จาก ‘สมเด็จย่า’ ถึง ‘พระราชินีสุทิดา’ เส้นทางจากสามัญชน สู่ไอดอลของคนรุ่นใหม่ ผู้เป็นหนึ่งในปรากฏการณ์แห่งประวัติศาสตร์ราชวงศ์ไทย
ในประวัติศาสตร์ราชวงศ์จักรี บุคคลผู้ได้รับการโปรดเกล้าฯ จากสามัญชนขึ้นเป็นพระบรมศานุวงศ์ชั้นสูงบุคคลแรกคือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ ‘สมเด็จย่า’ ของคนไทย
เดิมทีสมเด็จย่านั้นเกิดในตระกูลช่างทอง โดยมีพระนามเดิมว่า ‘สังวาลย์’ ก่อนที่พระชนนีจะนำพระองค์ไปถวายตัวเป็นข้าหลวง และได้ศึกษาเล่าเรียนจนได้รับพระราชทานทุนเพื่อคัดเลือกไปศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ในเวลาต่อมา ณ มหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ด รัฐแมสสาชูแสตต์ สหรัฐอเมริกา
และนั่นคือจุดเริ่มต้นของเรื่องราวดั่งเทพนิยาย…
ที่ฮาร์วาร์ดนี้เองที่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ ( พระราชบิดาของรัชกาลที่ 8 และ รัชกาลที่ 9 ) ซึ่งขณะนั้นกำลังทรงศึกษาวิชาแพทย์ปีที่ 1 ได้ทรงพบและพอพระทัยกับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จนได้มีลายพระหัตถ์กราบบังคมทูลสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เพื่อขอพระราชทานพระราชานุญาตหมั้น และอภิเษกสมรสในเวลาต่อมา
กระทั่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประสูติพระราชธิดาและพระราชโอรส และทรงเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนด้วยพระองค์เอง จนพระราชโอรสทรงเติบใหญ่กลายเป็นเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินของไทยถึง 2 พระองค์
ไม่เพียงเท่านั้น สมเด็จย่ายังทรงอุทิศทุ่มเทพระวรกาย และทรงงานเพื่อคนไทยมาโดยตลอด แม้จะมีพระชนมายุมากแล้วก็ตาม แต่พระองค์ยังเสด็จไปยังท้องที่ทุรกันดารต่างๆ เพื่อฟื้นฟูผืนป่าและพลิกฟื้นโอกาสให้คนในพื้นที่เหล่านั้นได้มีชีวิตที่ดีขึ้น จนชาวบ้านในถิ่นทุรกันดารต่างเรียกพระองค์ว่า “แม่ฟ้าหลวง”
ผ่านมาหลายสิบทศวรรษ ประวัติศาสตร์ดั่งเทพนิยายก็ได้เริ่มต้นบทบันทึกอีกครั้ง…
สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี คือสามัญชนคนที่สองที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ขึ้นเป็นพระบรมศานุวงศ์ชั้นสูงของราชวงศ์จักรี
พระองค์ประสูติเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2521 มีพระนามเดิมว่า ‘สุทิดา ติดใจ’ ทรงสำเร็จการศึกษาหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต จากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เมื่อ พ.ศ. 2543 ก่อนที่ทรงเข้าทำงานเป็นพนักงานต้อนรับของการบินไทย
ต่อมาทรงดำรงตำแหน่งเป็น นายทหารปฏิบัติการพิเศษ สำนักงานนายทหารปฏิบัติการพิเศษในพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ สำนักผู้บัญชาการทหารสูงสุด (อัตรา พลตรี)
และยังทรงเคยดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้บัญชาการ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ (อัตรา พลเอกพิเศษ) ได้รับพระกรุณาให้เป็นราชองครักษ์เวรในพระองค์ รวมถึงพระบรมศานุวงศ์พระองค์อื่นๆ อีกด้วย
กระทั่ง เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต และทรงได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระราชินีสุทิดา ทรงดำรงตำแหน่งพระอิสริยยศ ฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ สถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมราชินี ทรงพระนามว่า สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี
พระองค์ทรงเป็นพระราชินี ที่เป็นทหาร ทรงผ่านหลักสูตรการฝึกต่างๆ ทั้งหลักสูตร รักษาพระองค์ ยิงปืน หรือแม้แต่โดดร่มลงทะเลในเวลากลางคืน ทรงมีความแข็งแรงและแข็งแกร่ง ตั้งพระทัย จนรับคำชมเชยจากครูฝึกในทุกหลักสูตร ที่ทรงมีความมุ่งมั่นและใส่ใจในการฝึก และทรงผ่านการศึกษาวิทยาลัยการทัพบก (วทบ.) รุ่น 59 อีกด้วย
ความเข้มแข็งของพระองค์ เราคนไทยต่างเคยเห็นเป็นประจักษ์มาแล้วในการแสดงทางทหารประกอบดนตรี “ราชวัลลภ เริงระบำ” เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 ที่พระองค์ทรงนำการแสดงอย่างสง่างามและเข้มแข็ง ตลอดระยะเวลายาวนาน 48 นาที
ไม่ใช่แค่มุมของความเข้มแข็งเท่านั้น แต่พระจริยวัตรของสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี ยังทรงอ่อนน้อมถ่อมตน และมีความสง่างดงามในทุกครั้งที่ทรงปรากฏพระองค์ตามหมายพระราชกิจต่างๆ ซึ่งทรงฉลองพระองค์ด้วยผ้าไทยหลากหลายลวดลายไม่ซ้ำกัน เป็นการประยุกต์ความเป็นไทยให้เข้ากับยุคสมัย
ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหราชอาณาจักรของ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี ตามคำทูลเชิญของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ เพื่อทรงร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลา ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2566
หลายคนยังคงจดจำและชื่นชมในความสง่างามของสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี เมื่อทรงอยู่ใน ฉลองพระองค์ผ้าขิดไหม ลายดอกไม้สุดประณีต ที่ดูทันสมัยบนความเรียบง่าย สร้างความประทับใจให้แก่ผู้พบเห็นตั้งแต่แรกเสด็จถึงท่าอากาศยานลอนดอนสแตนสเต็ดเลยทีเดียว
และในวันเสด็จพระราชดำเนินไปทรงร่วมงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2566 สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี ทรงฉลองพระองค์ ชุดไทยบรมพิมาน พระภูษาผ้ายกลำพูนสังเวียน ทรงสายสะพายเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ และทรงพระสังวาลนพรัตน์ ดารานพรัตน์ ทรงเข็มกลัดดวงตรามหาจักรีประดับเพชร รวมทั้งทรงสร้อยพระศอและพระกุณฑลไพลินประดับเพชร พระราชนิยมในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อีกด้วย
ในการเสด็จร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลา ในครั้งนั้น คนไทยต่างชื่นชมและประจักษ์ในความสง่างามสมพระเกียรติของสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี เรียกได้ว่าพระองค์ทรงมีแฟนคลับชาวไทยรุ่นใหม่เพิ่มขึ้นอีกมากมายเลยทีเดียว
ไม่เพียงเฉพาะคนไทย แต่ชาวต่างชาติยังประทับใจกับฉลองพระองค์ ถึงกับมีชาวอังกฤษใช้บัญชีทวิตเตอร์โพสต์ถึง ‘กระเป๋าทรงถือ’ ว่า “That purse is fabulous. Anyone know who made it?” พร้อมติดแฮชแท็ก #coronation #queenofthailand #CoronationDay ที่มีผู้เข้าชมทวิตนี้แล้วกว่า 97,000 ครั้ง
ซึ่งนี่คือความสง่างาม ทันสมัย ของพระองค์ที่ได้รับการจับตาไปทั่วโลก สมความตั้งพระทัยแน่วแน่ที่จะสืบสานพระราชปณิธานใน ‘สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง’ ในการเผยแพร่ความงามอันมีเอกลักษณ์ของผ้าทอจากภูมิปัญญาคนไทย และส่งเสริมผ้าไทย ตลอดจนงานหัตถกรรมไทยให้ชาวโลกรู้จัก ดั่งพระราชดำรัสของพระองค์ ความว่า …
“… ข้าพเจ้ามีความตั้งมั่นที่จะสนองพระเดชพระคุณ พระมหากรุณาธิคุณ ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานแห่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงเหมือนดั่งที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งพระราชปณิธานที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด และแผ่ขยายพระบารมีแห่งสมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระบรมราชชนนี …”
และทั้งหมดนี้ คือส่วนหนึ่งของเรื่องราวเกี่ยวกับพระองค์ท่าน พระราชินีผู้ได้รับการถวายพระสมัญญาว่า “Thai’s Soft Power Queen” พระราชินีผู้มาจากสามัญชน หากแต่มีทั้งความเข้มแข็ง แข็งแกร่ง และมีพระจริยวัตรอ่อนน้อมถ่อมตน มีความสง่างดงามบนความทันสมัย กระทั่งทรงกลายเป็นไอดอลของเด็กรุ่นใหม่บางกลุ่ม และทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของเยาวชนไทยยุคใหม่อีกด้วย
นี่คือสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า สถาบันพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี มีการพัฒนา ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ทันต่อยุคสมัยมาตลอดเวลา นับแต่ยุคสมัยของสมเด็จย่า มาจนถึง สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี พระราชินีผู้เป็นสัญลักษณ์แห่งความสง่างาม ทันสมัย และเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ใหม่แห่งประวัติศาสตร์ราชวงศ์ไทย
ที่มา :
[1] จากสามัญชน สู่ “สมเด็จย่า” ผู้อยู่ในดวงใจของปวงชนชาวไทย
[2] พระราชินีสุทิดา จากสามัญชนคนธรรมดา สู่ Soft Power Queen
[3] พระราชประวัติ สมเด็จพระราชินีสุทิดา
[4] 3 ฉลองพระองค์ผ้าไทย สมเด็จพระราชินีไทย สง่างามจับตา ณ สหราชอาณาจักร
[5] สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี พระอัครมเหสีคู่พระราชหฤทัย พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว