“คำสั่งโบว์ดำ” ของรัฐบาลปรีดี พนมยงค์ เครื่องมือปิดปากประชาชนเรื่องคดีสวรรคต
ภายหลังการสวรรคตอย่างปริศนาของในหลวงรัชกาลที่ 8 เมื่อเช้าวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 และด้วยพฤติกรรมของรัฐบาลปรีดี พนมยงค์ ที่ไม่ค่อยกระตือรือร้นในการเร่งรัดจัดทำรูปคดี ทำให้ประชาชนคนไทยในเวลานั้นต่างโกรธแค้นและหมดความเชื่อมั่นในรัฐบาลเป็นอย่างมาก
เมื่อกระบวนการในการแถลงการณ์เรื่องสวรรคตไม่กระจ่างชัด ทำให้มีการพูดการลือกันไปต่างๆ นานาว่า บุคคลนั้นเป็นผู้กระทำบ้าง บุคคลนี้อยู่เบื้องหลังบ้าง ซึ่งขัดแย้งกับแถลงการณ์ที่รัฐบาลจัดทำขึ้นผ่านประกาศสำนักพระราชวังในค่ำวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 โดยระบุจากคำให้การของนายชิต สิงหเสนี มหาดเล็กที่อยู่ใกล้ชิดในเหตุการณ์ที่สุดว่า “ในหลวงยิงพระองค์เอง” โดยนายชิตยืนยันหนักแน่นว่า เขาเห็นด้วยตาและได้ยินด้วยหูของเขาเองถึงเหตุการณ์ที่ในหลวงรัชกาลที่ 8 ยิงพระองค์เอง
เมื่อมหาดเล็ก (ที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์อะไรลึกซึ้งกับราชสกุลมหิดลเลย) ยืนยันเช่นนี้ ทำให้รัฐบาลและพระบรมวงศานุวงศ์เชื่อตามคำอ้างของเขา และแถลงการณ์ไปดังที่นายชิตยืนยันว่าเป็น “อุบัติเหตุปืนลั่นใส่พระองค์” (แต่ต่อมานายชิตกลับปฏิเสธในภายหลัง ว่าไม่ได้เห็นในหลวงยิงพระองค์เอง)
การลือไปต่างๆ นานานี้ เกิดขึ้นจากการตรวจพระบรมศพซ้ำในวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2489 โดยคณะแพทย์จุฬาได้พบรอยทะลุของกระสุนบริเวณท้ายทอยของพระบรมศพ ทำให้แพทย์ลงความเห็นกันว่าไม่น่าใช่ “อุบัติเหตุปืนลั่น” แต่น่าจะเป็น “การลอบปลงพระชนม์” เสียมากกว่า เมื่อข่าวนี้แพร่ออกไป หนังสือพิมพ์และชาวบ้านต่างก็พูดกันหนาหูขึ้น ทำให้ความนิยมในตัวรัฐบาลซึ่งกำลังจะมีการเลือกตั้งใหม่ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าตกต่ำลงอย่างมาก
ทั้งนี้ นายแพทย์สรรใจ แสงวิเชียร ลูกชายของนายแพทย์สุด แสงวิเชียร ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพิสูจน์พระบรมศพโดยตรง ได้เล่าไว้ทำนองว่า …
“การลือของบรรดาแพทย์จุฬาดังกล่าวทำให้นายปรีดีโกรธอย่างมาก นายปรีดีกำลังมองว่าแพทย์กำลังเล่นการเมือง”
โดยในขณะนั้นความนิยมของรัฐบาลปรีดีฯ ถึงขั้นเลวทรามลงมาก ประชาชนต่างหมดความเชื่อมั่นและไม่ไว้ใจ เพราะเห็นว่าตั้งแต่วันเกิดเหตุอันน่าสลดกับประมุขของชาติ ปรีดีฯ ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้ไปถึงที่เกิดเหตุล่าช้ามาก รวมทั้งบรรดาผู้ใหญ่ในรัฐบาลบางคนด้วย ทั้งที่หนังสือพิมพ์บางฉบับได้ออกข่าวถึงการสิ้นพระชนม์ของในหลวงรัชกาล 8 ไปแล้วตั้งแต่ช่วงเช้าว่าเป็นเพราะกระสุนปืน แต่กว่าแถลงการณ์ของทางการจะออกมายืนยันก็เกือบช่วงค่ำ
ด้วยการทำงานอย่างไม่กระตือรือร้นนี้ ทำให้คะแนนนิยมในตัวปรีดีฯ ลดฮวบหายไป และกลับกลายเป็นความเกลียดชังขึ้นมาแทนที่ ซึ่งทำให้ฝ่ายการเมืองฝั่งตรงข้ามเอาเรื่องนี้ไปเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อทำลายชื่อเสียงของปรีดีฯ ด้วยการจ้างคนไปตะโกนในโรงหนังใส่ร้ายปรีดีฯ ว่าเป็นผู้ปลงพระชนม์ในหลวง ทำให้สถานการณ์ในเวลานั้น นับว่าเป็นจุดตกต่ำอย่างมากสำหรับปรีดี พนมยงค์
แต่นายกรัฐมนตรีผู้เป็นมันสมองของคณะราษฎรก็ได้ “งัด” เอาไม้เด็ด ซึ่งก็คือ “กฎหมาย” ที่เขาถนัดมาใช้เล่นงานขั้วการเมืองฝั่งตรงข้ามและประชาชนบางกลุ่มกลับคืนบ้าง
รัฐบาลปรีดีฯ เริ่มทำการ “เซนเซอร์” สื่อหนังสือพิมพ์ต่างๆ โดยหากพบเจอว่าฉบับใดมีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลเกี่ยวกับการดำเนินคดีสวรรคต ก็จะโดนเล่นงานด้วย “มาตรา 104” ซึ่งถือเป็นความผิดฐานกบฏ
จากการบีบคั้นต่างๆ นานาของรัฐบาลในประเด็นสวรรคต ทำให้เวลานั้นแม้แต่อธิบดีตำรวจถึงกับต้องขอลาออก และการแก้เผ็ดของรัฐบาลปรีดีฯ นั้นรุนแรงมากถึงขั้นมีการปาระเบิดใส่ฝ่ายตรงข้ามขณะที่กำลังหาเสียงเลือกตั้งในช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2489 จนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บขาขาด 1 ข้าง คือนายไถง สุวรรณทัต สังกัดพรรคประชาธิปัตย์
แต่สิ่งที่ผู้คนโจษจันกันมากที่สุดในฐานะ “เครื่องมือปิดปาก” ของรัฐบาลปรีดีฯ ได้แก่ “คำสั่งกระทรวงมหาดไทย ด่วนมาก ที่ 207/2489 เรื่อง ให้ประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อชี้แจงราษฎรมิให้หลงเชื่อคำโฆษณาหลอกลวงของบุคคลบางจำพวก ลงวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2489” หรือที่เรียกกันว่า “คำสั่งโบว์ดำ” ซึ่งเป็นเครื่องมือที่รัฐบาลปรีดีฯ ใช้ในการปิดปากฝ่ายตรงข้ามในการหาเสียงเลือกตั้งโดยตรง โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์
และมีเรื่องน่าสนใจว่า ประกาศสำคัญขนาดนี้ แทนที่รัฐมนตรีมหาดไทยในขณะนั้นจะเป็นผู้ลงชื่อในประกาศ แต่กลับ “โยน” ให้พันเอก ทวน วิชัยขัทคะ ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วย “กลาโหม” ลงนามแทน “มหาดไทย” หนังสือราชการฉบับนี้จึงเป็นสิ่งที่ประหลาดที่สุดในบรรดาเอกสารราชการไทยนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพราะไม่มีที่ไหนในโลกที่จะลงนามข้ามกระทรวงทบวงกรมกันได้เช่นนี้
สำหรับเนื้อหาในประกาศนั้นเต็มไปด้วยการแก้ตัวต่างๆ ของรัฐบาล และการ “โบ้ย” ว่าบรรดาข่าวลือที่เกิดขึ้น เป็นแผนการของพรรคประชาธิปัตย์ในการหาเสียงแทบทั้งสิ้น ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ข่าวลือหรือการแสดงความเห็นในกรณีสวรรคตนี้ ไม่ได้ที่มีมาจากพรรคการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่ยังมาจากประชาชนทุกหมู่เหล่าที่ล้วนเสื่อมศรัทธาในรัฐบาลทั้งสิ้น
การออก “คำสั่งโบว์ดำ” ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ไม่พอใจเป็นอย่างมาก แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ภายใต้การบีบคั้นและโจมตีจากรัฐบาลนายปรีดีฯ ดังตัวอย่างที่นายไถง สุวรรณทัต ต้องสังเวยขา 1 ข้างให้แก่ลูกระเบิดปริศนา นี่ยังไม่นับรวมนักหนังสือพิมพ์นามอุโฆษท่านหนึ่งที่โดน “เก๋งดำ” (กล่าวกันภายหลังว่าคือตำรวจสันติบาล) ยิงถล่มเสียชีวิตอย่างอนาถที่ถนนเพชรบุรีในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน
ทั้งหมดนี้คือเครื่องมือที่รัฐบาลนายปรีดี พนมยงค์ ใช้ในการปิดปากประชาชนเกี่ยวกับเรื่องคดีสวรรคต ในช่วงที่เรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของ “ยุคทมิฬ” แห่งประวัติศาสตร์การเมืองไทย ยุคที่เสรีภาพของประชาชนถูกกดทับไว้ด้วยอำนาจเผด็จการอย่างแท้จริง
อ้างอิง :
[1] สรรใจ แสงวิเชียร และ วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย. กรณีสวรรคต 9 มิถุนายน 2489. (กรุงเทพ : 2517).
[2] “เกียรติ” (นามปากกา). เรื่องของนายควง. (กรุงเทพ : 2513) สำนักพิมพ์พินิจประชา.
[3] คำสั่งกระทรวงมหาดไทย ด่วนมาก ที่ 207/2489 เรื่อง ให้ประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อชี้แจงราษฎรมิให้หลงเชื่อคำโฆษณาหลอกลวงของบุคคลบางจำพวก ลงวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2489.