![](https://www.luehistory.com/wp-content/uploads/2023/07/cannon-_1300x731.jpg)
จับพลัดจับผลู ‘ปืนใหญ่คู่อยุธยา’ จากเครื่องบรรณาการ สู่การปฏิวัติฝรั่งเศส
14 กรกฎาคม ค.ศ. 1789 ฝูงชนชาวปารีสรวมตัวกันบุกรุกเข้าไปยัง “ออแตล เด แซ็งวาลีด (Hôtel des Invalides)” ซึ่งเป็นสถานพำนักทหารผ่านศึกผู้ทุพพลภาพ เพื่อปล้นสะดมเอาอาวุธออกมาใช้ในการเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปภาษี ภายหลังจากความล้มเหลวในการเจรจาผ่านการประชุมสภาฐานันดร แต่แล้วกลุ่มผู้ชุมนุมก็พบว่า คลังอาวุธในแซ็งวาลีด มีดินปืนไม่มากเพียงพอ พวกเขาจึงเคลื่อนย้ายกันไปปิดล้อมป้อมบัสตีล (Bastille) เพื่อเรียกร้องขอกระสุนดินปืนเพิ่มเติม
ฝูงชนนำอาวุธปืนไปใช้ โดยในจำนวนนั้นมีปืนใหญ่ ปากกระบอกปืนขนาด 2.4 นิ้ว ยาว 6 ฟุต ปลอกเงินลวดลายแปลกตาคู่หนึ่งถูกลากออกไปใช้ด้วย ฝูงชนในเวลานั้นอาจจะไม่ได้สนใจถึงที่มาของปืนใหญ่คู่นี้ แต่ความจริงแล้ว มันถูกจัดส่งข้ามน้ำ ข้ามทะเลมาจากดินแดนที่ไกลแสนไกลจากฝรั่งเศสนับพันกิโลเมตร จากดินแดนที่ชื่อ “กรุงศรีอยุธยา”
มันคือ 1 ในเครื่องราชบรรณาการจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ถูกส่งมาบรรณาการสมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เพื่อการเจริญสัมพันธไมตรี
ถึงแม้ว่าประสิทธิภาพของปืนใหญ่คู่นี้จะถูกตั้งคำถาม แต่คุณค่าที่แท้จริงสำหรับประเทศฝรั่งเศสไม่ได้อยู่ที่แสนยานุภาพของมัน แต่เป็นความวิจิตรงดงาม และแปลกตา หาที่ไหนไม่ได้ในยุโรปต่างหาก นอกจากนี้วิทยาการปืนใหญ่ของอยุธยา ก็ไม่ถือว่าเป็นรองใครในฝั่งเอเชีย
สิ่งนี้จะเห็นได้จากสาสน์จากโชกุนโตกุกาวะ อิเอยาสึ ที่ส่งมาถึงราชสำนักอยุธยา ร้องขอซื้อปืนใหญ่จากไทย [4] เพื่อทดแทนจากเกาหลีและจีน ที่ตัดสัมพันธ์ทางการทูตและการค้ากับญี่ปุ่น อันเนื่องมาจากสงครามการรุกรานเกาหลีของญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1592 ไป
ในหนังสือ The French Revolution บทที่ 6 ระบุว่า “จอร์เจต์ นายทหารเรือที่เพิ่งเดินทางจากเมืองเบรสต์ กำลังสาละวนอยู่กับปืนใหญ่ของพระเจ้าแผ่นดินสยาม ซึ่งต่างฝ่ายก็ไม่ได้คุ้นเคยกันมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปืนใหญ่ซึ่งได้มาอยู่ที่นี่ (ประเทศฝรั่งเศส) เป็นเวลาร้อยปีผ่านมาแล้ว และในเวลาต่อมาพวกเขาได้เข้าร่วมในการต่อสู้ด้วยกันและได้นำไปใช้ยิงประตูคุกบาสติลเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 1789” [2]
เหตุการณ์บุกป้อมบัสตีล จบลงด้วยชัยชนะทางการเมืองของฝั่งปฏิวัติ ราชสำนักพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงยินยอมให้มีการจัดตั้ง “สภาแห่งชาติ (Assemblée Nationale)” อาวุธยุทโธปกรณ์ส่วนใหญ่ถูกนำกลับมาจัดเก็บไว้ในที่เดิม ซึ่งรวมถึงปืนใหญ่จากอยุธยาที่ได้กลับคืนคลังแสงในออแตล เด แซ็งวาลีด เหมือนเดิม [2]
และในปัจจุบัน ออแตล เด แซ็งวาลีด ได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์อาวุธโบราณที่ใหญ่และมีชื่อเสียงที่สุดของฝรั่งเศส แต่ทว่าปืนใหญ่คู่นี้ กลับไม่ได้อยู่ที่นี่ และไม่อยู่ที่ไหนในฝรั่งเศสเลย [2]
ปืนใหญ่จากอยุธยา ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส ทั้งในแง่สัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-ฝรั่งเศส และคุณค่าในฐานะส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การปฏิวัติฝรั่งเศส และต่อระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ แต่กลับไม่อยู่ในฝรั่งเศส
ปืนใหญ่คู่นี้หายไปไหน ?
—
ภายหลังจากที่นโปเลียน โบนาปาร์ตทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งฝรั่งเศสแล้ว ทรงโปรดให้นำปืนใหญ่คู่นี้มาเก็บรักษาเอาไว้ในพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ ซึ่งปืนใหญ่จากอยุธยาคู่นี้ ถูกระบุเอาไว้ในรายการครุภัณฑ์ของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ [3]
แม้จะไม่ทราบถึงพระราชดำริขององค์พระจักรพรรดินโปเลียนว่าเหตุใดจึงทรงโปรดเกล้า ฯ ให้ย้ายปืนใหญ่คู่นี้มาไว้ที่นี่ แต่อาจคาดเดาได้ว่า พระเจ้านโปเลียนซึ่งทรงโตมาจากการเป็นนายทหารปืนใหญ่ อาจจะทรงโปรดพระแสงปืนใหญ่เป็นการส่วนพระองค์ อีกทั้งปืนใหญ่คู่นี้ ก็มีความวิจิตรงดงาม และแปลกตา
อย่างไรก็ดี ใน ค.ศ. 1815 กองทัพอังกฤษและปรัสเซียบุกยึดกรุงปารีส โค่นล้มพระราชอำนาจของสมเด็จพระจักรพรรดินโปเลียนลง ปืนใหญ่ที่สวยงามแปลกตาคู่นี้ ได้ถูกเคลื่อนย้ายออกมาอีกครั้ง แต่ในครั้งนี้ ถูกย้ายออกมาในฐานะ “สินสงคราม” [3]
ปืนใหญ่กระบอกหนึ่ง ถูกส่งมอบต่อ เก็พฮาร์ท เลเบอไรชท์ ฟอน บลึชเชอร์ (Gebhard Leberecht von Blücher) แม่ทัพปรัสเซีย และอีกกระบอกส่งมอบให้ อาร์เธอร์ เวลสลีย์ ดยุกที่ 1 แห่งเวลลิงตัน (Arthur Wellesley, 1st Duke of Wellington) แม่ทัพฝ่ายอังกฤษ [3]
ปืนใหญ่กระบอกที่ส่งมอบให้บลึชเชอร์ ถูกย้ายไปจัดเก็บเอาไว้ในเบอร์ลิน จนกระทั่งวันที่นาซีเยอรมันแตกพ่าย กรุงเบอร์ลินถูกกองทัพสหภาพโซเวียตยึดครอง ปืนใหญ่กระบอกดังกล่าว กลับสูญหาย ไม่ทราบอยู่ที่ไหน เพียงแต่คาดการณ์กันว่าน่าจะตกเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคลของใครสักคนหนึ่ง [3]
สำหรับกระบอกที่ส่งมอบให้ดยุกแห่งเวลลิงตันกลับมีชะตากรรมที่ดีกว่ามาก เนื่องจากท่านดยุกส่งมอบปืนใหญ่กระบอกนี้ต่อให้คณะกรรมการสรรพาวุธ (Board of Ordnance) และถูกจัดเก็บเอาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ปืนใหญ่หลวง (Royal Artillery Museum) ตำบลวูลวิช กรุงลอนดอนจวบจนปัจจุบัน [3]
จึงสรุปได้ว่า ปืนใหญ่จากอยุธยา ซึ่งเป็นทั้งสัญลักษณ์ด้านสัมพันธไมตรีระหว่างไทยและฝรั่งเศส และเป็นส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์การปฏิวัติฝรั่งเศสนั้น กระบอกหนึ่งสูญหาย และอีกกระบอก อยู่ที่อังกฤษด้วยประการฉะนี้เอง
อ้างอิง :
[1] ศิลปวัฒนธรรม, “ทหารใช้ “ปืนใหญ่พระนารายณ์” ถล่มป้อมบาสตีย์ ในการปฏิวัติฝรั่งเศส ?”
[2] ศิลปวัฒนธรรม, ”ปืนใหญ่พระนารายณ์ที่ปารีส”
[3] Royal Artillery Museum, “17th Century Muzzle Loading Siamese Gun”
[4] History of Ayutthaya
[5] พีรวุฒิ เสนามนตรี (พ.ศ. 2562), “ปฏิวัติฝรั่งเศส”, สำนักพิมพ์ Gypzy