จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ‘เผด็จการ’ สุดเฮี้ยบ ตัวจริงในประวัติศาสตร์
มีหลายคนชอบออกมาพูดว่า รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ ทั้ง 2 สมัย ตั้งแต่ช่วงรัฐประหาร พ.ศ. 2557 (ประยุทธ์ 1) จนถึงรัฐบาลประยุทธ์ที่มาจากการเลือกตั้ง (ประยุทธ์ 2) เป็นรัฐบาลเผด็จการ
จริงๆ แล้วถ้านับเฉพาะรัฐบาลพลเอกประยุทธ์สมัยแรกก็พอจะอนุโลมได้อยู่ เพราะถ้าพูดกันแบบแฟร์ๆ ก็เรียกได้ว่า รัฐบาลสมัยนั้นเป็นรัฐบาลเผด็จการจริงๆ เพราะมีที่มาจากการรัฐประหาร แต่การที่ออกมาบอกว่ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์สมัยที่ 2 เป็นรัฐบาลเผด็จการด้วย แบบนี้ก็ดูจะเป็นการใส่ร้ายและมีอคติเกินไป อย่าลืมนะครับว่ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์สมัยที่ 2 นี้ มีที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบรัฐสภา ไม่ใช่การใช้กำลังจัดตั้งรัฐบาลแบบสมัยแรก ดังนั้นการกล่าวหาด้วยคำว่า “เผด็จการ” จึงเป็นเรื่องที่ฟังไม่ขึ้น
และถ้าพูดกันถึงเรื่องเผด็จการ รู้ไหมครับว่าจริงๆ แล้วรัฐบาลเผด็จการมีหลายรูปแบบมาก ซึ่งส่วนใหญ่เรามักจะคุ้นชินกับรัฐบาลเผด็จการแบบ “คลาสสิค” นั่นก็คือการที่ทหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนแล้วจัดตั้งรัฐบาลแทน หรือบางครั้งก็เป็นเหตุการณ์ที่รัฐบาลทหารยึดอำนาจกันเอง
ส่วนรัฐบาลเผด็จการอีกรูปแบบหนึ่งที่เรามักจะมองข้ามไปคือ รัฐบาลที่มาจากพรรคการเมืองพรรคเดียวในระบอบรัฐสภา นั่นคือ “รัฐบาลของพรรคคอมมิวนิสต์” ที่ถือว่าเป็นรัฐบาลเผด็จการรูปแบบหนึ่งเช่นกัน และนอกจากประเทศคอมมิวนิสต์ที่เป็นรูปแบบพรรคเดียวแล้ว ถ้าเรายึดตามเงื่อนไขการสนับสนุนพรรคเดียวเป็นรัฐบาล ประเทศสิงคโปร์ก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นเผด็จการเช่นกัน
และยังมีรัฐบาลอีกประเภทหนึ่ง ที่ไม่น่าเชื่อว่าจะสามารถกลายพันธุ์ไปเป็นระบอบเผด็จการได้ เพราะรัฐบาลประเภทนี้จริงๆ แล้วก็มาจาก “รัฐบาลประชาธิปไตย” แต่ด้วยการออกแบบรัฐธรรมนูญที่สุดโต่งเกินไป ทำให้นักการเมืองสามารถเอาไปใช้เอื้อผลประโยชน์ได้ตามใจนึก เช่น รัฐธรรมนูญของไทย ปี 2540 ที่ช่วยให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่มีความได้เปรียบมากเกินไป ชนิดที่ว่าสามารถคุมอำนาจเบ็ดเสร็จทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาให้ทำตามความต้องการของพรรคตัวเองได้ ซึ่งนี่ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของรัฐบาลเผด็จการที่เรียกกันว่า “เผด็จการรัฐสภา”
กลับมาเรื่องที่มีหลายคนชอบออกมาพูดว่า “ตอนนี้พวกเราอยู่ในยุคเผด็จการ” บ้านเมืองตกต่ำ ประชาชนถูกกดขี่ข่มเหงจากรัฐบาล
ถ้าพูดกันในแง่การใช้อำนาจของรัฐบาลแล้ว บอกได้เลยว่า รัฐบาลในปัจจุบันเป็นเผด็จการแค่ข้อกล่าวหาเท่านั้น เพราะถ้าลองเทียบกับรัฐบาลเผด็จการในอดีตที่เป็น “เผด็จการจริงๆ” จะเห็นได้ชัดเลยว่า เผด็จการที่พูดกันอยู่ทุกวันนี้กลายเป็นเรื่องเด็กๆ ไปเลย
และถ้าพูดถึงรัฐบาลเผด็จการของประเทศไทยที่ขึ้นชื่อเรื่องความเด็ดขาด ชนิดที่คนสมัยนั้นแค่ได้ยินชื่อก็ต้องขนหัวลุก คงหนีไม่พ้นรัฐบาลของ “จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” ที่กินระยะเวลาสั้นๆ แค่ช่วงปี พ.ศ. 2502 – 2506
“กิมมิค” ของความเป็นรัฐบาลเผด็จการของจอมพลสฤษดิ์ ที่ทำให้คนไทยในสมัยนั้นทั้งชื่นชอบและหวาดกลัว ก็คือนิสัยความเป็นคนจริง ใจนักเลงของจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งเป็นคนพูดอะไรทำอย่างนั้น ภายใต้วลีอมตะที่ว่า “ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว”
สำหรับวีรกรรมของจอมพลสฤษดิ์ ที่เด็ดขาดโดนใจคนไทยและชาวโลกมีอะไรบ้าง วันนี้ ฤๅ จะขอยกตัวอย่างเด็ดๆ มาสัก 3 เหตุการณ์
เหตุการณ์แรกคือ การปราบปรามนักเลงยุคพระนคร ว่ากันว่าในช่วงรัฐบาลจอมพล ป. ก่อนการรัฐประหาร พ.ศ. 2500 คนในรัฐบาลจอมพล ป. โดยเฉพาะฝั่งของเผ่า ศรียานนท์ และบรรดาตำรวจอัศวินของเผ่า ได้เลี้ยงนักเลงและอันธพาลไว้ในสังกัดจำนวนมาก เพื่อใช้ในการทำเรื่องสกปรกทางการเมือง ที่เกินกว่าจะให้คนของรัฐบาลลงมือจัดการเองได้ เช่น การไล่ยิงนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม หรือการใช้ประโยชน์ทางการเมืองช่วงการเลือกตั้งสกปรกปี 2500
ต่อมาเมื่อเกิดการรัฐประหารขับไล่จอมพล ป. และเผ่า ศรียานนท์ ออกไป กลุ่มนักเลงและอันธพาลก็กลายเป็นพวกผีไม่มีศาล ที่คอยออกมาสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน จนในที่สุดจอมพลสฤษดิ์ก็สั่งการให้ใช้กำลังปราบปรามอย่างรุนแรง ทั้งกำลังทหาร ตำรวจ และพลเรือนร่วมมือกันจนในที่สุดยุคอันธพาลครองเมืองก็จบลงภายในระยะเวลาไม่นาน
เหตุการณ์ที่สองคือ การปราบปรามกบฏศิลา วงศ์สิน ในปี พ.ศ. 2502 ที่เรียกได้ว่าเป็นกบฏผีบุญครั้งสุดท้ายของประเทศไทย โดยนายศิลา ได้อ้างตัวว่าเป็นผู้วิเศษหลอกลวงปลุกระดมชาวบ้านให้ต่อต้านอำนาจรัฐ ต่อมาได้มีการปะทะกันระหว่างกองกำลังของนายศิลากับทางรัฐบาล จนสุดท้ายนายศิลาโดนจับได้ และจอมพลสฤษดิ์ก็ได้เดินทางมาสอบสวนเรื่องนี้ด้วยตัวเอง
เล่ากันว่าจอมพลสฤษดิ์ ได้เปิดโอกาสให้นายศิลาแสดงอิทธิฤทธิ์ตามที่อ้างว่าเป็นผู้วิเศษให้ดู โดยมีเงื่อนไขก็คือ ให้นายศิลาลองใช้ปากอมกระโถนที่วางอยู่ใต้โต๊ะ ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ได้บอกกับนายศิลาว่า “ถ้าทำได้กูจะปล่อยมึง ถ้าทำไม่ได้ ไปเมืองผี” สุดท้ายนายศิลาก็ทำไม่ได้ และโดนลงโทษประหารด้วยการยิงเป้าด้วยมาตรา 17 ที่จังหวัดนครราชสีมา
เรื่องสุดท้ายเป็นประเด็นที่น่าสนใจมาก นั่นคือการสั่งยิงเป้า โดยใช้ มาตรา 17 ของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 ที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่กระทำการใดๆ ก็ได้ ที่จะทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย
ผลก็คือ จอมพลสฤษดิ์ได้เลือกวิธี “ยิงเป้า” เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาความไม่สงบเรียบร้อย และผู้โชคดีที่ได้รับคัดเลือกให้ใช้บริการ “มาตรา 17” ส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่ทำให้บ้านเมืองตกอยู่ในอันตรายและความหวาดกลัว เช่น พวกโจรผู้ร้ายปล้นฆ่า ค้ายาเสพติด และโดยเฉพาะพวกนักวางเพลิง ที่ทำความเสียหายเป็นวงกว้างทั้งกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์
การประหารผู้ร้ายวางเพลิงที่เป็นข่าวดังในสมัยจอมพลสฤษดิ์ คือการสั่งประหารชีวิต นายซ้ง แซ่ลิ้ม เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2501 ซึ่งนายซ้ง ได้จ้างวานให้นายพิมพ์ ทองขาว เผาตลาดพลู เพื่อที่นายซ้งจะได้เคลมเงินประกันกับบริษัทประกันภัย ซึ่งเหตุการณ์วางเพลิงครั้งนั้นทำให้ชาวตลาดพลูต้องหมดตัวและพบกับความสูญเสียเป็นจำนวนมาก เพราะไฟได้ไหม้ลุกลามเป็นวงกว้าง สุดท้ายนายซ้งก็โดนจับ และถูกประหารด้วยการยิงเป้าที่กำแพงหอสมุดแห่งชาติบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์
นอกจากนายซ้งแล้ว ต่อมายังมีการประหารนายจำนงค์ และนายซิ่วหยิ่น แซ่ฉิ่น 2 พี่น้องที่ถูกจับจากการเผาตลาดพลูเช่นกัน รวมถึงการประหารนายฮ่อนฉิ่น แซ่ฉิ่น คนร้ายที่เผาโรงสีวัดพระยาไกร
ผลจากการสั่งประหารคนร้ายลอบวางเพลิงของจอมพลสฤษดิ์ ทำให้ความวุ่นวายในบ้านเมืองหลังจากนั้นสงบเรียบร้อยลงอย่างรวดเร็ว และไม่มีเหตุการณ์ไฟไหม้ (จากการลอบวางเพลิง) ไปอีกนาน ทำให้คนกรุงเทพฯ ในเวลานั้นรักจอมพลสฤษดิ์มาก จากการทำให้บ้านเมืองสงบสุขอย่างแท้จริงตามที่ได้รับปากไว้
สำหรับ มาตรา 17 ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2502 หากเทียบกันจริงๆ แล้ว ก็คล้ายกับ ม.44 ในปัจจุบัน แต่ทุกวันนี้ก็ยังไม่เคยเห็นเลยว่ารัฐบาลสั่งยิงเป้าใคร หรือกระทำการใดๆ อย่างดุเดือดเหมือนสมัยจอมพลสฤษดิ์ แถมทุกวันนี้ใครต่อใครยังสามารถออกมาวิพากษ์วิจารณ์หรือแม้กระทั่งโจมตีรัฐบาลตามสื่อต่างๆ ได้อย่างเสรี ซึ่งเรื่องแบบนี้ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ในโลกของเผด็จการแน่นอน
ดังนั้น ใครที่ชอบออกมาเรียกร้องก่นด่าว่า “รัฐบาลยุคนี้เป็นรัฐบาลเผด็จการ” หรือ “ทุกวันนี้เราอยู่ในยุคเผด็จการ” ก็ลองกลับไปคิดใหม่ดีกว่า เพราะถ้าคุณได้กลับไปอยู่ในยุคจอมพลสฤษดิ์ ยุคที่เรียกได้ว่าเป็นเผด็จการตัวจริง รับรองว่าร้องไม่ออกแน่ครับ
อ้างอิง :
[1] ปากเหล็ก (นามปากกา). ปฏิวัติ (Revolution). (พระนคร : สำนักพิมพ์ ป.8). 2502.
[2] กุลลดา เกษบุญชู. การเมืองไทยในยุคสฤษดิ์-ถนอม ภายใต้โครงสร้างอำนาจโลก. ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2550).
[3] “กบฏศิลา” ใน นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ 45 ฉบับที่ 2648 วันพุธที่ 4 – วันอังคารที่ 10 เดือนมีนาคม พุทธศักราช 2563.