คำยืนยันจาก หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ ถึงสิ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงต้องเผชิญหลังขึ้นครองราชย์
...ผมรู้สึกว่าสิ่งสำคัญที่ในหลวงท่านทรงรู้สึกอย่างมากอยู่ในขณะนี้ก็คือ ท่านรู้สึกว่าท่านเองนั้น ‘ลอยเคว้ง’ ไม่มีใครเหลียวแลท่านจริง ๆ เลย...
นี่คือเนื้อความในจดหมายจาก หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ ซึ่งเขียนถึงนายปรีดี พนมยงค์ เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2490 ที่ฉายภาพให้เห็นว่า ณ เวลานั้นในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงต้องเผชิญกับสถานการณ์อย่างไรหลังขึ้นครองราชย์
ภายหลังจากเหตุการณ์สวรรคตอย่างกะทันหันของในหลวงรัชกาลที่ 8 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 เป็นผลให้รัชกาลที่ 9 ต้องทรงครองราชย์สืบต่อจากพระเชษฐา ซึ่งในเวลานั้น พระองค์ไม่ได้ทรงเตรียมตัวที่จะเป็นพระมหากษัตริย์มาก่อน จากเดิมที่ทรงสนพระทัยเพียงแต่ในด้านวิทยาศาสตร์และศิลปะ เมื่อทรงขึ้นครองราชย์ จึงต้องเปลี่ยนมาเรียนในแผนกวิชาด้านรัฐศาสตร์และกฎหมายแทน ณ มหาวิทยาลัยโลซาน ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ในปี พ.ศ. 2489
ในช่วงเวลานี้ ทรงต้องแบกรับกับปัญหานานับประการ เพราะสถานการณ์ในประเทศตอนนั้น ไทยก็เพิ่งอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เศรษฐกิจของประเทศอยู่ในช่วงยากลำบาก อาหารและเครื่องอุปโภคต่างขัดสน อีกทั้งรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ก็อยู่ในสภาพที่ควบคุมอะไรไม่ได้
ในด้านของพระราชวงศ์จักรีนั้น สกุลมหิดลก็เพิ่งสูญเสียรัชกาลที่ 8 ไป และสมเด็จย่าก็กำลังอยู่ในช่วงโศกเศร้ากับการจากไปของพระโอรสพระองค์โต
ลองนึกภาพดูว่าหากมีเด็กหนุ่มอายุยังไม่ถึง 20 ปี ต้องมาแบกรับภาระของชาติอันหนักอึ้งในสถานการณ์เช่นนี้…ใครเล่าจะสามารถทานทนไหว
แต่สิ่งเหล่านี้แหละ ที่กำลังเกิดขึ้นกับในหลวงรัชกาลที่ 9 ณ เวลานั้น
น้อยคนนักจะทราบว่า ชีวิตความเป็นอยู่ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ช่วงต้นรัชกาล ภายหลังสูญเสียพระเชษฐานั้นเป็นอย่างไร
หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ พระเชษฐาของสมเด็จพระนางเจ้ารําไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 หรือรู้จักกันโดยทั่วไปว่า “ท่านชิ้น” ได้เขียนจดหมายถึงนายปรีดี พนมยงค์ เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2490 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ณ เวลานั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงกำลังเผชิญกับสถานการณ์อย่างไร โดยท่านชิ้นเขียนไว้ว่า
“…ท่านรับสั่งว่า ท่านอยากทราบเรื่องราวของเมืองไทยเป็นที่สุด และอยากเป็นที่สุดที่จะทำการช่วยเหลือเมืองไทยในยามที่แสนยุ่งกันเช่นนี้ แต่ก็ทรงช่วยไม่ได้ถนัดเพราะไม่ทรงทราบเหตุการณ์
ท่านขอให้กรมราชเลขาส่วนพระองค์ส่งหนังสือพิมพ์ไทยมาถวาย เขาก็หยุดส่งเสียแล้ว เพราะบอกว่าค่าส่งแพงเกินไปไม่มีเงินพอในงบประมาณ เมื่อท่านรับสั่งขอให้ตัดแค่บทความหนังสือพิมพ์ส่งมาถวาย ราชเลขานุการในพระองค์ก็บอกว่าไม่กล้าทำ เพราะถ้าทำเข้าแล้ว หากส่งเรื่องราวดีไม่ดีอย่างไร รัฐบาลก็จะมาลงโทษเอา จะส่งได้ก็ต้องขอให้รัฐบาลตรวจเสียก่อน แต่ก็ดูเป็นการยุ่งยากเลยตกลงใจไม่ส่งมาถวายเลย เรื่องนี้ทำให้ท่านกลุ้มมาก
ในหลวงท่านเห็นว่า คนที่เคยกราบทูลมาแต่ก่อนว่าจะช่วยเหลือท่านนั้น ไม่มีอะไรจริงจังดอก ดีแต่พูดทั้งนั้น ครั้นถึงคราวจะทำอะไรให้ท่านแล้ว อย่าว่าแต่ถวายชีวิตเลย แม้แต่ว่าของเล็กน้อยดังที่เล่ามาแล้วก็ไม่มีใครกล้าถวายให้ เพราะฉะนั้นท่านจึงออกจะเอือม
ผมรู้สึกว่า สิ่งสำคัญที่ในหลวงท่านทรงรู้สึกอย่างมากอยู่ในขณะนี้ก็คือ ท่านรู้สึกว่าท่านเองนั้น ‘ลอยเคว้ง’ ไม่มีใครเหลียวแลท่านจริง ๆ เลย…”
จากข้อความข้างต้น จะเห็นได้ว่า ณ เวลานั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงรู้สึกอึดอัดพระทัยอย่างไร จากสถานการณ์ประเทศที่กำลังเสื่อมถอยลงทุกที ทรงมีดำริจะช่วยรัฐบาลแก้ไขปัญหาบ้านเมือง แต่ก็ทรงทำไม่ได้ เพราะแม้แต่ข่าวสารบ้านเมืองของพระองค์เอง ก็ทรงไม่มีโอกาสได้รับรู้ เพราะคนใกล้ชิดของพระองค์ต่างกลัวรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์จะเล่นงานไปหมด
เรียกได้ว่าพระองค์แทบจะ “ไม่มีพระราชอำนาจ” ที่จะจัดการสิ่งใด ๆ ในการช่วยเหลือบ้านเมืองได้เลย
ช่วงต้นรัชสมัยดังกล่าว จึงนับได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่แสนลำบาก (Time of Hardship) จริง ๆ สำหรับยุวกษัตริย์พระองค์ใหม่ในสกุลมหิดลพระองค์นี้ ท่านมิได้ทรงคาดคิด ทั้งไม่ได้ทรงเตรียมพระองค์ให้พร้อมกับสถานการณ์อันสลับซับซ้อนและลำบากแสนเข็ญเช่นนี้เลย ซ้ำร้ายเมื่อต้องขึ้นครองราชย์สืบต่อจากพี่ชาย ก็ต้องเจอกับแรงกดดันมหาศาล
เป็นสถานการณ์อันหนักหนาและยากยิ่งจริง ๆ ที่เด็กหนุ่มคนหนึ่งจะรับไหว
เมื่อได้รับรู้ถึงสิ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ต้องทรงเผชิญในช่วงเวลานั้น ทำให้เราตระหนักถึงความเข้มแข็งและพระวิริยะอุตสาหะของท่าน ที่ได้ทรงฟันฝ่าเรื่องราวหนักหนาต่าง ๆ มามากมาย และเป็นท่านเองนี่แหละที่ได้ทรงทุ่มเทพระวรกายในการพัฒนาบ้านเมืองมาตลอดรัชสมัยของท่าน นับเป็นคุณูปการอันใหญ่หลวงอย่างยิ่งแก่ปวงชนชาวไทย
ที่มา :
ลายพระหัตถ์หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ (ท่านชิ้น) รับสั่งถึงการเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชชนี ที่เมืองโลซาน พ.ศ. 2490.