จาก ‘ศัตรู’ สู่ ‘เพื่อนแท้’ มิตรภาพบนชะตากรรมอันขมขื่นของนักโทษผู้ตกเป็นเหยื่อคณะราษฎร

คงไม่ใช่เรื่องเกินจริงถ้าจะกล่าวว่า บ้างครั้งชะตาชีวิตก็ “เล่นตลก” กับเราได้ทุกคน บ้างที่เคยอยู่ในจุดสูงสุด ณ ห้วงเวลาหนึ่ง มาถึงจุดหนึ่งก็เปลี่ยนผันกลับกลายมาเป็นจุดตกต่ำที่สุดในชีวิต หรือบางครั้ง จากอดีตที่เคยเป็นศัตรูคู่แค้นที่เคยคิดจะประหัตประหารกัน ไม่นานนักก็กลายมาเป็นมิตรสหายที่รักใคร่กันในฐานะเพื่อนมนุษย์ ซึ่ง “ชะตากรรม” เหล่านี้เป็นสิ่งที่ประมาทไม่ได้เลย เพราะอาจจะเกิดขึ้นกับเราเมื่อใดก็ได้ สุดแล้วแต่เวรกรรมหรือโชคอำนวย

เรื่องที่ ฤา จะเล่าต่อไปนี้ เป็นเกร็ดประวัติศาสตร์ของไทยที่บางคนอาจมองว่าเป็นเรื่องตลกชวนหัว บ้างก็มองว่าเป็นโศกนาฏกรรมที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้เพราะเบื้องหลังของเหตุการณ์นี้ เต็มไปด้วยคราบเลือดและรอยน้ำตาของผู้ประสบชะตากรรมอย่างขมขื่นภายใต้ยุคสมัยแห่งรัฐบาลคณะราษฎร

หลังการปะทะกันในเหตุการณ์ “กบฏบวรเดช” เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 ซึ่งจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของคณะกู้บ้านกู้เมือง รัฐบาลคณะราษฎรได้ตัดสินใจใช้มาตรการรุนแรงในการกดปราบพวกกบฏผู้คิดต่าง ทั้งการจับเข้าคุกโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมตามแผนปกติ หรือที่เรียกว่า “คำพิพากษาศาลพิเศษ” ของคณะราษฎร หรือกระทั่งลูกเมียของฝ่ายกบฏก็พลอยได้รับความยากลำบากในการดำเนินชีวิตไปด้วยหลังสามีต้องโทษอาญา เด็กหลายคนถูกตราหน้าจากสังคมว่าเป็น “ลูกกบฏ” ที่ต้องสูญเสียโอกาสและอนาคตของตนเองอย่างน่าเสียดายด้วยความผิดที่ตนไม่ได้ก่อ

นอกเหนือจากนักโทษจริงๆ ที่สมรู้ร่วมคิดในการกบฏครั้งนั้นแล้ว ชะรอยกรรมหนักบางประการก็ได้ไปตกอยู่กับขุนนางระดับสูงบางคน ที่ไม่ได้มีเจตนาจะคิดกบฏต่อรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาแต่อย่างใด แต่กลับต้องมาตกกระไดพลอยโจรถูกตราหน้าเป็นกบฏไปด้วย เพียงเพราะเขาไม่ได้ให้ความร่วมมือกับรัฐบาล (ตามที่รัฐบาลรู้สึกหรือเข้าใจไปเอง) หนึ่งในขุนนางระดับสูงเหล่านั้นคือ “พระยาสุรพันธเสนี” (อิ้น บุนนาค) ซึ่งดำรงตำแหน่งสุดท้ายทางราชการในฐานะ “สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลราชบุรี” อันเป็นตำแหน่งข้าหลวงมหาดไทยระดับสูงที่ใหญ่โตกว่าผู้ว่าราชการจังหวัดในกลุ่มจังหวัดภายใต้ รวมถึงเป็นตำแหน่งพิเศษที่มีอำนาจในการประกาศกฎอัยการศึกของทหารได้

ขณะที่การต่อสู้ระหว่างทหารฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายกบฏกำลังเป็นไปอย่างดุเดือดในพื้นที่กรุงเทพฯ และอีสานบางส่วน มณฑลราชบุรีภายใต้การกำกับดูแลของพระยาสุรพันธเสนีได้ “วางตัวเป็นกลาง” โดยไม่ประกาศสนับสนุนฝ่ายใด และมุ่งแต่จะอารักขาในหลวงรัชกาลที่ 7 ซึ่งขณะนั้นทรงประทับอยู่ที่วังไกลกังวล หัวหิน อันเป็นพื้นที่ภายใต้การกำกับของพระยาสุรพันธเสนี ภายหลังเหตุการณ์จบลง รัฐบาลเข้าใจว่าพระยาสุรพันธเสนีเข้าร่วมก่อการกบฏกับพระองค์เจ้าบวรเดชด้วย ส่งผลให้ท่านโดนปลดออกจากราชการมาเป็น “นักโทษชาย” และได้รับโทษสูงสุดถึงขั้น “ประหารชีวิต” พร้อมกับชะตากรรมของกบฏอีกหลายคนที่ได้รับโทษานุโทษแตกต่างกันไปตามแต่เหตุที่รัฐบาลจะปักใจเชื่อ

ขณะที่ถูกคุมขังรอการลงโทษนั้น หลายปีต่อมาพระยาสุรพันธเสนีได้รับคำสั่งให้โยกย้ายจากคุกบางขวางแดน 6 ซึ่งท่านถูกขังตั้งแต่ปี พ.ศ. 2476 มายังเกาะนรกตะรุเตา จังหวัดสตูล พร้อมด้วยนักโทษอีก 70 คน ในปี พ.ศ. 2482 ทว่าหลังจากอยู่บนเกาะนรกได้ไม่นาน พระยาสุรพันธเสนีและเพื่อนนักโทษจำนวนหนึ่ง ได้วางแผนแหกคุกจากเกาะตะรุเตาไปยังรัฐมลายาของอังกฤษเป็นผลสำเร็จในวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2482 รวมระยะเวลา 6 ปี พอดิบพอดีที่ต้องสูญอิสรภาพไป

และในช่วงที่พระยาสุรพันธเสนีลี้ภัยอยู่ในรัฐมลายานั้น ท่านและเพื่อนนักโทษได้รับการต้อนรับและคุ้มครองอย่างดีจากเจ้านายมลายูในรัฐไทรบุรี ซึ่งเคยมีความสัมพันธ์ที่ดีมากกับราชวงศ์จักรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยรัชกาลที่ 4 และ รัชกาลที่ 5 โดยที่การลี้ภัยในครั้งนั้นแม้แต่รัฐบาลคณะราษฎรก็ไม่สามารถกระทำการใดๆ นอกราชอาณาจักรไทยได้มาก เว้นเสียแต่การส่งตำรวจมาสอดแนมเป็นบางครั้ง

แต่ต่อมาไม่นาน เจ้าหน้าที่ของมลายูได้ขอให้พระยาสุรพันธเสนีย้ายออกจากรัฐไทรบุรีไปอยู่ที่อื่น ด้วยเหตุผลทางการเมืองระหว่างประเทศอันเนื่องมาจากสงครามมหาเอเชียบูรพา พระยาสุรพันธเสนีจึงได้ตัดสินใจย้ายไปยังสิงคโปร์ซึ่งห่างไกลจากชายแดนไทย ในปี พ.ศ. 2483

และ ณ ใต้สุดของดินแดนมลายานี้เอง พระยาสุรพันธเสนีได้พบกับกลุ่มคนที่ลี้ภัยการเมืองมาจากไทยเช่นกัน อาทิ พระยาศราภัยพิพัฒน์ (เลื่อน ศราภัยวานิช) และพระยาเสนาสงคราม (ม.ร.ว. อี๋ นพวงศ์) รวมถึง พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) อดีต 1 ใน 4 ทหารเสือคณะราษฎร ที่สุดท้ายโดนพรรคพวกคณะราษฎรด้วยกันหักหลังจนต้องกลายเป็นนักโทษ และรัฐบาลได้ตั้งค่าหัวเป็นรางวัลนำจับถึง 10,000 บาท

สำหรับชีวิตและกิจวัตรที่คนไทยทั้ง 4 ท่านนี้มักกระทำร่วมกันเกือบทุกวันในสิงคโปร์คือ การนั่งรถชมวิวทิวทัศน์ตามที่ต่างๆ และในช่วงที่ออกทริปครั้งหนึ่ง ขณะแวะพักเพื่อรับประทานอาหาร พระยาศราภัยพิพัฒน์ได้กล่าวรำลึกความหลังด้วยน้ำเสียงปลงอนิจจังชีวิตว่า …

“… โลกเรานี้ช่างไม่เที่ยงแท้ และชีวิตคนเรานี่ก็ช่างไม่แน่ไม่นอนเสียจริงๆ เมื่อ 7 ปีก่อน พล ต.พระยาเสนาสงคราม เป็นผู้บังคับบัญชากองพันที่ 1 รักษาพระองค์ และเป็นผู้บังคับบัญชาของ พ.อ.พระยาฤทธิอัคเนย์ แต่ในที่สุดเมื่อ พ.อ.พระยาฤทธิอัคเนย์ เข้าร่วมมือเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ก็เป็นคนหนึ่งใน 4 ทหารเสือ แล้วผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองในสมัยนั้นก็เล่นงานพระยาเสนาสงครามเสียเกือบจะเอาชีวิตไม่รอด โดยท่านถูกยิงและถูกตีด้วยพานท้ายปืน พระยาศราภัยพิพัฒน์เป็นนายวานาเอก เป็นผู้ช่วยปลัดทูลฉลองกระทรวงกลาโหม และ พ.อ.พระยาสุรพันธเสนีเป็นสมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลราชบุรี เมื่อเกิดการกบฏกันขึ้นและตั้งศาลพิเศษ พระยาฤทธิอัคเนย์เป็นกรรมการศาลพิเศษ และได้พิพากษาให้ประหารชีวิตพระยาสุรพันธเสนี และในขณะที่พวกเราติดคุกกันอยู่ในบางขวาง และพระยาฤทธิอัคเนย์ก็เป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป็นนายของเรา แต่ทว่ามาบัดนี้ เจ้าคุณฤทธิฯ ก็ตกอยู่ในสภาพของผู้ลี้ภัยการเมืองอย่างพวกเรา และได้มาร่วมโต๊ะรับประทานอาหารร่วมกันกับเราอยู่เดียวนี้ ! …”

แม้ว่าบทสนธนาดังกล่าวจะจบลงด้วยเสียงหัวเราะอย่างสนุกสนานของพระยาศราภัยพิพัฒน์ แต่เบื้องหลัง “มุกตลก” นี้ กลับเจือปนไปด้วยความขมขื่นจากบรรดาผู้ที่ต้องตกระกำลำบากด้วยภัยการเมืองของรัฐบาลคณะราษฎร ที่แม้แต่ พระยาฤทธิอัคเนย์ นายทหารผู้อาวุโสคนสำคัญของคณะราษฎรเอง ก็ไม่พ้นต้องกลายมาเป็นเครื่องสังเวยให้แก่พวกกระหายหิวอำนาจที่กำลังเสวยสุขกันในกรุงเทพ ณ เวลานั้น

อ้างอิง :

[1] พระยาสุรพันธเสนี (มนัส จรรยงค์ เรียบเรียง). ฝันร้ายในชีวิตของข้าพเจ้า. (กรุงเทพฯ : 2521) สำนักพิมพ์การเวก

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า