ความประนีประนอมหลังปฏิวัติ 2475 การตัดสินพระทัยของ รัชกาลที่ 7 เพื่อประเทศชาติและประชาชน : ตอนที่ 2

จากบทความในตอนที่ 1 เราจะเห็นการเริ่มก่อร่างของการประนีประนอมระหว่างในหลวง ร.7 และรัฐบาลคณะราษฎรภายหลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เหตุการณ์ต่างๆ ผ่านพ้นไปได้ด้วยความสงบ และปราศจากเหตุรุนแรง

ความพยายามประนีประนอมนี้เห็นได้ชัดเจนจากบันทึกของเจ้าพระยามหิธร ในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ที่ในหลวง ร.7 โปรดเกล้าฯ ให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดา พระยาศรีวิสารวาจา พระยาปรีชาชลยุทธ, พระยาพหลพลพยุหเสนา กับหลวงประดิษฐ์มนูธรรม มาเฝ้าฯ ที่วังสุโขทัย และพระองค์ได้ทรงอธิบายถึงข้อจำกัดทางการเมืองในขณะที่พระองค์ทรงครองราชย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ต่อมาวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้ออกแถลงการณ์ฉบับหนึ่ง เพื่อประกาศความตั้งพระทัยดีของในหลวง ร.7 และได้โฆษณาคำแถลงการณ์นั้นให้ราษฎรได้ทราบทั่วกัน ทั้ง ทางวิทยุกระจายเสียงและหนังสือพิมพ์ โดยสำเนาคำแถลงการณ์มีเนื้อหาความว่า …

“… เนื่องแต่คณะราษฎรได้มีประกาศแสดงถึงการกระทำของกษัตริย์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.นี้ และต่อมาคณะราษฎรได้ยึดอำนาจการปกครองและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระธรรมนูญการปกครองแผ่นดินแก่ราษฎรแล้วนั้น

ต่อมาเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.นี้ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา พระยาปรีชาชลยุทธ พระยาศรีวิสารวาจา พระยาพหลพยุหเสนา หลวงประดิษฐ์มนูธรรม กรรมการราษฎรได้ไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ วังสุโขทัย ทรงรับสั่งถึงความ … ได้ทรงตั้งพระราชหฤทัยดีต่อราษฎร และทรงพระราชดําริจะให้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน แก่ราษฎรอยู่แล้ว และสิ่งอื่นๆ ที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยจะกระทำก็ล่าช้าไปหาทันกาลสมัยไม่ ส่วนการที่ข้าราชการในรัฐบาลของพระองค์ใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต ก็ทรงสอดส่องอยู่เหมือนกันหาได้สมรู้ร่วมคิดด้วยไม่ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงปรารถนาดีต่อราษฎรเช่นนี้ และทรงยอมร่วมเข้าคณะราษฎรโดยเป็นประมุขของประเทศสยามแล้ว ฉะนั้นคณะกรรมการราษฎรจึงเชื่อมั่นว่าพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่ปรารถนาดีต่อราษฎร”

ต่อมาวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 ในหลวง ร.7 ได้พระราชหนังสือตอบกลับมายังพระยามโนปกรณ์นิติธาดา และผู้แทนคณะราษฎร ความว่า …

“ข้าพเจ้าได้รับหนังสือขอขมาในการที่คณะราษฎรได้ออกประกาศปรักปรำ แสดงถึงการกระทำของข้าพเจ้า เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.นี้ ในขณะที่คณะราษฎรได้เข้ายึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ซึ่งบัดนี้คณะราษฎรได้ทราบความจริงแล้วว่า ข้าพเจ้าตั้งใจดีต่อราษฎร และได้คิดที่จะให้พระธรรมนูญการปกครองแผ่นดินแก่ราษฎรอยู่แล้ว หากแต่ล่าช้าไม่ทันกาล และไม่ได้เป็นใจกับพวกทุจริต ข้าพเจ้าขอขอบใจคณะราษฎรซึ่งมีความหวังดีต่อข้าพเจ้า ข้าพเจ้าหวังว่าในโอกาสหน้าเมื่อถึงเวลาสมควร คณะราษฎรคงจะได้ออกคําแถลงการณ์ปลดเปลื้องมลทินให้ราษฎรได้ทราบความจริงดุจดังเมื่อประกาศหาความผิดไว้นั้น”

จะเห็นได้ว่า ชั่วระยะเวลา 2 สัปดาห์แรกหลังการปฏิวัติ ได้มีความพยายามรอมชอมระหว่างรัฐบาลใหม่กับในหลวง ร.7 ในลักษณะปรับตัวเข้าหากัน และพยายามอย่างยิ่งที่จะไม่กระทบกระทั่ง โดยปัจจัยหนึ่งที่ไม่ควรละเลยคือเรื่องความกังวลว่าจะมีการแทรกแซงจากต่างประเทศ ซึ่งน่าจะมีส่วนที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายพยายามประนีประนอม

นอกจากนี้ยังมีงานศึกษาที่เน้นย้ำให้เห็นถึงความกังวลและประเมินสถานการณ์ของต่างชาติ ที่มีต่อการปฏิวัติในสยามผ่านเอกสารการทูตต่างๆ ขณะเดียวกันฝ่ายไทยเองก็มีท่าทีกังวลใจอย่างมากต่อการแทรกแซงของต่างชาติ ซึ่งการตัดสินพระทัยประนีประนอมของในหลวง ร.7 ยอมเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ เท่ากับเป็นการลดโอกาสการแทรกแซงจากต่างประเทศได้อย่างมาก

นอกจากนี้ จากบันทึกรายงานของเจ้าพระยามหิธรก็เห็นได้ชัดว่าในหลวง ร.7 ได้เสนอพระองค์ที่จะช่วยเหลือในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร อันแสดงให้เห็นถึงบทบาทของพระองค์อย่างชัดเจน

จากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ข้างต้น จะพบว่าประเด็นเรื่องความกังวลการแทรกแซงจากรัฐอื่นเมื่อเกิดเหตุปฏิวัติ เป็นเรื่องที่ถูกให้น้ำหนักมาก ดังนั้น จึงมีการรับรองรัฐบาลคณะราษฎรเกิดขึ้น อย่างไรก็ดี เหตุการณ์หนึ่งที่จะละเลยไม่กล่าวถึงไม่ได้ นั่นก็คือเหตุการณ์ในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับแรกก่อกำเนิดขึ้น สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีได้ทรงเล่าถึงเหตุการณ์ที่ทั้ง 2 ฝ่ายรอมชอมกัน ความว่า …

“… ในเรื่องที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญที่คณะราษฎรขอให้พระราชทาน แล้วพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น มีเหตุขัดแย้งกันอยู่เกี่ยวกับการแต่งตั้งสมาชิกประเภทสอง ในหลวงทรงรับสั่งว่า ขอให้ท่านเป็นคนตั้งให้เถอะ คือหมายความว่าจะทรงเลือกตัวบุคคลเอง เพื่อจะได้เป็นพี่เลี้ยงไปก่อนจนกว่าจะมีผู้แทนทำงานได้จริงๆ จังๆ แล้วจึงจะปล่อยให้ทำกันไป แต่ทางฝ่ายรัฐบาลเขาก็ไม่ยอม เขาตั้งของเขามา แต่ถึงอย่างไรเมื่อพระยามโนฯ เป็นนายกแล้ว ในหลวงยังรับสั่งว่า พอมีหวังที่จะพยุงกันให้เรียบร้อยไปได้ …”

แม้ว่าการปฏิวัติของคณะราษฎรจะมีเหตุกระทบกระทั่งเกิดขึ้น นั่นคือ พระยาเสนาสงคราม นายทหารคนสำคัญถูกยิงในเช้ามืดของวันปฏิวัติ เหตุการณ์นี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นการนองเลือด แต่ก็เป็นเหตุการณ์เล็ก ประเด็นสำคัญที่ทำให้เหตุการณ์ไม่ลุกลามไปสู่ความรุนแรงคือ การตัดสินพระทัยของในหลวง ร.7 ที่ไม่ต่อสู้ตามแผนการต่างๆ ที่มีผู้เสนอให้โต้กลับคณะราษฎร

การตัดสินพระทัยของพระองค์นั้น มีความหมายต่อประเทศชาติมาก และเป็นการตัดสินพระทัยที่ปราศจากเสียงของเหล่าอภิรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นไปได้อย่างราบรื่น อีกทั้งพระองค์ยังสงวนสิทธิบางประการที่จะสามารถมีส่วนร่วมกับคณะราษฎรได้ในการกำหนดแนวทางรัฐธรรมนูญ

และเหตุการณ์ที่บ่งบอกถึงการประนีประนอมของในหลวง ร.7 ได้อย่างชัดเจนอีกเหตุการณ์หนึ่งคือ การลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475

วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ผู้แทนคณะราษฎรได้เข้าเฝ้าถวายหนังสือสำคัญ 2 ฉบับ คือ พระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พ.ศ. 2475 และพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พ.ศ. 2475 ที่วังศุโขทัย โดยพระยาศรยุทธเสนี เจ้ากรมยุทธศาสตร์ทหารเรือ เป็นผู้นำเข้าเฝ้า และได้บันทึกความทรงจำในขณะนั้นไว้ว่า …

“… ข้าพเจ้ากราบทูลถึงความประสงค์ที่มาเฝ้า และกราบทูลรายชื่อผู้ที่มาเฝ้าเป็นรายบุคคลให้ทรงทราบ เสร็จแล้ว หลวงประดิษฐ์ฯ เป็นผู้นำร่างรัฐธรรมนูญนั้นถวาย ทรงพลิกๆ อยู่สักครู่แล้วรับสั่งว่า ขอเวลาให้ฉันอ่านสักอาทิตย์สองอาทิตย์ หลวงประดิษฐ์ฯ กราบทูลว่า ทรงอ่านแล้วตอบให้ทราบเร็วที่สุดได้จะเป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้าฯ อย่างยิ่ง แล้วจึงได้ถวายหนังสืออีกฉบับหนึ่งเป็นหนังสือขอพระราชทานนิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ร่วมก่อการณ์ครั้งนี้ทุกคนที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง และขอร้องให้ทรงลงพระปรมาภิไธยเดี๋ยวนี้ด้วย เมื่อทรงอ่านเสร็จแล้วทรงอึ้งอยู่สักครู่จึงทรงลงพระปรมาภิไธยให้ แล้วทรงยื่นคืนให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรม แล้วพวกข้าพเจ้าก็ถวายบังคมลากลับ พอรถกลับถึงหน้าพระที่นั่งและผ่านประตูออกไป พวกเราได้ชูหนังสือนิรโทษกรรมอวดพวกที่รอรับแล้วต่างก็ไชโยโห่ร้องกันด้วยความดีใจ …”

จะเห็นได้ว่า การลงพระปรมาภิไธยในพระราชกำหนดนิรโทษกรรมฯ โดยไม่รั้งรอ ถือได้ว่าเป็นการประนีประนอมทางการเมืองระหว่างผู้นำในระบอบเก่ากับกลุ่มผู้นำในระบอบใหม่ ส่วนพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พ.ศ. 2475 นั้น พระองค์ยังไม่ตัดสินพระทัยในการลงพระปรมาภิไธยและมีพระราชประสงค์ขอดูก่อน ซึ่งหากพระองค์ทรงเลือกไม่ลงพระปรมาภิไธย จะส่งผลต่อคณะราษฎรอย่างมาก เพราะอย่างน้อยที่สุดหากในหลวง ร.7 ไม่ลงพระปรมาภิไธยก็หมายความว่า สถาบันทางการเมืองในระบอบใหม่จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ และที่น่ากังวลคือ ความมั่นคงของคณะราษฎร รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองต่างๆ ที่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดความรุนแรงขึ้นหรือไม่

แต่ท้ายที่สุด ในหลวง ร.7 ก็ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และได้ประกาศใช้ในวันดังกล่าว โดยพระองค์ทรงเติมคำว่า “ชั่วคราว” ลงไป รวมถึงมีพระราชกระแสรับสั่งแก่คณะราษฎรว่าให้ใช้ พ.ร.บ. ธรรมนูญฯ นี้เป็นการชั่วคราว โดยให้เสนอสภาผู้แทนราษฎรเพื่อตั้งคณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร เพื่อปรับปรุงข้อกฎหมายและข้อบังคับต่างๆ ให้มีความเสถียรภาพมากขึ้น

จากบันทึกทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ จะเห็นได้ว่า หลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีความพยายามอย่างมากที่จะรอมชอมกันระหว่างรัฐบาลใหม่กับในหลวง ร.7 ในทิศทางที่พยายามปรับตัวเข้าหากันและหลีกเลี่ยงการกระทบกระทั่ง แม้ในหลวง ร.7 จะได้รับคำแนะนำให้สู้ แต่เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองและการพระราชทานรัฐธรรมนูญนี้ ก็เป็นความประสงค์ของพระองค์มาตั้งแต่ต้น ประกอบกับการลงมือก่อการของคณะราษฎรที่อาจถูกปัจจัยภายนอกแทรกแซง นั่นคือการไม่ยอมรับรัฐบาลใหม่โดยต่างประเทศ ในหลวง ร.7 จึงตัดสินพระทัยเลือกหนทางประนีประนอมและให้ความร่วมมือกับรัฐบาลคณะราษฎร ท่ามกลางเสียงคัดค้านของพระบรมวงศานุวงศ์บางส่วน ซึ่งการรอมชอมระหว่างพระองค์กับผู้ก่อการในครั้งนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้การเปลี่ยนผ่านครั้งประวัติศาสตร์ของสยาม ดำเนินไปด้วยความสงบเรียบร้อยและปราศจากเหตุนองเลือด

ความประนีประนอมหลังปฏิวัติ 2475 การตัดสินพระทัยของ รัชกาลที่ 7 เพื่อประเทศชาติและประชาชน : ตอนที่ 1

ที่มา :

[1] “เรื่องคณะกรรมการราษฎร ออกคําแถลงการณ์ แห่งความตั้งพระราชหฤทัยดีต่อราษฎรฯ (พ.ศ. 2475),” เอกสารสำนักนายกรัฐมนตรี, สร.0201.16/8, หจช.
[2] Charivat Santaputra, Thai Foreign Policy 1932-1946 (Bangkok: Charoen wit press,1985)
[3] ธํารงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, ปฏิวัติ 2475 และรัฐธรรมนูญ
[4] ทิพวรรณ เจียมธีรสกุล, ปฐมทรรศน์ทางการเมืองของ ปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการดําเนินงานฉลอง 100 ปีชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ภาคเอกชน, 2531)

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า