รู้หรือไม่? ดอยคำไม่เคยปันผลให้ผู้ถือหุ้น กำไรทั้งหมดกลับคืนสู่ชาวบ้าน นับตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี 2537
น้ำมะเขือเทศจากโครงการหลวง “ดอยคำ” คือผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้ที่ทุกคนคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ซึ่งดอยคำเคยสร้างปรากฏการณ์มะเขือเทศฟีเวอร์มาแล้ว จนส่งผลให้ยอดขายของ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด เติบโตขึ้นถึง 42% ในปีเดียว และเพิ่มมูลค่าตลาดน้ำผลไม้ไปถึงหลักหมื่นล้านบาท
โครงการหลวง “ดอยคำ” เป็นโครงการส่วนพระองค์ ที่ยกระดับคุณภาพชีวิตชาวไทยภูเขา ผ่านการสร้างองค์ความรู้ทางการเกษตร รวมถึงช่วยส่งเสริมให้ชาวไทยภูเขาสามารถเลี้ยงชีพได้ด้วยการพึ่งพาตนเอง โดยอาศัยทุนดำเนินการจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์
และรู้ไหมว่า บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร ไม่เคยปันผลกำไรให้แก่ผู้ถือหุ้นเลย นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 ตามพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ได้พระราชทานให้ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร มีเป้าหมายสูงสุดเพื่อการพัฒนาสังคม และการรักษาคุณภาพของสินค้า ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 10 ได้ทรงสืบสาน ต่อยอด โครงการหลวง “ดอยคำ” เพื่อผลประโยชน์สูงสุดต่อสังคมส่วนรวมมาจนถึงปัจจุบัน
จากปรากฎการณ์น้ำมะเขือเทศ “ดอยคำ” ได้รับความนิยมมากจนสินค้าเกลี้ยงชั้นวาง ในปี พ.ศ. 2557 จนกลายเป็น มะเขือเทศฟีเวอร์ ส่งผลให้ยอดขาย บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด เติบโตจาก 709 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2556 มาเป็น 1,007 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2557 หรือเติบโตถึง 42% ในปีเดียว
ปรากฎการณ์มะเขือเทศฟีเวอร์ ได้ส่งผลให้ตลาดน้ำผลไม้รวมคึกคักขึ้น บรรดาผู้ผลิตน้ำผลไม้แทบทุกยี่ห้อต่างเริ่มออกผลิตภัณฑ์หรือหันกลับมาทำน้ำมะเขือเทศพร้อมดื่มอีกครั้ง และดันมูลค่าตลาดน้ำผลไม้ไปถึงหลักหมื่นล้านบาท
บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ได้จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด เมื่อปี พ.ศ. 2537 หรือแต่เดิม คือ โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป เป็นโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคล โดยโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป ได้เริ่มจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2515 ที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และเริ่มดำเนินงานในปี พ.ศ. 2516 ด้วยเงินพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นจำนวนเงินมากกว่า 9 แสนบาท ดำเนินกิจการรับซื้อผลิตผลการเกษตรจากเกษตรกรในโครงการพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา ในราคารับซื้อที่ยุติธรรมและราคาสูงกว่าราคาตลาดเล็กน้อย
โดยโครงการพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา ก่อกำเนิดมาจากการที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเห็นความลำบากของชาวไทยภูเขา ซึ่งได้รับผลกระทบมาจากมาตรการรัฐ ในปีพ.ศ. 2502 ที่รัฐบาลได้ออกกฎหมายให้ฝิ่นเป็นยาเสพติดที่ผิดกฎหมาย ส่งผลต่ออาชีพปลูกฝิ่นของชาวไทยภูเขา ประกอบกับการทำไร่เลื่อนลอยของชาวไทยภูเขา ที่ส่งผลเสียทำให้ผืนป่าถูกทำลายมากขึ้น
ในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงมีพระราชดำริ ที่จะเข้าไปแก้ไขปัญหาการสูญเสียผืนป่า และยกระดับคุณภาพชีวิตชาวไทยภูเขา ผ่านการส่งเสริมการสร้างองค์ความรู้ทางการเกษตร รวมถึงช่วยส่งเสริมให้ชาวไทยภูเขาสามารถเลี้ยงชีพได้ด้วยการพึ่งพาตนเอง จึงได้เกิดเป็น โครงการพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2510 และยกฐานะเป็นโครงการหลวงในปี พ.ศ. 2513
โครงการหลวง เป็นโครงการส่วนพระองค์ ต่างจากโครงการในพระราชดำริ เพราะโครงการในพระราชดำริเป็นโครงการที่ดำเนินการโดยภาครัฐ จากการรับสนองพระราชดำริน้อมนำไปปฏิบัติ และเน้นพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ส่วนโครงการหลวงดำเนินการโดยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ กับเงินบริจาคที่บุคคลต่าง ๆ ทูลเกล้าฯ ถวายโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย และมีการควบคุมการดำเนินงานโดยตรงผ่านผู้แทนในพระองค์ โดยไม่มีการพึ่งพาเงินงบประมาณแผ่นดิน เนื่องจากการดำเนินการของโครงการหลวงมีลักษณะเป็นกิจกรรมเข้าไปพัฒนาชีวิตประชาชน
ในปี พ.ศ. 2534 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โครงการหลวงจดทะเบียน เป็น “มูลนิธิโครงการหลวง” โดยพระราชทานเงินเพื่อเป็นทรัพย์สินของมูลนิธิฯ เริ่มแรก 500,000 บาท เพื่อให้เป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ที่ถาวรมั่นคง สามารถดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มีการบริหารงานภายในที่คล่องตัว มีประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และเกิดผลดียิ่งขึ้นในอนาคต
ต่อมาโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป ได้ขยายการดำเนินการโรงงาน เพิ่มขึ้นถึง 4 แห่ง คือ เชียงใหม่ เชียงราย สกลนคร และบุรีรัมย์ ส่งผลให้ภารกิจของโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปมีมากขึ้น ประกอบกับการต้องลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับกับการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ทำให้ทุนการดำเนินงานมีจำกัด รวมถึงการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีข้อจำกัดตามสภาพตลาด ทำให้โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป มีสินค้าคงคลังมากขึ้น จนกลายเป็นต้นทุนจมขึ้นมา ส่งผลให้เกิดภาระการเงินเพิ่มมากขึ้น ผลประกอบการของโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปจึงเกิดปัญหาขาดทุนสะสมเรื่อย ๆ เป็นเวลานาน โดยในปี พ.ศ. 2535 โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป มีหนี้สินมากถึง 242.7 ล้านบาท ทำให้การขาดทุนของปี พ.ศ. 2536 มาจากภาระดอกเบี้ยประมาณ 31.34 ล้านบาท หรือเกือบ 50% ของการขาดทุน
จึงเป็นการยากที่มูลนิธิโครงการหลวงจะเข้าไปแบกภาระหนี้สินกว่า 242.7 ล้านบาทได้ ซึ่งทั้งนี้ปัญหาใหญ่ของโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป ส่วนหนึ่งมาจากการที่ไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคล ทำให้การกู้ยืมมาลงทุนมีต้นทุนการเงินที่สูงมาก เพราะว่าไม่สามารถกู้ยืมเงินระยะยาวจากสถาบันการเงินได้
แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้โปรดเกล้าฯ ให้สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์รับช่วง โดยรับทั้งหนี้สินและกิจการของโรงงานหลวงมาทั้งหมด แล้วจดจัดตั้งทะเบียนบริษัท ในนาม บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ในวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2537 ด้วยทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท
จากหนี้ทั้งหมด 242.7 ล้านบาท เมื่อหักกลบกับทุนเดิม 52.92 ล้านบาท กับทุนที่เพิ่มใหม่ 50 ล้านบาท จะทำให้ส่วนหนี้ของบริษัทลดลงไปประมาณ 100 ล้านบาท และจากเครดิตของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ทำให้บริษัทดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร สามารถกู้เงินระยะยาวจากสถาบันการเงินมาได้ 150 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้หนี้เงินกู้ยืมระยะสั้น 200 ล้านบาท ทำให้ภาระดอกเบี้ยในปี พ.ศ. 2536 ที่มากถึง 31.34 ล้านบาท ลดลงมาเหลือ 22.68 ล้านบาท ในปีพ.ศ. 2537
และด้วยการบริหารจัดการของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์นี้เอง ได้มีแผนเพิ่มยอดขายในปี พ.ศ. 2536 ให้ได้ 200 ล้านบาท และปีถัดไป ปีละ 50 ล้านบาท มีแผนการบริหารจัดการสินค้าคงคลังให้มีประสิทธิภาพขึ้น เพื่อให้ระหว่าง ปี พ.ศ. 2537 – 2542 รับรู้กำไรสุทธิเฉลี่ย ปีละ 30 ล้านบาท และมีเป้าหมายที่ ในปี พ.ศ. 2542 ควรจะมีกำไรสะสมซึ่งเกินส่วนของทุนขึ้นมา เป็นมูลค่า 30 ล้านบาท เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ทุนจมเมื่อปี พ.ศ. 2536
จากยอดขาย 1,007 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2557 เฉพาะปีนี้ปีเดียว โตถึง 42% ทำกำไรสุทธิถึง 100 ล้านบาท และต่อเนื่องมาจนถึงปี พ.ศ. 2560 ภายใน 3 ปี ยอดขายเติบโตถึง 2,032 ล้านบาท และปี พ.ศ. 2560 กำไรสุทธิ 235 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทเกิดกำไรสะสมจำนวนมากต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี ซึ่งกำไรของบริษัท ได้มีการจัดสรรทุก ๆ ปี โดยกันไว้เป็นทุนสำรองทั่วไปเพื่อดำเนินการขยายงาน ปีละ 40 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2562 บริษัทได้จัดสรรกำไรเป็นทุนสำรองทั่วไปแล้ว 120 ล้านบาท ส่วนกำไรสะสมที่เหลือยังไม่มีการจัดสรร ทำให้ในปี พ.ศ. 2562 บริษัทมีกำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรรเป็นเงิน 686.22 ล้านบาท
ในปี พ.ศ. 2562 ยอดขายของ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ได้ชิงส่วนแบ่งการตลาด จนมียอดขายสูงสุดเป็นอันดับสองรองจากทิปโก้ แต่ทว่าในหลายปีมานี้ ตลาดเครื่องดื่มน้ำผลไม้หดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับปัญหาโรคระบาดโควิด ได้ส่งผลอย่างมากต่อเศรษฐกิจ ทำให้บริษัทดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร ได้รับผลกระทบตามไปด้วย ส่งผลให้ยอดขายลดลงต่อเนื่อง จากยอดขาย 1,871.96 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2561 เป็น 1,769.47 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2562 และปี พ.ศ. 2563 ทำยอดขายได้ 1,566.21 ล้านบาท ทำให้ผลกำไรสุทธิปีล่าสุดอยู่ที่ 3.83 ล้านบาท ส่งผลให้ส่วนแบ่งการตลาดลงมาอยู่ในลำดับที่ 3 โดยมีส่วนแบ่ง 21% ส่วนอันดับที่ 1 และอันดับที่ 2 คือ บริษัททิปโก้ ส่วนแบ่ง 30% และ บริษัทมาลี ส่วนแบ่ง 22%
อย่างไรก็ตาม วิสัยทัศน์ของ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด คือ เป็นต้นแบบของธุรกิจเพื่อสังคมภายใต้ศาสตร์พระราชา ที่พัฒนาสร้างสรรค์สินค้าจากชุมชนด้วยคุณภาพระดับโลก เพื่อประโยชน์-สุขของสังคมโดยรวม ดังนั้นจึงเป็นองค์กรภาคธุรกิจที่ดำเนินกิจการควบคู่ไปกับการมุ่งพัฒนาชุมชน ให้เกิดความเข้มแข็งและมีคุณภาพชีวิตที่ดี อย่างยั่งยืน
อนึ่ง การที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เข้ามาถือหุ้นแทนมูลนิธิโครงการหลวง ก็เพราะเหตุผลด้านการจัดการปัญหาการเงิน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสภาพคล่องของตัวโรงงาน ที่จะกระทบถึงการดำเนินงานของมูลนิธิ
และถึงแม้ในปัจจุบัน หุ้นของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ในบริษัทดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จะโอนมาเป็นพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วก็ตาม แต่บริษัทยังไม่เคยปันผลกำไรให้แก่ผู้ถือหุ้นเลย นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้พระราชทานให้ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร มีเป้าหมายสูงสุดเพื่อการพัฒนาสังคม และการรักษาคุณภาพของสินค้า โดยกำไรของบริษัทดอยคำเป็นเงินที่มีไว้เพื่อประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม
ปัจจุบัน บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ได้เพิ่มทุนเรื่อยมา จนกระทั่งเพิ่มทุนเป็น 340 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทไม่เคยมีการปันผลให้ผู้ถือหุ้นเลย ทำให้มีการเปลี่ยนส่วนกำไรสุทธิกลายเป็นทุนบริษัท และล่าสุดในปี พ.ศ. 2562 สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ได้ปรับปรุงโรงงานเก่าที่อำเภอฝางเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ มูลค่ากว่า 80 ล้านบาท และได้ทำการส่งมอบ ให้แก่ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด โดยตีมูลค่าเป็นทุน ทำให้ทุนจดทะเบียนของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 420 ล้านบาทเศษ และมีโรงงานที่ดำเนินการอยู่ 3 โรงงาน คือที่ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย และอำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร
จากโครงการพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา ที่เริ่มต้นตามพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยอาศัยทุนดำเนินการจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ โครงการหลวง “ดอยคำ” ได้เติบโตและเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเลี้ยงชีพได้ด้วยการพึ่งพาตนเอง และได้รับการสืบสาน ต่อยอด จากในหลวงรัชกาลที่ 10 จนทำให้โครงการหลวง “ดอยคำ” สามารถดำเนินกิจการควบคู่ไปกับการมุ่งพัฒนาชุมชน สร้างงานสร้างอาชีพ พลิกฟื้นชีวิตชาวไทยภูเขา ไปสู่การประกอบธุรกิจที่ยั่งยืน
อ้างอิง :
[1] รายงานประจำปี 2561-2562 บริษัทดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร
[2] รายงานการดำเงินงานประจำปี พ.ศ. 2563 มูลนิธิโครงการหลวง
[3] โครงการวิจัยสำหรับนักศึกษาปริญญาโทสำหรับผู้บริหาร เรื่องโรงงานหลวงสำเร็จรูป ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2538
[4] กรณีศึกษา “น้ำมะเขือเทศดอยคำ” สินค้าพลิกบริษัท สู่ยอดขาย 2,000 ล้านต่อปี
[5] ดอยคำ ยังสบายดีไหม ในวันที่อายุ 48 ปี
[6] ตลาดน้ำผลไม้คนดื่มน้อยลง เพราะเดี๋ยวนี้ใครเขาชอบกินหวาน