ชำแหละ! Network Monarchy แนวคิดใส่ร้ายหวือหวาโดยฝรั่ง ที่นักวิชาการไทยบางกลุ่มชอบใช้อ้างอิง
บทความโดย จิตรากร ตันโห
เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชทรงมีความสำคัญยิ่งต่อทั้งสังคมไทยและการเมืองไทย ด้วยเวลาการครองราชย์ที่ยาวนานที่สุดกว่าที่พระมหากษัตริย์พระองค์ใดของสยาม/ไทย และเกือบจะยาวนานที่สุดในโลกด้วยระยะการครองราชย์กว่า 70 ปี เป็นรองเพียงพระมหากษัตริย์ผู้ครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลกคือพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของฝรั่งเศสซึ่งครองราชย์ 72 ปี แน่นอนว่าการครองราชย์ที่ยาวนานเช่นนี้ย่อมมีนัยสำคัญและมีพื้นที่อีกมากมายให้เข้าไปศึกษา ตั้งแต่มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และนิติศาสตร์ รัชสมัยของรัชกาลที่ 9 โดยเปรียบแล้วจึงเป็นเสมือนห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดห้องหนึ่งของไทย และอาจจะของโลก
เมื่อพื้นที่แห่งการศึกษา หรือหากจะพูดให้ชัดเจนมากขึ้นคือการทำความเข้าใจพระองค์มีมากมาย ภาระที่หนักหน่วงอย่างหนึ่งคือการสรุปใจความและแสดงให้เห็นถึงความต่อเนื่องและความเปลี่ยนแปลงอย่างครบถ้วน ดังนั้นจึงมิใช่สิ่งที่เกินเลยไปนักว่าเรื่องราวที่เรารู้ ทราบ และเข้าใจเกี่ยวกับรัชสมัยรัชกาลที่ 9 เป็นเพียงเศษเสี้ยวของความจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมด และความจริงในส่วนที่เหลือนั้นก็รอให้เราไปค้นพบ ซึ่งเราอาจจะพบ หรืออาจจะมิอาจเอื้อมถึงความจริงทั้งปวงที่พระองค์ต้องแบกรับหรือซ่อนมันไว้เลยก็ได้ ดังนั้นความพยายามในการสรุปหรือเข้าใจรัชสมัยพระองค์เราจึงเห็นการสรุปอย่างสั้นๆ แต่ได้ใจความใหญ่ (แต่รายละเอียดที่ประกอบขึ้นมาเป็นการสรุปนั้นเป็นอีกประเด็น) เช่น พระองค์มีบทบาทต่อการอยู่รอดของรัฐไทยในช่วงสงครามเย็น หรือพระองค์ทรงเป็นผู้คอยประสานให้ประเทศไทยไม่แตกออกเป็นเสี่ยงในช่วงวิกฤต
อย่างไรก็ดี เมื่อมาถึงวิกฤตการเมือง พ.ศ. 2549 ที่บริบทของการเมืองไทยนั้นขยับออกมาจากบริบทเดิมอย่างมากก็ได้เกิดกระแสความพยายามทำความเข้าใจพระองค์ขึ้นมาอีกกระแส ซึ่งเราสามารถเรียกกลุ่มนี้ได้ว่าเป็นกระแสวิพากษ์ที่มีทีท่าอย่างจริงจังในการวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์กับบทบาททางการเมืองที่มากเกินไป นักวิชาการในกลุ่มนี้เราย่อมเห็นโดดเด่นหลายคน ไล่ตั้งแต่สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ธงชัย วินิจจะกูล ฯลฯ แต่ทั้งนี้นักวิชาการผู้หนึ่งที่ได้จุดกระแสการวิพากษ์ครั้งใหญ่คงหนีไม่พ้น Paul Handley ซึ่งแม้ตัวเขาเองจะเป็นเพียงนักข่าว แต่ด้วยเหตุผลบางประการเขากลับพิมพ์หนังสือตีพิมพ์กับ Yale University Press อันเป็นสำนักพิมพ์วิชาการได้ ด้วยหนังสือของเขาอย่าง The King Never Smiles และต่อมาได้มีผู้ต่อยอดสิ่งที่เขาเสนอออกไปอีกคือ Duncan McCargo ซึ่งได้เขียนลงในบทความชื่อ Network monarchy and legitimacy crises in Thailand ที่ได้เสนอขึ้นไปอีกขั้นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ปฏิบัติการเมืองผ่านเครือข่ายของสถาบัน! สิ่งที่เราจะสังเกตได้ก็คือความพยายามในการทำความเข้าใจนี้เราอาจเปรียบภาพเสมือนลูกตุ้ม ที่เมื่อฝั่งหนึ่งเหวี่ยงไปสุดทาง อีกฝั่งหนึ่งก็ย่อมเหวี่ยงกลับมาแรง การนำเสนอภาพรัชสมัยของพระองค์จึงมีความเป็นการเมืองอยู่มากแม้กระทั่งในวงวิชาการเอง
ความพยายามทำความเข้าใจรัชสมัยของพระองค์นั้นเป็นสิ่งที่ควรทำและต้องทำ แต่การพยายามนั้นย่อมมีขอบเขตของความสมเหตุสมผล การพยายามกล่าวอย่างเกินเลยมิได้นำไปสู่ผลดีอะไร กลับกันกลับยิ่งส่งผลร้ายและยิ่งทำให้กิดความสับสนและความไม่เข้าใจมากเพิ่มไปอีก แต่นักวิชาการกลับไม่เอะใจในปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นนี้เลย ดังนั้นเมื่อเป็นหนึ่งความพยายามเล็กๆ ที่จะพยายามชี้ให้เห็นถึงปัญหานี้ ข้าพเจ้าจึงเลือกบทความ Network monarchy มาตั้งข้อสังเกตและวิจารณ์เป็นเบื้องต้น สาเหตุที่กล่าวว่าเบื้องต้นนี้ก็เพราะว่าหากจะวิจารณ์กันอย่างจริงจังแล้วจะต้องใช้พื้นที่อีกมากรวมไปถึงการกล่าวถึงข้อเท็จจริงต่างๆ ที่ซับซ้อนเข้าไปอีก พื้นที่บทความที่ปรากฏนี้จึงมุ่งหวังจุดประกายให้กลับมามองถึงการทำความเข้าใจรัชสมัยของพระองค์ใหม่อย่างเป็นธรรม และหากมีโอกาสข้าพเจ้าจะยกระดับการวิเคราะห์วิจารณ์อย่างเต็มรูปแบบในภายภาคหน้า
ว่าด้วยเครือข่าย
Network monarchy [1] เป็นคำที่คิดขึ้นโดย McCargo (ถึงแม้ว่าก่อนหน้าจะมีความคิดที่คล้ายๆ กันปรากฏออกมาเป็นครั้งแรกจาก ส. ศิวรักษ์ ในปาฐกถา 60 ปี แห่งการเสริมสร้างสันติภาพไทย) [2] ซึ่งเขาเสนอว่าในประวัติศาสตร์การเมืองไทยนี้สถาบันพระมหากษัตริย์ได้เข้ามาเกี่ยวข้องหรือแทรกแซงมาโดยตลอดผ่านเครือข่าย โดยเขาได้ยกตัวอย่างถึงการปฏิบัติงานในภาคใต้ในยุคของทักษิณ ชินวัตรนั้นเป็นตัวอย่างหนึ่งของการทำงานภาคปฏิบัติของเครือข่ายสถาบัน
แนวคิดเครือข่ายนี้ McCargo แยกองค์ประกอบออกมาว่ามีพระมหากษัตริย์อยู่ตรงกลาง โดยมีผู้ที่ทำหน้าที่แทนพระองค์อยู่รอบๆ ศูนย์กลางนี้ โดยบทบาทของผู้ที่มีบทบาทมากที่สุดก็คือพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ (หน้า 501) รูปแบบของการมีบทบาทเช่นนี้ McCargo เรียกว่าเป็นกึ่งราชาธิปไตยและยังเป็นรูปแบบที่ถูกปกปิดเอาไว้ในการเมืองไทย (Para-political) ซึ่งเครือข่ายนี้มีบทบาทในหลายทาง เช่น การจัดสรรตำแหน่งสำคัญๆ ลักษณะของการมีเครือข่ายนี้มีผลประโยชน์ตรงที่ว่าพระมหากษัตริย์ดำรงแยกออกไปจากฉากหน้าแห่งการเมืองเพราะหลังจาก พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา สถาบันต้องหาวิธีการทำงานใหม่ที่ทั้งมีวิธีการทำงานโดยเปิดเผยและลับหลังในการมีอิทธิพลต่อการเมืองไทย พูดอีกอย่างก็คือหากการเมืองออกมาดีพระมหากษัตริย์จะได้หน้า แต่ถ้าหากไม่ดีก็โยนความผิดไปให้กับระบบได้ (หน้า 503)
การทำงานของเครือข่ายนี้ยังมีการปรับตัวอย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเข้าไปร่วมมือกับนักการเมือง หรือการสร้างความชอบธรรมให้กับวังจนสามารถแทรกแซงการเมืองเหนือนักการเมืองได้ โดยเฉพาะหากคนยังมองว่าการเมืองนั้นเลว พระมหากษัตริย์ก็ยังคงสามารถแทรกแซงได้เสมอไป (หน้า 505) ซึ่งมีผู้ที่เห็นว่าเครือข่ายนี้มีปัญหาและเป็นอุปสรรคต่อการเมืองไทย เช่น พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ที่เข้าร่วมกับทักษิณเพราะว่าเครือข่ายสถาบันเป็นปัญหามากกว่าทางออกของการเมืองไทย (หน้า 508) ถึงแม้ว่าเครือข่ายสถาบันบางครั้งจะทำงานในลักษณะก้าวหน้าในช่วงการร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ก็ไม่ใช่ลักษณะที่ถาวร เพราะการทำงานของเครือข่ายนั้นเน้นความยืดหยุ่นและเน้นความเป็นจริงมากกว่า ทั้งนี้ก็เพราะพระมหากษัตริย์ต้องการที่จะแผ่อิทธิพลทางกการเมืองออกไปผ่านตัวแทนและใช้สายสัมพันธ์แบบไม่ทางการในการทำงาน และนี่เองจึงนำไปสู่ความพัวพันกับการรัฐประหารของสถาบัน
เครือข่าย?
การสรุปจากของ McCargo เราน่าจะเห็นได้ว่าเขาพยายามเสนอสิ่งที่ต่างออกไปจาก Handley ในแง่ที่ว่าคนรอบๆ วังมีบทบาทในการทำงานมากกว่าที่พระมหากษัตริย์จะทรงสั่งงานเองโดยตรง แต่อย่างไรก็ดีเขาก็โยนกลับข้อเสนอของเขาไปคล้ายกับของ Handley ที่พระมหากษัตริย์สามารถจะกดปุ่มทำการต่างๆ ได้อย่างค่อนข้างมีอิสระ การตั้งพื้นฐานแนวคิดไว้เช่นนี้ทำให้การมองการเมืองไทยตีกรอบแคบลงระหว่างการเป็นประชาธิปไตยกับการไม่เป็นประชาธิปไตย ระหว่างพระมหากษัตริย์-ทหารกับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่ทั้งที่ McCargo ก็เป็นนักรัฐศาสตร์ที่ศึกษาความเป็นไปของระบอบและมองเห็นถึงปัจจัยอันมากมาย เขากลับโยนชะตาการเมืองไทยให้อยู่กับตัวแสดงไม่กี่ตัว
แนวคิดของ McCargo จะได้ถูกหยิบไปนำไปใช้ในอีกหลายงานซึ่งไปจับมุมมองที่ต่างกันและช่วงเวลาที่ต่างออกไป แต่ล้วนก็พยายามแสดงให้เห็นถึงเครือข่ายของสถาบันพระมหากษัตริย์ (น่าแปลกใจที่ไม่ศึกษาเครือข่ายพลเรือนประชาธิปไตยหรือเครือข่ายทหาร) จนกระทั่งนำไปสู่ข้อเสนอของนักวิชาการบางคนในเรื่อง “รัฐพันลึก” ประหนึ่งว่าในการเมืองไทยมีแต่เครือข่ายสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ทั่วสารทิศ อย่างไรก็ดีแนวคิดเหล่านี้แทบไม่ได้เกลาให้มากขึ้น ถึงแม้จะพยายามแต่ก็ยังวนอยู่กับเครือข่ายโดยยังไม่ได้วิเคราะห์ถึงพลังของเครือข่ายและผู้นำของแต่ละ node ของเครือข่ายอย่างจริงจัง เพราะถึงแม้จะเป็นเครือข่ายก็ตาม แต่เครือข่ายเหล่านี้มีลักษณะที่ไม่เหมือนกันในตัว นอกจากนี้การวิเคราะห์เหล่านี้ไม่ได้ประเมินการซ้อนทับหรือพลังของเครือข่ายอื่นๆ เช่น Network Economy, Network Ideology ที่ประสานเครือข่ายและแบ่งผลประโยชน์กัน หรือกระทั่ง Network Military เองก็ด้วย ซึ่งเครือข่ายพวกนี้ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นหนึ่งเดียวกันเสมอไป การยึดกลุ่มพวกนี้ไว้ด้วยกันหรือการเลือกที่จะแยกเครือข่ายกันจำเป็นต้องวิเคราะห์ให้มากขึ้น [3] แนวคิดของ McCargo จึงไม่เพียงพอในการวิเคราะห์ในระดับใหญ่เลย
ความผิดพลาดอย่างหนึ่งของ McCargo คือการที่เขามองว่าทุกคนที่อยู่ในเครือข่ายจะทำหน้าที่ที่เพื่อสถาบันโดยที่ไม่มีผลประโยชน์อย่างอื่นมาเกี่ยวข้อง หรือไม่มีปัญหา principal-agent เลยทำให้พระมหากษัตริย์ควบคุมได้อย่างสมบูรณ์ และผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนั้นมีเป้าหมายอย่างเดียวคือการทำเพื่อพระมหากษัตริย์ กล่าวอีกแง่หนึ่งก็คือในขณะที่ไม่เชื่อว่าพระองค์จะทำอะไรด้วยตัวเองได้ไม่ว่าจะความสำเร็จต่างๆ ในโครงการพระราชดำริ แต่เชื่อและสร้างทฤษฎีที่ว่าคนเดียวสามารถเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ทุกอย่าง และคอยวางแผนทุกเรื่องได้อย่างเฉียบขาด เราอาจจะเห็นจากการวิเคราะห์ของ McCargo ในประเด็นที่หลังจากที่รัชกาลที่ 9 ทรงแต่งตั้งอานันท์ ปันยารชุนขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแสดงให้เห็นถึงอำนาจที่พุ่งขึ้นสูงและความไม่พอใจของมหาชนต่อพรรคการเมือง ประชาธิปัตย์ได้ชนะการเลือกตั้งเพราะสามารถเรียกเสียงสนับสนุนจากกลุ่มธุรกิจที่ศรัทธาในตัวอานันท์ได้ แต่ต่อมาเขาก็ระบุไว้ว่าประชาธิปัตย์ชนะเพราะวังเป็นผู้หนุนหลัง (หน้า 508) แบบนี้โดยสรุปแล้วการที่ประชาธิปัตย์ชนะเป็นเพราะอะไรกันแน่? หรือการที่ระบุว่าชวน หลีกภัย เปรียบตัวเองกับพลเอกเปรมว่าให้โหวตให้ชวนเป็นนายก จากคนใต้คนที่สองต่อจากพลเอกเปรมก็เป็นคนละประเด็นกับการสนับสนุนโดยวัง และในขณะเดียวกันที่เขากล่าวถึงกลุ่มธุรกิจ เขากลับไม่วิเคราะห์ถึงการย้ายเครือข่ายของคนต่างๆ ด้วยเหตุผลผลประโยชน์อะไรเลยนอกจากมองว่าคนกลุ่มนี้เห็นว่าเครือข่ายสถาบันเป็นอุปสรรคต่อการเมืองไทย แต่กลับวิเคราะห์เครือข่ายสถาบันอย่างหนักแน่นว่าไม่มีเป้าหมายอื่นใดนอกจากการแทรกแซงทางการเมือง
อีกประเด็นหนึ่งก็คือการอธิบาย Network Monarchy เสมือนว่ากลุ่มอนุรักษนิยมเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันทั้งหมด แต่จากที่ McCargo เสนอไว้เองว่าภายในเครือข่ายก็ยังมีปีกก้าวหน้าด้วยเราจะเห็นความไม่เป็นกลุ่มก้อนเดียวกันของอนุรักษนิยมมาตลอด บางฝ่ายมีอำนาจในการดำเนินนโยบาย ส่วนบางฝ่ายต้องเข้ามาทำการแก้ไขปัญหา สภาพแบบนี้ได้ทำให้รัชกาลที่ 9 ต้องเลือกในการปฏิบัติตัวอย่างใดอย่างหนึ่งไปด้วย ดังนั้นทั้งพระองค์และกลุ่มปกครองต่างก็มีพลวัตต่อกันทั้งสิ้น ตัวแสดงในแต่ละเครือข่ายมีอำนาจและบทบาทไม่เท่ากัน ความสำเร็จ ความล้มเหลว และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงไม่อาจเหมารวมว่าเป็นเครือข่ายใดทั้งหมด และเราอาจมองข้ามการทำงานข้ามเครือข่ายไปด้วย
ถัดมาก็คือ McCargo ดูจะเห็นว่าหลักการ The King can do no wrong คือสิ่งที่ทำให้พระมหากษัตริย์แทรกแซงโดยไม่ต้องรับผิดได้และโยนบาปให้กับใครก็ได้ในระบบ ถ้าเช่นนั้นพระมหากษัตริย์ก็คงทำอะไรโดยไม่จำเป็นต้องไตร่ตรองถึงผลต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่คำถามคือที่ผ่านมาการปฏิบัติพระองค์ของรัชกาลที่ 9 เป็นเช่นนั้นหรือไม่? และการที่ระบบการเมืองเลวจนสร้างความน่าเชื่อถือให้กับพระมหากษัตริย์ย่อมเป็นผลพวงมากกว่าเป็นสิ่งที่สถาบันจะต้องการธำรงสภาพนี้ไว้ การวิเคราะห์ว่าการมีระบบการเมืองที่แย่ทำให้พระมหากษัตริย์ดูดีนั้นก็ดูจะข้ามข้อเท็จจริงถึงสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างยาวนานตั้งแต่หลัง 2475 เป็นต้นมา คำถามคือความล้มเหลวของการเมืองนี้ใครเป็นผู้ทำให้เกิดขึ้น ความล้มเหลวของการเมืองไทยจึงมีปัจจัยอีกหลากหลายประการมากกว่าจะไปชุมนุมที่สถาบันที่เดียว และประเด็นความล้มเหลวที่ว่าสามารถโยนให้กับระบบการเมืองนั้นคืออะไรก็ดูจะไม่ชัดเจนนัก ซึ่งยังไม่รวมถึงการละเลยการวิเคราะห์การทำงานของสถาบันการเมืองต่างๆ ที่มีพื้นที่เฉพาะของตัวเอง แต่ McCargo กับวิเคราะห์เสมือนว่าสถาบันพระมหากษัตริย์สามารถ override ทุกระเบียบและวิธีการทำงานได้ทั้งหมด และทั้งนี้ก็จะดูขัดแย้งกับทฤษฎีเรื่องรัฐราชการอย่างมาก เพราะหากมองโดยกรอบของ McCargo แล้วเหล่าข้าราชการนี้ทำงานภายใต้หลักผลประโยชน์ของอะไรกันแน่?
ในสภาวการณ์ที่รัฐสภาไม่สามารถทำงานได้จน general will ไม่อาจไปรวมกันที่รัฐสภา เจตจำนงจึงจำเป็นต้องวิ่งไปที่อื่น ซึ่งน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่าเจตจำนงนั้นกลับเกิดนอกรัฐสภาในขณะที่รัชกาลที่ 9 ทรงอยู่เหนือศูนย์อำนาจและการเมือง ฉันทามติภูมิพล (Bhumibol Consensus) จึงเป็นการตกลงว่าจะเอาสถาบันพระมหากษัตริย์เอาไว้ในขณะที่รัฐสภาdysfunction เพราะนี่แทบจะเป็นสิ่งเดียวที่เป็นหลักประกันของการเมืองไทยเนื่องจากว่าการเมืองไทยผ่านเหตุการณ์มามาก เราผ่านชาตินิยม เราผ่านสังคมนิยม เราผ่านกระบวนการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบอบการปกครองใหม่ภายใต้ความผันผวนและสถาบันต่าง ๆ ยังหาที่หาทางไม่ได้ บทบาทไม่ชัดเจนในช่วงสิ่งเก่ากำลังผุพังและสิ่งใหม่ยังไม่กำเนิด หรือที่ Gramsciเรียกว่า Interregnum นี้ หากเป็นท่านในตอนนั้นจะทำอย่างไร? โดยเราลืมปัจจัยเรื่องการก่อร่างสร้างตัวของสถาบันและการจัดตำแหน่งเพื่อคานอำนาจซึ่งกันและกันไป ซึ่งทั้งหมดก็ทำภายใต้กรอบอำนาจที่มีและที่จำกัดทั้งสิ้น
ประวัติศาสตร์ที่ดูเหมือนจะถอดกษัตริย์ออกจากศูนย์กลางกลับยิ่งตอกย้ำความเป็นศูนย์กลางเสียเอง การประเมินพลวัตการเมืองไทยจึงเน้นจากสถาบันใดสถาบันหนึ่งไม่ได้อย่างเดียว แนววิเคราะห์เรื่องเครือข่ายนั้นจึงหวือหวา แต่คงไม่สามารถเรียกได้ว่าหนักแน่น หากจะเสนอว่าแล้วการวิเคราะห์เครือข่ายแบบใดจะหนักแน่น ข้าพเจ้าเสนอให้ดูงานของ Timothy Tackett เรื่อง Becoming a Revolutionary: The Deputies of the French National Assembly and the Emergence of a Revolutionary Culture (1789-1790) ที่เข้าไปศึกษาว่าเหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศสเกิดได้อย่างไร โดยเขาลงไปดูเครือข่ายของผู้ปฏิวัติกว่า 100 คน โดยศึกษาไปถึงชีวิตส่วนตัวและสถานะอื่นๆ ว่าปัจจัยเหล่านี้ทำให้พวกเขาเป็นนักปฏิวัติได้อย่างไร คำถามคือ McCargo ได้วิเคราะห์ลงลึกระดับร้อยคนแบบที่ Timothy ทำหรือไม่? เพราะถ้าหากจะเสนอว่าใครเป็นเครือข่าย หรือเป็น “นักกษัตริย์นิยม” แล้ว เขาควรจะศึกษาลงลึกเช่นนี้ใช่หรือไม่? เพราะถ้าหากไม่เข้าใจลักษณะของกลุ่มที่ McCargo เชื่อว่ามีแล้วเราจะเข้าใจประวัติศาสตร์ที่มีพวกเขาอยู่ได้อย่างไร?
โดยสรุปแล้ว การวิจารณ์เบื้องต้นนี้พยายามชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องของแนวคิดของเขาเอง แต่กลับถูกนำไปอ้างอิงเป็นจำนวนมากและกว้างขวางโดยนักวิชาการไทย โดยไม่มีการตั้งคำถามเลยว่าแนวคิดนี้ควรจะรับหรือตีตกลงไป ทั้งนี้ในบทความนี้ข้าพเจ้าไม่ได้ลงลึกในประเด็นต่างๆ มากนัก แต่คาดว่าน่าจะเพียงพอที่จะชี้ให้เห็นประเด็นต่างๆ แล้ว
อ้างอิง :
[1] จากบทความ Duncan McCargo, “Network monarchy and legitimacy crises in Thailand,” The Pacific Review Vol. 18 No. 4 (December 2005): 499-519. ต่อจากนี้จะไม่อ้างซ้ำ แต่จะเขียนระบุหน้าในบทความแทน
[2] ดู Paul Chambers, “Military “Shadows” in Thailand Since the 2006 Coup,” Asian Affairs: An American Review 40, 2 (April-June, 2013): footnote 22 at page 79.
[3] ดูตัวอย่างงานที่วิเคราห์เครือข่ายเหล่านี้ใน Michael Mann, The Sources of Social Power, [Vol.1 – 4] (Cambridge: Cambridge University Press, 2012-2013).