
คำกล่าวหาที่ว่า กษัตริย์ศักดิ์สิทธิ์จนแตะต้องไม่ได้ เป็นเรื่องโกหก
จากการบรรยายของ Common School เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2564 ผู้บรรยายได้บิดเบือนและด้อยค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ลงไปอีก ด้วยการทึกทักเอาว่า ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยังคงเป็นมรดกที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน นั่นคือการที่กษัตริย์มีบทบาทและสถานะอันศักดิ์สิทธิ์จนแตะต้องไม่ได้ และมีอำนาจอยู่เหนือกฎหมายอย่างสมบูรณ์
ผู้บรรยายยังปลุกปั่นให้เกิดการท้าทายประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม ซึ่งเขากล่าวหาว่า เป็นยากล่อมประสาทผู้คนมาเนิ่นนาน และทำลายศักยภาพทางปัญญาของประชาชน
ทั้งหมดเหล่านี้ ถือเป็นการชี้นำด้วย “อคติ” และ “ไร้ความรับผิดชอบ”
คำกล่าวหาเลื่อนลอย
ผู้บรรยายได้กล่าวหาว่า การปฏิรูปในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น ไม่ได้ทำให้ประเทศไทยเดินหน้าสู่การเป็นประเทศพัฒนา แต่กลับทำให้เกิดรัฐที่รวมศูนย์อำนาจขึ้น นั่นคือ “รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์” โดยอำนาจสูงสุดเป็นของกษัตริย์ ซึ่งเป็นผู้สถาปนาและอยู่เหนือกฎหมายไปในตัว
โดยผู้บรรยายเรียกสิ่งนี้ว่า “รัฐราชาชาติ” อันเป็นมรดกที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน นั่นคือ การที่สถาบันกษัตริย์สมัยใหม่ มีสถานะอันศักดิ์สิทธิ์จนแตะต้องไม่ได้ ตรวจสอบไม่ได้ และอยู่เหนือกฎหมายอย่างสมบูรณ์
ข้อเท็จจริงที่โต้แย้ง
ผู้บรรยายได้ยกพัฒนาการของรัฐในยุโรปมาใช้เป็นกรอบเดียวกับสยาม ซึ่งในความเป็นจริงแล้วทั้งบริบท และไทม์ไลน์ของการพัฒนารัฐในยุโรปและเอเชียนั้น มีลักษณะเฉพาะแตกต่างกัน และการปฏิรูปไม่ใช่เป็นการเดินหน้าเข้าสู่รัฐชาติหรือรัฐประชาชาติ (Nation state) ในทันที เพราะต้องมีองค์ประกอบหลายอย่างรวมไปถึงจิตสำนึกทางการเมืองของคนในชาติด้วย
การปฏิรูปของรัชกาลที่ 5 นั้น ในระยะเริ่มต้นเป็นรูปแบบของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (โดยนิตินัย) แต่พระองค์ก็ไม่ได้กุมอำนาจทั้งหมดในเวลาเดียว เพราะเมื่อมีข้อบกพร่องอันใดในราชการ พระองค์ก็จะมีพระราชหัตถเลขไปถึงเสนาบดีที่รับผิดชอบเรื่องนั้นโดยตรงแทน ดังนั้น กษัตริย์ในรัฐสมัยใหม่ของสมบูรณาญาสิทธิราชย์จึงมีข้อจำกัดในการใช้พระราชอำนาจ
เรียกได้ว่า “ในทางนิตินัย” ทรงมีพระราชอำนาจทำได้ แต่ “ทางพฤตินัย” แทบไม่เคยเกิดขึ้น
เพราะกษัตริย์และประชาชนมี “ธรรมเนียม” (Conventions) ระหว่างกันว่าจะต้องปกครองด้วยความยุติธรรมซึ่งมักถูก “จำกัดอำนาจ” ผ่านหลักทศพิธราชธรรม และโดยพฤตินัยแล้วเราจะพบว่า ในการบริหารราชการแผ่นดินในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น น้อยมากที่พระมหากษัตริย์จะกระทำตามพระราชหฤทัยโดยไม่ฟังเสียงคัดค้านหรือคำแนะนำ
กระทั่งการตรากฎหมาย ก็มักผ่านกระบวนการพิจารณาอย่างเข้มข้น ทั้งจากที่ปรึกษาชาวต่างประเทศ และที่ปรึกษาส่วนพระองค์ ทำให้กฎหมายหรือนโยบายในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ถูกทำให้แน่ใจซ้ำแล้วซ้ำอีกจนกว่าจะแน่พระราชหฤทัย และทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นทางการได้
อนึ่ง ช่วงเวลาแห่งรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสยามนั้น กินระยะสั้นมาก (เพียงแค่ 40 ปีเท่านั้น) เนื่องจากการแบ่งโครงสร้างระบบราชการอย่างชัดเจน ทำให้อำนาจของรัฐกับพระมหากษัตริย์ ค่อย ๆ แยกส่วนออกจากกันทีละน้อย
ในความเป็นจริง หลังจากเปลี่ยนผ่าน พ.ศ. 2475 ประเทศไทยไม่ได้ติดอยู่ในระหว่างรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ของกษัตริย์และชาตินิยมมวลชน แบบที่ผู้บรรยายทึกทักไปเอง เพราะรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ของกษัตริย์ได้จบสิ้นไปแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2475 ไม่ว่าจะมองด้วยกรอบใด ๆ ปัญหาของไทยในปัจจุบันจึงอยู่ที่การออกแบบอำนาจที่ยังไม่ลงตัวต่างหาก
และเมื่อพระมหากษัตริย์ของไทยสามารถ “ปกเกล้า” ประเทศได้อย่างน่าชื่นชมโดยเฉพาะในรัชสมัยอันสืบเนื่องยาวนานของรัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ได้ใช้พระราชอำนาจ (prerogatives) อย่างเต็มศักยภาพ และเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พระองค์ได้ใช้พระราชอำนาจถ่วงดุลระบอบการปกครอง ที่ในเวลานั้นมีแต่ทหารปกครองประเทศไทยยาวนานกว่า 40 ปี จึงไม่แปลกที่ประชาชนจะให้คุณค่ากับพระมหากษัตริย์มากกว่าระบอบรัฐสภา
เพราะเสถียรภาพของรัฐสภานั้น แม้แต่ประเทศอังกฤษ ก็ใช้เวลากว่า 700 ปี เพื่อให้เกิดความลงตัวและมีเสถียรภาพ แล้วประเทศไทยของเรา กระทั่งวันนี้ นาทีนี้ วินาทีนี้ มีใครกล้ายืนยันได้บ้างว่ารัฐสภามีความลงตัวและเสถียรแล้ว ?
ดังนั้น ปัญหาของประเทศจึงไม่ได้อยู่ที่พระราชอำนาจของกษัตริย์ แต่อยู่ที่การพัฒนารัฐสภาและนักการเมือง เพื่อให้ประชาชนเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจได้ สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่ควรถือเป็นเรื่องใหญ่ของการเมืองไทยในเวลานี้
สำหรับประเด็นเกี่ยวกับการสร้างชาติและประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม ที่ผู้บรรยายได้กล่าวว่า ประวัติศาสตร์ของกษัตริย์ควรเป็นแค่เรื่องของกษัตริย์ อย่าทำให้มันกลายเป็น “ประวัติศาสตร์แห่งชาติ” ที่ประชาชนคนไทยต้องรู้สึกซาบซึ้งอิ่มเอมใจไปด้วย
เรื่องนี้สามารถโต้แย้งด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า เมื่อกษัตริย์ได้กลายเป็นผู้รวมศูนย์อำนาจและดำเนินการต่าง ๆ ในฐานะของรัฐแล้ว (ไม่ว่ารัฐโบราณหรือรัฐสมัยใหม่) ประวัติศาสตร์ของกษัตริย์ ย่อมต้องกลายเป็นประวัติศาสตร์ชาติไปโดยปริยาย
จะมีก็แต่ประวัติศาสตร์สมัยคณะราษฎรเท่านั้น ที่มองพระมหากษัตริย์เป็นเสมือนเครื่องมือ หรือตัวละครในการเขียนและเรียบเรียงประวัติศาสตร์เพื่อรับใช้รัฐบาล ซึ่งกลุ่มเจ้ากรุงเทพฯ แท้ ๆ กลับถูกผลักไส และเกือบจะไร้ซึ่งพื้นที่ในประวัติศาสตร์ชาติเสียด้วยซ้ำ
ทั้ง ๆ ที่เจ้ากรุงเทพฯ ต่างมีจิตสำนึกเพื่อชาติ เพื่อประชาชนมาก่อนเกิดการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 เสียอีก
ทุกวันนี้ เราปฏิเสธไม่ได้ว่า “ประวัติศาสตร์ชาติ” ได้ถูกขยายผลจนนำไปสู่การปลุกปั่นและทำลายชีวิตผู้อื่น แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าประวัติศาสตร์ที่ราชา “เป็นศูนย์กลาง” จะไม่ใช่เรื่องจริง เพราะถ้าหาก “ประวัติศาสตร์เป็นของทุกคน” แล้ว ประวัติศาสตร์ของราชาก็ย่อมเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์นั้นด้วย
จากข้อมูลทั้งหมดนี้ เราจะเห็นว่า ความเป็นรัฐชาติ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นและลงตัวกันได้ง่าย ๆ หากแต่ต้องผ่านกระบวนการ ผ่านเวลา และการทดสอบหลากหลายประการจนเกิดความลงตัว และความหมายหรือจินตนาการแห่ง “ชาตินั้น ๆ ” ก็ใช่ว่าจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เช่นเดียวกับ “ราชาชาตินิยม” ก็ไม่ได้มีลักษณะคงตัวจนห้ามแตะต้องหรือแปรเปลี่ยน ดังเช่นที่ผู้บรรยายของ Common School พยายามชี้นำ
ดังนั้น การแก้ไขความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการปลุกปั่นโดยใช้ประวัติศาสตร์แห่งชาติเป็นเครื่องมือ จึงไม่ใช่การรื้อประวัติศาสตร์ทิ้งแล้วสร้างเรื่องเล่าใหม่ทับลงไป แต่ควรเป็นการสร้างกลไกที่เราทุกคนสามารถร่วมควบคุมและตรวจสอบเอกสารหลักฐาน ที่คนในอดีต และปัจจุบันใช้ตีความเพื่อเขียนประวัติศาสตร์มากกว่า
อ้างอิง :
[1] ตะวันออก ตะวันตก อเนก เหล่าธรรมทัศน์
[2] วรเจตน์ ภาคีรัตน์, คำสอนว่าด้วยรัฐและหลักกฎหมายมหาชน พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพฯ: อ่านกฎหมาย, 2564) บทที่ 2.
[3] เจษฎา ทองขาว, บทบาทของกฎหมายมหาชนกับการปฏิรูปบ้านเมืองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (กรุงเทพฯ: นิติธรรม, 2561)
[4] ชาญชัย แสวงศักดิ์, กฎหมายมหาชน วิวัฒนาการของกฎหมายมหาชนในต่างประเทศและในประเทศไทย พิมพ์ครั้งที่ 6 (กรุงเทพฯ: วิญญูชน, 2563)
[5] เอกลักษณ์ ไชยภูมี, พินิจทฤษฎีการปกครองแบบผสมกับรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ. 2475 – 2534 (วิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2562)