‘ดร.จ่าง รัตนะรัต’ ผู้กล้าหักล้างหลักฐานปืนปลอมกรณีสวรรคตด้วยวิทยาศาสตร์ ทั้งรู้ว่าอาจแลกด้วยชีวิต
ระหว่างที่การเสด็จสวรรคตกำลังเป็นข่าวสับสน บ้างก็ว่าทรงปลงพระชนม์องค์เอง บ้างก็ว่าพระองค์ถูกลอบปลงพระชนม์ ซึ่งค้านกับแถลงการณ์ทางวิทยุ ว่าเสด็จสวรรคตเพราะอุบัติเหตุ
อีกทั้งสถานะการณ์ทางการเมืองผันผวนก็เช่นนี้ จึงน่าเห็นใจ ดร.จ่าง รัตนะรัต อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผู้ทำการพิสูจน์ปืนของกลาง ว่าไม่มีอะไรดีกว่าการตอบผู้บังคับการสอบสวนไปเพียงข้อเดียวก่อน
ส่วนคำถามของตำรวจ เรื่องระยะเวลายิง ต้องงดตอบ ก็ปรากฎเหตุผลที่สมควรอีก เพราะเมื่อกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังหาหลักฐานประกอบที่แน่นอนไม่ได้
หากตอบไปก็จะเป็นการทรยศต่อวิทยาการที่ได้เล่าเรียนมา ต่อไปวันหนึ่ง เมื่อรู้ถึงหูคนภายนอกก็จะเป็นเครื่องทำลายชื่อเสียงเกียรติคุณของกรมฯ ใครจะเชื่อถือแม้แต่คนที่เบาความคิดก็คงไม่สรรเสริญเป็นแน่แท้
กระนี้หรือจะให้บุคคลที่มีความคิดไม่ผิดปกติกล้าเสี่ยงกระทำในสิ่งที่จะทำลายตัวเอง ยิ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระประมุขของชาติด้วยแล้ว จำเป็นเหลือเกินที่จะต้องทำอย่างดีที่สุด
เมื่อได้พิจารณาการทดลอง และการทดสอบซึ่งกรมวิทยาศาสตร์ได้ดำเนินการเป็นขั้นๆมา จะเห็นว่าเป็นกิจการที่จะต้องทำด้วยความละเอียดละออสุขุม มิใช่สักแต่ให้เสร็จไปวันหนึ่งๆ เหล่านี้ล้วนต้องใช้เวลาทั้งนั้น จึงจะได้ผลเป็นที่พอใจตามหลักวิชา
นอกจากนี้ เครื่องอุปกรณ์ก็ยังหาไม่ได้ เช่น ปืนและกระสุนที่จะต้องใช้กับตัวเคมี ของกรมฯ บางอย่างก็มีจำนวนจำกัด ในท้องตลาดก็ขาดแคลน เพราะเพิ่งเสร็จสงครามใหม่ๆ
แต่ ดร.จ่าง รัตนะรัต ก็มิได้ละความพยายาม ไปติดต่อกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่จะได้เคมีภัณฑ์ทางหนึ่ง จัดการสั่งซื้อจากต่างประเทศอีกทางหนึ่ง
ความสำเร็จจึงเป็นรูปร่างขึ้นมา หากแม้จะแย้งว่า เมื่อกรมฯ ทราบผลวิเคราะห์แล้ว ทำไมไม่แจ้งผู้บังคับการกองสอบสวนกลางทราบ ความข้อนี้จะพึงเห็นได้ว่า
ถ้าหากกรมฯ แสดงผลให้ประจักษ์ออกมาว่า พระแสงปืนของกลางได้ถูกใช้ยิงมาก่อนวันเสด็จสวรรคตแล้ว นโยบายของรัฐบาลก็จะพลันล้มเหลว เพราะจะเป็นเหตุสำคัญยิ่งยวดที่จะแปรรูปโฉมให้เป็นไปในทางล้นเกล้าล้นกระหม่อมถูกปลงพระชนม์แต่ทางเดียว
ทั้งนี้ ย่อมกระทบกระเทือนเสถียรภาพของรัฐบาลอย่างมาก เมื่อคณะรัฐมนตรีตั้งปัญหาว่าจะสู้หรือถอย แล้วก็มีมติว่าไม่ถอย
ดังนี้ ปฎิกริยาที่คืบคลานเข้าสู่กรมฯ เฉพาะอย่างยิ่ง ดร.จ่างฯ ผู้เป็นอธิบดี ฐานใดนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่อาจคาดคิดได้ไม่ยาก
ข้อเท็จจริงเท่าที่ปรากฎในท้องสำนวนได้ความว่า เพียงแต่กรมฯยังคงทำการทดสอบเรื่อยมา ถึงจะไม่ได้เปิดเผยให้เป็นที่ทราบทั่วกัน แต่ก็มิได้ปกปิดเป็นความลับ บุคคลที่สมควรรู้ ดร.จ่างฯ ก็บอกให้รู้
ดร.จ่างฯ ก็ต้องถูกหาว่าเป็นศัตรูกับรัฐบาล ถึงขนาด หม่อมหลวงอุดม สนิทวงศ์ กับ พลเรือตรีชลิต กุลกำธร พลเรือตรีสงวน รุติราภา เตือนให้ระวังตัว เพราะมีข่าวไม่ดีสำหรับ ดร.จ่างฯ เท่าใดนัก
ราวปลายเดือนกรกฎาคม หรือต้นเดือนสิงหาคม 2489 ดร.ประจวบ บุนนาค ได้บอกว่า “นายปรีดี พนมยงค์ เอ่ยชื่อ ดร.จ่างฯ เป็นทำนองไม่พอใจมาก ถึงกับเรียก ไอ้ โดยหาว่าแอนตี้ คอยคิดจะล้มรัฐบาล พูดจาใส่ร้ายนายปรีดีฯ อยู่เสมอ จะให้ตำรวจเล่นงาน”
ดร.ประจวบฯ จึงช่วยแก้ตัวให้ว่า “เห็นจะไม่เป็นความจริง เพราะรู้จักดีแต่อยู่เมืองนอก เป็นคนตรง พูดจาขวานผ่าซากไม่เกรงใจคนอยู่บ้าง ขอรับรองว่า เจตนาร้ายที่คิดจะล้มรัฐบาลคงไม่มี”
นอกจากนี้ กิตติศัพท์จะถูกตำรวจจับก็มีข่าวแว่วมาเข้าหูอยู่แล้ว ดร.จ่างฯ ก็ได้แต่จัดหาที่นอนหมอนมุ้งเตรียมตัวเข้าที่คุมขังเมื่อตำรวจจับเท่านั้น
ขอให้คิดดูว่าบุคคลใดที่ตกอยู่ในภาวะเช่น ดร.จ่างฯ อีกทั้งเหตุผลแวดล้อมต่างๆที่ทางการประสงค์จะให้กรณีสวรรคตต้องเป็นไปในทำนองอุบัติเหตุเช่นนี้ ใครเล่าจะกล้าเผยอเสนอตัวเข้าสู่ภัยพิบัติที่มองเห็นอยู่รำไร อุดมคติในการเคารพความจริง ถึงจะอยู่สูงสักเพียงใด ก็ยากนักที่จะมีผู้หาญ “แกว่งเท้าหาเสี้ยน” ดังที่ ดร.จ่างฯ ถูกผู้ใหญ่ทัก
แต่ต้องไม่ลืมว่า ความจริงย่อมหนีความจริงไม่พ้น วันหนึ่งเมื่อถึงกาลเทศะที่สมควร เรื่องก็จำต้องเปิดเผยออก และก็จะเป็นไปไม่ได้อีกว่า ดร.จ่างฯ จะกล้ากลับจริงให้เป็นเท็จ หรือกลับเท็จให้เป็นจริง เพราะมีสมุด เอ.เค.16 ที่นายแพทย์ศิริ ตันยานนท์ มี เป็นหลักฐานรัดรึงอยู่
ควรกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า มีการส่งปืนต้นเหตุที่เก็บได้จากห้องบรรทมของในหลวงอานันท์ ตรวจพิสูจน์ว่าเป็นกระบอกเดียวกันกับกระบอกที่ใช้ปลงพระชนม์หรือไม่ ผลปรากฎว่า “ไม่ใช่” ปืนของกลางถูกสับเปลี่ยนออกไป ปืนที่ส่งตรวจ ไม่ใช่กระบอกที่ใช้ปลงพระชนม์ เพราะมีการใช้ยิงมานานแล้ว มีสนิมค้างอยู่ในลำกล้อง คาดการณ์ว่าปืนกระบอกนี้ ใช้ยิงมาก่อนวันสวรรคตหลายสัปดาห์
ที่มา :
[1] ในหลวงอานันท์ฯกับคดีลอบปลงพระชนม์, ชาลี เอี่ยมกระสินธ์ หน้า 55 – 56