จากอริสโตเติลสู่ปัตตานี เปิดตำรา ‘ปรัชญากรีก’ ที่สอนในโรงเรียนปอเนาะ ตั้งแต่ยุครัชกาลที่ 5
บทความโดย จีรวุฒิ (อุไรรัตน์) บุญรัศมี
วิชาปรัชญาการเมืองตะวันตกได้ถูกนำมาสอนในไทยในช่วงไม่กี่สิบปีมานี้เอง อันเป็นผลมาจากการสำเร็จการศึกษาของบรรดาอาจารย์รุ่นหนุ่มที่เกิดช่วง พ.ศ.2500 เป็นต้นมา ที่ได้มีโอกาสไปเรียนวิชารัฐศาสตร์และการเมืองมาจากต่างประเทศ (ทั้งยุโรปและอเมริกา) จึงไม่ผิดที่จะกล่าวว่านักเรียนและนักศึกษาไทยส่วนใหญ่เพิ่งจะได้มีโอกาสร่ำเรียน/ศึกษาปรัชญาการเมืองคลาสสิค โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดของปรัชญากรีกโบราณทั้งโสเครตีส เพลโต อริสโตเติล เมื่อไม่นานมานี้เอง
และหากมองให้พ้นไปจากปรัชญาการเมือง เฉพาะวิชาปรัชญา (เพียงอย่างเดียว) ดูจะมีอายุเก่าแก่กว่าปรัชญาการเมืองอยู่มากหน่อย เริ่มจากเมื่อรัฐบาลสยามส่งเจ้านายและบุตรชนชั้นสูงไปร่ำเรียน ณ เมืองยุโรปในช่วงรัชกาลที่ 4 และ 5 โดยมีการเรียนวิชาปรัชญาตะวันตกเป็นสิ่งที่ ‘แถม’ มากับการเรียนสายสังคม (ไม่ว่าจะสายกฎหมาย รัฐศาสตร์หรือคลาสสิค) เป็นผลให้คนไทย (ชั้นสูง) ในเวลานั้นเริ่มทำความรู้จักและตระหนักว่าปรัชญาตะวันตกมีฐานคิดและคติที่แตกต่างกับปรัชญาตะวันออกส่วนใหญ่
แนวคิด/ปรัชญากรีกโบราณที่ได้แพร่เข้ามาสู่ประเทศสยาม (หรือไทย) ฉบับแปลไทยที่เก่าแก่สุดที่พอจะสืบค้นได้คือเมื่อ พ.ศ.2431 (ค.ศ.1888) ‘ว่าด้วยมิตรหรือเพื่อน’ ซึ่งแปลมาจาก ‘Lysis’ ของเพลโต งานชิ้นนี้แปลโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ขณะที่ทรงศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ (ต่อมาดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศในสมัยรัชกาลที่ 5) ทั้งนี้ ‘ว่าด้วยมิตรหรือเพื่อน’ ของเพลโตได้ถูกพิมพ์ในหนังสือวชิรญาณวิเศษ เล่ม 3 ซึ่งย่อมไม่แปลกใจว่าคนอ่านคงไม่แคล้วในแวดวงชนชั้นสูงไม่ก็ขุนนางที่พอจะเข้าถึงหนังสือฉบับนี้และสามารถอ่านภาษาไทยออกได้ ข้อจำกัดของ ‘ว่าด้วยมิตรหรือเพื่อน’ จึงน่าจะถูกเผยแพร่และอ่านกันในวงจำกัด แต่อย่างไรเสียคงไม่ผิดที่จะกล่าวว่า คนไทยได้ ‘นำเข้า’ ปรัชญากรีกในราวตันรัชกาลที่ 5 นี่เอง
แต่ถ้าผู้อ่านเข้าใจว่า ‘ว่าด้วยมิตรหรือเพื่อน’ ของเพลโตในสมัยรัชกาลที่ 5 เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยแล้ว ผู้เขียนก็ต้องเรียนตรง ๆ ว่าความเข้าใจนี้ ‘ถูกต้อง’ แต่ถ้ากล่าวอย่างเคร่งครัดจริง ๆ ‘ว่าด้วยมิตรหรือเพื่อน’ (Lysis) เป็นเพียงงานเขียนกรีกโบราณที่ถูก ‘แปลเป็นไทย’ ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดเท่านั้น หารู้ไม่ว่าพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ปรัชญากรีกโบราณในฐานะ ‘คำสอนทางการเมือง’ ได้ถูก ‘นำเข้า’ และสอนกันในสถาบันสอนศาสนาท้องถิ่นหรือ ‘ปอเนาะ’ (Pandok) และมีอายุไล่เลี่ยกับฉบับแปลไทยเพียงแค่ 2 ปีเท่านั้น
และงานเขียนของกรีกโบราณที่ปรากฏในดินแดน 3 จังหวัดชายแดนถูกตีพิมพ์ในกีตาบ (ตำราอิสลาม) ชื่อว่า ‘Kitab Hadiquah al Azhar war Raiyahin’ (สวนพฤกษาและสถานการผ่อนคลาย การสรรเสริญคุณธรรมของคนดี และเรื่องราวของผู้ภักดีอันมีเกียรติ) เขียนโดย เชคอาหมัด อัล–ฟาตอนี นักปราชญ์อิสลามเชื้อสายปัตตานีที่อาศัยอยู่ในนครเมกกะ เมื่อปี พ.ศ.2433 ตำราเล่มนี้เป็นหนังสือว่าด้วยประวัติศาสตร์อิสลาม ออตโตมาน รวมถึงแนวคิดทางการเมืองการปกครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งปรัชญากรีกโบราณ (ที่ผ่านการผสมกับแนวคิดอิสลามมาตั้งแต่ยุคกลาง)
และตำราเล่มเดียวกันนี้ ได้บรรจุเนื้อหาสำคัญที่ผู้เขียนคาดว่านำมาจากหนังสือ ‘Politic’ (ว่าด้วยหลักรัฐศาสตร์และการเมือง) เขียนโดย อริสโตเติล นักปราชญ์กรีกโบราณและลูกศิษย์แห่งเพลโต ก็ได้ถูกนำมารวบรวมและแปลไว้ในภาษามลายูด้วยเช่นเดียวกัน เชคอาหมัดได้กล่าวถึง 40 คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้นำที่ดีที่อ้างว่านำมาจากอริสโตเติล ซึ่งตำราเล่มดังกล่าวของอริสโตเติลได้พูดถึงคุณลักษณะของผู้นำไว้จริง แต่เชคอาหมัดได้นำมาปรับปรุงบางส่วนให้เข้ารูปตามหลักอิสลามไว้ด้วย นอกจากนั้นนิยามของคำว่า ‘การเมืองการปกครอง’ ของเชคอาหมัด ก็ออกไปในทางคล้ายกับกรีกโบราณอยู่มาก สรุปได้รวม ๆ ก็คือในทัศนะของปราชญ์ปัตตานีผู้นี้ ‘การเมืองการปกครองมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น และนำไปสู่ความสุข’
ไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่า ‘Kitab Hadiquah al Azhar war Raiyahin’ เป็นตำราที่สอนแนวคิดทางการเมืองการปกครองที่ได้รับอิทธิพลมาจากกรีกโบราณ (บางส่วน) ที่ปัตตานีรับมาจากโลกอาหรับอีกทอดหนึ่ง และถ้าหากศึกษาภูมิหลังการศึกษาของเชคอาหมัด ไม่แปลกใจที่จะพบว่าปราชญ์ท่านนี้น่าจะคุ้นเคยกับปรัชญากรีกโบราณเป็นอย่างดี เพราะโลกอิสลามรู้จักปรัชญากรีกมาอย่างน้อยตั้งแต่ยุคกลางแล้ว อีกทั้งเชคอาหมัดยังเคยได้รับการศึกษาที่เมกกะ ปาเลสไตน์ อียิปต์ ตามลำดับ การศึกษาในสถานที่ต่าง ๆ นี้น่าจะช่วยเพิ่มพูนความรู้และความสนใจในศาสตร์แขนงต่าง ๆ ให้แก่เชคอาหมัดเป็นอย่างดี
และถึงแม้ว่าทาง 3 จังหวัดจะรู้จักปรัชญากรีกช้ากว่าที่กรุงเทพ 2 ปี หากแต่ปรัชญากรีก (ของอริสโตเติล) ผ่านงานของเชคอาหมัดกลับเป็นที่แพร่หลายมากกว่า เพราะตำราของเขาได้ถูกนำไปใช้สอนแก่สถาบันปอเนาะท้องถิ่นมากกว่าที่จะถูกศึกษาหรืออ่านกันอย่างแคบ ๆ เช่นทีเกิดกับ ‘ว่าด้วยมิตรหรือเพื่อน’ ที่พิมพ์ใน ‘หนังสือวชิรญาณวิเศษ’ ซึ่งน่าเชื่อว่าจำกัดอยู่แต่วงปัญญาชนสยามที่จะเข้าถึงได้
อ้างอิง :
[1] ว่าด้วยมิตรหรือเพื่อน : เทวะวงศวโรปการ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา, แปล ปีที่พิมพ์ : 2469
[2] วันอิฮซาน ตูแวสิเดะ. ปาตานีภายใต้ความเคลื่อนไหวทางการเมือง ค.ศ.1808-1909. วิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณทิตศึกษา สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2564.
[3] อิสมาอีล เบญจสมิทธิ์. ชัยวันอะหมัด อัล-ฟะฏอนี : นักปรัชญาเมธีด้านการศึกษา และการเมืองของโลกมลายู (พ.ศ.2399-2451). (2009).
[4] อริสโตเติล. โพลิติค (แปลโดย สมบูรณ์ ศุภศิลป์). (กรุงเทพ : ทับหนังสือ, 2565).