ฉลองพระองค์ครุยกรองทองคำ ‘สมบัติชาติที่ยังคงอยู่’ หรือ ‘ของหายที่ยังไม่ได้คืน’

ปราสาทพระเทพบิดร หรือชื่อเดิมคือ พุทธปรางค์ปราสาท สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อปี พ.ศ. 2398 เป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมรูปของสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าทั้ง 9 รัชกาลของราชวงศ์จักรี โดยองค์รัชกาลที่ 1-4 เป็นฝีมือของประติมากรต่างชาติ และต่อมามีการทำใหม่โดยช่างไทยออกมาเป็นสีทองคำ องค์รัชกาลที่ 5 เป็นฝีมือของช่างอิตาลี องค์รัชกาลที่ 6-8 เป็นฝีมือ อ.ศิลป์ พีระศรี และองค์รัชกาลที่ 9 เป็นฝีมือของอาจารย์ สันติ พิเชฐชัยกุล

โดยแต่เดิมพระบรมรูปของรัชกาลที่ 1-5 ประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท ต่อมาในสมัยของรัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมรูปของทั้ง 5 รัชกาล มาประดิษฐานยังปราสาทพระเทพบิดร แล้วให้มีการถวายบังคมพระบรมรูป ในวันที่ 6 เมษายน เป็นประเพณีสืบไป และโปรดฯ ให้เรียกวันที่ 6 เมษายน ว่า “วันจักรี”

สำหรับพระบรมรูปของรัชกาลที่ 1-3 นั้น แต่เดิมจะมีการสวมฉลองพระองค์เป็นชุดครุยปักทองแล่ง ซึ่งเป็นฉลองพระองค์ครุยที่มีการนำลวดโลหะมารีดแล้วพันเข้ากับไหมนำมาปักปนกับผ้าครุย แต่ในปัจจุบันเราจะเห็นว่าพระบรมรูปของรัชกาลที่ 1-3 ไม่ได้มีการสวมฉลองพระองค์เหมือนก่อน

เรื่องนี้มีบางคนพยายามโต้แย้งว่า ฉลองพระองค์ดังกล่าวไม่ได้มีมาตั้งแต่ต้น เพราะคนสมัยก่อนไม่นิยมใส่เสื้อกัน แต่จากหลักฐานภาพถ่ายเก่าภายในปราสาทพระเทพบิดร ซึ่งได้บันทึกไว้ในสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นภาพของพระบรมรูปของในหลวงรัชกาลที่ 1 ทรงฉลองพระองค์ครุยกรองทองคำแท้ นั่นย่อมยืนยันได้ว่า พระบรมรูปของทั้ง 3 รัชกาล เคยมีการสวมฉลองพระองค์ครุยจริง

แล้วฉลองพระองค์ครุยทองดังกล่าว ปัจจุบันหายไปไหน ?

มีการเผยแพร่ข้อมูลกันในโลกออนไลน์ว่าฉลองพระองค์ครุยกรองทองคำ ได้หายสาบสูญไปจากปราสาทพระเทพบิดร หลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎรในปี พ.ศ. 2475 ซึ่งผู้ที่ทำการยักย้ายออกไปก็ไม่ใช่ใครอื่นนอกจากรัฐบาลคณะราษฎรเองนั่นแหละ

แต่ก็มีข้อมูลจากเพจ ประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรสยาม ที่ยืนยันว่า ฉลองพระองค์ครุยกรองทองคำ ไม่ได้หายไป และยังมีรายชื่อปรากฏอยู่ในรายนามสิ่งของจัดแสดงในราชพิพิธภัณฑ์ (ศาลาสหทัยสมาคม) ในปี พ.ศ. 2484 ด้วย

โดยเอกสารคำอธิบายราชภัณฑ์ในราชพิพิธภัณฑ์ ยังมีรายชื่อกรรรมการจัดการราชพิพิธภัณฑ์จำนวน 4 ท่าน ได้แก่ พระยาชาติเดชอุดม พระยาอนุมานราชธน นายแนบ พหลโยธิน หลวงดำริอิศรานุวัติ และมีรายนามอนุกรรมการอีก 10 ท่าน เป็นต้นว่า เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธบดี เจ้าพระยามหิธร หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ นายเฉลียว ปทุมรส ท้าวทรงกันดาล ท้าวภัณฑสารนุรักษ์

ซึ่งรายนามกรรมการส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่มาจากพระราชสำนักที่มีความรู้เกี่ยวกับงานอนุรักษ์และโบราณวัตถุ โดยมีคนจากรัฐบาลของคณะราษฎรดูแลเพียงไม่กี่ท่าน เช่น แนบ พหลโยธิน และ เฉลียว ปทุมรส

ในหนังสือรวบรวมสิ่งของจัดแสดงภายในราชพิพิธภัณฑ์ ได้กล่าวถึงการจัดแสดง ฉลองพระองค์สำหรับทรงพระบรมรูปอดีตมหาราชรวม 6 พระองค์ ไว้ในหน้าที่ 14 ของหนังสือ ได้แก่

รัชกาลที่ 1 ฉลองพระองค์ครุย ปักทองแล่ง
รัชกาลที่ 2 ฉลองพระองค์ครุย พื้นแดงกรองทอง
รัชกาลที่ 3 ฉลองพระองค์ครุย ปักทองแล่ง
รัชกาลที่ 4 ฉลองพระองค์ครุย
รัชกาลที่ 5 ฉลองพระองค์ครุย
รัชกาลที่ 6 ฉลองพระองค์ครุย ริ้วปัตหร่า

เท่ากับว่าหลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ฉลองพระองค์ครุยเหล่านี้ไม่ได้หายไปไหน และยังปรากฏครบทุกพระองค์ ตามหลักฐานเอกสารยืนยันการมีอยู่ถึงปี พ.ศ. 2484 และยังคงเก็บรักษาไว้ที่พระบรมมหาราชวังจนถึงปัจจุบัน

ส่วนสาเหตุที่ไม่มีการทอดถวายพระบรมรูปในปัจจุบัน เป็นเพราะฉลองพระองค์ครุยได้เกิดความเสียหายจากการพับเก็บตอนเสร็จงานพระราชพิธี เนื่องจากวัสดุของฉลองพระองค์นั้นเป็นชุดกรองทอง ทำด้วยทองคำเส้น หากเกิดการพับจะทำให้เสียหายทันที ซึ่งวิธีที่ถูกต้องควรจะเก็บด้วยการแขวนฉลองพระองค์

และในสมัยรัชกาลที่ 9 ก็ทรงไม่โปรดให้สร้างใหม่ หรือทอดถวายเพราะเห็นว่ามีราคาแพงและต้องทำใหม่ กระทั่งปัจจุบันในสมัยรัชกาลที่ 10 ก็ยังไม่มีการทอดถวายเช่นกัน ซึ่งก็เป็นไปตามพระบรมราชวินิจฉัยของแต่ละรัชกาล

อย่างไรก็ดี ยังมีบางกระแสแย้งว่า แม้จะมีบันทึกอยู่ในรายนามสิ่งของจัดแสดงในราชพิพิธภัณฑ์ แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่าฉลองพระองค์ครุยยังมีอยู่จริง เพราะในช่วงปี พ.ศ. 2476 – 2488 ตั้งแต่รัชกาลที่ 7 เสด็จต่างประเทศ จนกระทั่งรัชกาลที่ 8 เสด็จนิวัตประเทศครั้งที่ 2 หากไม่นับช่วงเวลาสั้นๆ ในปี พ.ศ. 2481 ที่รัชกาลที่ 8 เสด็จนิวัตประเทศครั้งแรก จะเห็นว่าในช่วงนั้นประเทศไทยไม่มีกษัตริย์อยู่ในประเทศเลย

นั่นหมายความว่า มีความเป็นไปได้ที่จะมีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สมบัติของพระมหากษัตริย์โดยผู้มีอำนาจในขณะนั้น ซึ่งฉลองพระองค์ครุยทองอาจถูกขโมยไปในช่วงเวลานั้นก็เป็นได้

ดังนั้น เอกสารรายนามสิ่งของจัดแสดงในราชพิพิธภัณฑ์ ปี พ.ศ. 2484 จึงไม่สามารถนำมายืนยันการมีอยู่ของฉลองพระองค์ครุยทองได้ และอย่าลืมว่าคณะราษฎรครองอำนาจอยู่ถึง 25 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2475 – 2500 แม้เอกสารของราชพิพิธภัณฑ์จะยืนยันว่าครุยทองยังถูกเก็บรักษาไว้ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่ถูกขโมยไปหลังปี พ.ศ. 2484

ทั้งหมดนี้คือข้อถกเถียงเกี่ยวกับฉลองพระองค์ครุยกรองทองคำแท้ ว่ายังคงถูกเก็บรักษาอยู่ หรือหายสาบสูญไปแล้วจากปราสาทพระเทพบิดร และเป็นประเด็นที่ประชาชนกำลังให้ความสนใจรอคอยคำตอบอยู่ ซึ่งเรื่องนี้ทางสำนักพระราชวังน่าจะเป็นผู้ตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุด

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า