ดังมาร้อยกว่าปีแล้ว! ‘สยามซอฟต์พาวเวอร์’ ระบือไกลทั่วโลกโดยรัฐบาล ‘สมบูรณาญาสิทธิราชย์’
ใครจะรู้เล่าว่าสยามในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็เคยมี ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ กับเขาด้วย และบังเอิญว่า ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ข้างต้นนี่เองที่ทำให้ ‘ความเป็นสยาม’ ถูกฝรั่งมังค่าและนานาชาติรู้จักผ่าน ‘สินค้าสยาม’ โดยสินค้าเหล่านี้คือหัตถกรรมท้องถิ่นหรือข้าวของที่สำแดงถึงความเป็นสยามได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นสยามในภาคกลาง อีสาน เหนือหรือปักษ์ใต้-มลายู ชาวตะวันตกถือว่าสินค้าที่มาจากสยามมีความแปลกใหม่ มีความเป็นตะวันออก แลวิจิตรพิสดาร ทั้งนี้ รัฐบาลสยามได้นำสินค้าที่ผ่านการคัดเลือกข้างต้นไปจัดแสดง ณ ต่างประเทศหลายครั้ง อันรู้จักกันในนาม ‘เอกซฮิบบิเชอน’ (Exhibition) เพื่อนำสินค้ามาจัดแสดงให้ผู้คนรับชมและมีภาพติดตา การจัดมหกรรมสินค้าดังกล่าวย่อมถือได้ว่าคือความพยายามที่จะสร้าง ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ของรัฐบาลสยามอย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับที่มาของการจัดมหกรรมสินค้านี้ ธงชัย วินิจจะกูล ระบุว่าเริ่มขึ้นในช่วงคริสตวรรษที่ 19 เมื่อประเทศจักรวรรดินิยมต้องการสำแดงให้โลกเห็นว่าตนได้เข้าไปครอบครองเอาดินแดนและทรัพยากรพื้นเมืองของชนชาติต่าง ๆ ที่หลากหลายได้มากมายเท่าไร การ ‘สถาปนาความรู้ผ่านจักรวรรดินิยมและอาณานิคม’ นอกจากนี้พื้นที่ดังกล่าวยังเป็นแหล่งให้ประเทศเหล่านั้นได้นำสินค้าอุตสาหกรรมที่ตนผลิตได้ (จาการครอบครองทรัพยากรในดินแดนอาณานิคม) มาจัดแสดงไว้ด้วย นอกจากนี้ บางแห่งยังมีการกระทำถึงขั้นนำเอาชนพื้นเมืองมาจำลองชีวิตในพื้นที่จำกัดคล้ายกับสวนสัตว์มนุษย์ อย่างไรก็ดี การพยายามแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการครอบครองและใช้ทรัพยากรจนนำมาสู่การจัดการมหกรรมสินค้าในยุคอาณานิคมเป็นเพียงระเบียบโลกในยุคอาณานิคม อันเป็นปทัสถานของคนในยุคเมื่อร้อยกว่าปีก่อนเท่านั้น
สยามเองในเวลานั้นแม้ว่าจะเป็นชาติขนาดเล็กและกำลังไล่ตามความเจริญของโลกตะวันตก แต่ก็เคยได้มีบทบาทในการนำสินค้าและความเป็นสยามเข้ามาจัดแสดงให้เป็นที่รับรู้ของชาวโลกเช่นกัน จริงอยู่ที่ว่าสยามหาได้เป็นดินแดนอาณานิคม ดังนั้น การจัดให้มีพื้นที่จัดแสดง ‘สินค้าสยาม’ จึงกระทำกันในฐานะประเทศเอกราชจากตะวันออกไกล แม้ว่าศักดิ์และสิทธิ์จะหาได้ทัดเทียมกับประเทศยุโรปผิวขาว (เพราะขณะนั้นเป็นยุคคนขาวเป็นใหญ่) แต่สยามก็มีศักดิ์ศรีพอที่ไม่ต้องถูกฝรั่งจำลองทำเป็นพื้นที่ ‘สวนสัตว์มนุษย์’ เช่นที่เพื่อนบ้าน อาทิ ชวา ลาว เขมร เวียดนาม พม่าโดนเจ้าอาณานิคมของตนกระทำ
สำหรับ ‘ไอคอน’ ที่ทำให้ชาวต่างชาติเห็นถึง ‘ความเป็นสยาม’ ได้ตั้งแต่ไกลลิบ ๆ ก็คือการตั้งอยู่ของ ‘ศาลาสยาม’ (Siamese Pavilion) ในพื้นที่จัดแสดง ศาลาสยามที่ว่าก็คืออาคารที่ก่อสร้างเป็นทรงไทยตั้งตระหง่านเห็นชัดเจนผิดแปลกกับอาคารทรงตะวันตกที่อยู่แบบทื่อ ๆ และพบได้เกลื่อนกลาดจนเป็นที่ชินตาของชาวยุโรปทั่วไป ปัจจุบันศาลาไทย (สยาม) ก็ยังถูกนำไปใช้เป็น‘ไอคอน’ สำคัญเมื่อมีการจัดการแสดงสินค้าหรือวัฒนธรรมไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศไทย นี่จึงนับเป็นมรดกของ ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ที่ดำริโดยรัฐบาลสมบูรณาสิทธิราชย์อันยังดำรงสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
ธงชัยระบุด้วยว่ารัฐบาลสยามได้เข้าร่วมมหกรรมนานาชาติ ณ ต่างแดนครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2419 ณ เมืองฟิลาเดลเฟีย ประเทศสหรัฐอเมริกา น่าเสียดายที่งานครั้งแรกนี้สยามยังไม่มีศาลาเป็นของตนเองจึงต้องยืมพื้นที่ของราชนาวีอเมริกันไปก่อน สำหรับสินค้าสยามที่รัฐบาลได้คัดเลือกส่งไปนั้น มีทั้งเมล็ดพันธุ์ข้าว ไม้ หัวโขน เครื่องมือเกษตร เครื่องดนตรี บ้าน และวัดจำลอง แต่ที่เป็นที่ ‘ฮือฮา’ สำหรับชาวตะวันตกที่สุดก็คือเครื่องราชูปโภคจำลองที่ทำด้วยเงินอย่างดีทั้งชุด นับแต่นั้นเป็นต้นมาประเทศสยามมักได้รับการทาบทามให้ไปจัดแสดงสินค้าจากทั่วทุกมุมโลก ในประเด็นนี้ จึงไม่ยากเกินคาดการณ์ว่า ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ผ่านสินค้าสยามที่สำแดงความเป็นสยาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานฝีมือชั้นสูงคงจะเป็นที่ถูกอกถูกใจฝรั่งมังค่าเอามาก เพราะมีทั้งความ ‘ยูนีค’ และลวดลายฝีมือที่แตกต่างกับงานฝีมือจากโลกตะวันตก รวมทั้งประเทศตะวันออกอื่น ๆ ก็ทำได้ไม่วิจิตรเท่า และด้วยความเฉพาะตัวของสินค้าสยามนี่เองที่ทำให้รัฐบาลสยามไม่เคยพลาดในงานระดับโลกเลยสักครั้ง กับโอกาสการสำแดงตัวเองในเวทีโลกอย่างภาคภูมิ ดังที่มีหลักฐานว่ารัฐบาลสยามได้นำสินค้าสยามไปจัดแสดงในงานมหกรรมนานาชาติอีกหลายครั้งต่อมาทั้งในทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกา อาทิ พ.ศ.2421 พ.ศ.2432 พ.ศ.2436 พ.ศ.2443 พ.ศ.2447 และ พ.ศ.2454
สินค้าสยามโดยมากหลังจากเสร็จสิ้นการจัดแสดงก็มักถูกมอบให้มิวเซียมในประเทศนั้น ๆ ต่อไปหรือถูกนำไปจัดแสดงต่อหรือขายต่อเพราะการขนส่งบางครั้งอาจสิ้นเปลืองและไม่คุ้มต่องบประมาณ ว่ากันว่าพระพุทธรูปศิลปะอย่างสยาม เป็นสินค้าสยามที่ชาวตะวันตกนิยมและต้องการที่จะสะสมมากที่สุด
จะเห็นได้ว่า ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับประเทศไทย (สยาม) มานานแล้ว ชาวต่างประเทศต่างก็รู้จักประเทศของเราผ่านสินค้าหรือวัตถุที่ ‘สำแดงความเป็นเรา’ ได้อย่างชัดเจนโดยที่ไม่ต้องใช้หลักการบีบบังคับให้ชอบหรือทำให้เกิดหลักความนิยมผ่านการโฆษณาแต่อย่างใด‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ของไทยเป็นสิ่งที่จับต้องได้ มีเอกลักษณ์ชัดเจน และเป็นมรดกวัฒนธรรมที่นานาชาติต่างให้การยอมรับมาเป็นระยะเวลาหลายชั่วอายุคนจวบจนปัจจุบัน
อ้างอิง :
[1] ‘ภาวะอย่างไรหนอที่เรียกว่าศิวิไลซ์ : เมื่อชนชั้นนำสยามสมัยรัชกาลที่ 5 แสวงหาสถานะของตนเองผ่านการเดินทางและพิพิธภัณฑ์ทั้งในและนอกประเทศ’. ใน ธงชัย วินิจจะกูล. คนไทย/คนอื่น : ว่าด้วยคนอื่นของความเป็นไทย. (นนทบุรี : ฟ้าเดียวกัน). 2560.
[2] ความงามของ “ศาลาไทย” ในต่างแดน