่คุณแม่ท่านเดียวที่รับผิดชอบครอบครัว แต่มีเงื่อนไขหนึ่งที่เรือตรีกฤษดาฯ จะรับทุนได้ก็คือ คุณพ่อจะต้องสัญญาว่าตนเองจะเลิกสุรา ต่อมาเรือตรีกฤษดาฯ มูลนิธิ ม.ท.ศ. และคุณพ่อ สามฝ่ายนี้ได้มาเซ็นข้อตกลงกันอย่างจริงจัง ว่าคุณพ่อจะต้องเลิกสุราเด็ดขาด

กล่าวโดยสรุป คุณพ่อได้รักษาสัญญา เลิกเหล้าโดยสิ้นเชิง และได้กลับมาอยู่เป็นครอบครัวกับคุณแม่ ในที่สุดเรือตรีกฤษดาฯ ก็ได้ครอบครัวที่อบอุ่นคืนกลับมา

นอกจากเรือตรีกฤษดาฯ แล้ว ยังมีนักเรียนทุนพระราชทานท่านอื่นอีก ก็คือครูนิคมฯ นักเรียนทุนพระราชทานรุ่น 1 ครูนิคมฯ ปัจจุบันเป็นครูอยู่ที่จังหวัดราชบุรี ได้เล่าว่า พ่อแม่ทำงานก่อสร้าง ครอบครัวมีฐานะยากจน วันหนึ่งคุณแม่ทำงานไม่ได้ น้องชายคนกลางจึงออกจากโรงเรียนมาช่วยครอบครัว ตนเองเกือบจะไม่ได้เรียนหนังสือแล้ว พอตนเองได้รับทุนพระราชทานก็เปรียบเสมือนการได้ชีวิตใหม่ ครูนิคมฯ เล่าต่อว่า ตนมีความตั้งใจมุ่งมั่นเล่าเรียน คิดว่าจะนำความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพดูแลครอบครัวให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ พร้อมอยากเอาความรู้มาใช้เป็นประโยชน์แก่สังคม โดยเลือกเรียนครู เพื่อมาช่วยพัฒนาเยาวชน ส่งเสริมการให้ความรู้และโอกาสแก่คนอื่น ๆ พร้อมน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มีต่อพวกเราว่า “เรียนดี ความรู้ การงานดี ชีวิตสดใส ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ” มาปฏิบัติด้วย

นักเรียนทุนอีกท่านหนึ่งคือ นพ.วีรยุทธฯ นักเรียนทุนพระราชทานฯ รุ่นที่ 3 ที่ได้รับพระราชทานทุนการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จนจบปริญญาตรี สาขาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปัจจุบันรับราชการเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลนครสวรรค์ คุณหมอวีรยุทธฯ เล่าว่า การได้รับทุนพระราชทาน ม.ท.ศ. ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิต จากที่อนาคตไม่ชัดเจนว่าจะได้เรียนต่อหรือไม่ เพราะครอบครัวมีปัญหาทางการเงิน เมื่อได้รับพระราชทานทุนก็ได้เห็นอนาคตและโอกาสในการได้เรียนต่อ การเรียนแพทย์ต้องมีค่าใช้จ่ายสูง เมื่อได้รับทุนทำให้ตนไม่ต้องมีความกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย ทำให้มีความมุ่งมั่นไปกับการเรียน มีความตั้งใจที่เรียนจนสำเร็จได้ จนกลับมาทำงานที่บ้านเกิด และคุณหมอวีรยุทธฯ ได้ตั้งปณิธานว่า จะทำงานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ช่วยเหลือประชาชนให้มากอีกด้วย

ส่วนประเด็นสำคัญคือคำถามที่ว่า เงินทุนนี้ในหลวงรัชกาลที่ 10 ท่านเอามาจากไหน คำตอบก็คือ ในคราวแรกเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ รวมเข้ากับเงินบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศล จากภาคประชาชนองค์กรเอกชนต่าง ๆ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า จากเดิมที่เงื่อนไขทุนพระราชทานนี้ จะเป็นการพระราชทานแก่นักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจนถึงปริญญาตรีเท่านั้น แต่ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการมอบทุนพระราชทานให้ครอบคลุมไปถึงการเรียนในระดับปริญญาโทแล้วด้วย เนื่องจากในหลวงทรงเล็งเห็นว่าการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญมาก หากบ้านเมืองจะพัฒนาได้เป็นอย่างดี มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนจะต้องมีการศึกษาอย่างเพียงพอ เงื่อนไขการพระราชทานทุนการศึกษา ม.ท.ศ. จึงขยายเพดานขยับไปในชั้นปริญญาโทด้วย

รายละเอียดของทุน ม.ท.ศ. คือทุนพระราชทาน ที่มีการจัดตั้งอย่างเป็นรูปธรรมในรูปแบบมูลนิธิ โดยในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงเป็นองค์ประธานด้วยพระองค์เองเลย คำว่าจัดตั้งเป็นมูลนิธิ ก็หมายความว่า มีการตรวจสอบได้อย่างเป็นระบบ เป็นรูปธรรม มีระบบบัญชี มีรายรับรายจ่าย มีการดำเนินกิจการในรูปแบบคณะกรรมการที่ต้องกระทำด้วยมตินั่นเอง

ทั้งหมดนี้คือหนึ่งในพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่ทรงปฏิบัติมาโดยตลอด แต่เพราะบางทีอาจจะมีหลายคนหลงลืมไปว่า ในหลวงทรงมีพระราชกรณียกิจอะไรบ้าง ภาพจำของประชาชนที่ติดตาว่า พระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์จะต้องบุกป่าฝ่าดง ขึ้นเขาลงห้วยไปในที่ทุรกันดารในแบบของในหลวงรัชกาลที่ 9 หากไม่ได้บุกป่าฝ่าดง ขึ้นเขาลงห้วยไปในที่ทุรกันดาร บางคนก็จะไม่เข้าใจและคิดไปว่าในหลวงรัชกาลที่ 10 ไม่ได้ทรงงาน ซึ่งการเปรียบเทียบในลักษณะนี้ ไม่ถูกต้องเท่าใดนัก

รูปแบบพระราชกรณียกิจในโลกปัจจุบันจะปรับเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขสังคมที่เปลี่ยนไป เมื่อบริบทของโลกเปลี่ยนไป พระราชกรณียกิจก็จะต้องปรับเปลี่ยนไปด้วย ภาพจำในพระราชกรณียกิจของพระองค์กับพระราชบิดาที่ประชาชนรับรู้ อาจจะแตกต่างกัน แต่บนความแตกต่างนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าในหลวงรัชกาลที่ 10 ไม่ได้ทรงงานแต่อย่างใดเลย

กล่าวโดยสรุป จากหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ทีมงาน ฤา นำมาเผยแพร่นี้ ได้ย้อนกลับไปอธิบายรายละเอียดหลักการที่ทีมงาน ฤา เคยเล่าเอาไว้ว่า “พระราชกรณียกิจของในหลวง ไม่ใช่การแทรกแซงนโยบายของรัฐบาล แต่เป็นการสนับสนุน และอุดรอยต่อการทำงานของภาครัฐ” ทุนการศึกษาของรัฐที่มีอยู่ในระบบปกติก็ยังทำงานต่อไป หน้าที่ส่วนนั้นเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องรับผิดชอบ ส่วนพระราชกรณียกิจของในหลวง ก็คือการอุดช่องโหว่ในส่วนนี้ ดังนั้น พระราชกรณียกิจจึงเป็นมากกว่ากิจการกุศลของราชวงศ์ แต่เป็นราชประเพณีที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่มาโดยตลอด

เพราะประเทศไทยปกครองด้วย “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” นั่นเอง

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า