“คำตัดสินใหม่ กรณีสวรรคต ร.8” คือการใช้ทริกทางกฎหมายของ ปรีดี พนมยงค์
จากการที่นายปรีดี พนมยงค์ ตกเป็นผู้ต้องสงสัยพัวพันคดีสวรรคตของในหลวง ร.8 ที่เป็นคดีอุกฉกรรจ์ ซึ่งยังไม่มีกระบวนการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาล เนื่องจากเกิดเหตุการณ์รัฐประหารในปี พ.ศ. 2490 จนนายปรีดีฯ ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ พ้นเขตแดนอำนาจของศาลไทยไปแล้ว กระทั่งเหตุการณ์กบฏวังหลวงในปี พ.ศ. 2492 นายปรีดีฯ พยายามกลับเข้ามาในประเทศ และนำกำลังเข้ายึดพระบรมมหาราชวังเป็นกองบัญชาการ แต่สุดท้ายก่อการไม่สำเร็จ จนต้องหลบหนีออกนอกประเทศอีกครั้ง และไม่ได้กลับมาอีกเลย
ซึ่งการลี้ภัยของนายปรีดีฯ นั้น มีคนพยายามให้ข้อมูลบิดเบือนว่า เป็นเพราะถูกผู้มีอำนาจขับไล่ออกนอกประเทศ ทั้งที่ความเป็นจริงคือ ปรีดีฯ ลี้ภัยไปเองเพราะมีโทษกบฏ
โดยในช่วงลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศนี้เอง นายปรีดีฯ ได้ให้ตัวแทนทำการฟ้องร้องหมิ่นประมาทแก่บุคคลที่กล่าวหาตนเองว่าเกี่ยวข้องพัวพัน มีส่วนรู้เห็น กับกรณีสวรรคตของในหลวง ร.8 อย่างน้อย 2 คดี ซึ่งถือเป็นการฟ้องร้องในคดีแพ่ง
ผลคือนายปรีดีฯ ชนะคดีนั้น และมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ระหว่างนายปรีดีฯ ที่เป็นโจทก์ กับบุคคลอื่นที่เป็นจำเลย
และต่อมานายปรีดีฯ ได้ตีพิมพ์สำนวนคำฟ้องที่เขาเขียนขึ้นในคดีที่เขาเป็นโจทก์ฟ้องหมิ่นประมาท โดยใช้ชื่อว่า “คำตัดสินใหม่ กรณีสวรรคต ร.8” นัยว่าเป็นการประกาศให้สังคมรับรู้ว่านายปรีดีฯ เป็นผู้บริสุทธิ์ ในคดีปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ที่เป็นคดีอาญาอุกฉกรรจ์
ซึ่งถือเป็นการนำผลของคดีแพ่งมาสร้างภาพบิดเบือนเกินจริง จนกลายเป็นความเท็จ ทำให้สังคมเข้าใจว่านายปรีดีฯ ไม่มีมลทินจากข้อกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องพัวพันคดีสวรรคตของในหลวง ร.8 หรือพูดง่ายๆ ว่า “ปรีดีฯ ชนะทุกคดี ที่คนใส่ร้าย”
เรื่องนี้เราต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนก่อนครับว่า ในทางกฎหมาย หลักการชั่งน้ำหนักในคดีอาญานั้น เข้มข้น หนักหน่วงกว่าคดีแพ่งมากมายนัก
ในคดีแพ่ง ศาลจะชั่งน้ำหนักว่า คู่ความฝ่ายใด มีพยานหลักฐาน “น่าเชื่อถือมากกว่ากัน” ฝ่ายไหนที่มีพยานหลักฐานน่าเชื่อถือมากกว่าอีกฝ่าย ฝ่ายนั้นก็จะเป็นผู้ชนะคดี เช่น หากเทียบกันเป็นเปอร์เซ็นต์ ถ้าพยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนัก 51 เปอร์เซ็นต์ พยานหลักฐานจำเลยมีน้ำหนัก 49 เปอร์เซ็นต์ ศาลก็ต้องตัดสินให้โจทก์ชนะคดี
ส่วนในคดีอาญา ความเข้มข้นในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานนั้น จะใช้หลักการพิสูจน์จนสิ้นความสงสัย (Beyond a Reasonable Doubt) หมายความว่า ศาลจะต้องเห็นว่าพยานหลักฐานมีความน่าเชื่อถือได้กว่า 99 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว ไม่ใช่ 51 : 49 แบบคดีแพ่ง
ในส่วนของกรณีการสวรรคตของในหลวง ร.8 นายปรีดีฯ ได้ทำการฟ้องร้องดำเนินคดีแก่บุคคลที่กล่าวหาเขา อย่างน้อย 2 คดี คือ
คดีที่ 1 นายปรีดีฯ เป็นโจทก์ ฟ้องคดีแพ่งฐานละเมิด กับ บริษัท สยามรัฐ จำกัด กับพวก เป็นจำเลย เมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2513
คดีที่ 2 นายปรีดีฯ เป็นโจทก์ ฟ้องคดีอาญาฐานหมิ่นประมาท และคดีแพ่งฐานละเมิด กับ ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ กับพวก เป็นจำเลย เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2522
โดยผลของคดีทั้งหมด มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยจำเลยมีการลงข้อความขออภัยนายปรีดีฯ ด้วยข้อความทำนองว่า นายปรีดีฯ เป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคตของในหลวง ร.8
สัญญาประนีประนอมยอมความที่ว่านี้ โดยทั่วไป เบื้องหลังคือการตกลง เจรจากันระหว่างโจทก์และจำเลย ซึ่งการเจรจาไกล่เกลี่ยในลักษณะนี้ ในชั้นศาลจะไม่มีการพิสูจน์พยานหลักฐานใดๆ ทั้งสิ้น โดยหากโจทก์และจำเลยมีข้อตกลง หรือมีแนวโน้มที่จะไกล่เกลี่ยกันได้ คู่ความก็จะร้องขอศาลให้พิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ทันที
ดังนั้น ในคดีเหล่านี้ เมื่อนายปรีดีฯ กับจำเลย ตกลงทำสัญญาประนีประนอมฯ กันเรียบร้อย ศาลก็จะไม่มีอำนาจเข้าไปแทรกแซงความสมัครใจของคู่ความได้อีก เนื่องจากกฎหมายถือว่าเป็นคดีที่คู่ความต่างพึงพอใจในการตกลงยอมความกันแล้วนั่นเอง
โดยในส่วนของคดีที่นายปรีดีฯ เป็นโจทก์ ฟ้องคดีแพ่งฐานละเมิด กับ บริษัท สยามรัฐ จำกัด กับพวก เป็นจำเลยนั้น ปรากฏว่าทางจำเลยได้มีการแก้ไขถ้อยคำข้อความการลงประกาศขออภัย และมีการเจรจาไกลเกลี่ยในศาลถึง 10 นัด กว่าที่นายปรีดีฯ จะพอใจและรับคำประกาศขออภัยนั้น จนนำมาซึ่งการร้องขอให้ศาลพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
ทั้งหมดนี้คือผลจากคดีแพ่ง ที่จบลงด้วยการยอมความ ซึ่งแน่นอนว่าไม่สามารถมีผลผูกพันกับข้อกล่าวหาในคดีสวรรคตที่เป็นคดีอาญาอุกฉกรรจ์ได้ ดังนั้นการที่นายปรีดีฯ นำสำนวนคำฟ้องในคดีแพ่งนี้ มาประกาศในทำนองว่าตัวเองเป็นผู้บริสุทธิ์ในทุกข้อกล่าวหาของคดีสวรรคต จึงเป็นการพยายามบิดเบือน สร้างความเท็จ จนกระทั่งมีหลายคน เอาคำพิพากษาศาลแพ่งอันเกิดจากสัญญาประนีประนอมยอมความนี้ มาขยายความให้เกินจริง จนกลายเป็นการชี้นำข้อมูลที่ไม่ถูกต้องให้กับสังคม
เรื่องนี้แม้แต่อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ยังได้ให้ทัศนะไว้ใน ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 เมษายน-มิถุนายน 2548 ว่าสำนวนคำฟ้องที่ปรีดีฯ เขียนขึ้นภายใต้ชื่อ “คำตัดสินใหม่ กรณีสวรรคต ร.8” นั้น เป็นคำพูดที่ “เกินจริง” …
“ในปี 2523 ปรีดีฯได้ตีพิมพ์สำนวนคำฟ้องที่เขาเขียนขึ้นในคดีที่เขาเป็นโจทก์ฟ้องหมิ่นประมาท ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ กับพวก โดยให้ชื่อหนังสือพิมพ์ว่า คำตัดสินใหม่ กรณีสวรรคต ร.8 แน่นอนว่า นั่นเป็นการเรียกอย่างเกินจริง เพราะแม้แต่คำพิพากษาของศาลแพ่งในคดีนั้นเอง ก็เป็นเพียงแต่รับรองสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างปรีดีกับจำเลย เท่านั้น “คำตัดสินใหม่” ดังกล่าว จึงเป็นเพียงสำนวนคำฟ้องปรีดีเอง”
— สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
ที่มา :
[1] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 เมษายน-มิถุนายน 2548
[2] รายงานกระบวนพิจารณา คดีหมายเลขดำที่ 7236/2513 ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2513
[3] รายงานกระบวนพิจารณา คดีหมายเลขดำที่ 7236/2513 ลงวันที่ 6 มกราคม 2514
[4] รายงานกระบวนพิจารณา คดีหมายเลขดำที่ 7236/2513 ลงวันที่ 6-7, 18, 28 มกราคม 2514
[5] รายงานกระบวนพิจารณา คดีหมายเลขดำที่ 7236/2513 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2514
[6] รายงานกระบวนพิจารณา คดีหมายเลขดำที่ 7236/2513 ลงวันที่ 1, 15, 23 มีนาคม 2514