จะ ‘ประชาธิปไตย’ หรือ ‘อนาธิปไตย’ เอาให้แน่ แต่ที่แน่ๆ อนาธิปไตยคือลัทธิแห่งความวุ่นวายที่ไม่มีสังคมไหนยอมรับ
จากเหตุการณ์ที่มีผู้ก่อความไม่สงบ ได้นำสีสเปรย์ไปพ่นบริเวณกำแพงวัดพระแก้ว กรุงเทพมหานคร เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ เป็นที่ชี้ชัดว่าการแสดงออกของผู้ก่อความไม่สงบกลุ่มนี้ มีนัยทางการเมืองที่สนับสนุนลัทธิอนาธิปไตย (Anarchism) ซึ่งว่ากันตามตรงแล้ว ลัทธินี้เป็นศัตรูตัวฉกาจของประเทศที่ปกครองทั้งระบอบประชาธิปไตยหรือกระทั่งคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะพวกคอมมิวนิสต์นั้น เกลียดชังพวกอนาธิปไตยเป็นที่สุด
ทาง ฤา ไม่แน่ใจว่าผู้พ่นสีนั้นมีความเข้าใจสัญลักษณ์ของลัทธิอันตรายนี้เพียงใด แต่จากรูปการณ์เบื้องต้นนั้นสันนิษฐานว่าผู้พ่นคงไม่มีความรู้เกี่ยวกับสัญลักษณ์นี้แน่ เพราะหากใครก็ตามประกาศตนเองว่าเป็นผู้นิยมประชาธิปไตยแล้ว (อย่างที่คนกลุ่มนี้มักอ้างกันตลอด) ย่อมไม่สามารถอนุญาตให้มีแนวคิดแบบอนาธิปไตยแฝงเร้นมาได้ เพราะคำตอบทางวิชาการก็เป็นที่แน่ชัดว่า อนาธิปไตย คือ ศัตรูตัวสำคัญของประชาธิปไตย ยิ่งกว่าระบอบเผด็จการเสียอีก
อนาธิปไตย วางอยู่บนพื้นฐานย่อ ๆ คือ การดำรงอยู่ในสภาวะไร้รัฐ ไร้ระเบียบ กฎเกณฑ์ หรือกฎหมายใด ๆ กล่าวอย่างสั้น ๆ ก็คือ ต่อต้านหรือแอนตี้การดำรงอยู่ของรัฐใด ๆ นั่นเอง ถ้าใครนึกภาพไม่ออก ลองจินตนาการถึงช่วงเวลาที่โลกทั้งโลกปราศจากข้อบังคับ ระเบียบ กฎเกณฑ์ หรือกฎหมายใด ๆ คนแต่ละคนต่างคนต่างอยู่ ใครอยากจะอยู่คนเดียวก็อยู่ไป อยู่เป็นครอบครัวของตัวเองก็อยู่ไป แต่จะไม่มีสภาพที่มีการรวมกลุ่มขึ้นเป็นสังคมโดยเด็ดขาด หากตีความอย่างเคร่งครัดแล้ว แม้แต่การฆ่ากันเองก็ทำได้ ไม่ใช่ข้อห้าม เพราะอนาธิปไตย ก็แปลตรง ๆ ตัวว่าไร้ระเบียบทางสังคม ใครย่อมอะไรก็ได้ตามใจนึก ศีลธรรมหรือความยุติธรรมเป็นสิ่งที่ไม่มีจริง ใครแข็งแรงกว่าย่อมชนะคนอ่อนแอกว่านั่นเอง เพราะไม่มีตัวบทกฎหมายหรือข้อบังคับใด ๆ มาคอยห้ามมิให้ทำ
ในทางปรัชญาทางการเมืองนั้น นักคิดคนสำคัญ ๆ เรียกสภาวะที่ไร้กฎเกณฑ์และมนุษย์หวาดกลัวการลอบทำร้ายฆ่ากันตายนี้ว่า ‘มนุษย์ในสภาพธรรมชาติ’ โดยเฉพาะ โทมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes) นักคิดคนสำคัญของอังกฤษในช่วงคริสตวรรษที่ 17 โดยเขามองว่าสภาพที่มนุษย์ดำรงอยู่โดยธรรมชาติที่ต่างคนต่างอยู่ ซึ่งปราศจากกฎระเบียบ กฎเกณฑ์ คือสภาพธรรมชาติก่อนที่มนุษย์จะตกลงอยู่ร่วมกันในสังคมนั้น มีบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความหวาดกลัว ทุกคนมีโอกาสตายด้วยกันหมด ซึ่งคำอธิบายเช่นนี้ก็คือสภาวะอนาธิปไตยก่อนเกิดขึ้นของรัฐหรือชุมนุมสังคม (polis) นั่นเอง
ท้ายที่สุด เพื่อให้ข้ามพ้นไปจากสภาวะอันสยดสยองนี้ ฮอบส์เชื่อว่า เหล่ามนุษย์บรรพกาลหรือบรรพบุรุษของเรา จึงได้ตกลงปลงใจกันว่าจะอยู่ร่วมกันในสังคม โดยจะมอบอำนาจการตัดสินใจของตนไว้กับองค์อธิปัตย์ (หรือผู้คุมอำนาจรัฐ จะเป็นกษัตริย์ คนธรรมดา หรืออะไรก็ตามที่สังคมนั้นเลือก) เมื่อมอบอำนาจตัดสินใจไปแล้ว ก็ให้องค์อธิปัตย์ออกกฎระเบียบต่าง ๆ นานาขึ้นมาเพื่อธำรงรักษาสังคม ซึ่งใครก็ตามที่ละเมิดระเบียบนี้ เท่ากับเป็นการละเมิดข้อตกลงของสังคม พวกเขาจักต้องได้รับการลงโทษ คำอธิบายของ ฮอบส์ เช่นนี้ คือที่มาของทฤษฎี ‘สัญญาประชาคม’ หรือ Social contract นั่นเอง
เล่ามาถึงจุดนี้ หลายคนคงจะเริ่มสงสัยแล้วใช่ไหมครับว่า อนาธิปไตย มาเกี่ยวอะไรกับ โทมัส ฮอบส์ และทฤษฎีสัญญาประชาคม หรือมาเกี่ยวอะไรกับการเมืองไทยในตอนนี้ ?
นั่นก็เพราะ โทมัส ฮอบส์ เป็นนักคิดทางการเมืองคนแรก ๆ ที่เสนอว่า ‘คนเท่ากัน’ โดยฮอบส์ เป็นคนแรก ๆ ที่เชื่อว่า ‘มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน’ และเขาไม่ได้แค่เชื่ออย่างเดียว ฮอบส์ยังอธิบายไว้ยืดยาวผ่านทฤษฎีสัญญาประชาคมของเขาด้วย ยังจำกันได้ใช่ไหมครับ สภาพธรรมชาติของมนุษย์ที่เป็นอนาธิปไตย ที่ทุกคนต่างกลัวตายเหมือนกัน มนุษย์คนนั้น ไม่ว่าจะสูง เตี้ย ฉลาด โง่ ก็มีโอกาสตายได้เท่ากันอันเป็นผลมาจาการลอบฆ่ากันเมื่อยามหลับหรือยามเผลอ จะด้วยการแย่งชิงอาหาร ที่อยู่ หรือแย่งสามี-ภรรยาก็แล้วแต่
ด้วยการมองมนุษย์ด้วยมุมมองอันแปลกไปเช่นนี้ ฮอบส์จึงเชื่อว่าคนเกิดมาเท่ากัน ซึ่งแนวคิดนี้ตรงข้ามกับนักคิดสมัยกรีกโบราณ โดยสมัยนั้นมองว่าคนไม่เท่ากันเพราะระดับสติปัญญาและความสามารถต่างกัน แต่เพราะฮอบส์ยึดจาก โอกาสที่คนจะตายได้เท่ากัน ๆ กันเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่จากระดับสติปัญญาแบบยุคเก่า ด้วยเหตุนี้ใครไม่เห็นด้วยกับที่ฮอบส์พูด ก็เท่ากับว่าไม่เชื่อว่า ‘คนเท่ากัน’ นะครับ
ยิ่งกว่านั้น ฮอบส์ยังได้รับการยอมรับด้วยว่าเป็นบิดาแห่งเสรีนิยมหรือผู้บ่มเพาะเมล็ดของเสรีนิยม ซึ่งต่อมาแนวคิดนี้ได้แนบแน่นเป็นแก่นหลักของแนวคิดการปกครองแบบประชาธิปไตย แม้ว่าตัวฮอบส์เองจะนิยมการปกครองแบบกษัตริย์ก็ตาม แต่ด้วยทฤษฎีสัญญาประชาคมที่เขาวางไว้นั้น ระบุแนวทางต่อไปว่า แม้ว่ามนุษย์จะตกลงอยู่ร่วมกันในสังคม ทำให้เขาย่อมอยู่ภายใต้กฎระเบียบของสังคม หากแต่การกระทำใดที่มิได้ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือไปเบียดเบียนความสงบหรือสิทธิของผู้อื่น การกระทำนั้นก็ย่อมสามารถกระทำได้ นี่เองคือหัวใจและแก่นแกนอันสำคัญที่สุดของเสรีนิยมประชาธิปไตยในปัจจุบัน
ที่กล่าวมานี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าบิดาแห่งแนวคิด ‘คนเท่ากัน’ และ บิดาแห่ง ‘เสรีนิยม’ ซึ่งเป็นแก่นของลัทธิประชาธิปไตยอย่างโทมัส ฮอบส์ จงเกลียดจงชังอนาธิปไตยขนาดไหน ถ้าใครปากยังพ่นคำว่า ‘คนเท่ากัน’ อยู่ แต่หัวใจสนับสนุนและเห็นชอบกับการกระทำแบบอนาธิปไตย คนพวกนี้ก็ต้องตอบคำถามตัวเองดี ๆ ว่าจะเป็นอะไรกันแน่ ต้องเลือกเอาสักทางว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรืออนาธิปไตย เพราะทั้ง 2 อย่างนี้คือน้ำกับน้ำมัน ย่อมอยู่ร่วมกันไม่ได้
ส่วนพรรคการเมืองไหนที่สนับสนุนการกระทำอย่างอนาธิปไตย แต่ดันมาลงรับสมัครเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยนั้น เราสามารถสรุปได้ง่าย ๆ ว่าพรรคการเมืองพวกนี้แค่อยากเกาะกระแสของเหตุการณ์ทางการเมืองเพื่อหากินกับกระแสเหล่านี้เท่านั้น เป็นที่ชัดเจนว่านักการเมืองพวกนี้ไม่ได้มีอุดมการณ์อะไรเลยด้วยซ้ำ
ส่วนในโลกของคอมมิวนิสต์นั้น เหล่าคอมมิวนิสต์แท้ ๆ ต่างมองว่าการกระทำอันเป็นอนาธิปไตยนั้นเป็นสิ่งที่บ่อนทำลายรัฐของชนชั้นกรรมาชีพ ทำให้จัดตั้งเสียวินัย เสี่ยงต่อลัทธิฉวยโอกาส จึงมีบทลงโทษถึงตาย ทั้ง คาร์ล มาร์กซ, เลนิน, โจเซฟ สตาลิน, เหมา เจ๋อ ตง ผู้นำคอมมิวนิสต์เหล่านี้ทุกคนล้วนแล้วแต่ต่อต้านลัทธิอนาธิปไตยอย่างเอาเป็นเอาตายแทบทั้งสิ้นในโลกคอมมิวนิสต์ ข้อหาอนาธิปไตยคือข้อหาฉกรรจ์ถึงตาย ส่วนลัทธิอนาธิปไตย-คอมมิวนิสต์ (Anarchist communism) นั้น แม้ว่าจะมีความพยายามผสมแนวคิดนี้เข้าด้วยกัน เพราะสมัยนั้นคนรัสเซียบางกลุ่มเห็นว่าพรรคบอลเชวิคหรือคอมมิวนิสต์รัสเซียมีอำนาจนำมากไป แต่ผลก็คือเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างจะย้อนแย้งต่ออุดมการณ์อย่างมาก ท้ายที่สุดก็ถูกรัฐบาลโซเวียตสั่งห้ามไปในที่สุด
สำหรับในประเทศไทยนั้น นายกรัฐมนตรีผู้ที่จงเกลียดจงชังลัทธิอนาธิปไตยเข้าไส้ที่สุดนั้นไม่ใช่ใครอื่น เขาผู้นั้นก็คือ ปรีดี พนมยงค์ มันสมองคณะราษฎรนั่นเอง ดังคำกล่าวในวันปิดประชุมสภาเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2489 ที่ว่า
“ระบอบประชาธิปไตยนั้น เราหมายถึงประชาธิปไตยอันมีระเบียบตามกฎหมายและศีลธรรมและความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ใช่ประชาธิปไตยอันไม่มีระเบียบ หรือประชาธิปไตยที่ไร้ศีลธรรม เช่น การใช้เสรีภาพอันมีแต่จะให้เกิดความปั่นป่วน ความไม่สงบเรียบร้อย ความเสื่อมศีลธรรม ระบอบเช่นนี้เรียกว่า อนาธิปไตย หาใช่ประชาธิปไตยไม่ ขอให้ระวังอย่าปนประชาธิปไตยกับอนาธิปไตย อนาธิปไตยเป็นภัยใหญ่หลวงแก่สังคมและประเทศชาติ”
จะเห็นได้ว่า ทั้ง โทมัส ฮอบส์ บิดาแห่งคนเท่ากันและเสรีนิยม หรือปรีดี พนมยงค์ มันสมองคณะราษฎรและผู้ที่หลายคนยกย่องว่าเป็นผู้นำเข้าประชาธิปไตยเข้ามาในประเทศไทย ทั้ง 2 คนนี้เป็นผู้มีปัญญาดีเลิศ ต่างก็จงเกลียดจงชังลัทธิอนาธิปไตยอย่างชนิดไม่เผาผี
ด้วยเหตุนี้ ม็อบไหน ๆ หรือกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมืองฝ่ายใด ที่ยังชูประเด็นมั่ว ๆ เบียว ๆ จับโน่นมารวมนี่จนมั่วไปหมด แล้วอ้างปิดท้ายว่าต้องการะบอบประชาธิปไตย ทั้ง ๆ ที่สัญลักษณ์เคลื่อนไหวที่ตนเอามาใช้นั้นเป็นสิ่งที่สังคมประชาธิปไตยทั่วโลกขยะแขยงเป็นที่สุด นี่ย่อมแสดงให้เห็นว่า พวกจัดตั้งหรือกุนซือผู้อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวทางการเมืองเหล่านี้ เป็นพวกอ่อนด้อยความรู้ทางการเมืองพื้นฐานอย่างแน่นอน
ก็น่าคิดว่า แค่การแสดงออกทางการเมืองด้วยสัญลักษณ์พื้นฐาน คนกลุ่มนี้ยังมั่วหรือไม่ระมัดระวังได้ขนาดนี้ สมมติว่าหากในอนาคตพวกเขาได้อำนาจรัฐ หรือกลายมาเป็นนักการเมืองปากเสียงของประชาชนขึ้นมาจริงๆ ก็คิดไม่ออกเหมือนกันว่าบ้านเมืองอันเป็นที่รักของเราจะเละตุ้มเป๊ะขนาดไหน