ความรุ่งโรจน์น่าทึ่งที่ถูกมองข้ามในรัชสมัย ‘พระเอกาทศรถ’
เมื่อพูดถึงช่วงสำคัญของกรุงศรีอยุธยาระหว่างยุคของ สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และ สมเด็จพระเอกาทศรถ คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ในยุคของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกันเสียเป็นส่วนใหญ่ และมองข้ามรัชสมัยของสมเด็จพระเอกาทศรถไป ทั้งๆ ที่ยุคของสมเด็จพระเอกาทศรถนั้น ถือเป็นยุคที่กรุงศรีอยุธยามีความรุ่งโรจน์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการติดต่อกับต่างชาติอย่างฮอลันดา
เรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นด้านความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการระหว่างกรุงศรีอยุธยากับฮอลันดาเลยทีเดียว
สมเด็จพระเอกาทศรถ หรือ พระศรีสรรเพชญ์ที่ 3 เป็นกษัตริย์ลำดับที่ 19 แห่งกรุงศรีอยุธยา เสด็จพระราชสมภพที่เมืองพิษณุโลกในปี พ.ศ.2103 เป็นพระราชโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชกับพระวิสุทธิกษัตริย์ เป็นพระอนุชาของพระสุพรรณกัลยาและสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
สมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกอบกู้อิสรภาพจากพม่าตลอดมา โดยเฉพาะในด้านการรบในคราวสงครามยุทธหัตถีเมื่อ พ.ศ.2135 ทรงรบเคียงบ่าเคียงไหล่พระเชษฐา โดยกระทำยุทธหัตถีกับเจ้าเมืองจาปะโร จนประสบชัยชนะ
ในการสงครามทุกครั้ง สมเด็จพระเอกาทศรถทรงเป็นกำลังสำคัญของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ดังจะเห็นได้จากที่ ทรงส่งสมเด็จพระเอกาทศรถ ไประงับข้อพิพาทของหัวเมืองฝ่ายเหนือ รวมถึงทรงแต่งตั้งให้เป็นพระมหาอุปราช มีศักดิ์สูงเสมอพระเจ้าแผ่นดิน
เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จสวรรคต ณ เมืองหางหลวง ตำบลทุ่งดอนแก้ว ขณะกำลังยกทัพไปตีกรุงอังวะ เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2148 จากนั้นสมเด็จพระเอกาทศรถจึงจัดขบวนอัญเชิญพระบรมศพมายังพระนครศรีอยุธยา จัดสร้างพระเมรุเพื่อถวายพระเพลิงเสร็จแล้ว จึงเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ และได้ทรงสร้างวัดวรเชษฐาราม เพื่อถวายแด่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ จุดที่ถวายพระเพลิง
กรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยของสมเด็จพระเอกาทศรถ เรียกได้ว่าเป็นยุคที่มีความเป็นปึกแผ่นมั่นคง ไม่มีข้าศึกประชิดพระนคร และมีต่างชาติเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารมากยิ่งกว่าแต่ก่อน โดยพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) ได้บันทึกไว้ว่า เจ้าเมืองตองอูของพม่ายังได้เดินทางมาขอสวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระเอกาทศรถ รวมถึงพญาล้านช้าง กับผู้รั้งเมืองเมาะลำเลิง ต่างก็ส่งทูตและเครื่องราชบรรณาการมาด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีบันทึกถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่แสดงถึงความเจริญก้าวหน้าในรัชสมัยของพระองค์ อาทิ การสถาปนาพระที่นั่งอรรณพ การประกาศใช้กฎหมายพระไอยการ และส่วยสัดพัทนากรขนอนตลาด ซึ่งถือเป็นพัฒนาการอีกขั้นของการเมืองการปกครองในกรุงศรีอยุธยา ช่วงหลังประกาศเอกราชจากหงสาวดี
และในยุคสมัยของพระองค์นี้เองที่ทางอยุธยาได้มีการเจริญสัมพันธไมตรีกับชาติยุโรปเป็นครั้งแรกนั่นคือ ฮอลันดา โดยในตอนนั้นทางอยุธยาได้ส่งทูตลงเรือไปฮอลันดาถึง 20 ชีวิต
ความจริงแล้วฮอลันดาเคยเข้ามาติดต่อทำการค้ากับทางกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่สมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชแล้ว โดยตอนนั้นคนอยุธยาเรียกฮอลันดาว่า วิลันดา
ในสมัยนั้น บรรดาพ่อค้าฮอลันดาได้ลงเรือมาติดต่อค้าขายกับบ้านเมืองในภูมิภาคแถบนี้ โดยมุ่งเน้นไปที่จีนกับญี่ปุ่น เนื่องจากทั้งสองชาตินี้ถือเป็นแหล่งการค้าสำคัญ แต่จีนและญี่ปุ่นในสมัยนั้นก็เป็นดินแดนที่ชาวตะวันตกเข้าถึงได้ยาก เพราะมีกฎระเบียบเคร่งครัด ว่าหากชาติใดจะเข้ามาติดต่อค้าขาย จะต้องมีสถานที่สำหรับขนถ่ายสินค้าระหว่างทางด้วย
บรรดาพ่อค้าฮอลันดาจึงเริ่มต้นด้วยการนำสินค้าขึ้นที่ปัตตานีก่อน แล้วจึงแล่นเรือเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาอีกทอดหนึ่ง ซึ่งตอนนั้นอยู่ในรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ต่อมาในยุคของสมเด็จพระเอกาทศรถ ช่วงประมาณปี พ.ศ.2150 เมื่อผู้แทนบริษัทฮอลันดาซึ่งได้เปิดที่ทำการและคลังสินค้าที่อยุธยาในช่วงปลายรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้หมดวาระและเดินทางกลับประเทศ สมเด็จพระเอกาทศรถได้ทรงขอให้ นายคอร์เนลิส สเป๊กซ์ นำคณะทูตและข้าราชการไทยจำนวน 20 นาย ไปเจริญสัมพันธไมตรีและดูงานที่ฮอลันดาด้วย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ข้าราชการไทยได้เดินทางไปดูงานในยุโรป
ซึ่งในคณะเดินทางนอกจากจะมีคณะทูตและข้าราชการแล้ว ยังมีพระราชสาส์นและเครื่องบรรณาการต่างๆ ถูกต้องตามแบบแผนทุกประการ โดยเรือลำนี้ใช้เวลาเดินทางรวม 9 เดือน จึงไปถึงกรุงเฮกเมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2151
ในครั้งนั้นคณะทูตและข้าราชการไทยได้รับการต้อนรับทั้งจากรัฐบาลฮอลันดาที่กรุงเฮก และจากบริษัทดัตช์อินเดียตะวันออกที่กรุงอัมสเตอร์ดัมอย่างยิ่งใหญ่ โดยในรายงานกราบบังคมทูลสมเด็จพระเอกาทศรถ คณะข้าราชการไทยต่างให้ความสนใจต่อการต่อเรือที่ได้ไปเห็นมา ซึ่งในสมัยนั้นเทคโนโลยีการต่อเรือของฮอลันดาถือเป็นอันดับต้นๆ ของโลก สมเด็จพระเอกาทศรถจึงทรงขอให้ฮอลันดาจัดส่งช่างต่อเรือและอุปกรณ์ต่างๆ มาถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่คนไทยที่กรุงศรีอยุธยา ในทางกลับกัน บริษัทของฮอลันดาก็ได้รับอนุมัติให้ค้าข้าวและหนังกวาง ซึ่งเป็นการค้าที่ทำกำไรได้อย่างมาก
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฮอลันดา ทั้งในทางการเมืองและในทางการค้า ดำเนินไปด้วยดีมาจนถึงรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม และรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โดยฮอลันดาได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมถึงการเป็นผู้ผูกขาดการค้าหนังกวางและไม้ฝางที่ส่งไปขายญี่ปุ่น
ซึ่งสิทธิพิเศษในการผูกขาดสินค้านี้เอง ทำให้ฮอลันดามีอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ จนในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระองค์จึงได้ทรงดึงเอาฝรั่งเศสซึ่งค้าขายแข่งขันกับฮอลันดาและอังกฤษมาเป็นพันธมิตร เพื่อคานอำนาจฮอลันดานั่นเอง
ต่อมาในสมัยสมเด็จพระเพทราชา ได้มีการขับฝรั่งเศสออกไป ฮอลันดาจึงได้กลับมาค้าขายกับอยุธยาอีกครั้ง และติดต่อค้าขายกันเรื่อยมาจนถึงครั้งเสียกรุงในปี พ.ศ. 2310
อย่างไรก็ตาม สยามกับฮอลันดายังมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันในสมัยรัตนโกสินทร์ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งก็เป็นผลพวงมาจากจุดเริ่มต้นแห่งการติดต่อค้าขายและเจริญสัมพันธไมตรีด้านการทูตอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่รัชสมัยของสมเด็จพระเอกาทศรถนั่นเอง