จาก ’เส้นก๋วยเตี๋ยว’ เป็น ’ปืนใหญ่’ การตีความแบบระแวงขึ้นสมอง ของกองเซ็นเซอร์คณะราษฎร
หลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นที่รู้กันว่า รัฐบาลคณะราษฎรมีแต่ความหวาดระแวงว่าจะมีใครลุกขึ้นมาต่อต้านท้าทายอำนาจของพวกเขา จากความเคลือบแคลงสงสัยนี้ ทำให้มีการตั้ง “สายลับคณะราษฎร” ขึ้นมา เพื่อคอยติดตาม สะกดรอย และสืบความลับว่ามีใครบ้างที่กำลังวางแผนโค่นล้มรัฐบาล
จากบทความ “การสร้าง Fake News ของคณะราษฎร เพื่อกำจัดศัตรูทางการเมือง” จะเห็นว่าสายลับพวกนี้ส่วนใหญ่มักจะกุข่าวลวงขึ้นมา เพื่อสร้างความดีความชอบให้ตัวเอง เช่น เรื่องที่กล่าวหาว่าสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ ได้ทรงสนับสนุนคนปักษ์ใต้ให้ก่อกบฏในช่วงปี พ.ศ. 2476
นอกจากสายลับทางการเมืองแล้ว บรรดาผู้นำคณะราษฎรยังมีกองกำลังส่วนตัวอีกกลุ่มหนึ่งคือ “กองเซนเซอร์คณะราษฎร” ซึ่งพวกนี้จะคอยร่วมมือกับบรรดา “สายลับคณะราษฎร” เพื่อสืบข่าวราชการลับ โดยพุ่งเป้าไปที่บรรดากลุ่มเจ้านายเชื้อพระวงศ์ ซึ่งคณะราษฎรถือว่าเป็นศัตรูเบอร์หนึ่งของพวกเขา
แต่ใครจะรู้เล่า ว่าแท้จริงแล้วศัตรูเบอร์หนึ่งของคณะราษฎร หาใช่บรรดาเจ้านายเชื้อพระวงศ์ไม่ หากแต่เป็นเพื่อน ๆ คณะราษฎรผู้ร่วมสาบานกันมานี่แหละ ที่คอยหักหลังแย่งชิงอำนาจกันเอง
ด้วยความระแวงกลุ่มเจ้านายเชื้อพระวงศ์และใครต่อใครที่อาจคิดต่อต้านรัฐบาล “กองเซนเซอร์คณะราษฎร” จึงมีหน้าที่หลักคือ คอยเปิดอ่านจดหมายหรือข้อความ “ส่วนตัว” ของใครก็ได้ ตั้งแต่ชาวบ้านสามัญชนไปจนถึงเจ้านายหรือเชื้อพระวงศ์ เพื่อตรวจหาว่ามีข้อความไหนบ้างที่อาจเป็นรหัสลับ หรือเป็นการวางแผนกันเพื่อโค่นล้มรัฐบาล
และพวก “กองเซนเซอร์คณะราษฎร” ก็ชอบคิดเอาเอง สร้างความเข้าใจไปเองว่าจดหมายฉบับโน้นฉบับนี้มีข้อความที่ส่อไปในทางพิรุธ จากนั้นก็จะรายงานข่าวให้กับ “สายลับคณะราษฎร” และ “รัฐบาลคณะราษฎร” ตามลำดับ ซึ่งเรื่องเหล่านี้สร้างความรำคาญใจให้แก่เจ้านายเชื้อพระวงศ์ในช่วงหลัง พ.ศ. 2476 เป็นต้นมา ถึงขนาดทำให้เจ้านายหลายพระองค์ทยอยเดินทางลี้ภัยออกนอกประเทศชั่วคราว เพราะทนความรำคาญนี้ไม่ได้
แต่สุดท้ายก็หนีไม่พ้น เพราะจดหมายของฝ่ายเจ้านาย ไม่ว่าจะเขียนส่งไปเมืองนอก หรือส่งจากเมืองนอกกลับเข้าไทย ก็มักจะถูก “กองเซนเซอร์คณะราษฎร” และ “สายลับคณะราษฎร” ใช้อำนาจถือวิสาสะตรวจค้นและเปิดอ่านข้อความในจดหมายก่อนผู้รับเสมอ ซึ่งบางฉบับก็เป็นเรื่องส่วนตัวมาก ๆ และไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการเมืองเลย โดยเฉพาะบรรดาจดหมายของเจ้านายที่เป็นสตรี
การใช้อำนาจตรวจค้นจดหมายสร้างความรำคาญหนักขึ้น จนเจ้านายบางพระองค์ต้องวางแผนส่งจดหมายเพื่อให้ไม่ถูก “เปิดอ่าน” เช่น หม่อมราชวงศ์พันธ์ทิพย์ บริพัตร ที่ต้องส่งจดหมายของพระองค์จากชวา ไปยังเกาะปีนังในมาเลเซีย ก่อนที่จะส่งต่อมายังไทยอย่างลับ ๆ เพื่อไม่ให้พวก “กองเซนเซอร์คณะราษฎร” เปิดอ่านได้ ดังข้อความในจดหมายส่วนพระองค์ว่า
“…ทรงส่งจดหมายที่สอดมานี้ไปประทานกรมเทวะวงศ์ทางใดทางหนึ่ง ซึ่งจะไม่ตกในมือของผู้ตรวจจดหมายของรัฐบาล…”
และเจ้านายบางพระองค์ก็ต้องส่งในชื่อของมหาดเล็กผู้ติดตาม เช่น พระธิดาพระองค์หนึ่งของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ ได้จ่าหน้าซองเป็นชื่อของ S. Bin Abdulla มหาดเล็กชาวมลายูจากจังหวัดสตูลที่ติดตามพระองค์ไปชวา
อย่างไรก็ดี ได้มีจดหมายบางฉบับที่ถูก “กองเซนเซอร์คณะราษฎร” ตรวจพบและได้ถูก “ตีความ” ว่าอาจจะก่อให้เกิดอันตรายหรือเป็นการวางแผนก่อกบฏต่อรัฐบาล ทั้ง ๆ ที่เนื้อหาในจดหมาย ไม่มีข้อความที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านรัฐบาลเลย
จดหมายฉบับนี้ถูกส่งมาจากเมืองบันดุง เกาะชวา โดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศิริรัตนบุษบง ส่งถึง นายนราภิบาล ซึ่งอยู่ในสยาม แจ้งว่าทรงประสงค์ให้นายนราภิบาล “ส่งเส้นก๋วยเตี๋ยวไปให้ เพราะที่บันดุงไม่มีขาย” ซึ่งจดหมายฉบับนี้ได้ถูกรัฐบาลตีความไปว่าเป็น “รหัสลับ” ของพวกกบฏที่ต้องการให้ส่ง “ปืนใหญ่ และปืนกล” ไปให้ โดยรัฐบาลเข้าใจว่า “ปืนใหญ่ ปืนกล” ถอดรหัสมาจากคำว่า “เส้นใหญ่ เส้นเล็ก” จากเนื้อความในจดหมายดังกล่าว
ประเด็นนี้ได้สร้างความฮือฮาในหมู่เจ้านายพอสมควร เพราะคาดไม่ถึงว่า “กองเซนเซอร์คณะราษฎร” ที่รัฐบาลไว้เนื้อเชื้อใจหนักหนา จะกระทำการขลาดเขลาชนิดกลัวจน “ขึ้นสมอง” ได้ถึงขนาดนี้ เพียงเพราะแค่เจ้านายในชวาต้องการจะเสวย “ก๋วยเตี๋ยว” แท้ ๆ
คณะราษฎรทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง ด้วยการอ้างความเสื่อมถอยของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่กลับเข้ากุมอำนาจรัฐแล้วทำการลิดรอนเสรีภาพ ล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ทั้งของประชาชนและเจ้านายเชื้อพระวงศ์ เพียงเพื่อต้องการคงอำนาจของตัวเองไว้
สิ่งเหล่านี้หรือคือการเริ่มต้นระบอบใหม่ที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย” ของรัฐบาลคณะราษฎร
อ้างอิง :
[1] เอกสาร สบ.2.53/32 พระองค์เจ้าชายจุมพฎพงศ์บริพัตร ถึง สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ลงวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2480
[2] พระประวัติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์, โรงพิมพ์จันวาณิชณ์ (กรุงเทพฯ 2524)