ชะตากรรมของสุลต่านองค์สุดท้ายแห่งอาณาจักรปัตตานี (ปตานี)
บทความโดย จีรวุฒิ (อุไรรัตน์) บุญรัศมี
ก่อนที่อาณาจักรปัตตานี (ปตานี) จะตกเป็นส่วนหนึ่งของสยามในฐานะเมืองหรือจังหวัด (province) ภายใต้สิทธิ์เด็ดขาดของสยามอย่างสมบูรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 1 นั้น เมืองแห่งนี้เคยมี “สุลต่าน” (Sultan) หรือพระมหากษัตริย์ปกครองสืบเนื่องกันมาหลายพระองค์ นับตั้งแต่ช่วงต้นกรุงศรีอยุธยา
โดยในขณะที่อาณาจักรสยามได้เกิดการเปลี่ยนราชธานีถึง 3 ครั้ง กล่าวคือ เหตุการณ์ที่กรุงศรีอยุธยาแตก การตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานีใหม่ของพระเจ้าตากสิน กระทั่งช่วงที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นที่บางกอก นับได้ว่าเป็นห้วงเวลาที่อาณาจักรสยามอยู่ในช่วงโกลาหลทางการเมืองการปกครอง แต่ทางปัตตานีกลับค่อนข้างมีเสถียรภาพพอสมควร
อย่างไรก็ดี หลังจากสยามได้ขยายปริมณฑลทางอำนาจและการเมืองลงมายังทางใต้หลายครั้ง จนมาถึงจุดสุดยอดของสงครามระหว่างสยาม-ปัตตานี ในช่วงรัชกาลที่ 1 อันนำมาซึ่งความล่มสลายของปัตตานีในฐานะ “อาณาจักร” (Kingdom) เมืองปัตตานีในห้วงเวลาก่อนหน้านั้น ได้อยู่ภายใต้การปกครองของสุลต่านที่สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์กลันตันพระองค์หนึ่งอย่างมั่นคง
สุลต่านของปัตตานีพระองค์นั้น พระนามว่า “สุลต่านมูฮัมหมัด อับดุล จาลิล การิมุลเลาะห์ มูอัยลิม ชาห์” ผู้สืบเชื้อสายมาจากเจ้าผู้ปกครองฝ่ายราชวงศ์กลันตัน (ต่อไปนี้จะเรียกว่า ‘สุลต่านมูฮัมหมัด’ ส่วนเอกสารไทยในช่วงเวลาดังกล่าวทั้งสมัยธนบุรีและรัชกาลที่ 1 ไม่ได้ปรากฏนามสุลต่านมูฮัมหมัด และเรียกพระยศสุลต่านเพียงว่า ‘พระยาตานีศรีสุลต่าน’) โดยพระองค์ทรงมีบทบาทอย่างสูงเด่นในช่วงกรุงธนบุรี ในฐานะกษัตริย์ผู้ให้ที่หลบภัยแก่เจ้าเมืองนคร (หนู) และครอบครัว
ในเวลานั้นแม้ปัตตานีจะไม่ขึ้นกับกรุงธนบุรี (เพราะกรุงธนบุรีเพิ่งถูกสถาปนาขึ้นมาใหม่ และยังไม่ได้รับการยอมรับจากหัวเมืองทางใต้) แต่จากความสัมพันธ์ที่สุลต่านมูฮัมหมัดทรงยอมให้เจ้าเมืองนครหลบภัยในเมือง ในช่วงที่กองทัพพระเจ้าตากสินกำลังทำสงครามกับก๊กเจ้าเมืองนครนั้น ย่อมสามารถอนุมานได้ว่าอย่างน้อยๆ ปัตตานีก็ยังอ่อนน้อมต่อนครศรีธรรมราช
อย่างไรก็ดี เมื่อกองทัพพระเจ้าตากยกกองกำลังตามทัพของนครศรีธรรมราชมาถึงเมืองสงขลา สุลต่านมูฮัมหมัดได้ตัดสินพระทัยส่งตัวเจ้าเมืองนครและครอบครัวคืนให้แก่กองทัพพระเจ้าตากตามคำขอ ซึ่งพงศาวดารฝั่งไทยได้ระบุว่า หลังจากนั้นไม่นานนัก ทางเมืองปัตตานีได้จัดส่งบุหงามาส (Bunga Mas) เพื่อแสดงความอ่อนน้อมและยอมรับอำนาจของพระเจ้าตากสินแห่งกรุงธนบุรี ในฐานะตัวแทนของเจ้าผู้ปกครองแห่งสยามพระองค์ใหม่
แต่ภายหลังจากการยอมอ่อนน้อมต่อสยาม (ธนบุรี) ได้ไม่นานนัก สุลต่านมูฮัมหมัดก็ทรงตัดสินพระทัยไม่ขึ้นตรงกับสยามอีกต่อไป ส่วนจะด้วยสาเหตุใดนั้น กลับไม่ปรากฏเอกสารทั้งฝั่งไทยหรือปัตตานีว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ในเวลานั้น
และในครั้งนี้กลับกลายเป็นเจ้าเมืองนคร (ผู้ที่เคยถูกสุลต่านมูฮัมหมัดจับตัวส่งคืนแก่พระเจ้าตากสิน) ที่อาสาจะไปตีเอาเมืองปัตตานีคืนแก่พระเจ้าตากสิน แต่ทางกรุงธนบุรีกลับขอให้ชะลอเรื่องตีเมืองปัตตานีไว้ก่อน เพราะตอนนั้นสยามกำลังมีศึกติดพันกับพม่าในทางตอนเหนือ (เชียงใหม่)
ทางด้านเมืองปัตตานี ในขณะที่สยามกับลังวุ่นวายกับการศึกข้างพม่านั้น สุลต่านมูฮัมหมัดได้มีดำริให้ปัตตานีเตรียมพร้อมสำหรับการรบทัพจับศึกเป็นอย่างดี มีการสร้างคูคลองประตูหอรบเพิ่ม เพื่อเตรียมรับมือกับศึกสยามที่กำลังจะตามมา
แต่ไม่ทันที่กองทัพธนบุรีจะยกลงมาตีปัตตานี ก็เกิดการผลัดแผ่นดินเสียก่อน โดยในหลวงรัชกาลที่ 1 ได้ปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และย้ายเมืองหลวงมายังกรุงรัตนโกสินทร์
ไม่นานนัก ทางกรุงเทพฯ จึงได้เตรียมการสำหรับการเอาเมืองปัตตานีกลับคืนมา ในชั้นต้น ราชสำนักกรุงเทพฯ ได้ส่งราชทูตมายังปัตตานีเพื่อให้สุลต่านมูฮัมหมัดยอมแพ้แก่สยามแต่โดยดี อย่างไรก็ดี สุลต่านมูฮัมหมัดได้ตอบปฏิเสธไป นั่นย่อมหมายความว่า “สงคราม” เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ท้ายที่สุด สงครามครั้งสุดท้ายระหว่างสยามกับราชอาณาจักรปัตตานี (สมัยที่ยังมีระบบสุลต่าน) จึงปะทุขึ้นในปี พ.ศ. 2329
สำหรับชะตากรรมของสุลต่านมูฮัมหมัด หรือสุลต่านปัตตานีพระองค์สุดท้ายนั้น มีบันทึกไว้แตกต่างกัน โดยของฝั่งปัตตานี ได้ปรากฏบันทึกเก่าแก่ที่สุดในหนังสือ “สยาเราะห์ เกอราจาอาน มลายู ปตานี” (ประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรมลายูปะตานี) ซึ่งเขียนโดย อับราฮิม ชุกรี ระบุว่า …
“… การสงครามยังคงต่อเนื่องกันอยู่หลายวัน นครปะตานีช่างอับโชคยิ่ง ปรากฏว่าสุลต่านมูฮัมหมัดถูกกระสุนปืนใหญ่ล้มลง สวรรคตที่หน้าพระราชวัง …”
อย่างไรก็ดี ควรบันทึกด้วยว่า หนังสือเล่มนี้เพิ่งถูกเขียนขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2490) เท่านั้น และได้มีการอ้างอิงอย่างกว้างขวางในงานเขียนของฝ่ายมลายู โดยเฉพาะงานวิชาการจากฝั่งรัฐกลันตัน (ชุกรีผู้เขียนหนังสือลี้ภัยอยู่ในรัฐกลันตัน)
สำหรับหลักฐานชะตากรรมของสุลต่านมูฮัมหมัดที่ปรากฏในเอกสารฝั่งไทย ผู้เขียนค้นพบข้อมูลจากเอกสารโบราณ 2 สำนวน ชิ้นแรกได้แก่ “พงศาวดารเมืองสงขลา ฉบับ เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์)” ซึ่งระบุข้อความที่ต่างออกไปจากของชุกรี ว่า …
“… ขณะนั้นกองทัพหลวงจับตัวพระยาตานีได้ จำส่งเข้ามาเมืองสงขลา … (จำพระยาตานีอยู่) สองปีเศษ … พระยาสงขลากับพระยาตานีกบฏเข้าไปกรุงเทพมหานคร …”
และอีกสำนวน คือ “พงศาวดารเมืองสงขลา ฉบับ พระยาวิเชียรคิรี (ชม)” ระบุข้อความที่คล้ายกับฉบับก่อนหน้า ว่า …
“… พวกกองทัพจับตัวพระยาตานีได้ (กรมพระราชวังบวรสถานมงคล – วังหน้า) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จำตัวพระยาตานีไว้ …”
จะเห็นได้ว่า เอกสารฝั่งไทยได้เขียนถึงชะตากรรมของสุลต่านองค์สุดท้ายแห่งปัตตานีได้อย่างสอดคล้องกันทั้ง 2 ฉบับว่า “ทรงถูกจับตัวได้” และไม่ได้เสียชีวิตในการสงครามแต่อย่างใด นอกจากนั้น ยังระบุอีกด้วยว่า กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ในฐานะแม่ทัพและพระราชอนุชาของในหลวงรัชกาลที่ 1 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้นำตัวสุลต่านมูฮัมหมัดเข้ากรุงเทพฯ
ควรบันทึกด้วยว่า เอกสารของไทยทั้ง 2 ฉบับนี้ ถูกเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 หรือจะพูดให้ชัดคือมีความเก่าแก่กว่าหนังสือของทางมลายูกลันตัน (เขียนขึ้นในช่วง พ.ศ. 2490) ที่อ้างว่าสุลต่านสิ้นพระชนม์ในการรบเสียอีก
สุดท้ายแล้ว การตัดสินใจในเรื่องชะตากรรมของสุลต่านมูฮัมหมัด ย่อมขึ้นอยู่กับผู้อ่านว่าจะเลือกเชื่อใคร น่าเสียดายที่เอกสารฝั่งไทยไม่ได้ระบุต่อไปว่า หลังจากนำตัว (อดีต) สุลต่านปัตตานีเข้ามายังกรุงเทพฯ แล้ว ทางสยามได้จัดแจงให้พระองค์ไปตั้งรกรากอยู่ที่ใดในพระนคร มิฉะนั้นเราคงจะได้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น อันจะนำไปสู่บทสรุปของชะตากรรมของสุลต่านองค์สุดท้ายแห่งปัตตานีพระองค์นี้
อ้างอิง :
[1] อับราฮิม ชุกรี. ประวัติศาสตร์ราชอาณาจักนมลายูปะตานี. (กรุงเทพ : ซิลค์วอร์ม บุ๊คส์) 2549.
[2] พงศาวดารเมืองสงขลา ฉบับ เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์)
[3] พงศาวดารเมืองสงขลา ฉบับ พระยาวิเชียรคิรี (ชม)
[4] พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
[5] KijangMas Persaka. Patani : Behind the accidental border. (Kuala Lumpur) 2010.