จับโกหก กบฏ ร.ศ.130 ไม่ใช่ทำเพื่อ ‘ประชาธิปไตย’ แต่ปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนประเทศไปสู่ ‘สาธารณรัฐกองทัพนิยม’
กบฏ ร.ศ.130 (บ้างเรียก กบฏเก๊กเหม็ง) ถือเป็นการก่อกบฏอันมีจุดประสงค์เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองของประเทศไทยเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ไทยได้กลายเป็นรัฐชาติแบบสมัยใหม่ นำโดยนายทหารกลุ่มเล็กๆ ที่มีความมักใหญ่ใฝ่สูงและมุ่งที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศ ทั้งๆ ที่ขณะนั้นประเทศไทยเพิ่งจะมีการปฏิรูประบบราชการและกองทัพไปเพียงแค่ 20 ปี เท่านั้น
กล่าวคือ การปฏิรูปประเทศโดยพระราชประสงค์ของในหลวงรัชกาลที่ 5 เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2435 แต่การกบฏครั้งนั้นเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2455 ซึ่งเป็นต้นรัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 6
เหตุการณ์กบฏในครั้งนั้น ถือเป็นเหตุการณ์ที่หากสำเร็จลุล่วงขึ้นมาจริงๆ ประเทศไทยคงไม่ได้มีโฉมหน้าอย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้เป็นแน่ เนื่องจากความรู้ความเข้าใจที่เราทราบจากตำราหรือหนังสือประวัติศาสตร์ไทยเกี่ยวกับการกบฏครั้งดังกล่าว เรียกได้ว่ามีแต่ความโกหกมดเท็จแทบทั้งสิ้น
โดยมากแล้ว ประวัติศาสตร์ไทยที่คนส่วนใหญ่รับรู้กันมักจะสรุปเหตุการณ์กบฏ ร.ศ.130 ว่า “เป็นการพยายามปฏิวัติที่ล้มเหลวของกลุ่มนายทหารหนุ่ม ที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปสู่ระบอบประชาธิปไตย สุดท้ายถูกจับได้เสียก่อน แต่ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงไม่ติดพระทัยมากนัก และจบด้วยการอภัยโทษในเวลาต่อมา”
อย่างไรก็ดี ข้อสรุปข้างต้นกลับมีความคลาดเคลื่อนอยู่มาก อาทิ การระบุว่าสิ่งที่นายทหารกลุ่มนี้ต้องการคือ “ประชาธิปไตย” การระบุง่ายๆ ลวกๆ เช่นนี้ ถือเป็นการบิดเบือนทางประวัติศาสตร์มาก เพราะหากเราอ่านเอกสารที่คณะกบฏ ร.ศ.130 เขียนขึ้นมาเองแท้ๆ จะพบว่า ไม่มีข้อความใดกล่าวถึงรูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตยเลย
เพื่อทำความเข้าใจว่า แท้จริงแล้วจุดประสงค์ของคณะผู้ก่อการที่ล้มเหลวนี้เป็นอย่างไรกันแน่ ฤา จึงขอพาทุกท่านไปอ่าน “ถ้อยคำ/ปากคำ” บางส่วนจากหลักฐานชิ้น “สำคัญ” นั่นคือ บทความ “ว่าด้วยความเสื่อมซามและความเจรีญของประเทศ” (สะกดตามต้นฉบับเดิม) ที่เขียนขึ้นโดย ร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์ (นายแพทย์เหล็ง ศรีจันทร์) นายทหารหัวหน้าคณะผู้ก่อการกบฏ ร.ศ.130
หากใครไม่แน่ใจว่าหลักฐานที่ยกมาพูดถึงนี้ จะเป็นเอกสารเท็จที่ถูกทำปลอมขึ้นหรือไม่ ผู้ที่สนใจต้นฉบับของจริงสามารถเข้าไปสืบค้นได้ ณ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ท่าวาสุกรี
หลักฐานดังกล่าวเป็นเอกสารที่ถูกยึดมาได้จากการตรวจค้นบ้านของขุนทวยหาญพิทักษ์ โดยคาดการณ์กันว่า น่าจะเป็นเอกสารที่คณะผู้ก่อการกบฏใช้ประกอบการประชุม เนื่องจากมีความพยายามยกเอาปัจจัยภายในภายนอก สถานการณ์การเมืองระดับชาติและระหว่างประเทศ รวมถึงเหตุผลต่างๆ เพื่อตั้งใจโน้มน้าวให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังคล้อยตามความต้องการของผู้เขียน
และเมื่อพิจารณาบทความโดยละเอียด จะเห็นได้ขัดว่า ขุนทวยหาญพิทักษ์ พยายามอย่างยิ่งที่จะยัดเยียดให้การปกครองของรัฐบาลพระมหากษัตริย์ เป็นสิ่งที่ชั่วร้ายและเลวทราม และเขายังเขียนบทความดังกล่าวโดยใช้อารมณ์และความรู้สึก (emotion) เป็นแกนหลัก หาใช่การใช้ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด ดังเช่นประโยคที่ว่า …
“… การปกครองประเทศตามวิธีนี้ (Absolute Monarchy) เป็นวิธีที่ร้ายแรงมาก เพราะกระษัตริย์มีอำนาจเต็มที่ โดยอยู่เหนือกฎหมาย กระษัตริย์กระทำการชั่วร้ายอย่างหนึ่งอย่างใดก็ทำได้ เพราะไม่มีใครขัดขวาง กระษัตริย์จะกดขี่ แลเบียดเบียนราษฎรให้ได้ความทุกข์ยากด้วยประการหนึ่งประการใดทุกอย่าง ราษฎรที่ไม่มีความผิด กระษัตริย์จะเอามาเฆี่ยนตีหรือฆ่าฟันและจองจำได้ตามความพอใจ ทรัพย์สมบัติแลที่ดินของราษฎรนั้น กระษัตริย์จะเบียดเบียนมาแลกเป็นผลประโยชน์ส่วนตัวได้โดยไม่มีขีดขั้น อย่างไล่ที่ทำวังเป็นต้น …”
จากถ้อยคำของ ร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์ แม้จะไม่ได้กล่าวตรงๆ ว่าหมายถึง “พระมหากษัตริย์” พระองค์ใด แต่หากพิจารณาจากยุคสมัยของเขาก็ย่อมชัดเจนว่า คงตั้งใจจะหมายถึงในหลวงรัชกาลที่ 5 และ รัชกาลที่ 6 อย่างแน่นอน
อย่างไรก็ดี หากขุนทวยหาญพิทักษ์หมายความเช่นนั้น ก็เท่ากับว่านายทหารคนนี้ “พูดจาเท็จใส่ร้าย” อีกทั้ง “ไม่มีความรู้ด้านรัฐศาสตร์” แต่อย่างใด จากการที่เขาทึกทักไปเองว่า ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของไทยนั้นดำรงมาตั้งนานแล้ว จึงทำให้เขาหลงคิดไปว่าการกระทำของพระมหากษัตริย์ในยุคศักดินา ( ก่อน พ.ศ. 2435 หรือก่อนการปฏิรูประบบราชการของรัชกาลที่ 5 ) จะต้องเป็นแบบเดียวกับยุคสมัยที่เขามีชีวิตอยู่ ( พ.ศ. 2455 หรือ ต้นรัชกาลที่ 6 )
ทั้งที่ในความเป็นจริง ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของไทย ณ เวลานั้น เพิ่งจะมีอายุเพียงแค่ 20 ปีเท่านั้นเอง และเป็นระบอบการปกครองที่แม้ว่าอำนาจสูงสุดจะเป็นของพระเจ้าแผ่นดิน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในกิจการการปกครองโดยทั่วไปนั้น ย่อมมีบรรดาขุนนางและข้าราชการในระบบรัฐราชการสมัยใหม่คอยบริหารจัดการให้เป็นไปตามพระราชประสงค์อยู่แล้ว
ประเทศไทยในเวลานั้น เรียกได้ว่ามีระบบกฎหมายและระบบบริหารรัฐกิจที่ทันสมัยมากในบรรดารัฐที่ไม่ตกเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตก จะเป็นรองก็แค่ประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น ส่วนกรณีการกล่าวหาว่า พระมหากษัตริย์ยึดที่ดินชาวบ้านมาทำวัง ก็ไม่เป็นความจริง ยกตัวอย่างเช่นการสร้างวังบางขุนพรหมของเจ้าฟ้าบริพัตรฯ ในหลวงรัชกาลที่ 5 ก็ทรงใช้พระราชทรัพย์สวนพระองค์ในการซื้อที่ดินชาวบ้านแถบนั้นทั้งสิ้น
นอกจากนั้น กองทัพไทยที่พวกกบฏได้อาศัยเป็นแหล่งสัมมาวิชาชีพ (กบฏครั้งนี้ก่อการโดยคณะนายทหาร) ก็ล้วนเป็นผลผลิตโดยตรงของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพราะถ้าไม่มีการปฏิรูปการปกครองโดยในหลวงรัชกาลที่ 5 บรรดาลูกเมียของนายทหารผู้ก่อการกบฏครั้งนั้น ก็คงไม่มีโอกาสอยู่ดีกินดีมีเงินทองไปซื้อข้าวสารมากรอกหม้อเป็นแน่
นอกจากนี้ ขุนทวยหาญพิทักษ์ ยังโกหกอีกด้วยว่า “… ประเทศที่อยู่ในเอเซียก็ได้คิดจัดการเปลี่ยนแปลงประเพณีการปกครองตามแบบใหม่หมดแล้ว … ยังแต่ประเทศสยามแห่งเดียวที่ยังคงใช้แบบธรรมเนียมการปกครองอย่างป่าเถื่อน ซึ่งทำให้พวกกระษัตริย์ได้รับความศุขสนุกสบายมากเกินไป จนไม่มีเงินจะบำรุงประเทศ …”
ข้อความนี้เป็นที่ชัดเจนว่า พวกกบฏได้กล่าวหาใส่ร้ายในหลวงรัชกาลที่ 5 และ รัชกาลที่ 6 อย่างรุนแรงว่านำเงินไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนพระองค์ ทั้งที่จริงแล้ว ประเทศไทยในเวลานั้นกำลังอยู่ในช่วงพัฒนาไปสู่ความเจริญด้านต่างๆ เช่น การคมนาคมทางรถไฟ การสร้างและบริหารกระทรวงต่างๆ การจัดการการศึกษา การจัดการในระบอบยุติธรรม หรือแม้กระทั่งการก่อสร้างตึกรามบ้านช่องให้ทันสมัยเทียบเท่ายุโรป จนฝรั่งที่ได้เข้ามาเยือนถึงกับเอ่ยปากชมอย่างมาก ดังที่ปรากฏในหนังสือบันทึกการเดินทางหลายเล่ม
นอกจากนั้น บทความชิ้นนี้ยังจบลงด้วยการยกย่องให้ระบอบสาธารณรัฐ (รีปับลิ๊ก – Republic) มีข้อเสียน้อยที่สุดจากบรรดารูปแบบการปกครองต่างๆ จึงน่าเชื่อว่า การก่อการของคณะกบฏ ร.ศ.130 เป็นความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ระบอบ “สาธารณรัฐ” ที่มีลักษณะนิยมทหาร เนื่องจาก ร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์ ผู้เขียนบทความดังกล่าว ได้แสดงทัศนะอย่างชัดเจนว่า ชอบแนวคิดการพัฒนาการของกองทัพญี่ปุ่นที่รัฐบาลเน้นให้ทหารมีความยิ่งใหญ่อย่างมาก ซึ่งแนวคิดนี้ต่อมาได้นำพาให้ประเทศญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศลัทธิทหาร จนนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 นั่นเอง
จากข้อเท็จจริงทั้งหมด ก็น่าคิดเล่นๆ ว่า ถ้าหากคณะกบฏ ร.ศ.130 ปฏิวัติสำเร็จขึ้นมาจริงๆ นอกจากประเทศไทยจะมีชะตากรรมไม่ต่างกับญี่ปุ่นในวิกฤตสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว สภาพบ้านเมืองรวมถึงระบอบการปกครองของไทยในปัจจุบันจะเปลี่ยนโฉมหน้าไปในทิศทางไหน ซึ่งดูแล้วคงไม่น่าจะใช่ระบอบ “ประชาธิปไตย” อย่างแน่นอน
อ้างอิง :
[1] หจช. ร.6 บ.17/3 หนังสือที่ค้นได้จากบ้านหลวงวิฆเนศวร “ว่าด้วยความเสื่อมซามและความเจรีญของประเทศ”.
[2] วรชาติ มีชูบท. “เกร็ดพงศาวดาร รัชกาลที่ 6”. (กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์) 2553.